รัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในระหว่างที่พี่น้องประชาชนไทยกำลังพิจารณาว่าจะโหวตอะไรดีในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การหวนกลับไปทบทวนว่าในกระบวนการอันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เคยมีบรรยากาศ เคยมีข้อถกเถียงอะไรกันมาบ้าง อาจเป็นช่องทางที่ช่วยให้เราสามารถเทียบเคียงและสรุปได้ว่า เมื่อชีวิตโดยเฉพาะชีวิตทางสังคมการเมืองคือชีวิตที่ซ้ำ ๆ กันเพื่อที่จะซ้ำ ๆ กันต่อไปเช่นนี้ เราควรจะโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดดี

อีกทั้งไม่ว่าร่างนี้จะผ่านความเห็นชอบจากประชาชนหรือไม่ก็ตาม ข้อเสนอให้รื้อฟื้นงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ (ซึ่งเราอาจจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองรัฐธรรมูญได้ แม้ในยามที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตาม, วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก หรือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกก็ตาม ล้วนเป็นวันมงคล ที่เราประชาชนไทยควรจะได้มีงานรื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน) เป็นข้อเสนอที่ปรารถนาให้สังคมไทยได้พิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้ใช้เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้เราได้หลีกออกไปจากการรัฐประหาร ซ้ำซาก- - ซึ่งก็ยังเกิดขึ้นเป็นวังวนภายหลังการเผยแพร่บทความชิ้นนี้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในเวลานั้นผู้คนส่วนใหญ่แม้แต่นักวิชาการจำนวนมากคงเชื่อกันว่าภายหลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหดในปี 2535 ทหารคงไม่ออกมายึดอำนาจแล้ว

บทความเก่าแก่เรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้าน" ชิ้นนี้ตั้งความหวังที่จะช่วยให้สังคมไทยหลีกออกจากความหฤโหดของลัทธิบวงสรวงบูชารัฐธรรมนูญด้วยชีวิตประชาชน ไปสู่ชีวิตแห่งความหฤหรรษ์ทางการเมือง ประชาธิปไตยไม่ควรได้มาด้วยความรุนแรง ประชาธิปไตยควรเกิดขึ้นด้วยหรรษาวิธี

0000

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่แยกไม่ออกจากการเขียนหรือร่างรัฐธรรมนูญ จนอาจกล่าวได้ว่าสังคมการเมืองไทยเป็นสังคมการเมืองที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมากที่สุดในโลก พลันที่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตาม ม.211 ในปัจจุบัน(ซึ่งกำลังจะเริ่มขึ้น)เสร็จสิ้นลง กระแสความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับที่ใหม่กว่าดีกว่าฉบับที่เพิ่งร่างเสร็จนั้นก็จะเกิดขึ้นเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

เพราะเหตุดังนั้น การทำความเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญฉบับตัวเขียนในสังคมไทยจึงไม่อาจทำได้อย่างกระจ่างแจ้งเพียงด้วยเครื่องมือทางสังคมศาสตร์เท่านั้น หากแต่จะต้องยักย้ายไปพิจารณารัฐธรรมนูญไทยในฐานะวรรณคดี โดยเฉพาะในฐานะวรรณคดีประจำชาติ

โดยที่รัฐธรรมนูญไทยเป็นศิลปะ/วรรณคดีชนิดหนึ่ง จึงย่อมเป็นไปตามประเพณีนิยมในการสร้างศิลปะไทยด้วย ในแง่หนึ่งจึงมีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของคนรุ่นหลังที่จะสร้างหรือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาประกวดประขันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ๆ โดยที่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ผิดแผกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ๆ อะไรมากมายนัก แต่งเติมตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อยหวังจะให้งามขึ้น ๆ โดยที่ยังคงเอารัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เป็นแบบแผนหรือเป็นครูอยู่นั่นเอง ดุจเดียวกับที่คนรุ่นหลังสร้างวัดวาอารามขึ้นมาประกวดประขันกับวัดของบรรพบุรุษ ก็มิใช่เพื่อล้มล้างครู แต่เป็นไปเพื่อแสดงฝีไม้ลายมือให้ประจักษ์ว่าตนทำได้งดงามทัดเทียมกับฝีมือของบรรพบุรุษ ด้วย "สำนวน" ทางศิลปะของตนเอง โดยเหตุดังนั้นจึงมีการเล่าขานกันจนเป็นตำนานถึงความงามความไพเราะของรัฐธรรมนูญบางฉบับ เช่น ฉบับปีพุทธศักราช 2489 และ 2517 ว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญรุ่นหลัง ๆ ลงมาฉบับใดสร้างได้ดีหรืองดงามเท่า

อย่างไรก็ตาม ในประเพณีการสร้างงานศิลปะเช่นนี้ ศิลปะจะขึ้นถึงจุดสุดยอดไม่ได้ หากไม่มีความคิด "นอกครู" แทรกปนอยู่ด้วย (เราคงต้องระวังด้วยว่าความคิดแบบนอกครูนี้ เป็นคนละเรื่องกับความคิดที่จะเอาชนะล้มล้างครู) รัฐธรรมนูญที่ถูกเล่าขานจนเป็นตำนานเหล่านั้นก็ด้วยความคิดนอกครูดังกล่าวนี้ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปัจจุบันจะมีความกล้าหาญที่จะสร้างงานนอกครูบ้างหรือไม่ ? นอกเหนือไปจากการแต่งเติมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงแค่แยกฝ่ายบริหารจากฝ่ายนิติบัญญัติ และขจัดการซื้อเสียงเลือกตั้ง ดังที่กล่าวถึงกันอยู่

ดังกล่าวแล้วว่า พลันที่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นลง กระแสความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับที่ใหม่กว่าก็จะเกิดขึ้นเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ประเพณีการเขียนรัฐธรรมนูญไทยจึงมีความสืบเนื่องกับประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติ ที่กระทำกันเป็นประจำปี ชั่วแต่ว่าในขณะที่ประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติดำเนินไปอย่างราบรื่นได้บุญได้กุศลกันทั่วหน้า ประเพณีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมาได้เกิดร่องรอยการก่อตัวของพิธีกรรมบวงสรวงในรูปของการชุมนุมหมู่ของประชาชน จนบางครั้งก็มีการเซ่นสังเวยชีวิตประชาชนให้แก่ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม ดุจเดียวกับที่สังคมสมัยก่อนทำพิธีบูชายัญบวงสรวงกาลีเทพ

ในแง่นี้จึงมีความจำเป็นที่สังคมการเมืองไทยจะต้องปรับแปลงประเพณีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ออกจากแนวโน้มของการกลายเป็นลัทธิบวงสรวงบูชารัฐธรรมนูญด้วยชีวิตประชาชน ไปสู่เทศกาลแห่งบุญกุศล ผู้รู้ได้กล่าวเตือนเอาไว้นานแล้วถึงความเป็นอนิจจังของสังคม กฎเกณฑ์หรือรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับเงื่อนไขสังคมแต่ละยุคสมัยจึงย่อมแตกต่างกันไปด้วย แทนที่จะชุมนุมเรียกร้อง เซ่นสังเวยชีวิตประชาชน 3 ครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ทำไมเราจึงไม่ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นเทศกาลร่างรัฐธรรมนูญประจำทุก 3 ปี 7 ปี โดยรื้อฟื้นงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งเคยเป็นไปอย่างสนุกสนานในอดีต มาปร้บใช้ให้เหมาะสม แปรความหฤโหดจากพิธีกรรมบวงสรวงรัฐธรรมนูญให้เป็นความหฤหรรษาทางการเมืองด้วยงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เราอาจร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันทุก 3 ปี 7 ปีอย่างจริงจัง หรือเราอาจเพียงแต่อาศัยงานฉลองรัฐธรรมนูญให้เป็นเวทีสาธารณะสำหรับให้ประชาชนทุกหย่อมหญ้าได้ทดลองเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับของตนเอง เราอาจแม้แต่จัดให้มีการประกวด "ร่างรัฐธรรมนูญในฝัน" กันเป็นประจำ เพื่อส่งเสริมความงอกงามทางวรรณคดี และขณะเดียวกัน เราอาจได้ความคิดใหม่ ๆ วิสัยทัศน์ใหม่ ๆ อันแหลมคมให้แก่การปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่จริงในแต่ละช่วงเวลาด้วย

ด้วยการพิจารณารัฐธรรมนูญในฐานะวรรณคดี เราย่อมจะเห็นได้ต่อไปว่า วรรณคดีชั้นเลิศเรื่องใด ๆ ก็ตาม ย่อมมี 2 แบบ หรือ 2 ฉบับ คือฉบับคำหลวงที่ "ทางการ" ให้การรับรองหรือใช้อำนาจบงการว่าแต่งได้ดีเลิศ กับฉบับพื้นบ้าน ซึ่งถูกนำมาขับขานเล่าสืบต่อกันในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยที่ทั้งวรรณคดีคำหลวงและฉบับพื้นบ้านต่างก็ส่งอิทธิพลในทางศิลปะต่อกันอยู่ตลอดเวลา เราเห็นได้อยู่บ่อย ๆ ว่าอะไรที่เป็นที่นิยมของชนชั้นสูงนั้น สามัญชนทั่วไปก็พลอยนิยมไปด้วย ในทางกลับกันและสำคัญกว่าก็คือ เสน่ห์ที่ปรากฏในงานพื้นบ้านนั้นมักถูกนำไปปรับปรุงให้วิจิตรขึ้นในงานที่เป็นคำหลวงเสมอมา ในวงการอื่นโดยเฉพาะในแวดวงดนตรีคลาสสิค เราได้รับรู้อยู่บ่อย ๆ ว่า ดนตรีซิมโฟนีหรือคอนแชร์โตที่แต่งได้งดงาม ต่างก็ล้วนหยิบเอาสุ้มเสียงหรือแรงบันดาลใจมาจากท่วงทำนองของดนตรีพื้นบ้าน ถิ่นนั้นบ้าง ถิ่นนี้บ้าง

จากแง่มุมนี้ ปัญหาสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญไทยจึงอยู่ที่ว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างวรรณคดีแห่งชาติ โดยมีแต่รัฐธรรมนูญฉบับคำหลวง สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีฉบับคำหลวง หรืออย่างน้อยก็ควบคู่ไปกับฉบับคำหลวง คือรัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้าน ซึ่งเขียนขึ้นโดยชาวบ้านทั่วไปยังไม่เกิด เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้าน จึงไม่มีวัตถุดิบ ไม่มีเสน่ห์หรือแรงบันดาลใจจากงานพื้นบ้านให้แก่การปรุงขึ้นเป็นวรรณคดีหรือรัฐธรรมนูญฉบับคำหลวง รัฐธรรมนูญไทยหรือวรรณคดีแห่งชาติสำหรับสังคมไทยสมัยใหม่ของไทยจะยังเกิดไม่ได้ ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเรียนรู้และส่งอิทธิพลในทางศิลปะแก่กัน โดยเฉพาะจากฉบับพื้นบ้านให้แก่ฉบับคำหลวง กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือรัฐธรรมนูญฉบับคำหลวง จึงยังคงมิใช่รัฐธรรมนูญที่ทรงคุณค่าแท้จริง - - ยังมิใช่รัฐธรรมนูญ !

แรงบันดาลใจจากรัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้านที่สำคัญย่อมได้แก่ความคิดแบบพื้นบ้านนั้นเอง สมุนไพรพื้นบ้านคือคลังมรดกทางเภสัชศาสตร์ที่ศึกษาเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ได้ไม่รู้จบฉ้นใด ความคิดแบบพื้นบ้านก็น่าจะเป็นประโยชน์เป็นแรงบันดาลใจให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับคำหลวงฉันนั้น จากนี้ไปเราจึงอาจจะได้เห็นได้เสพรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแบบใหม่ ๆ ที่คำนึงถึงธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือก็คือการให้ความสำคัญกับความสมดุลของสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความเคารพต่อแผ่นดิน เป็นแผ่นดินที่ดำเนินไปได้ด้วยพลานุภาพของน้ำ เป็นสังคมพลังน้ำที่ละเอียดอ่อนต่อแม้แต่ลม ซึ่งอย่างน้อยก็ปรากฏในคติของพุทธศาสนาที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของลมหายใจ เราหายใจหยาบตัวเราก็หยาบ เราหายใจละเอียดตัวเราก็ละเอียด แต่ถ้าลมที่ใช้หายใจไม่สะอาด ตัวเราตลอดทั้งสังคมของเราก็ย่อมพลอยลำบากไปด้วย โดยที่ไฟหรือก็คือการใช้พลังงานย่อมเป็นปัญหาที่จะต้องไตร่ตรองให้รอบคอบขึ้นทุกที รัฐธรรมนูญคำหลวงที่ผ่านมามัวแต่สนใจอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่นี้ต่อไปรัฐธรรมนูญคงจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย ความหวังใหม่ที่แท้จริงของสังคมไทยจึงน่าจะเกิดจากรัฐธรรมนูญธาตุ 4 นี้เอง มิใช่จากพรรคการเมืองใด ๆ

สถาปนิกเอกอุของสังคมไทยอาจเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้านที่สะท้อนความฉลาดล้ำของสถาปัตยกรรมไทย ความสำคัญของส่วนหลังคา ซึ่งมักเห็นโดดเด่นกว่าส่วนอื่น ๆ ของอาคารเตือนให้ระลึกว่ารัฐธรรมนูญจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพสังคมแบบเมืองร้อนชื้นฝนชุกด้วย ขณะที่ลักษณะที่ดูดุจจะเบาลอยของสถาปัตยกรรมไทยก็ชวนให้คำนึงถึงการสร้างสังคมที่เบาลอยด้วย ความเบาลอยในทางสถาปัตยกรรมไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการแตกมวลของสิ่งก่อสร้างออกเป็นมวลย่อย ๆ เช่น เป็นกลุ่มอาคาร แทนที่จะเป็นตึกใหญ่ถมึงทึงโดดเดี่ยว สังคมการเมืองที่เบาลอยจึงน่าจะหมายถึงสังคมที่แตกการบริหารงานออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ แทนที่จะเทอะทะอยู่กับระบบงานของส่วนกลางที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของแรงบันดาลใจที่น่าจะได้รับจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้าน แรงบันดาลใจอันหลากหลายจากพื้นบ้านถิ่นต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะชี้ให้เราเห็นด้วยว่าสังคมการเมืองไทยประกอบขึ้นมาจากชุมชนท้องถิ่นแบบต่าง ๆ มากมาย มิใช่เอกชุมชน เพราะเหตุดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความเกี่ยวสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย คือต้องมีลักษณะ interlocal, intercity หรือก็คือต้องเป็น Multilocal Constitute

ในอดีตที่ผ่านมาความอัดอั้นอันเนื่องมาแต่การถูกละเลยไม่ให้โอกาสแก่รัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้าน ทำให้ในที่สุดนักกวีจำเป็นต้องสร้างรัฐธรรมนูญพื้นบ้านฉบับเสียดสีขึ้น แม้จะมิได้สะท้อนความเป็นพื้นบ้านโดยตรง แต่ก็แสดงถึงความรู้เท่าทันถึงเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญฉบับหลวงในยุคนั้นที่ไม่สนใจชาวบ้าน รัฐธรรมนูญพื้นบ้านฉบับเสียดสีมีอยู่กะทัดรัดเพียง 13 มาตรา ความว่า

© มาตราหนึ่ง, ประเทศนี้มีเพียงหนึ่ง
ใครอย่าเที่ยว ทะลึ่ง แบ่งเป็นห้า

มาตราสอง, ต้องมีรัฐสภา
ที่แต่งตั้ง ขึ้นมา โดยรัฐบาล

มาตราสาม, ให้ (ตูข้า) เป็นนายก
ตำแหน่งสืบ มรดก ถึงลูกหลาน

มาตราสี่, ให้เสรีตุลาการ
แต่ต้องเชื่อ ทหาร ทุกคดี

มาตราห้า, ศาสนานับถือได้
แต่ต้องเชื่อ ว่าฝ่ายซ้าย เป็นภูติผี

มาตราหก, ให้ประชามีเสรี
แต่ห้ามเขียน ห้ามพาที ห้ามโฆษณา

มาตราเจ็ด, ให้สิทธิการชุมนุม
แต่ใครขืน จับกลุ่ม จะถูกฆ่า

มาตราแปด, รัฐพึงช่วยชาวนา
แต่อย่าให้ พ่อค้า ต้องกระเทือน

มาตราเก้า, พึงคุ้มครองเรื่องการค้า
โดยเฉพาะ เรื่องกัญชา และรถเถื่อน

มาตราสิบ, ให้ทหารและพลเรือน
รับบำนาญ และเงินเดือน จากอเมริกา

มาตราสิบเอ็ด, พึงพิทักษทรัพยากร
ไว้บำรุง นคร โอซาก้า

มาตราสิบสอง, พึงส่งเสริมการกีฬา
ไว้เบนใจ ประชา จากการเมือง

มาตราสิบสาม, เป็นบทเฉพาะกาล
แต่ให้ใช้ ยาวนาน ตลอดเรื่อง

"ให่พวกตูผู้เดียว ได้ครองเมือง
เพราะมันเฟื่อง มันฟู ตูชอบเอย" ฯ

(ธงไทย สุวรรณคีรี, "รัฐธรรมนูญปีพุทธศักราช 87654321" : มติชน, 28 กย. 21 )

สังคมในอดีตเลวร้ายเพียงใดจนนักกวีต้องหันไปหาทางออกด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญพื้นบ้านฉบับเสียดสี สังคมในปัจจุบันอาจจะยิ่งทรุดโทรมเลวร้ายกว่า หากไม่มีแม้แต่รัฐธรรมนูญพื้นบ้านฉบับเสียดสีที่แสดงถึงความรู้เท่าทันวรรณกรรมคำหลวง.

การส่งเสริมให้เกิดประเพณีที่ประชาชนทั่วไปคิดและแต่งรัฐธรรมนูญฉบับของตนเองขึ้นมาขับขานจึงนับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเสียยิ่งกว่าการสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ถึงแม้เราจะพยายามทำใจให้เชื่อว่ากระบวนการสรรหาสมาชิกสภาร่าง ฯ ที่กระทำกันอยู่จะทำให้ได้ "นักเขียน" ผู้มีความรู้ความสามารถมาเขียนรัฐธรรมนูญคำหลวงฉบับใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับงานเขียนที่ยิ่งใหญ่นั้นคือแรงบันดาลใจในการเขียนเสียยิ่งกว่าความรู้ความสามารถในการเขียน เรามาสร้างรัฐธรรมนูญพื้นบ้านร้อยฉบับพันสำนวนให้เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาเหล่านั้นกันเถิด !

 

หมายเหตุผู้เขียน: "รัฐธรรมนูญฉบับพื้นบ้าน" ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2539 หน้า 8 โดยใช้นามปากกา "ชมรมไว้ลาย"

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท