Skip to main content
sharethis


ภาพจากแฟ้มภาพประชาไท


อาจไม่ใช่ทุกอย่างที่ไม่เปลี่ยน อย่างน้อยสภาพภายนอกก็เปลี่ยนไปมาก ผมหงอก ใบหน้าที่ทรุดโทรม ความซูบผอม แต่แววตาและถ้อยคำยังคงเหมือนช่วงแรกที่เข้าไปในเรือนจำ

“เวลาที่ผ่านมามันเปลี่ยนความตั้งใจเราไม่ได้ เพราะปัญหามันยังเหมือนเดิม มันเป็นหน้าที่ของชีวิต หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีคนผลักไสไล่ส่งให้มาทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่รู้ใคร เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ อยู่ดีๆ มาอยู่ตรงนี้ได้ยังไงก็ไม่รู้” สมยศพูดติดตลกเมื่อถามถึงความไม่เปลี่ยนแปลงในตัวเขา

“เวลาเราเรียกร้องเสรีภาพ ความถูกต้อง เราต้องมั่นใจว่ามันเป็นชีวิต เป็นจิตวิญญาณที่ทำโดยไม่คาดหวังว่าใครจะลืมหรือไม่ลืมเรา สมัยหนึ่งมีคดีคอมมิวนิสต์ ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ผมก็ไม่สนใจ ปล่อยเขาติดคุกติดตารางไป สมัยหนึ่งมีคดีหมิ่น เราไม่หมิ่น เราก็ไม่สนใจคนโดนคดีหมิ่น แต่อยู่ดีๆ ก็มาโดนคดีเสียเอง เพราะฉะนั้นที่เราเห็นว่ามันเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน มันไม่ใช่ มันมีโอกาสเกิดกับทุกคน และมีโอกาสเกิดมากขึ้นๆ เพราะสังคมเรายังมีปัญหาเรื่องเสรีภาพและความถูกต้อง” นั่นคือคำยืนยันแม้ในปีที่ 5 ในเรือนจำจะแทบไม่มีใครไปเยี่ยมเยียนเขาแล้ว ยกเว้นครอบครัวและคนใกล้ชิด 2-3 คน

สมยศ เป็นชายวัยกลางคน เขาเป็นนักกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่ยังหนุ่ม ประเด็นที่ทำมายาวนานและทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือเรื่องสิทธิแรงงาน เขาทำงาน ‘จัดตั้ง’ คนงานให้รวมกลุ่ม ตั้งสหภาพ เรียกร้องสิทธิในเรื่องต่างๆ เขาเคยเล่าเส้นทางของตัวเองไว้ว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เขาตระหนักดีถึงความสำคัญของประชาธิปไตยแม้มันจะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม เขาไปร่วมชุมนุมจนรู้จักคนเยอะขึ้น เลือดนักกิจกรรมทำให้เขาตั้งกลุ่มกิจกรรมย่อยเคลื่อนไหวเองในนาม ’24 มิถุนาประชาธิปไตย’ หากใครติดตามการเมืองจะเห็นว่ากลุ่มนี้จะเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์แบบตรงไปตรงมามากกว่าขบวนใหญ่อย่าง นปช. เขาว่าเขาไม่ใช่แกนนำอะไร เพียงแต่เมื่อแกนนำนปช.ถูกจับและคุมขังในเรือนจำ เขาก็ขึ้นเวทีปราศรัย นั่นทำให้สื่อมวลชนขนานนามเขาว่า แกนนำรุ่น2

ขบวนการเสื้อแดงเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่สมยศทำนิตยสาร Red Power ก่อนที่จะถูกปิดแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Voice of Taksin สำหรับคำอ่านของมัน บ้างว่าคือ ทักษิณ บ้างว่าคือ ตากสิน บ้างว่าคือ ชาวใต้ (หมายถึงคนชั้นล่าง) อย่างไรก็ตาม บรรยากาศตอนนั้นมีคนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ ย่อยๆ พยายามผลิตสิ่งพิมพ์ วารสาร มากมาย หากใครเดินในที่ชุมนุมย่อมเห็นมันวางขายหลากหลายหัว แม้คุณภาพหลายฉบับยังเป็นลักษณะพร็อพพากันดาอยู่มากก็ตาม Red Power มีทุนมากหน่อยและรวมนักเคลื่อนไหว นักการเมืองตัวใหญ่ๆ มาเป็นคอลัมนิสต์ได้หลายคนทำให้เนื้อหาวิเคราะห์เข้มข้นกว่าฉบับอื่น มีสายป่านอยู่ได้ยาว และมันได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนเสื้อแดง

สมยศเป็นนักกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นปัญญาชน เขาชอบเขียนหนังสือ ระหว่างเคลื่อนไหวทางการเมืองเราจะเห็นหนังสือในชื่อเขาวางขายอยู่หลายเล่มทั้งประเด็นแรงงานและประเด็นการเมือง จน ‘จับพลัดจับผลู’ มาเป็นบก.เล่มนี้จากเดิมที่แค่เป็นคอลัมนิสต์ เพราะคนทำงานมีปัญหาภายในกัน

“ผมคิดแต่เพียงว่าจะได้ใช้โอกาสนี้ผลิตสื่อเสรี เป็นเวทีกลางของประชาชนที่ต่อต้านอำมาตย์ และการก่อการรัฐประหาร คัดค้านอำนาจนอกระบบที่ครอบงำการเมืองไทยมาช้านาน” นั่นคือเหตุผลของเขา

ไม่น่าเชื่อว่า นิตยสารเล่มนี้จะพาเขาไปสู่คุกตาราง แม้ก่อนหน้านี้จะได้รับสัญญาณเตือนมาแล้วก็ตาม

ในช่วงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งมีคนตายจำนวนมาก นิตยสารเล่มนี้โจมตีทหารหนักหน่วง เขาและสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ออกโรงประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนสองคนถูกนำตัวไปไว้ในค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี หากเป็นยุคนี้การอุ้มเข้าค่ายทหารไปหลายๆ วันโดยติดต่อไม่ได้อาจเป็นเรื่องไม่แปลกนัก แต่ในยุคนั้นนับว่าเป็นปฏิบัติการที่รุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนไม่กี่คน

“ตำรวจที่มาสอบสวนในค่ายทหารขอร้องให้เลิกทำนิตยสาร Voice of Taksin เลิกยุ่งเกี่ยวกับคนเสื้อแดง ร่วมมือกับรัฐบาลเป็นพยานปรักปรำชายชุดดำซึ่งมีอาวุธ หากไม่ให้ความร่วมมือจะเจอข้อหาตามมาตรา 112 อย่างแน่นอน ผมปฏิเสธโดยเด็ดขาดที่จะไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้ใส่ใจในคำเตือนนั้น เมื่อปล่อยตัวผมออกมา ผมยังคงดำเนินงานเหมือนเดิมทุกประการ แค่เปลี่ยนชื่อนิตยสารเท่านั้น ผมเห็นว่าเป็นความถูกต้องชอบธรรมของประชาชนในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี และเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตก็ตาม” สมยศเคยเล่าไว้เช่นนี้

จิ้งจกทักคนยังฟัง แต่สมยศนอกจากไม่ฟังเสียงทักของตำรวจ เขายังเดินหน้าทำกิจกรรมที่เขาคิดว่าเป็น ‘สันติวิธี’ เป็น ‘สิทธิตามรัฐธรรมนูญ’ เป็น ‘กิจกรรมพื้นๆ ในสังคมประชาธิปไตย’ อย่างการแถลงข่าวว่าจะรวบรวมรายชื่อประชาชนขอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกใช้หนักหน่วงในช่วงนั้น แต่เขาอาจคิดผิด หลายคนวิเคราะห์ว่าเหตุที่เขาถูกจับกุมและคุมขังก็น่าจะด้วยฟางเส้นสุดท้ายเส้นนี้

30 เมษายน 2554 ระหว่างพาลูกทัวร์ข้ามไปเที่ยวกัมพูชา อันเป็นอาชีพเสริมที่เขาทำมายาวนาน เขาก็ถูกจับที่ ตม.สระแก้ว และถูกแจ้งข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เขาไม่ได้รับการประกัน และน่าจะเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ที่ครอบครัวยื่นประกันตัวมากที่สุด ไม่น้อยกว่า 15 ครั้งตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี

หลังจากสมยศติดคุกมีหลายส่วนออกมาเคลื่อนไหว ขบวนการแรงงานในประเทศบางส่วน ขบวนการแรงงานต่างประเทศ กลุ่มกิจกรรมต่างๆ รวมถึง กลุ่มบรรณาธิการ กลุ่มนักศึกษา บางครั้งเราจะเห็นป้ายผ้า Free Somyot โผล่บนแสตนบอลประเพณี หรือสมยศ(หน้ากาก) โผล่ในงานรับปริญญา ในงานหนังสือ ฯลฯ องค์กรระหว่างประเทศที่สนใจด้านสิทธิเสรีภาพก็เคลื่อนไหวเช่นกัน บ้างเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว บางส่วนนับเขาเป็นนักโทษความคิดและเรียกร้องให้ปล่อยตัว ขณะที่แวดวงสื่อมวลชนก็ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ น่าจะเพราะพวกเขาไม่นับ บก.นิตยสาร Voice of Taksin เป็น ‘สื่อมวลชน’

"เรื่องที่ว่าทำไมไม่ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องนี้ไม่ได้หยิบยกมา เพราะยังมีความสับสนว่าอะไรเป็นสื่อ ไม่เป็นสื่อ ยังถกเถียงกันภายในสมาคมอยู่ แต่ได้คุยเบื้องต้นว่า สิ่งที่เราต้องพิทักษ์คือนสื่อที่นำเสนอรอบด้าน แต่ถ้าสื่อใดจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมือง เราก็ไม่สามารถคุ้มครองได้" 30 ม.ค.2556, ประธานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอบคำถามกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข http://prachatai.com/journal/2013/02/45052

ขณะที่ท่าทีของนักข่าวต่างประเทศในไทยนั้นต่างออกไป สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT ออกแถลงการณ์ระบุว่า "คณะกรรมการได้ถูกกดดันให้ประณามคำตัดสินกรณีสมยศ และในขณะที่คณะกรรมการมิได้เห็นเป็นเอกฉันท์ในการออกความเห็นในทางกฎหมาย แต่เราก็เห็นว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก"  7 ก.พ.2556 http://prachatai.com/journal/2013/02/45178

สมยศตัดสินใจสู้คดีอย่างไม่ลังเล เขาพูดเสมอจนแม้กระทั่งตอนนี้ก็ตามว่า “เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนเอง” และ “เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม” ถามเขาทุกปีตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 5 ประโยคนี้ยังคงอยู่

ต้องกล่าวด้วยว่า การสืบพยานในคดีสมยศนับเป็นสิ่งที่น่าสะเทือนใจ โจทก์อ้างว่าพยานหลายปากอยู่ในต่างจังหวัดและสามารถเดินทางมาให้การที่กทม.ได้ สมยศจึงต้องถูกเคลื่อนย้ายไปยังเรือนจำ 4 จังหวัด คุกไทยขึ้นชื่อว่าแออัดยัดเยียดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มาตรฐานและสภาพแต่ละที่ย่ำแย่และเขาอยู่ในสภาพที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก เขาถูกเคลื่อนย้ายไปล่วงหน้า บางครั้งนานนับเดือน ผู้คนตามไปเยี่ยมเขาไม่สะดวก แทบไม่มีใครเยี่ยม การสืบพยานในต่างจังหวัดก็เงียบเหงา

“ผมถูกส่งตัวไปไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์ที่ศาลจังหวัดสระแก้ว ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ศาลจังหวัดนครสวรรค์ และศาลจังหวัดสงขลา โดยที่ต้องถูกคุมขังอยู่ในคุกแต่ละจังหวัดเป็นเวลานาน จนล้มป่วยหนัก ร่างกายผ่ายผอม ไอออกมาเป็นลิ่มเลือด เมื่อได้กลับมาคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ฝ่ายพนักงานสอบสวนและอัยการเสนอแนะผ่านทางเรือนจำให้ผมยอมรับสารภาพจะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง ส่วนเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เองได้เกลี้ยกล่อมให้ยอมรับสารภาพ เพื่อจะได้ขอรับพระราชทานอภัยโทษให้ ผมไม่เชื่อ และมั่นในความบริสุทธิ์ มั่นใจว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ ผมจึงเดินหน้าต่อสู้คดี ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป ระหว่างการไต่สวนไม่มีการเตรียมพยาน ไม่มีการเตรียมคดี เพียงแต่พูดความจริงให้หมดเปลือก ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์เหมือนเดิมทุกประการ”

สมยศถูกฟ้อง 2 กรรม จากบทความ 2 ชิ้นที่คอลัมนิสต์เป็นผู้เขียน ซึ่งสมยศเบิกความยืนยันว่าคือ จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศนานแล้ว แต่เขาถูกจับเพราะเป็นบรรณาธิการ มีข้อถกเถียงทางกฎหมายว่า บรรณาธิการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาเสมือนเป็นผู้เขียนหรือไม่ ในกฎหมายเก่าระบุให้รับผิดชอบ แต่ทนายจำเลยสู้ว่าในกฎหมายใหม่ไม่ได้ระบุให้รับผิดชอบเช่นนั้น ท้ายที่สุดศาลพิพากษา อย่างไรเสียบรรณาธิการก็ต้องรับผิดชอบ พยานหลักฐานชี้ชัดว่าเขาต้องดูแลบทความทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ และเขาก็จบการศึกษาสูงควรต้องรู้ว่าข้อความหมิ่นหรือไม่ ในวันฟังคำพิพากษาสมยศยังกล่าวติดตลกกับเพื่อนหลังฟังคำตัดสินว่า ถ้าเขาจบป.4 เขาอาจไม่ถูกลงโทษ

ในการสืบพยานในส่วนของเนื้อหา มีคดีไม่มากนักที่มีโอกาสต่อสู้ในเนื้อหาเนื่องจากส่วนใหญ่จำเลยซึ่งถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมักชิงรับสารภาพเสียก่อน คดีนี้โจทก์มีพยานไม่ต่ำกว่า 10 ปากที่มาอธิบายว่าอ่านบทความแล้วตีความได้ว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยมีนายทหารฝ่ายความมั่นคง 3 นาย นักศึกษากฎหมาย 3 คน ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฝ่ายกฎหมายกรมสรรพากร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันฯ รวมถึงมีศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งเป็นนักกฎหมายและนักประวัติศาสตร์

น่าสนใจว่า ธงทอง จันทรางศุ พยานฝ่ายโจทก์เองเบิกความว่า บทความชิ้นที่พูดถึงรอยต่อสมัยธนบุรีกับรัตนโกสินทร์นั้นเขาเห็นว่าหมิ่นประมาท แต่อีกบทความที่กล่าวถึง ‘หลวงนฤบาล’ เขาไม่รู้ว่าหมายถึงใคร ขณะที่ปากอื่นๆ อ่านแล้วยืนยันว่าหมิ่นทั้งสองบทความ นอกจากนี้ธงทองยังระบุถึงโทษมาตรา 112 ที่หนักและไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดด้วย แนวคิดทำนองนี้ของเขาปรากฏให้เห็นชัดเมื่อครั้งร่วมเวทีอภิปรายเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่สหภาพยุโรปจัดขึ้น โดยเขายอมรับถึงโทษที่หนักเกินไป การบังคับใช้กฎหมายที่มีปัญหา ช่องโหว่ต่างๆ รวมถึงพระราชดำรัสของในหลวงที่ระบุว่า กษัตริย์สามารถถูกวิจารณ์ได้ (อ่านที่ http://prachatai.com/journal/2013/02/45056)

ทั้ง 2 บทความเป็นข้อวิพากษ์ทางการเมืองที่ไม่มีใครรู้ว่า เนื้อหาเป็นเช่นไร ถ้อยความหมายถึงใครกันแน่ ประเด็นที่นำเสนอถูกต้องหรือไม่ มีอะไรที่น่าโต้แย้ง เพราะการกล่าวถึงมันอีกครั้งอาจเป็นการกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากท้ายที่สุดศาลพิพากษาว่าทั้งสองบทความนั้นเข้าข่ายความผิด (อ่านที่ http://prachatai.com/journal/2013/01/44842)

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก บทความละ 5 ปี รวม 2 บทความจึงเป็น 10 ปี แย่ยิ่งขึ้น เมื่อก่อนหน้านี้มีคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ที่ศาลสั่งจำคุก 1 ปีรอลงอาญาไว้จึงต้องนับโทษรวมไปด้วย กลายเป็น 11 ปี และยังมีโทษปรับอีก 10,000 บาท

แม้ผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นออกมาเป็นเช่นนั้น (หลังจากเขาติดคุกมาแล้วเกือบ 2 ปี) เขายังคงตัดสินใจต่อสู้คดีต่อ ในช่วงนั้นเขาเองดูจะสับสนเนื่องจากทุกคนต่างบอกให้เขารับสารภาพ มีแต่ลูกชายที่คิดเช่นเดียวกับเขา

“ผมถูกคุมขังถึง 2 ปีเต็ม ใช้ชีวิตไร้อิสรภาพด้วยความซ้ำซาก จำเจ น่าเบื่อหน่าย อยู่กับนักโทษคนอื่น ๆ มากมายที่เข้ามาใหม่ และปล่อยตัวออกไป คดีนี้เป็นเพียงความคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เพียงแต่มีการตีความเกินไปกว่าถ้อยคำที่ปรากฏเพื่อเอาผิดให้ได้ ผมทำหน้าที่สื่อมวลชนในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารโดยสุจริตใจ ผมจึงมั่นใจว่าจะได้รับการปล่อยตัวในที่สุด แต่แล้วเมื่อ 23 มกราคม 2556 ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี บวกกับคดีหมิ่นประมาทที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปีด้วยกัน ผมคิดทบทวนอยู่หลายวัน ความทุกข์ทรมานเจ็บปวดแทบสิ้นชีวิต ทำให้ผมคิดจะฆ่าตัวตายให้พ้นไปจากความทุกข์เหลือคณานับในครั้งนี้ มีเพียงนายปณิธาน  พฤกษาเกษมสุข บุตรชายมาบอกให้ผมต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด” สมยศเคยเขียนไว้เช่นนั้น

ต่อมาอีกปีกว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา แต่คราวนี้ไม่มีคนไปนั่งฟังเต็มห้องพิจารณาห้องใหญ่นับร้อยคนทั้งคนไทยคนต่างชาติเช่นการพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ใช่ผู้คนลืมเขา แต่เพราะไม่มีใครรู้ว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาวันนั้น ดังนั้น สมยศจึงเป็นเพียงคนเดียที่ถูกนำตัวไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

“ฎีกาไปนานแล้ว ยังเชื่อว่าจะได้รับความยุติธรรม ได้เสรีภาพคืนมา แต่ที่กลัวมากที่สุดคือ ความยืดเยื้อ เพราะความยืดเยื้อนั้นเท่ากับว่าเราถูกลงโทษไปแล้ว ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไปเรียบร้อยแล้ว เราต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ถูกต้อง ถูกขังระหว่างสู้มันก็เหมือนมัดมือชก ผลที่ออกมาก็ไม่สง่างาม คนจำนวนมากล้วนจำนนต่อเวลา” สมยศอยากให้คำพิพากษาของศาลฎีกาออกโดยเร็วเพราะบัดนี้เขาติดคุกมาครึ่งทางแล้ว

“ช่วงนี้ยากลำบากมาก ตั้งแต่รัฐประหาร ไม่มีข้อมูลข่าวสาร มันแทบจะเหมือนขาดลมหายใจ เป็นการตัดการรับรู้และพัฒาการของเรา ทำให้เราตัดขาดจากโลกทั้งหมด ต้องคอยมานั่งสอบถามจากคนเยี่ยม ต้องฟังจากนักโทษคนอื่น กลายเป็นคนอะไรไปแล้วก็ไม่รู้ ออกไปแล้วก็ไม่รู้จะเข้ากับสังคมได้ยังไง” นี่น่าจะเป็นประเด็นแห่งความห่อเหี่ยวอันดับหนึ่งสำหรับนักกิจกรรมทางการเมืองที่การติดตามข่าวสารบ้านเมืองลงลึกในดีเอ็นเอ

ในฐานะที่เขาอยู่ในเรือนจำยาวนาน เปลี่ยนมาแล้วหลายรัฐบาล ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย (ที่เขาไม่ได้ร่วม) มีนักโทษการเมืองหน้าใหม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปมากหลาย บ้างเข้าจนออกมาแล้ว บ้างยังติดค้างอยู่ที่นั่น เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงใดบ้าง

“คดี 112 นั้นน่าห่วง ดูเหมือนมั่วมากขึ้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมเลย และต่อตัวกฎหมายมาตรานี้เองด้วย มีคนเข้ามาด้วยคดีนี้เยอะแยะไปหมด ทุกระดับชั้น ตั้งแต่คนบ้าถึงคนดี ตั้งแต่กรรมกรถึงนายทุน ไม่เว้นแม้แต่นายพล เจ้ากรมวัง”

แม้จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารใดและเขาเองก็อยู่ในสภาพยากลำบาก เรายังคงถามเขาว่าเขามีความหวังกับบ้านเมืองหรือไม่

“เราผ่านความยากลำบากมาจนสุดท้าย ไม่มีอะไรลำบากไปกว่านี้แล้ว บางทีคนข้างนอกอาจลำบากกว่า”

“มันน่าจะเป็นช่วงของพัฒนาการที่ดีอันหนึ่งด้วยซ้ำในช่วงนี้ ผู้คนจะได้ทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาโดยเฉพาะการสูญเสียกับการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่เราได้ความรู้ใหม่ ได้เห็นปัญหาแท้จริงว่าอะไรคือรากฐานของปัญหา คนมองทะลุมากขึ้นว่าอำนาจไม่ได้อยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง เหตุการณ์มันวนกลับมาเหมือนเดิม นายกต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ มันหมดไปแล้วปัญหานี้ แต่สังคมยังต้องมาคุยเรื่องนี้อีก”

คิดว่าออกจากเรือนจำแล้วจะได้เจอสังคมที่ดีขึ้นไหม?

“ดีขึ้นแน่ มันต้องดีขึ้น”

นั่นคือความหวังจากบรรณาธิการผู้อยู่ในเรือนจำด้วยคดีมาตรา 112 มาจนครบ 5 ปีในวันนี้ 30 เมษายน 2559

 

ประวัติสมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2504 ในครอบครัวคนจีนย่านฝั่งธนบุรี มีพี่น้องด้วยกัน 7 คน

สมยศมีความสนใจด้านการเมืองตั้งแต่ยังเยาว์วัย สมัยที่ยังนุ่งขาสั้นนักเรียนมัธยมต้นเขาตามพี่ชายไปร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานได้ทำให้เด็กหนุ่มชื่อสมยศ ซึมซับกับความเป็นประชาธิปไตย และหากเห็นความไม่ชอบธรรมเขามักเข้าร่วมเรียกร้องความยุติธรรมเสมอ

ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 สมยศได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเต็มตัวกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันในนามเด็กอาชีวะจากเทพศิรินทร์ซึ่งเขากำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น

หลังเรียนจบที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก็เข้ามาเป็นนักศึกษาที่มหาลัยรามคำแหง

ในปี 2524 ได้เริ่มทำกิจกรรม ในกลุ่มศูนย์นักศึกษารามคำแหงศึกษาปัญหาแรงงาน

และระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่งที่อุทิศตนต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความชอบธรรมทั้งหลายโดยเข้าร่วมกับกลุ่มเสรีธรรม (ในสมัยนั้น) ในการทำกิจกรรมกับกรรมกรในโรงงานและชาวบ้านในชุมชน เพื่อสร้างความตื่นตัวในการรับรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือ บทความที่เขาชื่นชอบและถนัดในงานเขียน

กิจกรรมกลุ่ม จัดตั้งสหภาพแรงงาน จัดทำอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย จัดค่ายกรรมกรกับนักศึกษา สนับสนุนการนัดหยุดงาน การชุมนุมเดินขบวน เรียกร้องต่อรัฐบาล อย่างแข็งขัน

พื้นที่สหภาพแรงงานย่านสหภาพแรงงานพระประแดง สมุทรปราการ เช่นสหภาพแรงงานอาภรณ์ไทย สหภาพแรงงานส่งเสริมการทอ สหภาพแรงงานไทยเกรียง สหภาพแรงงานพิพัฒน์สัมพันธ์ สหภาพแรงงานเซ็นจูรี่ สหภาพแรงงาน เมโทร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศ

ในปี พ.ศ. 2527 ได้เข้ามาทำงานใน ในสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน(สสส) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฝ่ายส่งเสริมสิทธิกรรมกร

ในปี 2527 (สสส.)กำหนดให้พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นำไปสู่การจัดกิจกรรมอบรมกฎหมายแรงงาน กิจกรรมคลีนิกแรงงานกิจกรรมสนับสนุนการรวมกลุ่มและช่วยเหลือจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่คนงานได้รับค่าจ้างและสวัสดิการน้อยกว่าพื้นที่อื่น

ในปี 2529 ได้เข้าทำงานในกลุ่มเยาวชนคนงานสากล Young Christain Worker (YCW) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำ

เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการรวมกลุ่มคนงานระดับเยาวชน เพื่อการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตในสถานะคนงาน การร่วมกันคิด เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายที่มีเครือข่ายในระดับสากล ทั้งภูมิภาคเอเชีย และยุโรปและอเมริกา เป็นต้น มีสมาชิกจากคนงานในโรงงานในแถบพระประแดง บางพลี จ.สมุทรปราการ รังสิต จ.ปมุมธานี การผลักดันกฎหมายประกันสังคม มีบทบาทสนับสนุนการรวมกลุ่มและให้การศึกษาแก่สมาชิกที่อยู่ในสหภาพแรงงานร่วมมือในการผลักดันผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมในช่วงนั้น คือคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ประสานงานและเจ้าหน้าที่

ในปี 2534 พฤษภาคม ปี2534 หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจาก พล.อ ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สมยศได้ร่วมกับเพื่อนจัดตั้งโครงการบริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ นักกิจกรรมทางสังคมทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนามาเป็นศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) ในเวลาต่อมา โดยมีความมุ่งหวังเพื่อ

1.    ให้การศึกษาอบรมอบรมแก่คนงานให้ตระหนักรู้ในสิทธิของตนเอง
2.    ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงานในรูปองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
3.    ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างสหภาพแรงงานแนวประชาธิปไตย
4.    ส่งเสริมการรวมกลุ่มคนงานหญิงและสร้างแกนนำแรงงานหญิงในองค์กร
5.    รณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้ดีขึ้น และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้แรงงานหากมีการปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน
6.    เพื่อจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมที่ให้ความรู้อื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้และตระหนักถึงสิทธิของตน
7.    เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานรวมกลุ่มขึ้นเป็นองค์กร เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานและปรับปรุง สภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
8.    เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิและผล ประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้ดีขึ้น และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้แรงงานหากมีการปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

กิจกรรม

·         จัดการฝึกอบรม
·         ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานรวมกลุ่มขึ้นเป็นองค์กร
·         ให้การสนับสนุนนโยบาย
·         ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย
·         ออกจดหมายข่าวผู้ใช้แรงงาน (ซึ่งคุณสมยศพฤกษาเกษมสุข เป็นบรรณาธิการ)

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (Center for Labour Information Service and Training; CLIST) ได้ร่วมต่อสู้ร่วมกับคนงานและขบวนการแรงงานมาโดยตลอดจนข้อเรียกร้องเหล่านั้นประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เช่น กฎหมายประกันสังคม การลาคลอด 90 วัน การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร การประกันการว่างงาน การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการต่อสู้ของคนงาน เช่นกรณีคนงานเคเดอร์ คนงานไทยเบลเยี่ยม คนงานเครืออีเด็นกรุ๊ฟ ซึ่งสามารถเรียกค้าชดเชยได้สูงกว่ากฎหมาย เป็นต้น นอกจากนั้น ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ภายใต้การบริหารของสมยศ) ยังให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรการจัดตั้งกลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ การจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ และสนับสนุนการจัดตั้งพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย จนกระทั่งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงานปิดตัวลงเมื่อเดือน พฤษภาคม 2550 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ โดยมีสมยศ เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 2534 – 2550 รวมระยะเวลา 16 ปี

มีผลงานในทางวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและกรรมกร

·         ประกันสังคมประกันการว่างงาน ความหวังของผู้ใช้แรงงานและคนว่างงาน
·         คุณค่า ความหมาย ของสหภาพแรงงาน
·         เทคนิคการเจรจาต่อรองในการยื่นข้อเรียกร้อง
·         กระเทาะเปลือกทักษิณ
·         เหี้ยครองเมือง

แรงบันดาลใจในการทำงานกรรมกรเพราะเคยไปทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์วอลโว่ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของกรรมกรในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพื่อได้เห็นสภาพความยากลำบากของกรรมกร และได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้องที่ทำให้กรรมกรเห็นถึงการกดขี่ ขูดรีด มูลค่าส่วนเกินที่ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย

ภายหลังการปิดตัวของ ศบร. สมยศ ได้หันไปทำงานด้านสื่อสารมวลชนที่คนตนเองถนัดและชื่นชอบโดยจัดพิมพ์และเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามปริทัศน์ และ

บทบาทหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 สมยศได้เข้าร่วมขับไล่รัฐบาลรัฐประหาร หรือที่เราเรียกกันว่ารัฐบาล คมช. ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเป็นแกนนำรุ่นสอง

ในขณะเดียวกัน สมยศร่วมกับเพื่อนๆ และประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน “รัฐประหาร 19 กันยา 49” ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” ขึ้น ในต้นเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งจะครบวาระการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยครบรอบ 75 ปี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยมีวัตถุประสงค์ 1)ให้การศึกษาเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนและสาธารณชน 2)รวมกลุ่มประชาชนทุกสาขาอาชีพในการเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ 3)ประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม

อย่างไรก็ตามแม้สมยศจะเคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่นสองมาก่อน แต่ก็ได้ยุติบทบาทและออกจากการเป็นแกนนำ นปช.ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับแกนนำและกิจกรรมอื่นๆ ของ นปช. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2553 ได้ถูกพนักงานควบคุมตัวในขณะเข้ามอบตัวตามหมายจับ ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พร้อมกับผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8 ของ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะเดินทางเข้ามอบตัวกับ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. ในฐานะผู้ต้องหาตามหมายจับ ในความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11 (1) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะ เป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สมยศเป็นบรรณาธิการหนังสือ “Voice of Taksin” หรือ “เสียงชาวใต้” ซึ่งหมายถึงเสียงของคนชั้นล่าง เสียงของผู้ไร้สิทธิไร้เสียงในสังคม เพื่อจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนชั้นล่างของสังคม ในการถ่ายทอดความรู้สึก ความต้องการ ของพวกเขาเหล่านั้นผ่านงานเขียนทางหนังสือ เพื่อสะท้อนปัญหา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างตรงไปตรงมา อย่างต่อเนื่อง

 

*ข้อมูลจากกลุ่มเคลื่อนไหว FREE SOMYOS

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net