Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


สมศรี ชมชื่น


พลันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกนายคำหล้า ชมชื่น ฐานปล้นทรัพย์ เป็นเวลา 10 ปี (ศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีจึงมีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี) หัวใจของหญิงผู้เป็นภรรยาก็แทบสลายในเวลานั้น

นางสมศรี ชมชื่น ไม่อาจทนรับกับสภาพความเป็นจริงขณะนั้นได้ เธอรีบเดินไปที่ห้องน้ำของศาลและร้องไห้โฮออกมาจนนักข่าวจากสำนักข่าวอิสระแห่งหนึ่งต้องเข้าไปปลอบใจเธอ

"พี่....ใจเย็นๆนะ"

เธอหวนนึกถึงชีวิตต่อจากนี้ไป เขาและเธอมีโซ่ทองคล้องใจ นั่นก็คือลูกชายวัยเพียง 7 ปี ก่อนหน้านี้เขาและเธอเป็นเสาหลักที่นำพาเด็กน้อยคนนี้ให้เติบโต แต่ตอนนี้เธอเป็นเพียงคนเดียวที่ต้องรับหน้าที่นี้

สาวชาวสวนผู้ไม่เคยพิศมัยชีวิตในเมืองกรุง อาศัยอยู่กับพ่อและพี่ชายใน จ.จันทบุรี รายได้หลักของพวกเขามาจากการปลูกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน

ในปี 2542 พ่อของเธอในวัยเกษียณซึ่งเคยทำงานอยู่ในสำนักการระบายน้ำ (สังกัดกรุงเทพมหานคร) ป่วยหนักจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี แพทย์วินิจฉัยว่า พ่อของเธอเป็นมะเร็งตับ สิ่งนี้้สร้างความวิตกให้กับครอบครัวของเธอ

ทุกครั้งที่พ่อของเธอต้องเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพจะมีค่าใช้จ่ายครั้งละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ด้วยอาชีพชาวสวนพวกเขาจึงไม่อาจแบกรับภาระที่หนักอึ้งนี้ได้

เธอตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อทำงานในกองระบบท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ ที่ทำงานเดียวกับที่พ่อของเธอเคยทำงาน โดยมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว เพื่อหวังได้รับสวัสดิการในการรักษาพ่อของเธอ

งานของเธอคือ การลอกท่อระบายน้ำตั้งแต่ 8.00-15.00 น. เป็นงานที่หนักและสกปรก เธอและเพื่อนร่วมงานจะถูกพาตัวตระเวนไปทั่วกรุงเทพเพื่อลอกท่อ โดยได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำและหยุดงานในวันอาทิตย์

แต่ก็ใช่ว่าชีวิตของเธอจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด ที่นี่เธอมีโอกาสได้พบกับเขา คำหล้า ชมชื่น เจ้าหน้าที่เฝ้าเครื่องสูบน้ำในสำนักการระบายน้ำ พวกเขาคบหากันเพียงไม่ถึง 1 ปีก็ตกลงปลงใจอยู่กินด้วยกัน ไม่นานต่อมาพ่อของเธอก็เสียชีวิต เธอตัดสินใจที่จะปักหลักอยู่กับเขาที่กรุงเทพ

พวกเขามีรายได้รวมกันเกือบ 20,000 บาทต่อเดือน แม้จะไม่สูงมาก แต่ก็เพียงพอประคับประคอง 2 ชีวิตให้อยู่ร่วมกัน ในตอนแรกเธอเลือกที่จะคุมกำเนิดเพราะความไม่พร้อม ด้วยความที่งานของเขาเป็นการเฝ้าเครื่องสูบน้ำครั้งละ 24 ชั่วโมงสลับกับเพื่อนร่วมงานอีกคน เธอจึงมีโอกาสได้พบเขาแบบวันเว้นวัน

ในปี 2547 อาจเป็นปีที่โชคดีที่สุดสำหรับพวกเขา เรื่องแรกคือ เธอตั้งครรภ์ลูกของพวกเขา เรื่องต่อมาคือ สามีของเธอได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ นั่นหมายความว่า อนาคตของครอบครัวจะอยู่อย่างมั่นคง

เมื่อโซ่ทองคล้องใจถือกำเนิดขึ้นทำให้ชีวิตครอบครัวของพวกเขาสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เขารักลูกชายคนนี้มาก และมักพาลูกชายไปเดินเล่นเป็นประจำในวันที่เขาไม่ต้องทำงาน

ตั้งแต่ปี 2548 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น สามีของเธอเริ่มเปลี่ยนไปจนเธอสังเกตได้ จากที่เขามักจะอยู่กับลูกเป็นประจำในวันที่ไม่ต้องทำงานกลายเป็นไม่ค่อยกลับเข้าบ้าน แต่เนื่องจากงานในแต่ละวันที่หนักของเธอทำให้เธอเหนื่อยล้า เธอผู้ไม่เคยสนใจการเมืองจึงไม่เคยรับรู้ความเคลื่อนไหวของเขา

27 พ.ค. 2553 เป็นวันทำงานปกติของพวกเขา พวกเขาไม่เคยระแคะระคายมาก่อนเลยว่า วันนี้จะเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล

เธอออกไปลอกท่อและกลับเข้าบ้านตามเวลาปกติ วันนี้เป็นวันที่เขาต้องเฝ้าเครื่องสูบน้ำจึงไม่มีเขาอยู่ที่บ้าน เธออยู่กับลูกชายตามปกติ เวลาประมาณ 17.00 น. มีโทรศัพท์ที่เธอไม่เคยรู้จักโทรเข้ามาหาเธอ ปลายสายแจ้งว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้เธอมารับสิ่งของของสามีของเธอที่ สน.ดินแดง ในตอนนั้นเธอรู้สึกตกใจมาก เธอไม่รู้ว่า เขาโดนจับด้วยข้อหาใด เธอรีบเดินทางไปที่ สน.ดินแดง เพื่อพบเขา แต่ไม่ได้พบเขา เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน

2 วันต่อมาเธอจึงได้ทราบข่าวจากโทรทัศน์ โทรทัศน์แถลงข่าวการจับกุมเขา เขานั่งอยู่หน้าโต๊ะที่มีปืนอยู่ 1 กระบอก และไมโครโฟนจากสำนักข่าวหลายแห่ง เขาถูกกล่าวหาเป็นผู้ขโมยปืนกระบอกดังกล่าว วินาทีนั้นเธอไม่เชื่อว่า เขาจะเป็นคนทำจริง

เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แม้จะมีความพยายามจากทนายความที่จะยื่นของประกันตัวเขาหลายครั้ง แต่ศาลปฏิเสธทุกครั้ง

ชีวิตที่ไม่มีเขาจึงเริ่มต้น เขาถูกไล่ออกจากงาน เนื่องจากขาดงานเกินกำหนด รายได้ที่แทบไม่เพียงพออยู่แล้วก็กลายเป็นขัดสน นอกภาระที่ต้องเลี้ยงดูลูกชายแล้ว เธอยังต้องเลี้ยงดูมารดาวัยกว่า 70 ปีด้วย

ในช่วงแรกด้วยความเป็นห่วงเธอจึงเดินทางมาเยี่ยมเขาทุกสัปดาห์ แม้จะพาลูกชายมาด้วย แต่เธอไม่ยอมพาลูกชายเข้าไปเยี่ยม เพราะไม่ต้องการให้ลูกชายเห็นสภาพของพ่อในเรือนจำ

หัวหน้างานของเธอตำหนิที่เธอลางานบ่อยครั้ง เธอจึงจำเป็นต้องลดการเยี่ยมเหลือเพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง บ่อยครั้งที่เธอไม่มีเงินก็ไม่สามารถมาเยี่ยมเขาได้

มารดาของเธอไม่ต้องการเป็นภาระให้เธอจึงมักออกไปเก็บขวดพลาสติก/แก้วตามถังขยะมาขายเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ขณะที่เธอต้องรับจ้างนวดในวันที่เธอหยุดงาน เธอไม่สามารถทำการค้าขายได้ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่อำนวยและขาดแคลนเงินทุน

สภาวะการเงินถึงขั้นวิกฤตจนบางครั้งเธอต้องยอมหันหน้าไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน ช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้เธอได้รับความช่วยเหลือเป็นครั้งเป็นคราวจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์บางกลุ่มเท่านั้น 

28 ธ.ค 2554 เป็นเวลากว่า 1 ปีที่เธอต้องพลัดพรากจากเขา วันนี้เป็นวันชี้ชะตาอนาคตของครอบครัวของเธอ ก่อนอ่านคำพิพากษาผู้พิพากษาเรียกจำเลย, อัยการ และทนายความเข้าไปฟังคำพิพากษาที่หน้าบัลลังก์ ผู้พิพากษาอ่านด้วยเสียงที่เบามาก เธอและสื่อมวลชนที่นั่งรออยู่จึงไม่ได้ยิน

วินาทีนั้นเธอลุ้นระทึกคำพิพากษา เธอคิดเสมอว่า ฝันร้ายจะจบสิ้นลงในวันนี้ สักพักทนายความหันหน้ามามองหน้าเธอพร้อมชูมือทั้งสองและนิ้วทั้ง 10 นิ้ว

วินาทีนั้นเธอแทบล้มทั้งยืน แค่ 1 ปีกว่าก็เหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่แล้ว นี่ศาลพิพากษาจำคุกถึง 10 ปี นั่นหมายความว่า เธอและครอบครัวจะต้องทนทุกข์ไปอีกหลายปี ทั้งเขาและทนายความยืนยันจะอุทธรณ์คดี โดยหวังว่า จะได้รับการลดโทษ

ไม่นานหลังจากนั้นเขาถูกย้ายมาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ร่วมกับผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่นๆ ทั่วประเทศกว่า 50 ชีวิต ชีวิตความเป็นอยู่ที่นี่ดีกว่าเรือนจำเดิมที่พวกเขาอยู่

นอกจากนี้เขาและเธอได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,000 บาท อีกทั้งยังได้รับค่าเทอมสำหรับลูกชาย เทอมละ 5,000 บาท สิ่งนี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวเธอลงไปได้มาก และทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป

นี่เป็นครั้งแรกที่เธอยอมให้ลูกชายของเธอได้เข้าเยี่ยมพ่อ ภายในห้องเยี่ยมมีลูกกรงและแผ่นพลาสติกใสกั้นแบ่งส่วนระหว่างผู้ต้องขังและผู้เยี่ยม

"ไม่น่ามีลูกกรงเลย"  คำพูดของเด็กน้อยไร้เดียงสาเมื่อได้พบหน้าพ่อเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

22 ม.ค. 2556 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยพิพากษายืน 10 ปี พวกเขาต่างรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก เธอรู้สึกเสียดายเวลากว่า 1 ปีที่รอคอยคำพิพากษา แต่ไม่ได้รับการลดโทษ เขายังคงยืนยันที่จะฎีกาต่อไป

22 พ.ค. 2557 สถานการณ์การเมืองพลิกผัน รัฐบาลพลเรือนถูกยึดอำนาจ ฝันร้ายกลับมาหาพวกเขาอีกครั้ง เป็นเวลาหลายเดือนที่ความช่วยเหลือรายเดือนขาดหายไป สิ่งนี้สร้างความกังวลใจให้กับครอบครัว เธอซึ่งไม่เห็นด้วยกับการฎีกาของเขาขอร้องให้เขาถอนฎีกาเพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว

ในตอนแรกพวกเขาร้องขอให้ทนายความจัดการเรื่องการถอนฎีกา แต่ผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้า เขาจึงตัดสินใจยื่นคำร้องขอถอนฎีกาจากในเรือนจำ ศาลอนุญาตให้ถอนประกันช่วงปลายปี 2557

ในปี 2558 รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2558 มีผลให้เขาได้รับการลดโทษ 1 ปี 3 เดือน ทำให้โทษปัจจุบันของเขาคงเหลือ 8 ปี 9 เดือน เมื่อรวมระยะเวลาถึงวันนี้เขาอยู่ในเรือนจำมาเกือบ 6 ปีแล้ว เข้าเงื่อนไขที่จะขอพักโทษพิเศษ เขาจึงได้ยื่นคำร้องขอพักโทษพิเศษ

มีการคาดหมายกันว่า ภายในเดือน มิ.ย. 2559 รัฐบาลจะออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2559 สิ่งนี้สร้างความหวังให้กับผู้ต้องขังจำนวนมากรวมทั้งเขา เขาค่อนข้างเชื่อมั่นว่า จะได้รับการปล่อยตัวภายในปีนี้


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บสมาคมเพื่อเพื่อน http://ffathailand.blogspot.com/2016/04/blog-post_24.html


ศาลอุทธรณ์คดี หมายเลขแดงที่ อ.5093/2554 กรณีนายคำหล้า ชมชื่น จำเลยในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นอาวุธปืนเล็กกล (M16) 2 กระบอก ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยเหตุเกิดในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าขวางรถบรรทุกของทหารที่จะเข้าพื้นที่บริเวณใกล้ซอยหมอเหล็ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net