โพสต์อิท วรรณคดี และรัฐไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การขัดขวางกิจกรรมแสดงความคิดเห็น "โพสต์ สิทธิ์" นำโดย "จ่านิว" หรือคุณสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่สกายวอล์คบีทีเอสช่องนนทรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐไทย ไม่เพียงเฉพาะในแง่ที่ระดมบุคลากรตำรวจจำนวนมาก พร้อมไม้กระบองประจำตัวแทบจะทุกตัวคน เพียงเพื่อมาขัดขวางการแสดงออกด้วยการติดกระดาษโพสอิทของประชาชน -- ประชาชนผู้มีเพียงกระดาษและข้อความคนละเล็กละน้อยที่จะสื่อแสดงถึงความรู้สึก ความอัดอั้นตันใจของตนในฐานะเจ้าของประเทศ ซึ่งโดยเนื้อแท้มิได้เป็น/ไม่สามารถเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้สัญจรผ่านไปมาในบริเวณนั้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำที่ความตื่นกลัวอย่างไม่มีเหตุผลจนนำแผงเหล็กมากีดขวางทางสัญจร และการระดมบุคลากรของรัฐจำนวนมากมายมากีดขวางการดำเนินกิจกรรมนั้นต่างหาก ที่ทำให้การสัญจรของผู้คนในบริเวณนั้นต้องติดขัด

ความล้มเหลวของรัฐไทยที่ร้ายแรงเสียยิ่งกว่าประสิทธิภาพในการจัดการกับสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหา ก็คือความล้มเหลวในการเข้าใจถึงคุณค่าในทางวัฒนธรรมของการโพสต์อิทที่มีต่อสังคมไทย

ผู้มีการศึกษามาบ้างย่อมเข้าใจดีว่า กิจกรรมโพสต์อิทก็คือการสืบทอดวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นอีกวัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีของคนไทย

วัฒนธรรมเจ้าบทเจ้ากลอนพูดจามีคารมคมคายของคนไทยงอกงามขึ้นมาจากถ้อยคำสั้น ๆ ที่ชาวบ้านใช้กัน จนพัฒนาขึ้นมาเป็นภาษิต-คำคล้องจองต่าง ๆ อันเราคัุนเคยกันดีอยู่แล้ว ผู้มีความสามารถทางวรรณศิลป์ยิ่งขึ้นก็จะพัฒนาคำคม-คำคล้องจองเหล่านั้นให้งอกงามขยายยาวขึ้นเป็นบทกลอนบทกวี

ร่องรอยของวัฒนธรรมนี้พบได้ตามผนังกำแพงว่างเปล่า ข้อเขึยน-สติ๊กเกอร์ตามผนัง-ประตูห้องน้ำสาธารณะ ตามท้ายรถบรรทุก หรือในรถโดยสารสาธารณะ ดังมีผู้รวบรวมเอาไว้ในบางยุคสมัย (ดู ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง และคณะ, วรรณกรรมเก็บตก, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2523)

ถ้อยคำสั้น ๆ หรือ "วรรณกรรมเก็บตก" เหล่านี้ย่อมสะท้อนทัศนะอีกความเป็นไปของสังคมแต่ละแห่ง แต่ละยุคสมัย

"แอบ ๆ แซง เพราะแรงน้อย" (ท้ายรถเมล์สาย 109 ในกรุงเทพ ฯ)

"ดังทั้งคัน ยกเว้นเครื่องเสียง" (สติ๊กเกอร์ในรถสองแถวสายบางพลี-หัวตะเข้)

"เมียซื้อสด รถซื้อผ่อน"

"เมียก็ด่า จ่าก็จับ"

"ชั่วหรือดี มีหรือจน ไม่พ้นรถติด" (สติ๊กเกอร์ติดที่ประตูรถสาย ปอ. 8 คันหนึ่ง, ปัจจุบันคือสาย 508)

ถ้อยคำเหล่านี้และถ้อยคำอื่น ๆ อีกมากมาย ย่อมสะท้อนให้เห็นทั้งสภาพของสังคม และความคิด ทัศนะต่อโลก ต่อชีวิต ของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างแจ่มแจ้ง

หากผู้รู้จะสนใจวิเคราะห์ ก็ย่อมเห็นประเด็นต่าง ๆ มากมาย

เช่นคำว่า "ที่หมาเยี่ยว" ซึ่งเราพบเห็นกันอยู่ทั่วไป

ใครเป็นคนเยี่ยว จนเกิดคำว่า "ที่หมาเยี่ยว" เกลื่อนไปทั่วเมือง คำตอบก็คงคือ ผู้ชายเป็นคนเยี่ยว

ทำไมจึงเป็นที่หมาเยี่ยว ? ไม่ใช่ที่หมาขี้....หากเทียบกับสังคมอื่น โดยเฉพาะสังคมอินเดีย ซึ่งมักจะมีการขับถ่ายกันกลางถนนหนทาง จนผู้ไปเยือนรับรู้ว่าเป็นลักษณะทางสังคมที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของอินเดีย สังคมไทยอาจดูก้าวหน้ากว่า--หากคิดในแง่ที่ว่าเราก็แค่มีการเยี่ยวผิดที่ผิดทาง ไม่ถึงกับทั้งขี้ทั้งเยี่ยว แต่กระนั้นคำถามที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ ก็ถ้าหากเราพัฒนาจนรู้จักใช้ส้วมกันดีแล้ว เหตุใดจึงมีการเยี่ยวกันในที่ไม่สมควรจะเยี่ยวกันอีก คำตอบอาจจะเป็นว่า สังคมไทยพัฒนาไปในทางที่ไม่ได้คำนึงถึงการมีชีวิตที่ดีของทุกคน คนขับรถโดยสารสาธารณะและคนขับรถบรรทุกโดยเฉพาะในเขตชานเมืองจึงต้องจอดเยี่ยวกันข้างทาง เมืองอาจถูกออกแบบโดยหลงลืมการมีส้วมสาธารณะที่เพียงพอเหมาะสมกับความหนาแน่นและจำนวนของประชากร โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครนั้นอาจกล่าวได้ว่าส้วมสาธารณะไม่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลท้องถิ่นมานานแล้ว นอกจากนี้ความเกรงใจ/ห่างเหินกันระหว่างเจ้าของสถานที่กับผู้ใช้ชีวิตบนท้องถนนก็อาจทำให้พี่แท็กซี่ไม่สะดวกใจที่จะเอ่ยปากขอเข้าห้องน้ำตามพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือคนขับรถบรรทุกส่งของ ซึ่งมักเป็นกิจการเอาท์ซอร์ซรับช่วงออกไปจากบริษัท โดยเฉพาะบริษัทในระดับเอสเอ็มอี ก็เกรงใจที่จะใช้ห้องส้วมของบริษัท/โรงงานที่ตนไปรับไปส่งสินค้า จึงต้องฉี่กันตามข้างทางกันเป็นปรกติ

ผู้ฉี่นอกพื้นที่ที่ควรจะฉี่มิได้มีเฉพาะพี่น้องในสองอาชีพที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น กล่าวอย่างเที่ยงธรรม พฤติกรรมนี้เป็นของชายไทยเกือบจะโดยทั่วไป นอกจากลักษณะความมักง่ายของชายไทยแล้ว เราอาจตีความความแพร่หลายของคำว่า "ที่หมาเยี่ยว" ได้ต่อไปด้วยว่า คนไทยไม่พูดตรงไปตรงมา หากจะแก้ปัญหา คนไทยก็อาจใช้วิธีประชดประชัน และในท้ายที่สุด คำว่า "ที่หมาเยี่ยว" อาจชี้ไปถึงว่าคนไทยมีความผูกพันใกล้ชิดอยู่กับหมา แต่หมาที่คนไทยใกล้ชิดเป็นหมาแบบไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้อยคำดูจะส่อไปในทางหมาไร้เจ้าของ หมาเร่ร่อน เสียยิ่งกว่าหมาชนิดอื่น ๆ

คำว่า "ที่หมาเยี่ยว" เพียงคำเดียวก็ชวนให้เราพิจารณาสังคมไทยได้หลายมิติ !

ในวัฒนธรรมไทย คำ ๆเดียวที่มักพบเห็นบ่อย ๆ ตามฝาผนังมักเป็นคำด่า หรือคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น เหี้ย หี ควย คำเหล่านี้ย่อมสะท้อนลักษณะทางสังคมของชนชาติไทยที่รอผู้รู้ตีความต่อไปว่า ความกดดันอัดอั้นตันใจอะไรที่ทำให้เราต้องระบายออกมาเป็นคำเหล่านี้ หรือว่านี่เป็นวิธีการระบายออกของผู้คน เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอันแสนสาหัสกันได้ต่อไป ความข้อนี้ชวนให้นึกเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมของจีน/ญี่ปุ่น ที่การเขียนตัวหนังสือแม้เพียงตัวเดียว ก็มักจะเลือกเอาคำที่มีความหมายลุ่มลึก พัฒนาจนกลายเป็นงานศิลปะการเขียนตัวอักษรเอาไว้ประดับบ้าน ประดับที่ทำงาน เช่น คำว่า อดทน มั่งคั่งรุ่งเรือง อายุยืน เทียบในแง่นี้ลักษณะทางสังคมของคนไทยกับคนจีนคนญี่ปุ่นคงต่างกันลิบลับ

คำเดี่ยว ๆ ที่เราชอบเขียนกันตามฝาผนัง อาจมีบริบทที่แตกต่างจากคำเดี่ยว ๆ ที่จีน/ญี่ปุ่นชอบ จึงอาจไม่เหมาะที่จะพิจารณาเทียบเคียงกัน แต่กระนั้น "วรรณกรรมเก็บตก" หรือ"วรรณกรรมฝาผนัง" ของเรา ก็เป็นช่องทางให้เกิดวรรคทอง ให้เกิดบทกลอนที่ไพเราะได้ ขอเพียงให้ได้มีโอกาสในการแสดงออกเท่านั้น ดุจเดียวกับที่งาน graffiti ได้รับความยอมรับถึงขั้นเป็นศิลปะ จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ศิลปิน graffiti ระดับโลกก็ได้มาแสดงฝีมือให้ปรากฏที่กรุงเทพมหานครนี้เอง (ทั้งนี่พึงตั้งข้อสังเกตด้วยว่างาน graffiti ซึ่งถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเชื่อมโยงมาจากการเคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิ์พลเมือง)

กิจกรรมโพสต์อิทมิใช่อะไรอื่นนอกจากพัฒนาการอีกขั้นของ "วรรณกรรมเก็บตก" หรือ "วรรณกรรมฝาผนัง" ซึ่งมาถึงยุคนี้ที่คำว่าวรรณกรรมและวรรณคดีมิได้มีความหมายแตกต่างกันแล้ว โพสต์อิทก็คืองานวรรณคดีประเภทหนึ่ง ที่อาจเกิดได้จากทั้งการด้นสดเฉพาะหน้า และจากการคิดเตรียมเอาไว้ก่อน

งานโพสต์อิทก็เช่นเดียวกันกับงานวรรณกรรมเก็บตก ที่หากผู้อ่านได้อ่านจนแตกฉานในความหมายและบริบทที่มันเกิดขึ้น ก็ย่อมจะพบเพชรน้ำงามในทางวรรณศิลป์ และสำหรับผู้ทรงอำนาจรัฐ ก็ย่อมจะได้ยินเสียงอันแท้จริงของประชาชน เสียงเหล่านี้เปล่งให้คณะทั่นผู้นัมได้ยินได้ โดยมิพักต้องเสียงบประมาณอีกเสียแรงบุคลากรการข่าวสืบเสาะค้นหาแต่อย่างใด ทั่นผู้นัมเพียงแต่ทำใจให้นิ่งและคอยสดับตรับฟังเสียงที่เปล่งออกมาจากโพสต์อิทเหล่านั้น ท่านก็จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกอีกความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ทั่นผู้นัมสามารถทำได้แม้แต่การรับเป็นประธานในการเปิดงานโพสต์อิทเสียเองด้วย

ผู้ทรงอำนาจรัฐควรวางตนไว้ในฐานะผู้ส่งเสริมให้เกิดความงอกงามในวงวรรณคดี ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการส่งเสริมให้มีกิจกรรมโพสต์อิท เปิด space เปิดพื้นที่ให้กิจกรรมประเภทนี้ได้แสดงออกอย่างเต็มที่

สังคมไทยมีปัญหา space สาธารณะไม่เพียงพอ และเท่าที่มีอยู่ก็ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดี ทางสัญจรสำหรับคนเดินเท้าซึ่งเสียงบประมาณเปลี่ยนทางปูพื้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แล้วก็ยังคงสูง ๆ ต่ำ ๆ อยู่เป็นนิจนิรันดร ไม่สะดวกแก่การสัญจรแม้แต่สำหรับผู้คนปรกติ ไม่พิการ อีกทั้งความจำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยก็จึงยังต้องมาค้าขายร่วมแชร์ใช้ทางเท้าด้วย สิ่งที่มีการลงทุนพัฒนากลับเป็นห้าง/ศูนย์การค้าขนาดใหญ่และถนนหนทางสำหรับรถยนต์ ราวกับว่าบ้านเมืองนี้ออกแบบมาสำหรับการใช้ชีวิตของผู้มียานพาหนะเท่านั้น รัฐบาลท้องถิ่นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครดูเหมือนจะละเลยหลงลืมหน้าที่การจัดให้มีตลาดและมีทางเท้าสัญจรอันร่มรื่นอันเป็นป้จจัยพื้่นฐานของความเป็นเมืองไปเสียแล้ว

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสังคมไทยขาดแคลน space สาธารณะที่เปิดโอกาสให้พลเมืองได้แสดงออกทั้งในทางศิลปวัฒนธรรมและในทางความคิดความเห็นต่อความเป็นไปของบ้านเมือง ความคิดทางสถาปัตยกรรมบางสำนักถึงกับเชื่อว่า หากเมืองได้รับการออกแบบไว้อย่างดี พลเมืองผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มีพื้นที่พักผ่อนและได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ก็จะไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองจนโกรธแค้นถึงกับจะต้องเข่นฆ่าทำลายกัน เมืองที่ดีย่อมนำสู่ชีวิตทางการเมืองที่งดงาม

หากเราเห็นคล้อยตามผู้รู้ว่า การวิจารณ์คือพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย การส่งเสริมให้มีกิจกรรมโพสต์อิทก็ย่อมเป็นวิถีทางที่ง่ายที่สุดประหยัดที่สุดที่ประชาชนพลเมืองจะได้แสดงพลังทางปัญญาของตนให้ปรากฏ คณะคสช.และกรุงเทพมหานครไม่เพียงไม่ควรปิดกั้นขัดขวางพลังทางปัญญานี้ หากแต่ควรจะส่งเสริมสนับสนุนทุกทาง ทั้งการอำนวยความปลอดภัย การเอื้อเฟื้อสถานที่วัสดุอุปกรณ์ และการดูแลความสะอาดทั้งในระหว่างและภายหลังการจัดกิจกรรม ในแง่นี้และในสภาพที่เมืองขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมการแสดงออกของประชาชนพลเมืองแล้ว สกายวอล์คบีทีเอสช่องนนทรีเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งที่พอจะจัดให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ได้

 0000

ปัญหาในท้ายที่สุดอาจจะตกอยู่ที่ว่า "ทั่นผู้นัม"และคณะของทั่นผู้นัมยังไม่พร้อมที่จะให้ผู้อื่นยั่วล้อตัวท่าน จึงถึงกับเข้าจับกุมและหาทางกล่าวหาดำเนินคดีเพจล้อทั่นผู้นัม จนเรื่องราวทำท่าจะบานปลายไปทั่วประเทศ และโด่งดังอื้อฉาวไปทั่วโลก

แท้จริงแล้วทั่นผู้นัมควรจะภูมิใจที่เป็นผู้นำแล้วมีคนล้อ เพราะนั่นย่อมแสดงว่าผู้คนใส่ใจในตัวท่าน บุคคลในชีวิตจริงบางท่านถูกนำมาแต่งล้อจนกลายเป็นตัวละครโดดเด่นในตำนานวรรณกรรมของไทย ดังบทละครเรื่องระเด่นลันไดของพระมหามนตรี (ทรีพย์) เป็นตัวอย่าง ผู้คนต่างจดจำความโอ่อ่าอัครฐานของระเด่นลันไดได้ดี

"อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน
กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม
คอยปราบปรามปัจจามิตรที่คิดร้าย"
ชีวิตความเป็นอยู่ของระเด่นลันไดก็แสนจะสุขสบาย เช่นในยามเช้าก็

"ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง
โก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า
เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลา
ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง"

"ทั่นผู้นัม"อาจไม่ต้องการให้บุคลิก/ชีวิตของท่านกลายเป็นที่จดจำได้อย่างที่ระเด่นลันไดเป็นที่จดจำกันทั่วไป แต่ทั่นผู้นัมคงต้องยอมรับว่าบุคลิก/เรื่องราวของท่านก็โดดเด่นเป็นที่จดจำได้ง่ายไม่แตกต่างจากระเด่นลันได และผู้รู้ก็ได้เริ่มเทียบเคียงตัวท่านกับตัวละครสำคัญ ๆในวงวรรณกรรมบ้างแล้ว บ้างก็เทียบท่านกับตั๋งโต๊ะ บ้างก็เทียบกับนนทก และบ้างก็เทียบคณะของทั่นผู้นัมกับศรีธนญชัย ซึ่งก็มีสองแง่ คือศรีธนญชัยผู้อาจหาญคอยทวนกระแสกล้าขัดกล้าล้อเจ้านายของตน หากแต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยปฏิภาณความเฉลียวฉลาด กับศรีธนญชัยผู้พาซื่อแก้ปัญหาด้วยไหวพริบปัญญาสาไถย จากกรณีการแปลงค่าหัวคิวเป็นค่าบริการทางวิชาชีพที่ผู้คนแอบซุบซิบกันไปทั่ว ดูเหมือนพวกเขาจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า คณะของทั่นผู้นัม เป็นศรีธนญชัยในความหมายใด

จากแง่มุมของผู้สนใจในวิชาอักษรศาสตร์ เมื่อทั่นผู่นัมไม่ประสงค์ให้ประชาพลเมืองยั่วล้อท่าน ก็สมควรที่ท่านจะฝึกหัดยั่วล้อตนเอง จุดประสงค์ก็เพื่อจะได้รู้จักตนเองได้ดียิ่งขึ้น เมื่อท่านรู้จักตนเองได้ดีขึ้น ท่านก็จะสามารถอยู่ปกครองประเทศสาระขันไปยาวนานอีก 20 ปีเป็นอย่างต่ำดังที่ท่านประสงค์

การฝึกหัดยั่วล้อตนเอง คงต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ก่อนว่า ทั่นผู้นัมเหมาะกับละครประเภทใด บุคลิกของทั่นผู้นัม เป็นผู้มีลีลาอารมณ์และภาษาชวนให้ขัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่าเป็นผู้เอาขันเป็นอารมณ์ ไม่เหมาะแก่การรับบทที่จริงจังเคร่งเครียดอย่างละครโศกนาฏ (tragedy) หากแต่เหมาะอย่างยิ่งที่จะรับบทที่สร้างความผ่อนคลายสนุกสนาน แต่ก็แฝงไว้ด้วยความชวนคิดชวนไตร่ตรอง ละครสุขนาฏ (comedy) นับว่าเหมาะแก่ท่านเป็นอย่างยิ่ง

และหากจะนำบทประพันธ์วรรณคดีชิ้นเอกใด ๆ มาแปลงให้ท่านรับบทนำ เพื่อฝึกหัดยั่วล้อตนเองแล้ว ก็คงไม่มีอะไรเหมาะสมยิ่งไปกว่างานประพันธ์ว่าด้วยสุนทรพจน์อันลือลั่นของ ฮิวเมอริสต์ หรือครูอบ ไชยวสุ ซึ่งได้เรียบเรียงประพันธ์ไว้อย่างดี ราวกับจะเตรียมมาเพื่อให้ท่านโดยเฉพาะ เพื่อฝึกหัดยั่วล้อตนเอง เพื่อความเข้าใจตนเอง ปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งของตนให้ได้มากยิ่งขึ้น บทความชิ้นนี้คงไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงชื่อของสุนทรพจน์ชิ้นนี้ และผู้สนใจก็คงสามารถ google หาเอาได้โดยง่าย.
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท