Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“บรรดาเจ้าผู้ปกครองซึ่งได้กระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้น ได้ให้ความเอาใจใส่เพียงเล็กน้อยต่อข้อตกลง และรู้วิธีที่จะจัดการกับสมองของมนุษย์อย่างฉลาดแกมโกงด้วย และในท้ายที่สุด พวกเขาก็เอาชนะเหนือผู้ที่ตั้งตนอยู่บนความจงรักภักดีได้”

(Machiavelli, The Prince บทที่ 18)[1]

 

สำหรับนักปรัชญาที่ได้รับฉายาว่า “ศาสดาแห่งความชั่วร้าย” อย่าง Machiavelli เป็นที่ชัดเจนว่าเขาสนับสนุนทั้งการใช้กำลังและการสร้างความหวาดกลัวโดยการใช้ความรุนแรงเพื่อการรักษาอำนาจของผู้ปกครอง จนทำให้คนจำนวนมากมองข้ามความสำคัญของประโยคที่ยกมาข้างต้นซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสืออันโด่งดังของเขาไป แปลว่าในแง่นี้แล้ว Machiavelli เองก็ให้ความสำคัญกับการเมืองในอีกแง่มุมหนึ่งนอกจากการใช้ความรุนแรง นั่นคือการจัดการกับความคิดในหัวของคน “อย่างฉลาด” เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถรักษาอำนาจของตนเอาไว้ได้

เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องร้องแม่ของ “จ่านิว” ด้วยข้อกล่าวหาว่าเธออ่านข้อความที่ผิดกฎหมายซึ่งคนอื่นส่งมาให้ใน Facebook แล้วเธอตอบเพียงแค่คำว่า “จ้า” โดยไม่ได้ตำหนิหรือห้ามปรามกลับไปจึงถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ไม่เพียงแต่เป็นการขยับเส้นของความหวาดกลัวให้ขยายกว้างขึ้นในสังคม และไม่เพียงขยายขอบเขตนิยามของการกระทำผิดให้กว้างขึ้น แต่ยังเป็นความพยายามเข้าไปจัดการกับความคิดในหัวของพลเมืองและเปลี่ยนนิยามของพลเมืองที่ดีไปด้วยพร้อม ๆ กัน

เหตุที่คำฟ้องร้องของเจ้าหน้ารัฐต่อแม่ของ “จ่านิว” ครั้งนี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญมาก เพราะมันหมายความว่า หลังจากนี้คุณไม่จำเป็นต้องมีเจตนาในการกระทำผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำผิดโดยตรงอีกแล้ว เพียงแค่คุณเห็นการกระทำผิดแต่ไม่ห้ามปราม ไม่เข้าแทรกแซง ไม่หยุดยั้ง ไม่ว่ากล่าวตักเตือน ก็จะทำให้คุณได้รับความผิดตามไปด้วย จากเดิมที่รัฐมุ่งจับผิดที่ตัว "การกระทำ" ซึ่งขัดกับอุดมการณ์ของรัฐโดยตรง ตอนนี้การ "ละเว้น/ไม่กระทำ" ในสิ่งที่รัฐเห็นว่าควรทำก็สามารถนับเป็นความผิดในข้อหาร้ายแรงตามได้เช่นกัน

นี่จึงไม่ใช่แค่การปกครองด้วยความหวาดกลัวและอุดมการณ์ที่ไร้เหตุผลธรรมดา ๆ แต่คือการเข้าแทรกแซงถึงระดับจิตสำนึกและการกระทำของพลเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นทั้งความพยายามเปลี่ยนนิยามพลเมืองที่ถูก/ผิดในเชิงกฎหมายเสียใหม่และเข้าแทรกแซงความคิด (ในสมอง) ของพลเมืองไปพร้อมๆกัน

นั่นแปลว่าพลเมืองที่ดีไม่เพียงแค่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ แต่ยังต้องเชื่อตามบรรทัดฐานถูกผิดของรัฐอย่างหมดจิตหมดใจ รวมทั้งมีหน้าที่เข้าแทรกแซงและหยุดยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายของรัฐอีกด้วย นอกจากนี้นิยามของการต่อต้านรัฐก็เปลี่ยนไป จากเดินที่การต่อต้านรัฐถูกนิยามจากการกระทำที่เห็นได้โจ่งแจ้งอย่างชัดเจน ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของและในพื้นที่ส่วนตัวของคุณก็สามารถถูกนับว่าเป็นสิ่งที่ต่อต้านรัฐได้เช่นกัน

Slavoj Zizek เคยอธิบายไว้ว่าในยุคสมัยของเรา ระบอบอำนาจนิยมและเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้ทำงานในลักษณะที่บังคับให้เราทำสิ่งต่างๆตามคำสั่งอย่างตรงไปตรงมาเฉยๆอีกแล้ว อำนาจนิยมแบบใหม่ทำงานในลักษณะที่ต้องการให้เรารักและเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งที่เขาอยากให้เราทำไปพร้อมกันด้วย เพราะถ้าเรารักและเชื่อในคุณค่าเหล่านั้นด้วยตนเอง การควบคุมก็จะทำได้เบ็ดเสร็จมากขึ้น การขัดขืนต่อต้านก็จะทำได้น้อยลง  

การตอบด้วยคำว่า “จ้า” จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับรัฐและเป็นสิ่งที่รัฐรับไม่ได้ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังเพิกเฉยและไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อคนที่กำลังทำผิดบรรทัดฐานความดีงามของรัฐ และดังนั้นตัวคุณจึงกำลังท้าทายและละเมิดรัฐไปด้วยเช่นกัน มันกำลังฟ้องว่าในหัวของคุณไม่ใช่พลเมืองที่ซื่อสัตย์ซึ่งเดินตามรอยที่รัฐบอกว่าควรจะเดิน แม้คุณจะไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยตรงก็ตาม คุณก็ถือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

นั่นแปลว่าหลังจากนี้ ถ้าคุณเห็นพฤติกรรมของการกระทำผิดแต่คุณไม่รู้สึกผิดกับสิ่งนั้นในใจ ถ้าคุณเห็นการกระทำผิดแต่คุณไม่เข้าไปจัดการกับคนที่กำลังทำผิดในทันที หนำซ้ำยังตอบกลับไปว่าด้วยถ้อยคำแสนธรรมดาอย่างคำว่า “จ้า” อีก ก็สามารถเป็นเหตุให้คุณกลายเป็นคนผิดไปด้วยในโทษฐานเดียวกันโดยปริยาย

ตอนนี้รัฐไม่ได้เพียงแค่สั่งให้คุณห้ามทำผิดกฎหมายเท่านั้น แต่รัฐกำลังสั่งว่าคุณต้อง “รู้สึกผิด” กับสิ่งที่คนอื่นกำลังทำผิดด้วย คุณไม่เพียงต้องเป็นพลเมืองดีที่ห้ามทำผิดกฎหมาย แต่ยังต้องเป็นบุคคลที่ "รู้สึกผิดชอบชั่วดี" ตามบรรทัดฐานของรัฐโดยอัตโนมัติ

สิ่งที่เราทั้งหลายกำลังเป็นประจักษ์พยานกันอยู่ตอนนี้ จึงเป็นการที่รัฐใช้กฎหมายลงไปบีบบังคับถึงในหัวสมองและในระดับจิตสำนึกของพลเมือง เพื่อให้ทุกคนต้องทำหน้าที่เป็นกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐในระดับที่ยิบย่อยที่สุด ให้พลเมืองตรวจสอบและจับผิดกันและกันแทนรัฐ ถือเป็นการปกครองความคิด หรือ Govern + Mentality ของจริง

แล้วทำไมเผด็จการจึงต้องการควบคุมความคิด? สาเหตุที่เผด็จการหวาดกลัว ‘การคิด’ (thinking) ของพลเมืองอย่างมากจนต้องพยายามควบคุมนั้น Hannah Arendt ตอบว่าเป็นเพราะ “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความคิดที่อันตราย เพราะการคิดเป็นกิจกรรมที่อันตรายโดยตัวมันเองอยู่แล้ว  (สำหรับเผด็จการ - ผู้เขียน)” 

แต่ถึงจะมีความพยายามควบคุมความคิดของพลเมืองและลงโทษผู้ที่ละเมิดขัดขืนมากสักเท่าใด Arendt ก็ยังได้เสนอไว้อย่างน่าคิดว่า “"ไม่เคยมีการลงทัณฑ์ใดที่ … มากพอที่จะป้องกันการก่ออาชญากรรมได้"

นั่นคงเป็นเพราะความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ในหัวสมองของคนไม่ใช่สิ่งที่สร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยการลงโทษทางกายภาพอย่างการจับกุมคุมขัง ความคิดความรู้สึกของคนเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ดังนั้นจึงมีเพียงอำนาจแบบละมุน (soft power) เท่านั้นที่จะทำให้มันเกิดขึ้นในหัวของพลเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้  

การใช้อำนาจที่แข็งกร้าว (hard power) ด้วยกฎหมายและการลงทัณฑ์เพื่อพยายามควบคุมความคิดจึงเป็นการช่วงชิงพื้นที่ในหัวของพลเมืองที่ผิดวิธี เป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่ไม่มีทางจะตรงกับเป้าประสงค์ของผู้ใช้ และไม่ใช่การ “จัดการกับสมองของมนุษย์อย่างฉลาด” เท่าใดนัก

คงจะถูกของ Foucault ที่เคยกล่าวว่า “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน” เพราะดูเหมือนว่ายิ่งมีการใช้อำนาจลงทัณฑ์ ‘ความคิด’ และ ‘การคิด’ ที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของรัฐมากเท่าใด อาชญากรรมทางความคิดที่ขัดแย้งและต่อต้านอุดมการณ์ของรัฐกลับมีแนวโน้มที่จะยิ่งกระจายตัวไปในสังคมมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง  

นี่อาจเป็นสงครามช่วงชิงพื้นที่ในหัวของพลเมืองที่รัฐไม่มีวันจะชนะ

 

เชิงอรรถ

[1] สำนวนแปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net