Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
วันกรรมกรสากล (May Day) 1 พฤษภาคมปีนี้ ยังคงจัดอยู่ภายใต้การบังคับใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครอบคลุมทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยอ้างประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกประเทศ อันสะท้อนถึงการมุ่งสร้างความมั่นคงของรัฐ สร้างความสามัคคีปรองดอง ที่เต็มไปด้วยการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลทหาร           
 
สองปีนับตั้งแต่การทำรัฐประหารของ คสช.เพียงพอสำหรับการพิสูจน์ผลงานการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารนั่นคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการใช้การกำลังข่มขู่ คุกคาม จับกุมนักกิจกรรมที่ต้านรัฐประหาร ในลักษณะไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายศาล ไม่ให้สิทธิในการพบญาติ ทนายความ ไม่แจ้งที่จับกุมคุมขัง ไปจนถึงการซ้อมทรมานผู้ต้องหา บังคับให้สารภาพ ด้วยกฎหมายความมั่นคงต่าง ๆ เช่น ก.ม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งยังออกกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะปี 2558 ที่มีเงื่อนไขต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบก่อนชุมนุม และควรชุมนุมหรือปราศรัยในเวลา 18.00 น.ถึง 6.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เป็นต้น แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมเรียกร้องเรื่องแรงงาน แต่ตัวอย่างที่ปรากฏคือได้มีทหารเข้าไปแทรกแซงการชุมนุมของแรงงานหลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 สหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย จังหวัดระยอง พร้อมสมาชิกประมาณ 500 คน เดินทางมายังกระทรวงแรงงาน เพื่ออาศัยพื้นที่กระทรวงชุมนุมและเจรจากับฝ่ายนายจ้าง เนื่องด้วยสหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างกับบริษัทฯ และนายจ้างก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อสหภาพแรงงานฯ ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน และนายจ้างใช้ยุทธวิธีประกาศปิดงานต่อสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ทั้งหมด 600 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2558 แต่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คือ กระทรวงแรงงานยืนยันที่จะให้ทางฝ่ายลูกจ้างเลิกชุมนุม หากไม่เลิกจะใช้พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะดำเนินคดีกับทุกคน อีกทั้ง ตำรวจยังได้ควบคุมตัวประธานสหภาพแรงงานฯ และรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แต่ปล่อยตัวทั้งสองคนในเวลา 22.30 น. ในวันเดียวกัน พร้อมขอร้องให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้าน โดยได้อำนวยความสะดวกในการจัดรถรับ-ส่ง ถึงที่พักในจังหวัดระยอง และผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับ
 
ล่าสุดกับการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 105 หน้า 279 มาตรา เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 และจะมีการจัดการลงประชามติตามมา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติแล้ว เช่น ห้ามให้มีการชี้นำคนในสังคมให้ออกเสียงไปในทางใดทางหนึ่ง ห้ามปลุกระดมหรือต่อต้าน และที่ผ่านมามีการวิจารณ์ประเด็นสำคัญในร่าง รธน. จนไปสู่การแสดงเจตจำนงค์ของกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหว นักวิชาการ ไม่ยอมรับร่างฯ ดังกล่าว เพราะเป็นร่างที่ไม่เห็นหัวประชาชน ลดทอนอำนาจอธิปไตยที่ควรจะต้องเป็นของประชาชน เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระที่มาจากการคัดสรร นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง
 
สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นสะท้อนให้เห็นภาวะของการบริหารประเทศที่รุนแรง/ผิดปกติ นอกจากนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีนโยบายแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำในปี 58-59 อีกด้วย โดยเฉพาะกับแรงงานภาคเอกชน ทั้งโจมตีนโยบายประชานิยม พยายามจะลดทอนสวัสดิการนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ชาวนา ฯลฯ ถึง 48 ล้านคน ให้เป็นนโยบายประชา-รัฐร่วมจ่าย เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ที่ถูกมองว่าสูงถึงร้อยละ 16-17 ของงบประมาณแผ่นดินในปัจจุบันหรือร้อยละ 4.6 ของ GDP แล้วศักดิ์ศรีของแรงงานจะอยู่ตรงไหน           
 
หากสำรวจสถานการณ์คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ปัญหาเดิมยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ที่ทำให้เกิดภาระหนี้สิน การตกงาน การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การปิดงาน ทำลายสหภาพแรงงาน ทำลายอำนาจการต่อรองเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานการจ้างงานให้ดีขึ้น ซึ่งหน้าที่ของรัฐต้องส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ที่ได้ระบุไว้ในร่าง รธน. หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ แต่หากพิจารณาความจริงที่เกิดขึ้น แนวโน้มไม่เป็นดั่งที่เขียนไว้ นามธรรมจึงมักขัดแย้งกับรูปธรรมภายใต้รัฐบาลที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชนคนชั้นล่าง          
 
จิตวิญญาณของวันกรรมกรสากล คือ การเป็นผู้กำหนดอนาคตด้วยตนเอง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยสหภาพแรงงานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา คนงานในเมืองชิคาโกสมัยนั้นออกมารณรงค์กำหนดชั่วโมงทำงานไม่ให้เกินวันละ 8 ชั่วโมงทุกแห่ง และได้กลายเป็นประเด็นร่วมในการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ข้อเรียกร้องนี้ได้ถูกเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ขององค์กรกรรมกรสากลที่กรุงเจนีวา หรือที่เรียกกันว่า “สากลที่หนึ่ง” ในปี พ.ศ. 2429 พร้อมกับมีการเสนอให้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมในปีพ.ศ. 2429 เป็นวันกรรมกร อีกทั้งเป็นวันแห่งการแสดงออกซึ่งจิตใจสมานฉันท์สากล หรือ International solidarity อันเป็นปฏิบัติการร่วมของชนชั้นแรงงานโดยไม่แบ่งแยก สีผิว ศาสนา ความเชื่อ และพรมแดน
 
สำหรับประเทศไทย ได้มีการริเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2489 โดยการนำของสมาคมสหอาชีวะกรรมกรนครกรุงเทพฯ และสมาคมไตรจักร์ สมาคมของคนถีบสามล้อ ชุมนุม ณ สนามหญ้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ วังสราญรมย์ มีคนงานเข้าร่วมราวสามพันคน ถัดมาในปี 2490 สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งถือกำเนิดได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่จัดงานวันกรรมกรสากลอย่างยิ่งใหญ่ มีคนงานเข้าร่วมงานกว่าแสนคน โดยได้เรียกร้องให้เอาระบบการทำงานแบบ 888 หรือ "สามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาเล่าเรียน 8 ชั่วโมงมาบังคับใช้ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสากล และยังเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงสำหรับการทำงานล่วงเวลา ให้ยอมรับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มจัดตั้งของกรรมกร คนงานต้องมีสิทธินัดหยุดงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ให้มีการประกันสวัสดิภาพของลูกจ้าง และที่สำคัญคือให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันหยุดงานของกรรมกร
 
ในประวัติศาสตร์ของกรรมกร การมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตนเองด้วยการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ในฐานะคนทำงานสร้างโลก การเป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งจะต้องได้รับการเคารพจากผู้นำผู้บริหารประเทศ ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมให้มีการศึกษาที่ดี มีงานทำ มีหลักประกันครอบคลุมชีวิตทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความเป็นจริงที่ผ่านมา แรงงานต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ที่ดีด้วยตัวเอง บทบาทของรัฐไม่ได้ตอบสนองสิ่งที่แรงงานต้องการอย่างที่ควรจะเป็น ให้ประโยชน์เพียงเศษเสี้ยว เพราะรัฐเต็มไปด้วยกลุ่มอนุรักษ์อำนาจนิยม และการจะขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ ฝ่ายแรงงานด้านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเองยังต้องยกแม่น้ำทั้งห้ามาสนับสนุน ให้ได้มาเพียงแค่วันละ 360 บาท ในท่าทีที่ประนีประนอมกับรัฐบาลเผด็จการทหาร เช่น การที่รัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จูงใจนักลงทุน เช่น ลดภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท ทำให้บริษัทมีผลกำไรที่สามารถแบกรับต้นทุนแรงงานจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 360 นี้ได้ แทนที่จะเรียกร้องให้รัฐเก็บภาษีรายได้นิติบุคคล และภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินมาจัดสวัสดิการมาตรฐานเดียวในแบบรัฐสวัสดิการ กลับมองเรื่องค่าจ้างเพียงมิติเดียว ไม่ได้หลุดออกจากกรอบเดิม ไม่ปฏิรูปวิธีคิด ซึ่งในที่สุดจะไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานทั่วประเทศได้ ไม่สามารถแข่งขันเชิงนโยบายกับพรรคการเมืองกระแสหลักที่ใช้นโยบายประชานิยมได้รับการยอมรับจากคนชั้นกลางระดับล่างจนถึงชนชั้นล่างมากกว่า
 
สิ่งที่ชนชั้นแรงงานควรร่วมกันกู้ศักดิ์ศรีของตัวเองในวันนี้ คือ การต่อสู้ทวงคืนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และพื้นที่ประชาธิปไตย ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนลิดรอนไป ปฏิเสธการใช้กฎหมายความมั่นคง เพราะไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน อนาคตที่ถูกกำหนดในร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่อนาคตที่เรากำหนดเอง เพราะวิธีคิดของผู้ปกครอง ณ ปัจจุบันไม่ได้มองเราในฐานะเจ้าของอธิปไตย กลับมองเราเป็นแค่ผู้ได้รับการสงเคราะห์ คนจนที่ต้องพิสูจน์ ขึ้นทะเบียน ไม่ใช่ผู้สร้างประเทศ มีแต่เพียงเราที่จะกลับหัวกลับหางวิธีคิดนี้ และเรียกร้องระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว......กรรมกรจงเจริญ!
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net