Skip to main content
sharethis

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน ต่ำสุดใน 7 เดือน จากความกังวลภัยแล้ง-ค่าครองชีพ สมาคมผู้ค้าปลีก เผยดัชนีการค้าปลีกของไทยไตรมาสแรก ขยายตัวเพียง 2.6% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือคงเป้าส่งออกปีนี้ 0-2% 

3 พ.ค. 2559 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ทีผ่านมา สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนเม.ย.59  เท่ากับ 106.42 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค.57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.55 หากเทียบกับเดือนมี.ค.59 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย  4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 59 ลดลง ร้อยละ 0.35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“หากเปรียบเทียบเงินเฟ้อเดือนเมษายน กับ เดือนมี.ค. 59 พบว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาผักสด อาทิ มะนาว ถั่วฝักยาว ผักชี และ พริกสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.44 เนื้อสุกร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48 สาเหตุอีกส่วนมาจากผู้ส่งสินค้าหยุดทำการในช่วงสงกรานต์ ทำให้สินค้าไม่เพียงพอจำหน่าย รวมถึงอาหารโทรสั่ง เช่น พิซซ่า” สมเกียรติ กล่าว

สำหรับสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อ เดือนเม.ย.สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้พืชและสัตว์เติบโตได้ช้า ส่งผลให้ผลผลิตในตลาดน้อยลง ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์และผักสดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปรับขึ้น เช่น มะนาว ผักชี ถั่วฝักยาว และ พริกสด โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 1.57 ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 13.13 โดยเฉพาะบุหรี่ร้อยละ 28.15 ส่วนหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.81 ค่าตรวจรักษาและค่ายา สูงขึ้นร้อยละ1.3  หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.52  อย่างไรก็ตามหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 2.58 โดยน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ลดลงร้อยละ 11.20  ค่าไฟฟ้าลดลงร้อยละ 4.11

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน

ขณะที่วันนี้ (3 พ.ค.59) ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 59 ว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 61.5 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวค่อนข้างช้า  โดยยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตร  รวมถึงการหารายได้ ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศไม่มาก  ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น  และยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวระดับสูง  แม้การท่องเที่ยวและการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว  โดยมูลค่าส่งออกเดือน มี.ค. 59 มูลค่าสูงถึง 19,124.55  ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3  ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2  รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย  แต่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ปัจจุบันและอนาคตไม่ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีความเหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่ปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ต่ำที่สุดรอบ 78 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.55  อยู่ที่ระดับ 81.3  สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่เหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่  ขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเดือนเม.ย.59  ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ต่ำสุดรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 58 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภครคะมัดระวังการใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น

เผยดัชนีการค้าปลีกของไทยไตรมาสแรก ขยายตัวเพียง 2.6%

ขณะที่ จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขดัชนีการค้าปลีกของไทย มีอัตราการเติบโตในอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2554 โดยไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6  และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัว ร้อยละ 2.8 ลดลงจากต้นปีที่คาดว่าโตร้อยละ 3 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 20 ปี จากที่เคยโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ในข่วงปี 2545 – 2555 โดยตัวเลขดัชนีการค้าปลีกของไทยมีอัตราการเติบโตลดลงตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 12 , ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 6.3 , ปี 2557 ขยายตัว ร้อยละ 3.2 และ ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมูลค่าค้าปลีกในปี 2558 มีมูลค่า 3.1 ล้านล้านบาท

โดยการบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่งอ่อนแอลงมาตลอด เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากการผลิตภาคการเกษตรยังอ่อนแอ ส่งผลให้สินค้าไม่คงทน เช่นอาหาร และ เครื่องดื่ม ไม่มีการเติบโตเลย ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับบน ออกไปช้อปปิ้งที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องเติบโตประมาณร้อยละ 9 ต่อปี โดยในปี 2558 คนไทยไปใช้จ่ายในต่างประเทศสูงถึง 170,032 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นการจับจ่ายสินค้าแบรนด์เนมที่มีจำหน่ายในไทยสูงถึง 50,840 ล้านบาท

สรท.คงเป้าส่งออกปีนี้ 0-2%

นพพร เทพสิทธา  ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.  19,125  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ขยายตัวร้อยละ 1.30  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  แต่ทาง สรท.มองว่าแม้จะเป็นบวก แต่คงต้องติดตามการส่งออกอีก 3  ไตรมาส  ซึ่งยังมีปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ประกอบกับหลายสำนักยังประเมินภาพรวมการส่งออกปีนี้ติดลบ  ดังนั้น  สรท. จะยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 0-2  ไม่มีการปรับประมาณการ และคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังใกล้ชิด แม้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ  จีน  มีแนวโน้มดีขึ้น  แต่ภาพรวมยังเห็นว่าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมีปัญหาและเปราะบาง ประกอบกับภาคเอกชนกังวลปัญหาเงินบาทแข็งค่าเกินไป  และการแข่งขันทางการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีหลายประเทศค่อนข้างมาก รวมถึงปัญหาไอยูยูว่าอียูจะให้ใบแดงต่อการแก้ไขปัญหาประมงของไทยอออกมาเช่นไร
 
ทั้งนี้  ทาง สรท.กำหนดเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโตร้อยละ 0-2 มูลค่าส่งออกรวม  214,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ราคาน้ำมันเฉลี่ย  45  ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  เงินบาท  35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ดังนั้น  การที่จะให้การส่งออกเติบโตร้อยละ 5  ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้  หมายถึงต้องทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  เห็นว่าเป็นเรื่องยากมากในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว

 

เรียบเรียงจาก ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net