สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 เม.ย.-4 พ.ค. 2559

 
สภาองค์การลูกจ้างฯ ชี้แรงงานไทยติดพนัน เหล้า บุหรี่ เพิ่มมากขึ้นสาเหตุเศรษฐกิจย่ำแย่ทำให้ถูกเลิกจ้าง หันหน้าพึ่งอบายมุขทุกรูปแบบ
 
วันนี้ (28 เม.ย. 59) มีรายงานข่าวว่า นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลภายในงาน เสวนา ถอดรหัส อบายมุข ทุกข์แรงงานไทย ถึงปัญหาการติดการพนันและอบายมุขของแรงงานไทยที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มีการเลิกจ้าง ทำให้แรงงานหันไปพึ่งอบายมุขทุกรูปแบบ จนติดและเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและครอบครัว
 
นายมนัส กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่ามีแรงงานประมาณร้อยละ 30 หรือจำนวน 12-13 ล้านคน เกี่ยวข้องกับอบายมุข ทั้งเหล้า บุหรี่และการพนัน มีการใช้จ่ายเงินค่าจ้างหมดไปกับอบายมุขเกือบทั้งหมด หรืออย่างน้อยมีการใช้เงินค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไปกับค่าเหล้ากว่าร้อยละ 20 ยังไม่นับรวมการติดบุหรี่และการพนันร่วมด้วย
 
อย่าไรก็ตาม สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายจะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายว่า สถิติค่าใช้จ่ายในการดื่มสุราของคนไทยอยู่ที่ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท โดยพบว่ามีแรงงานที่ติดสุราเรื้อรังจนถูกเลิกจ้าง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ครอบครัว และประสบปัญหาการหย่าร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งหมด และสถานการณ์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงนำมาสู่การสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพ การทะเลาะวิวาท และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
 
 
"ม.หอการค้า" เผยผลสำรวจผู้ประกอบการค้านการปรับขึ้นค่าแรงขึ้น เหตุเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ชี้หากปรับขึ้นรัฐบาลต้องลดภาษีช่วย
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจในวันแรงงาน จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 600 ตัวอย่าง ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการค้าและภาคเกษตร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากสภาพธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 จะถึงจุดต่ำสุด ซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมยอดขายให้ลดลงไปอีก แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง มีจำเป็นจะต้องเพิ่มราคาสินค้าขึ้นด้วย และลดจำนวนแรงงานลง แต่หันไปจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น รวมไปถึงการหันมาใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างควรจะแยกปรับตามความเหมาะสม แต่ละพื้นที่ และในภาวะปัจจุบัน ควรจะปรับไม่เกิน 310 บาท/วัน และรัฐบาลจะต้องมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการลดภาษีนิติบุคคล จัดฝึกอบรมแรงงาน และให้เงินชดเชยแรงงานขั้นต่ำ
 
 
รมว.แรงงานเร่งศึกษาปรับขึ้นค่าแรงจ้างขั้นต่ำ
 
เมื่อวันที่ 29เม.ย. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเรียกร้อง 15 ข้อของสภาองค์การลูกจ้างแรงงาน 17 องค์กรที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ ว่าส่วนตัวเห็นข้อเรียกร้องทั้ง 15ข้อแล้วและเห็นผลวิจัยเกี่ยวกับหนี้สินแรงงานซึ่งเผยแพร่ทางสื่อ โดยส่วนของเรียกร้องหลักการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อยู่ระหว่างการศึกษาซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่า จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะให้ปรับในอัตราเท่ากันทั่วประเทศหรือปรับโดยพิจารณาเป็นพื้นที่
 
พล.อ.ศิริชัย กล่าวอีกว่าส่วนข้อเรียกร้องที่ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและฉบับที่ 98 ว่า ด้วยสิทธิในการ่วมเจรจาต่อรองก็กำลังศึกษาอยู่เพราะมีผลกระทบเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งต้องเตรียมกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้รองรับได้ไม่ใช่เป็นการไปรับอนุสัญญาทั้ง 2ฉบับโดยที่ประเทศไม่พร้อม
 
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะพยายามทำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่ ไอแอลโอกำหนดแต่เรื่องนี้จะต้องใช้เวลา ส่วนข้อเรียกร้องทั้งหมดที่เสนอมานั้นมีหน่วยงานต่างๆของกระทรวงฯดูแลและติดตามอยู่ ขณะเดียวกันตนก็ประชุมติดตามทุกสัปดาห์
 
20 ปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ให้ของขวัญแก่กลุ่มแรงงาน ตามพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2558 ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้วที่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมด้านต่าง ๆ เช่น กรณีคลอดบุตรให้ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยจ่ายครั้งละ 13,000 บาท ส่วนกรณีเงินสงเคราะห์สำหรับบุตรอายุแรกเกิด ถึง 6ปีก็มีสิทธิได้รับคราวละ 3 คนได้รับคนละ 400 บาทต่อเดือน รวมทั้งที่ผ่านมามีการวางมาตรการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานซึ่งส่วนตัวขอฝากถึงผู้ใช้แรงงานว่า รัฐบาลและกระทรวงฯจะดูแลแรงงานอย่างเต็มที่ และอยากให้แรงงานทุกกลุ่มตั้งหัวหน้างานและผู้บริหารซึ่งจะเป็นกลไกลหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศได้"พลเอกศิริชัย กล่าว
 
 
ยื่น 15 ข้อเรียกร้องวันแรงงานต่อนายกฯ ทั้งปรับค่าแรงมากกว่าวันละ 300 บาท-ดูแลลูกจ้างรับเหมาช่วง-จี้ให้เร่งช่วยเหลือภายใน 6 เดือน
 
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายบรรชา ประสิทธิ์สันต์ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ(สสช.) ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานชาติปี 2559 เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ จะยื่นข้อเรียกร้องต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จำนวน 15 ข้อ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการวมตัวและเจรจาต่อรอง 2.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้มากกว่าวันละ300บาทในอัตราเท่ากันทั่วประเทศ และควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 3.ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม(สปส.)และกองทุนเงินทดแทนโดยแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล ประกาศให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนจำนวนหลายหมื่นคนให้เข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่สปส.กำหนด และเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ยกระดับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉินตามความเป็นจริง รวมถึงเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากอุบัติเหตุการทำงานเดิม 60 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง
 
นายบรรชา กล่าวอีกว่า 4.ให้รัฐบาลเร่งนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 5.ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย 6.ให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของลูกจ้าง 7.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนเงินสงเคราะห์ในหมวด 13 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 8.ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ 9.ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 10.ให้รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
 
นายบรรชา กล่าวว่า 11.ให้รัฐบาลบังคับให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 กรณีแรงงานรับเหมาช่วงให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างประจำโดยเคร่งครัด 12.ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ หน่วยงานและภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดตั้งกรมคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ 13.ให้กระทรวงแรงงานจัดงบสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยที่ดูแลลูกหลานของผู้ใช้แรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง 14.รัฐบาลต้องจัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของประเทศไทย และ 15.ให้รมว.แรงงานตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานชาติปี 2559 ทั้งนี้ข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการมี 5 ข้อ คือการรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87และฉบับที่ 98 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การปฏิรูประบบประกันสังคม การดูแลแรงงานรับเหมาช่วง และนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยขอให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน
 
 
ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐบาลนำร่องปรับขึ้นค่าจ้าง 7 จังหวัด เป็นวันละ 315 บาท และจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวปรับให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ปีหน้าค่อยปรับทั้งประเทศ
 
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ บอกว่า กรณีมีข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเห็นว่ารัฐบาล ควรพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-7เปอร์เซ็นต์ แต่ให้ปรับขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่นั้นเห็นว่า ควรให้ปรับขึ้นค่าจ้างเพียง 7 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, นครปฐม, นนทบุรี และภูเก็ตที่เคยปรับขึ้นไปเมื่อกลางปี 2555 ก่อน เช่นอาจจะปรับขึ้น 15 บาทส่วนจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของต่างชาติ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ที่มีค่าครองชีพสูง ก็นำข้อมูลการสำรวจของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานมาพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามค่าครองชีพได้แต่ต้องปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดด้วย ส่วนปี 2560 คณะกรรมการค่าจ้างก็พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศโดยพิจารณาจากฐานค่าจ้างเดิมของปี 2559 เช่น จ.มุกดาหาร มีดัชนีค่าครองชีพ 3 เปอร์เซ็นต์จากฐานค่าจ้างวันละ 300 บาทเมื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ก็คือ 309 บาท นอกจากนี้ จะต้องออกกฎหมายให้สถานประกอบการทุกแห่งต้องมีโครงสร้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป
 
 
สำรวจสถานภาพแรงงานไทย แบกหนี้เกือบหมื่นบาทต่อเดือน แนะเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 350 บาท
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจ ‘สถานภาพแรงงานไทยในทัศนะของแรงงานไทย’ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,212 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 15,000 บาท และมีรายจ่ายในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งร้อยละ 95.9 มีภาระหนี้สิน และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ร้อยละ 60.62 ที่เป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงต้องมีการผ่อนชำระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 9,657 บาท เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ 42.5 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้ต้องกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 
สำหรับความเห็นจากผลสำรวจระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่จึงต้องการให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เป็นวันละ 357 บาท จากเดิมที่อัตรา 300 บาท และควรปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพและกลไกตลาดที่แท้จริง เนื่องจากการใช้จ่ายมากขึ้นในทุกกิจกรรมโดยเฉพาะช่วงวันหยุดแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานยังมีความกังวลเป็นอย่างมากที่จะตกงาน เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว
 
อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ หรือปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง
 
“สถานภาพแรงงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แรงงานจึงขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 356.76 บาท จากปัจจุบัน 300 บาท ให้ทันตามภาวะค่าครองชีพที่มีการขึ้นตามกลไกตลาด และค่าจ้างที่ไม่ปรับขึ้นมาหลายปี อย่างไรก็ตาม แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน เพราะเห็นนายจ้างมีผลประกอบการไม่ดีนักตามเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้รายได้ไม่พอใช้จ่าย จะเป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เศรษฐกิจซึมตัวทุกพื้นที่ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น “ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจกล่าว
 
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจสถานภาพของภาคธุรกิจต่อแรงงาน จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง พบว่าธุรกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร และอาจต่ำสุดในไตรมาส 2 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากสภาพธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัว เพราะจะมีผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมยอดขายให้ลดลงไปอีก แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง มองว่าควรจะปรับไม่เกิน 310 บาทต่อวัน
 
 
กรมอนามัย เผยสถิติแรงงานไทย เผย 10 โรครุมเร้า แถมกลุ่มวัยทำงาน พบอัตราท้องไม่พร้อมเกินครึ่ง 71.1% จบด้วยการทำแท้ง
 
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการศึกษาของกรมอนามัย และรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งพบว่าประชากรวัยแรงงานมีโรครุมเร้าประมาณ 10 โรค คือ 1. โรคอ้วน 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด อันเป็นผลมาจากโรคอ้วน 3.โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก 4.โรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็ง ปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 5. โรคเครียด โดยพบว่าวัยทำงานเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเงินกับเรื่องงาน 6. โรคเอดส์ จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน 7. ภาวะมีบุตรยาก 8. ท้องไม่พร้อม ทำแท้ง 9. ความเสี่ยงจากงานและโรคจากการประกอบอาชีพ และ 10. อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น “เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการจัดอายุวัยทำงานเริ่มจาก 15- 60 ปี จึงทำให้พบอัตราการท้องไม่พร้อมมากถึงร้อยละ 56.5 ทำแท้ง ร้อยละ 71.1 ท้องไม่พร้อม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น คาบเกี่ยววัยทำงานอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งปัญหา เพราะสรีระร่างกาย สังคม เศรษฐกิจ การเงิน ความไม่มั่นคง เพราะเป็นช่วงของการเริ่มต้นชีวิต”นพ.วชริระ กล่าว
 
 
สวนดุสิตโพลสะท้อนหัวอกแรงงานไทย "ค่าแรงน้อย-มีหนี้สิน"
 
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,070 คน สำรวจระหว่างวันที่ 25-30 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2559 พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.58 ระบุแรงงานไทย ณ วันนี้ ได้ค่าแรงต่ำ รายได้น้อย รองลงมาร้อยละ 78.50 ระบุการคุ้มครองแรงงานยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ สวัสดิการไม่ดี และร้อยละ 74.77 มีแรงงานหลากหลายอาชีพ มีทักษะและฝีมือ สามารถพัฒนาได้ ส่วนปัญหาของแรงงานไทย ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.24 ระบุค่าแรงน้อย เงินไม่พอใช้ มีหนี้สิน ขณะที่ร้อยละ 78.97 ระบุถูกเอารัดเอาเปรียบ ดูถูก ไม่ได้รับความเป็นธรรม และร้อยละ 64.20 ระบุตกงาน ว่างงาน โดนแรงงานต่างด้าวแย่งงาน
 
 
อีก 2-3 ปีไทยจ่อขาดแคลนแรงงาน พบตำแหน่ง พนง.ขับรถบรรทุกว่าง 1 แสน อัตรา
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เป็นห่วงภาวะขาดแคลนแรงงานของไทยจะเข้าสู่วิกฤตในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันไทย ยังขาดแคลนแรงงานกลุ่มทักษะสูงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานขับรถบรรทุก ที่ขณะนี้นายจ้างทั่วประเทศต้องการว่าจ้างมากกว่า 100,000 อัตรา เนื่องจากบุคคลากรที่มีอยู่ ส่วนใหญ่อายุมากขึ้นรองลงมาคือกลุ่มช่างกลึง ช่างโลหะ,พนักงานบัญชี,นักบริหารการตลาด ส่วนแรงงานระดับล่าง ปัจจุบันนี้พบว่า แทบไม่มีคนไทยประกอบอาชีพ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ กว่า 3 ล้านอัตรา
 
สำหรับบัญฑิตใหม่ ที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานปีละประมาณ 580,000 คนนั้น ส่วนใหญ่ สาขาที่เรียนจบมายังไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน โดยผู้ที่เรียนจบในสาขาสังคมศาสตร์ มีโอกาสว่างงานสูงกว่าสาขาวิชาชีพ
 
ส่วนกรณีผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทเป็น 360 บาทนั้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม มองว่า อัตราจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 20% ยังไม่ใช่ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาตลอดระยะเลา 3 ปี ผู้ประกอบการต่างอยู่ในภาวะ"หัวเลี้ยวหัวต่อ"เพราะต้องประคับประคองกิจการ ให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งเห็นว่า กลางปีหน้า ภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างใหม่
 
 
กลุ่มแรงงานเกษตรกร ร้องดีเอสไอ ถูกเบี้ยวค่าแรงและค่าสินค้าเกษตรกว่า 49 ล้านบาท
 
นายบันทิต สังข์นันท์ ผู้อำนวยส่วนรับเรื่องร้องทุกข์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับหนังสือร้องเรียนของกลุ่มแรงงานและเกษตรกร จากโรงงานผลิตสินค้าทางการเกษตรแปรรูป จ.พะเยา นำพยานหลักที่เกี่ยวกับกับการที่ถูกเบี้ยวค่าแรง รวมทั้งสินค้าทางการเกษตร รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 49 บ้านบาท หลังจากที่โรงงานงานดังกล่าวประกาศปิดกิจการตั้งแต่ปี 2556 โดย 1 ในตัวแทนผู้ใช้แรงงาน เปิดเผยว่า ถูกทางโรงงานบอกให้มาทำงาน แต่กลับจ่ายค่าแรงไม่เต็มจำนวน บางครั้งก็ไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้ จนทำให้ได้รับความเดือนร้อน จึงได้รวมตัวกันเดินทางมาที่ดีเอสไอเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ ขณะที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่ส่งสินค้าได้กับโรงงานมาตั้งแต่ปี 2554 - 2556 แต่ว่าไม่ได้รับค่าสินค้าที่ส่งให้กับโรงงาน จนโรงงานปิดกิจการก็ไม่ได้รับเงินในจำนวนดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มแรงงานและเกษตรกร ได้เคยเข้าร้องเรียนมาที่ดีเอสไอแล้วครั้งหนึ่ง แต่ขณะนั้นเรื่องอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี จึงไม่สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้ แต่หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกฟ้องแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ดีเอสไอจะรับเรื่องไปตรวจสอบต่อไป
 
 
กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครไปทำงานที่มาเลเซียถึง 19 พ.ค.
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่ากรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคนหางานเพื่อ FOOD-CHAIN (M) SDN ไปทำงานในประเทศมาเลเซียกับบริษัท ROTOL BHD ซึ่งประกอบกิจการร้านอาหาร จำนวน 2 ตำแหน่ง 8 อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งผู้ประกอบอาหารจำนวน 2 อัตรา ค่าจ้างพื้นฐาน 5,000 ริงกิต ต่อเดือน หรือประมาณ 44,074 บาทต่อเดือน และตำแหน่งผู้ช่วยประกอบอาหารจำนวน 6 อัตรา ค่าจ้างพื้นฐาน 3,000 ริงกิตต่อเดือน หรือประมาณ 26,444 บาทต่อเดือน (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 8 เมษายน 2559) ระยะเวลาการจ้าง 2 ปี ต่อสัญญาได้ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง/สัปดาห์ละ 6 วัน นายจ้างรับผิดชอบค่าทำประกันเงินทดแทนตามที่ทางการกำหนด พร้อมจัดหาที่พักและพาหนะรับส่งให้ฟรี จัดให้มีการตรวจโรคประจำปีตามที่กรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียกำหนด และรับผิดชอบค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับประเทศไทย เมื่อทำงานครบสัญญา 2 ปี การลาประจำปี 8 วัน ลาป่วยไม่เกินปีละ 14 วัน วันหยุดเทศกาล 11 วัน เอกสารที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรม
 
ผู้สนใจสามารถติดต่อสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10, สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศกรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ชั้น 10 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 โดยไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2245-1034 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
กรมการจัดหางานเตือนแรงงานไทยอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างที่ชักชวน ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด พนักงานโรงงาน คนงานก่อสร้าง และยามในบริษัทใหญ่ที่โรมาเนีย เนื่องจากไม่มีตำแหน่งงานอยู่จริง และรัฐบาลโรมาเนียเข้มงวดในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานนอกสหภาพยุโรป
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ได้แจ้งว่าขณะนี้มีนายหน้าชาวไทยแอบอ้างว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่โรมาเนีย เช่น บริษัทรอมเพรสต์ บริษัทเออร์บัน เอส เอ และบริษัท เดนบราเว่น เป็นต้น มีงานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด พนักงานโรงงาน คนงานก่อสร้าง และยาม จำนวน 20-40 ตำแหน่ง โดยได้โควตาวีซ่าเข้าประเทศเรียบร้อยแล้ว เพียงจ่ายเงินค่านายหน้า และดำเนินการตรวจสุขภาพให้เสร็จสิ้นเท่านั้นก็สามารถเดินทางไปทำงานได้ทันที ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตรวจสอบกับบริษัทดังกล่าวข้างต้นแล้วปรากฏว่าไม่มีตำแหน่งงานเช่นนั้นอยู่จริง และบริษัทเหล่านั้นไม่มีนโยบายจ้างแรงงานต่างชาติแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐบาลโรมาเนียยังมีนโยบายที่เข้มงวดในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศนอกสหภาพยุโรป ไม่มีการให้โควตา การทำงานครั้งละจำนวนมากๆ แต่จะพิจารณาอนุญาตให้จ้างงานเป็น กรณีๆ ไป ซึ่งมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 12,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
 
กรมการจัดหางานจึงขอแจ้งเตือนคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่โรมาเนียตรวจสอบข้อมูลสถานเอกอัครราชทูต ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยเฉพาะเอกสารสัญญาจ้างงานจะต้องได้รับการรับรองจากสถานทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ก่อน โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ E-mail : Thaibuh@outlook โทร. +40 21 311 0031 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 โทรศัพท์ สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
 
จับมือเมียนมาจ้างแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน นายธีรพล ขุนเมือง บอกว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงานได้ประชุมหารือกับ นายเต็ง ส่วย รมว.แรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมา เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการร่วมกันในการจัดส่งแรงงานตามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ โดยจัดตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายให้แล้วเสร็จภายในมิ.ย.นี้โดยจะมีการเปิดจุดเข้าออกของแรงงาน เพิ่มขึ้นที่บ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมถึงเปิดศูนย์อบรมที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อปฐมนิเทศก่อนเข้ามาทำงานและส่งกลับเพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้วย โดยเน้นความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย และทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้มีการหลอกลวงแรงงานและแรงงานบังคับไม่ให้นำไปสู่การค้ามนุษย์
 
 
เร่งช่วย 39 แรงงานต่างด้าวร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้าง
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 57 คน ซึ่งทำงานกับนายจ้างบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 30/8 ซอยอารีย์อุทิศ ถ.ปทุมสัมพันธ์ ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้าง โดยอ้างว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานหลายประการ เช่น ไม่จ่ายค่าจ้างงวดสุดท้าย ไม่นำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามกฎหมาย ไม่ให้ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไม่จ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาและนายจ้างประกาศให้ลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
 
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางาน จ.ปทุมธานี ตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียน พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายจ้างบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ จำกัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้การช่วยเหลือในการเปลี่ยนนายจ้างตามกฎหมาย ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นแรงงานต่างด้าวทั้ง 57 คน ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม และในจำนวนดังกล่าวมี 37 คน ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุ และบริษัทไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ และอีก 2 คน ใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ แต่บริษัทได้ยกเลิกใบอนุญาตทำงานแล้ว
 
ดังนั้นแรงงานต่างด้าวทั้ง 39 คนจึงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ และขณะนี้แรงงานกลุ่มดังกล่าวกำลังรอการบรรจุงานใหม่ที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) จำกัด จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ส่วนที่เหลืออีก 18 คน ใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ ซึ่งกรมการจัดหางานได้แจ้งให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขอความร่วมมือบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ แม่สอด จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง หากไม่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวทั้ง 18 คนทำงานต่อไป ขอให้ยกเลิกใบอนุญาตทำงาน เพื่อแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะได้เปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น
 
อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวด้วยว่า แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ได้รับการดูแลและช่วยเหลือเบื้องต้นจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ทั้งด้านที่พักและอาหาร ตลอดจนการประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานภายใต้ MOU สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ในกรณี 1.นายจ้างเสียชีวิต 2.นายจ้างเลิกจ้างและเลิกกิจการ 3.นายจ้างกระทำทารุณกรรม 4.นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน อย่างไรก็ตามหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ส่วนเรื่องการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ให้จดทะเบียนเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 59 ที่เห็นชอบการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน มารายงานตัวทำบัตรใหม่ภายใน 120 วัน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. 2559
 
ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ชำระค่าธรรมเนียม มีจุดบริการชำระเงิน (Counter Service) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 แล้วนำใบรับรองแพทย์และบัตรสีชมพูหรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ไปชำระค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น 1,900 บาท แบ่งเป็นค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี จำนวน 1,800 บาท กรณีชำระค่าบริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 10 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน
จากนั้น นำแรงงานต่างด้าวไปศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ตามแต่ละพื้นที่กำหนด โดยนำเอกสารบัตรสีชมพู หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้/ใบเสร็จรับเงินชำระค่าธรรมเนียม/ใบรับรองแพทย์/ใบนัด และคำขออนุญาตทำงาน ตท.8 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรับรายงานตัวและจัดทำบัตรใหม่ให้ โดยจะทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561
 
 
ส.อ.ท.ค้านขึ้นค่าแรง 360 บาทต่อวัน
 
นายเจน นำชัยสิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรียกร้องให้ภาครัฐ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาทต่อวัน จากปัจจุบันค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศว่า ขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากสมาชิก ส.อ.ท.เป็นจำนวนมาก ว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับขึ้นค่าแรงงานจาก 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่หลายๆจังหวัดยังฟื้นตัวไม่ดีนัก และที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผู้ประกอบการหลายรายรับภาระไม่ไหว หากปรับขึ้นอีกเชื่อว่าผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
 
“ผมต้องการให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงาน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีแต่ละจังหวัดมากกว่า ส่วนกลางไม่ควรชี้นำ เนื่องจากคณะกรรมการฯ แต่ละจังหวัด จะรู้ข้อมูลดีที่สุดว่าผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่รับภาระค่าแรงงานได้มากน้อยเท่าใด ควรศึกษาข้อดีข้อเสียให้ดี เช่น หากปรับขึ้นค่าแรงงานขึ้นไป แต่ผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ได้ สุดท้ายต้องปิดกิจการ แรงงานต้องถูกเลิกจ้าง”
 
นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ส.อ.ท. กล่าวว่า แนวทางการปรับขึ้นค่าแรงงาน หากจะมีการปรับขึ้นครั้งต่อไป ควรลอยตัวค่าแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท จากนั้นให้ปรับขึ้นค่าแรงงานตามทักษะความสามารถ เช่น สอบใบมาตรฐานแรงงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเปิดให้วัดทักษะความสามารถหลายระดับ และแต่ละบริษัทควรมีโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน กำหนดให้พนักงานแต่ละคนต้องพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน ก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือน ไม่ควรพิจารณาแต่อายุการทำงานเท่านั้น เพื่อให้พนักงานมีแรงจูงใจในการพัฒนาฝีแรงงานของตน
 
 
คลังเตรียมออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญฯสำหรับลูกจ้างบริษัทเอกชน เพื่อให้มีรายได้หลังเกษียณเพียงพอต่อการดำรงชีพ
 
วันนี้ (3พ.ค.59) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) สำหรับลูกจ้างบริษัทเอกชน โดยมีลักษณะเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้พนักงานบริษัทเอกชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอต่อการดำรงชีพ และช่วยลดภาระงบประมาณการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุของภาครัฐ
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า สศค.พยายามผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว แต่เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมายังไม่เอื้ออำนวย ทำให้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาสศค.ได้ศึกษาพบว่า รายได้หลังเกษียณของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ สะท้อนจากข้าราชการเกษียณ 3 ล้านคน จะมีรายได้หลังเกษียณเท่ากับ 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ ขณะที่แรงงานในระบบประกันสังคมมี 12 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยหลังเกษียณ 40% ของรายได้ก่อนเกษียณ แต่แรงงานนอกระบบ 27 ล้านคน ไม่มีระบบบำนาญหลังเกษียณ
 
ทั้งนี้ การใช้กฎหมายนี้การจ่ายเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้าง จะมีอัตราเท่ากัน โดยจะทยอยปรับขึ้นเป็นช่วงๆ คือ ปีที่ 1-3 อัตรา 3% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 1,800 บาท ปีที่ 4-6 อัตรา 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ปีที่ 7-9 อัตรา 7% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 4,200 บาท และปีที่ 10 เป็นต้นไป อัตรา 10% แต่ไม่เกิน 6,000 บาท ซึ่งจะมีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางพัฒนาและกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน รวมทั้งทบทวนหรือออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญ
 
อย่างไรก็ตาม ปีแรกหลังใช้กฎหมาย จะกำหนดให้กิจการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกิจการที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กิจการในตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชน ต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันที หลังจากนั้นในปีที่ 4 กำหนดให้กิจการที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนฯ และในปีที่ 6 กิจการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
สำหรับ ภาระงบประมาณด้านหลักประกันชราภาพสูงขึ้นมาก จนอาจกระทบต่อความยั่งยืนของระบบ โดยภาระการคลังต่องบประมาณด้านสวัสดิการสังคมกรณีชราภาพปี 2557 มี 2.7 แสนล้านบาท หรือ 2.1% ของจีดีพี มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 6.8 แสนล้านบาท หรือ 3.0% ของจีดีพี ใน10 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันรัฐมีภาระจากเงินบำเหน็จบำนาญ 4.7 แสนล้านบาทต่อปี ภาระเงินจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราเป็น 9 หมื่นล้านบาทต่อปี ภาระจ่ายเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 9 หมื่นล้านบาทต่อปี ภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ 10,000 ล้านบาทต่อปี จากไม่มีภาระเลยในปี 2557
 
ทั้งนี้ กบช.จะเสริมกองทุนประกันสังคม บริษัทใดจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเปลี่ยนเป็น กบช.ได้ ซึ่งกบช.แตกต่างกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกบช.เป็นภาคบังคับให้ทุกบริษัทต้องดำเนินการ แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจและมีบริษัทใหญ่หลายแห่ง ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
 
เทสโก้ฯ ผนึกสมาคมคนพิการภาคตะวันออกจัดอบรมตัดเย็บเสื้อผ้า
 
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกของไทยและมีร้านค้ากว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศ เทสโก้ โลตัส มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคมไทย โดยใช้ขนาดและศักยภาพขององค์กร เพื่อมอบโอกาสพร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มคนพิการในประเทศไทย ผ่านการดำเนินงานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเปิดโอกาสในการทำงานให้กับคนพิการในสำนักงานและสาขาต่างๆ ,เปิดร้านค้าชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการ,จัดพื้นที่ขายลอตเตอรี่ให้กับคนพิการ,ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมถึงผู้สูงอายุ รวมถึง การจัดหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้า 609 ชั่วโมง สร้างงานขยายโอกาสทางอาชีพ ตามมาตรา 35 ด้วย
 
“เทสโก้ โลตัส ได้ร่วมกับสมาคมคนพิการภาคตะวันออก จัดหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับคนพิการขึ้น ที่ศูนย์ฝึกอบรม โรงเรียนบ้านทุ่งแม่น้ำน้อย อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์-13 มิถุนายน จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นผู้พิการในจังหวัดนครสวรรค์ มีเป้าหมายสร้างงาน ขยายโอกาสในการเข้าถึงอาชีพให้กับคนพิการ โดยหลังจบหลักสูตรจะได้รับมอบจักรพร้อมอุปกรณ์ ไปประกอบอาชีพ ”
 
นายณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก กล่าวว่า สมาคมคนพิการภาคตะวันออกได้ร่วมกับ เทสโก้ โลตัสพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา ตามมาตรา 35 ที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้
 
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำให้คนพิการได้รับสิทธิเท่าเทียม เพราะสิ่งที่คนพิการทุกคนกลัวคือ การไม่มีงานทำ หลักสูตรนี้เรามีเบี้ยเลี้ยงให้ เรียนฟรี มีอาหารเลี้ยง 3 มื้อ จบแล้วยังได้จักรเย็บผ้าพร้อมอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพอีก ทำให้เขามีความหวังในชีวิตมากขึ้น”
 
นางสาวพร สุขสวัสดิ์ อายุ 46 ปี ผู้พิการแขนขา กล่าวว่า “ปกติแล้วจะอยู่บ้าน ปลูกผักปลูกหญ้า มีรายได้จากเบี้ยเลี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือน ก็ไม่พอใช้ เพราะมีโรคประจำตัวหอบหืด ค่ายาก็ 300 บาทแล้ว พอมาเข้าอบรมหลักสูตรนี้มีความหวังมากขึ้น เป็นหลักสูตรที่ดีมาก ตอนนี้เย็บกระโปรงได้แล้ว กำลังเรียนเย็บกางเกง เสื้อผ้าอื่นๆ จะได้นำไปทำอาชีพได้”
 
นายแผน บุญรัตน์ ผู้พิการขา กล่าวว่า โครงการนี้ให้โอกาสคนพิการดีมาก โดยเฉพาะผู้ไม่มีงานทำ เพิ่มแรงจูงใจให้เขามาเรียน ซึ่งจะเป็นโอกาสต่อเนื่องให้กับคนพิการ อย่างผมปกติรับซ่อมวิทยุโทรทัศน์ แต่หลังๆ งานเริ่มหายไป เพราะเทคโนโลยีใหม่ขึ้น เสียแล้วทิ้งเลย ไม่ค่อยมีใครนำมาซ่อม พอรู้ว่ามีหลักสูตรนี้ผมเลยมาหาความรู้ สร้างโอกาสให้กับตัวเอง”
 
ทั้งนี้เทสโก้ โลตัส ได้เริ่มจ้างงานเพิ่มเติมให้ผู้พิการที่มีความสามารถในการตัดเย็บ ด้วยการเย็บถุงผ้า สำหรับใช้ภายในองค์กรบ้างแล้ว ขณะที่ในเดือนกรกฏาคม-ตุลาคมนี้ จะมีโครงการอบรมหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้า 609 ชั่วโมง รุ่นที่สอง ให้แก่ผู้พิการจำนวน 50 คน ณ เทศบาลตำบลจันดุม อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลำดับต่อไป
 
 
ยอดจดทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติ 160,000 คน ส่วนกิจการประมงมาจดทะเบียนเพียง 33,503 คน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กลุ่มเดิมที่มีบัตรสีชมพู หรือมีหนังสือประจำตัวบุคคล ซึ่งไม่ใช่หนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางออกให้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) 80 จุด ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 29 กรกฎาคม ว่า ล่าสุดมีนายจ้าง 50,519 ราย พาแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศจดทะเบียนแล้ว 166,136 คน เป็นแรงงาน 162,075 คน และผู้ติดตาม 4,061 คน ในจำนวนนี้ แยกเป็นแรงงานที่ถือบัตรประจำตัวสีชมพู 140,326 คน และแรงงานต่างด้าวที่ถือเอกสารประจำตัวบุคคล ที่ประเทศต้นทางออกให้ 25,810 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 88,472 คน ลาว 14,554 คน และกัมพูชา 63,110 คน ส่วนยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลใน 22 จังหวัด ครั้งที่ 2 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม มีนายจ้าง 9,789 คน พาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียน 33,503 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 19,708 คน ลาว 683 คน และกัมพูชา 13,112 คน
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 22 สิงหาคม มีนายจ้าง 7,428 คน นำแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียน 75,067 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 61,190 คน ลาว 1,368 คน และกัมพูชา 12,509 คน
 
 
สอศ.-อมตะนคร ผนึกกำลังจัดการศึกษาทวิภาคี ผลิตพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
 
(3พ.ค.) ที่อาคารอมตะเซอร์วิสเซ็นเตอร์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร โดย ดร.อกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.มีภารกิจหลักในการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) แต่ในการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษานั้น หากจะให้เกิดพลังในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือสถานประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรม มาร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งในจังหวัดชลบุรีมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงทั้งรัฐและเอกชน รวม 33 แห่ง ร่วมกับสถานประกอบการ 29 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ประเภทวิชาอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาการอาชีวศึกษาให้มีศักยภาพ นำไปสู่การพัฒนากำลังคน กำลังแรงงาน ให้มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมภาพรวมของประเทศต่อไป
 
ด้าน นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องพัฒนากำลังคน ซึ่งแรงงานที่มียังไม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อมตะนครจึงร่วมกับ สอศ. เตรียมกำลังคน กำลังแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้ง รองรับการขยายตัวในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาจะต้องพัฒนาให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยมีการพัฒนาและปรับหลักสูตร หัวข้อวิชา ให้เหมาะกับงานที่ทำ และมีการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถานประกอบการ การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ร่วมกับสถานศึกษา และสถานประกอบการ จะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการกำลังคน ที่มีทักษะฝีมือและมีมาตรฐานตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
 
 
เล็งตัด 'พนักงานราชการ' ในร่างแผนการศึกษาชาติ
 
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกศ.ได้ทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2574) และเมื่อประชาพิจารณ์ครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว หลังจากนี้จะมีการปรับปรุงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้สมบูรณสอดคล้องกับความต้องการของครู โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ในการสรุปเสนอคณะกรรมการสภาการศึกษา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และคาดว่าไม่เกินเดือนก.ย.2559 จะสามารถจัดพิมพ์และเผยแพร่ได้ และนำไปได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 เพราะฉะนั้นนับจากนี้ไป สกศ.จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์ที่สุด
 
“ความเห็นที่ได้จากการประชาพิจารณ์นั้น สกศ.จะนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างแผนให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน แต่ที่สำคัญอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ในเรื่องหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน ครู ผู้บริหาร การบริหารจัดการ ขอให้ความเห็นให้ครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการทำแผน ไม่ใช้เน้นเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น และในแผนการศึกษาแห่งชาติจะไม่ระบุชัดว่าจะต้องเรียนฟรีกี่ปี ใครจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ แต่จะพูดในเชิงหลักการเท่านั้น และที่สำคัญจะพูดถึงภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ที่จะต้องเข้ามาร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเราไปเน้นแต่เรื่องการรับการบริจาค แต่ขณะนี้เรามีรูปแบอื่น ๆ แล้ว ส่วนการจัดสรรงบประมาณจะจัดไปที่เด็กหรือที่โรงเรียนก็ต้องมีการพูดถึง โดยปัจจุบันจัดสรรไปที่โรงเรียน แต่อนาคตจะจัดสรรไปที่ตัวเด็ก เช่น คูปองการศึกษา เพื่อให้เด็กเลือกไปเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ โรงเรียนก็จะต้องพัฒนาคุณภาพเพื่อให้เด็กอยากเข้ามาเรียนมากขึ้น และที่สำคัญจะต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนและโรงเรียนต้องอยู่ได้ด้วย”เลขาธิการ สกศ.กล่าว
 
ดร.กมล กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อห่วงใยในสถานะของครู ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยากให้ครูเป็นข้าราชการและอยู่ในระบบเหมือนเดิม ซึ่ง สกศ.ได้รับทราบและพร้อมที่จะนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แต่จุดมุ่งหมายเดิมของการกำหนดให้ “ครู” เป็น “พนักงานราชการ” หรือมีสถานะอื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงโรงเรียนทั่วไปหรือครูส่วนใหญ่ แต่จะเป็นโรงเรียนบางประเภท ซึ่งวันนี้ยังไม่มี เช่น โรงเรียนนิติบุคคล โรงเรียนที่สอนสาขาเฉพาะที่ต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ ซึ่งอาจมีอัตราจ้าง หรือไปสรรหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาและมีสถานะที่ไม่ใช่ข้าราชการครู ดังนั้นจึงอยากครูทุกคนสบายใจว่ายังใช้ระบบเดิมในการคัดเลือกครู รวมถึงการแต่งตั้งผู้บริหารก็ยังใช้ระบบเดิม อย่างไรก็ตามเมื่อครูมีความกังวลกันมากก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะตัดส่วนนี้ออก
 
 
กกร.วอนรัฐเลิกค่าจ้างขั้นต่ำราคาเดียวทั่ว ปท. เผยสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเริ่มชัด
 
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนพฤษภาคม โรงแรมดุสิตธานี ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานมีการเรียกร้องปรับเพิ่ม จากปัจจุบันอยู่ที่ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ โดยมีมติแสดงจุดยืนดังนี้ 1.ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรมีอัตราเดียวกันทั่วประเทศ แต่ควรเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้นๆ ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม กกร.ไม่สามารถระบุได้ว่าค่าจ้างที่เหมาะสมควรเป็นระดับใด 2.กกร.ต้องการให้คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาตามข้อมูลข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นหลัก 3.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับการปรับค่าจ้างที่สูงขึ้น และ 4.ขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายพัฒนาระบบโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานของประเทศในระยะยาว
 
นายเจนกล่าวว่า กกร.ยังประเมินเศรษฐกิจไทยพบว่ามีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี(มกราคม-มีนาคม2559) อาทิ ยอดส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ แต่ก็ต้องจับตาว่าจะฟื้นตัวจริงหรือไม่ เพราะกรณียอดขายเครื่องปรับอากาศอาจสูงในระยะสั้นเท่านั้น จึงยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไว้ที่ 3-3.5% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณบวก เศรษฐกิจจีนเริ่มนิ่งขึ้น และผลจากธนาคารกลางสหรัฐคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันภาคการส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 กกร. จึงมีมติคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 0-2% และภาครัฐมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยช่วงครึ่งปีแรก (ตุลาคม 2558 -มีนาคม 2559) มีการเบิกจ่ายแล้ว 31.9% ของงบลงทุนรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 27% จากปัจจัยบวกดังกล่าว ที่ประชุม กกร. จึงมีมติคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 0-2% แต่ยอมรับว่าห่วงเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า จะกระทบขีดความสามารถในการส่งออก
 
"แม้ปัจจัยต่าง ๆ จะเป็นบวกต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทย แต่กกร.ยังมีความเป็นห่วงต่อทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญยังไม่แน่นอน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" นายเจนกล่าว
 
 
ก.พาณิชย์ เตรียมส่ง 'ร้านหนูณิชย์พาชิม' บุกขายหน้าโรงงาน ช่วยค่าครองชีพแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท
 
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรื่องโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและค่าครองชีพ ว่า กรมได้เตรียมหาแนวทางในการดูแลและลดค่าครองชีพให้กับประชาชนกลุ่มผู้รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท หลังผลสำรวจของหอการค้าไทย พบว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จึงต้องเน้นการเพิ่มมาตรการดูแลค่าครองชีพให้กับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
 
สำหรับแนวทางในการดำเนินการ กรมจะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อจัดเมนูอาหารราคาประหยัดผ่านร้านอาหารหนูณิชย์ พาชิม ซึ่งจะมีการจำหน่ายทั้งอาหารปรุงสำเร็จเพื่อบริโภคประจำวัน และอาหารปรุงสำเร็จบรรจุถุง ซื้อกับไปบริโภคที่บ้าน โดยจะจำหน่ายในเมนูต่ำกว่า 35 บาท เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและผู้มีรายได้ต่ำ ที่ประสบปัญหาค่าครองชีพ
 
ขณะเดียวกัน จะผลักดันให้มีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการหนูณิชย์ พาชิมให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งร้านค้าในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ และร้านค้าที่อยู่ในห้าง รวมทั้งจะใช้การจัดงานธงฟ้า เพื่อนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น
 
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงภัยแล้ง จากผลสำรวจพบว่า ผักบางรายการมีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นตามกลไกตลาด แต่ไม่น่าห่วง เพราะมีผักหลากชนิดที่สามารถเลือกซื้อและทดแทนกันได้ ส่วนเนื้อสุกรก็มีการปรับราคาขึ้น เพราะลูกหมูโตช้า ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง และผู้ประกอบการยังมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเลี้ยง ส่วนไข่ไก่และไก่สด ราคาทรงตัว โดยรรคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 2.30 บาท และราคาขายปลีกเบอร์ 3 ฟองละ 3 บาท
 
กรมได้สั่งการให้ค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามและตรวจสอบภาวะราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่สมเหตุสมผล และหากพบความผิดปกติ ก็จะหารือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ส่วนประชาชน หากพบเห็นการฉวยโอกาสให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท