Skip to main content
sharethis

“แล้วต่อมาที่ผมโพสต์บอกว่า หากมีพระภิกษุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกระเบิดหรือถูกสังหารหนึ่งรูปต้องแลกกับการไปเผามัสยิดทิ้งไปหนึ่งมัสยิด โดยเริ่มตั้งแต่เชียงใหม่ลงมาเลย ผมยอมรับว่าผมโพสต์เองและเจตนาโพสต์อย่างนั้นจริงๆ เหตุผลที่โพสต์ เพราะอะไรครับ มันเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการข่มขู่ บอกว่าถ้าคุณไม่อยากถูกเผา คุณก็อย่าฆ่าพระอีก ถ้าคุณฆ่าพระอีก ฉันเผาแน่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงวันนี้ยังไม่มีข่าวพระถูกทำลายนะ ตั้งแต่ผมโพสต์บทความนี้ออกไป แล้วก็มีการตีพิมพ์ออกทีวี หนังสือพิมพ์นะครับ ก็ยังไม่มีพระตาย แต่ถ้าหากว่าพระตายเมื่อไหร่ ท่านจะเผาหรือเปล่าครับ (เสียงตอบจากที่ประชุม “เผา”) ขอบคุณครับ”

คำพูดของพระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท หัวหน้าพระวิทยากรประจำพระอารามหลวง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่มีผู้นำมาเผยแพร่ในยูทูบ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 www.youtube.com/watch?v=tIvV9D4fRMo ก่อนหน้านี้ พระมหาอภิชาติได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของตนโดยมีเนื้อหาลักษณะนี้มาก่อน ทำให้ถูกหลายฝ่ายโจมตีจนต้องประกาศปิดเฟซบุ๊กชั่วคราว ถึงกระนั้น ก็มีพุทธศาสนิกจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับความคิดของพระมหาอภิชาติ

ก่อนเกิดกรณีพระมหาอภิชาติ ยังมีเหตุการณ์ที่ชาวจังหวัดน่านออกมาคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดในจังหวัด มีการสร้างเพจบนเฟซบุ๊ก พร้อมภาพปกที่มีเนื้อหาว่า น่านเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายของพุทธศาสนาในประเทศไทยและจะไม่ยอมให้ใครมาย่ำยี หรือกรณีคลิปในยูทูบที่มีพระรูปหนึ่งจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ออกมาคัดค้านการสร้างศูนย์จำหน่ายของที่ระลึกภายในวัด เนื่องจากอ้างว่าศูนย์จำหน่ายฯ แห่งนี้ใช้แบบแปลนเดียวกันกับการสร้างมัสยิด
 

พุทธไทยไม่ขัดแย้งศาสนาอื่นเพราะกุมอำนาจรัฐ-ผลประโยชน์ได้

เมื่อตรวจดูความเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียลมีเดีย จะพบว่า มีเพจและคลิปที่มีเนื้อหาต่อต้านศาสนาอิสลามหรือมีเนื้อหาว่าศาสนาอิสลามกำลังบ่อนทำลายพุทธศาสนา แต่ก็มีเนื้อหาที่ต้องการสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาไม่น้อยเช่นกัน

แต่อาจกล่าวได้ว่า การแสดงความเห็นของพระมหาอภิชาติดูเหมือนจะเป็นการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงที่ชัดเจนและเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในสังคมกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ถ้าไม่นับกรณีวาทกรรมฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปในยุคสงครามเย็น

ย้อนดูประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธในสยาม-ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แม้ว่าพระสงฆ์จะมีบทบาททางการเมืองมาตลอด อย่างการสนับสนุนการแย่งชิงราชบัลลังก์ การเป็นฐานอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ หรือการที่กษัตริย์ใช้พุทธศาสนาเป็นข้ออ้างในการทำสงคราม เช่นการแย่งชิงพระไตรปิฎก แต่ก็ไม่เคยพบเอกสารบันทึกความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาอื่น

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา วิเคราะห์สาเหตุที่สยาม-ไทยในอดีตไม่เคยมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาอื่นว่า เพราะพุทธศาสนาที่ผสมพราหมณ์ผีมักเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอำนาจรัฐอยู่แล้ว ขณะที่คริสต์และอิสลามที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เนื่องจากไม่มีกลุ่มศาสนาอื่นสามารถสร้างกลุ่มก้อนเข้ามาชิงอำนาจรัฐทาบรัศมีกับพุทธผสมพราหมณ์หรือมีส่วนแบ่งอำนาจผลประโยชน์ใกล้เคียงกันได้ จึงไม่มีเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทางศาสนา
ความกลัวอิสลาม ทำพุทธไทยขันติธรรมลดลง

ขณะที่ปัจจุบัน ศาสนากลายเป็นปมความขัดแย้งที่รอวันปะทุในหลายภูมิภาคของโลก การแสดงความคิดเห็นอย่างโจ่งแจ้งของพระมหาอภิชาติฯ สร้างทั้งความสะใจสำหรับชาวพุทธจำนวนหนึ่ง พอๆ กับที่สร้างความวิตกกังวลว่าจะเป็นต้นทางของความรุนแรงในอนาคต

คำถามคือขันติธรรมที่ลดลงของพุทธไทย โดยเฉพาะกับศาสนาอิสลาม มีสาเหตุจากอะไร สุรพศ อธิบายว่า “ผมคิดว่ามีปัจจัยที่ซับซ้อนหลายอย่าง ที่พุทธสมัยก่อนไม่มีปัญหาทำนองนี้มาก อาจไม่ใช่เพราะชาวพุทธสมัยก่อนยึดมั่นในคำสอนของพุทธศาสนามากกว่า แต่เงื่อนไขทางสังคมการเมืองสมัยนั้นๆ ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับศาสนาอื่นอาจมีน้อยกว่า ปัจจุบันเราเห็นความหวาดระแวงมุสลิมมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ การขยายการสร้างมัสยิดไปยังจังหวัดต่างๆ กระแสแอนตี้มุสลิมในพม่า หรือในโลกตะวันตกก็อาจจะมีอิทธิพลด้วย เพราะบ้านเรามักรับข่าวสารข้อมูลจากตะวันตกมากกว่า อีกอย่างกลุ่มพระสงฆ์และนักวิชาการพุทธฆราวาสบางกลุ่มเริ่มรู้สึกมากขึ้นว่า ศาสนาอิสลามเข้ามาแชร์อำนาจและงบประมาณรัฐมากขึ้น หรือเข้ามาแชร์พื้นที่การเมืองระดับชาติมากขึ้น”

สุรพศ ขยายความว่า การพยายามเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองระดับชาติที่มากขึ้นโดยลำดับของชาวมุสลิม เช่นให้สภาผ่านกฎหมายอิสลามหลายฉบับในรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2549 การเพิ่มงบประมาณอุดหนุนศาสนาอิสลามมากขึ้น เป็นต้น ทำให้พระสงฆ์และชาวพุทธบางส่วนมองว่าศาสนาอิสลามกำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์บาดแผลที่กองทัพมุสลิมบุกทำลายพุทธในอินเดีย และการเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสร้างกระแสความกลัวอิสลาม

สอดคล้องกับความเห็นของพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และเพิ่มเติมว่า ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่าศาสนาอิสลามกำลังบ่อนทำลายพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมานานพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่วันมูหะหมัดนอร์  มะทา ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ก็มีข่าวลือว่าอิสลามจะครอบงำพุทธศาสนา ประกอบกับช่วงนั้นมีข่าวการเรียกร้องสิทธิหลายประการของชาวมุสลิม เช่น การขอให้มีห้องทำละหมาดในสนามบินและสถานที่สาธารณะ แต่ชาวพุทธไทยไม่คุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิม จึงเริ่มมองมุสลิมในแง่ลบ ยิ่งเมื่อชาวมุสลิมให้ความสำคัญกับหลักศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งยืนยันในอัตลักษณ์มุสลิมอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ส่วนหนึ่งเริ่มปฏิเสธพิธีกรรมบางอย่างของพุทธศาสนาหรือไม่ยอมรับธรรมเนียมบางอย่างที่ชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การไหว้พระ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวมุสลิมจึงมีมากขึ้นในหมู่ชาวพุทธ และปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิกิริยาดังกล่าวส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่มุสลิมจำนวนหนึ่งที่เป็นสายแข็งกร้าว ซึ่งระยะหลังมีอิทธิพลในหมู่ชาวมุสลิมมากขึ้น มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวพุทธและพุทธศาสนา

ในอีกด้านหนึ่ง พระไพศาล เห็นว่ารากเหง้าของความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอื่นในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเกิดจากความหวั่นวิตกว่าพุทธศาสนากำลังตกต่ำเสื่อมถอย ซึ่งแท้จริงเกิดจากความย่อหย่อนของชาวพุทธเอง ทั้งในด้านการศึกษาและปฏิบัติ โดยเฉพาะพระสงฆ์ซึ่งมีคุณภาพลดน้อยถอยลง จนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธา นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

“แต่แทนที่จะยอมรับว่าความเสื่อมถอยนั้นมีสาเหตุจากภายใน ชาวพุทธจำนวนหนึ่งกลับหันไปโทษคนภายนอกว่าทำให้พุทธศาสนาตกต่ำ และคนภายนอกที่มาสอดรับกับความคิดดังกล่าวก็คือชาวมุสลิม”
 

พุทธ=ชาติ สร้างปัญหา แนะแยกศาสนาออกจากรัฐ

นอกจากความกลัวอิสลามแล้ว รากเหง้าความเปราะบางของพุทธไทยยังอยู่ที่การนำ ‘ความเป็นพุทธ’ กับ ‘ความเป็นชาติไทย’ มาผูกโยงกัน ความเป็นชาติไทยจึงเท่ากับความเป็นพุทธ เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อศาสนาพุทธ มันย่อมกระทบต่อความมั่นคงของชาติไปโดยปริยาย

“พุทธศาสนาแบบปัจจุบันคือพุทธศาสนาไทยที่มีโครงสร้างเป็นพุทธศาสนาของรัฐ เช่น มีการตีความคำสอนพุทธสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมทั้งโดยชนชั้นปกครอง คณะสงฆ์ ปราชญ์ชาวพุทธทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ถึงขนาดอ้างกันว่าประวัติศาสตร์ชนชาติไทยคือประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพุทธหรือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยทั้งในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ สมควรรับรองว่าพุทธเป็นศาสนาประจำชาติโดยรัฐธรรมนูญเป็นต้น พุทธศาสนาที่ผูกกับความเป็นชาตินิยมแบบนี้มันสัมพันธ์กับอำนาจ ผลประโยชน์ และการมีทัศนคติเชิงกีดกันศาสนาอื่นๆ อยู่แล้ว แม้ว่าธรรมชาติของศาสนาโดยตัวมันเองก็มีลักษณะกีดกันอยู่ แต่อาจไม่มีปัญหาอะไรมากนัก ถ้าศาสนาไม่เข้ามาแชร์อำนาจรัฐ ศาสนาก็จะไม่มีอำนาจหรือเครื่องมือไปกีดกันศาสนาอื่นได้” สุรพศกล่าว

สุรพศเสนอว่าควรสร้างรัฐฆราวาสที่แยกศาสนาออกจากรัฐ แปรองค์กรศาสนาทุกศาสนาเป็นเอกชน รัฐมีความเป็นกลางทางศาสนาและมีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงศาสนา รัฐจะเข้าไปจัดการเมื่อมีการใช้ศาสนาในทางละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น ทุกศาสนามีสถานะเสมอภาคกันและมีเสรีภาพในการเผยแพร่ภายใต้การเคารพกติกาประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน 

“เมื่อศาสนาเป็นอิสระจาการเป็นกลไกอำนาจรัฐ ธรรมชาติของศาสนาที่มีลักษณะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลโดยพื้นฐานก็จะกลับมีชีวิตชีวา มีการศึกษาตีความและประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องกับความหลากหลายของวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ ไม่เป็นศาสนาที่ตายซาก แข็งทื่อไร้ชีวิตชีวา ไร้ความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคมที่ถูกกดขี่ด้วยโครงสร้างอำนาจที่อยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ อย่างศาสนาแห่งรัฐที่เป็นกลไกวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบปัจจุบัน”
 


ที่มา เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา
 

หวั่นรัฐธรรมนูญมีชัยสร้างชนวนขัดแย้งระหว่างศาสนา

แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ กลับยืนกรานไปในทางตรงกันข้ามและถูกมองว่าในระยะยาวจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างศาสนามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67 ระบุว่า

‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น’

‘ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าว’


สุรพศ แสดงทัศนะว่า คำว่า บ่อนทำลาย สามารถตีความได้ครอบจักรวาลและอาจสร้างเงื่อนไขให้เกิดการล่าแม่มดระหว่างชาวพุทธด้วยกันเอง เช่น กรณีธรรมกายที่ถูกล่าวหาว่าสอนผิดพระไตรปิฎก การวิจารณ์คำสอนพุทธศาสนา คณะสงฆ์ เสนอให้ยกเลิกระบบสมณศักดิ์ ก็อาจถูกตีความว่าเป็นการบ่อนทำลายศาสนา และยังอาจเป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนาอื่นๆ เช่น การสร้างมัสยิดในบางพื้นที่ก็อาจตีความว่าเป็นการบ่อนทำลายพุทธได้ กล่าวคือจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญยังดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับพุทธนิกายเถรวาทไทยมากกว่าพุทธนิกายอื่นและศาสนาอื่นๆ

ด้วยสถานการณ์ที่เปราะบางต่อความขัดแย้งระหว่างศาสนา การแยกรัฐและศาสนาออกจากกันคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็ดูเหมือนจะสร้างชนวนปัญหาในระยะยาวมากกว่าที่จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิก สังคมไทยจึงต้องแบกรับความเสี่ยงนี้ต่อไป เป็นความเสี่ยงที่ซุกอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ


Islamophobia ความขัดแย้งพุทธ-อิสลามที่รอวันปะทุ

ความไม่ลงรอยระหว่างพุทธและอิสลามในสังคมไทยเวลานี้เกิดจากปัจจัยซับซ้อนหลายประการ ก่อตัวเป็นอาการกลัวอิสลามหรือ Islamophobia ซึ่ง ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ให้ข้อมูลว่า Islamophobia เป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 และต้น 2000 โดยนักการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ และองค์การระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนและลงตัวในหมู่นักวิชาการว่าหมายถึงอะไร แต่ก็พอจะเห็นนัยสำคัญๆ ของแนวคิดอิสลามโมโฟเบียว่า เป็นภาวะความสะพรึงกลัวต่อมุสลิมและศาสนาอิสลาม จนตัดสินโดยลอยๆ อย่างเหมารวมว่าอิสลามมีฐานะเป็น ‘ศัตรู’ ‘เป็นคนอื่น’ ‘เป็นตัวอันตราย’ ต่อโลกตะวันตก ดังนั้น อิสลามโมโฟเบีย จึงเป็นอาการปฏิเสธต่อศาสนาอิสลาม กลุ่มคนมุสลิม หรือมุสลิมที่เป็นปัจเจกชน โดยพื้นฐานของอคติและการเหมารวม

“ผมมองว่ามูลเหตุความกลัวอิสลามมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ที่ว่าปัจจัยภายนอกคือ เราได้เห็นงานที่มีพลังทางวิชาการอย่างของ  Edward Said ที่ได้สืบสาวเรื่องราวให้เห็นว่าโลกตะวันตกได้มีความพยายามจงใจสร้างความเป็นอื่นโดยผ่านชุดองค์ความรู้ที่เป็นอุตสาหกรรมทางวิชาการ เพื่อเขียนภาพอิสลามให้เป็นไปตามจินตนาการของโลกตะวันตก วัฒนธรรมอาหรับและอิสลามจึงถูกฉายภาพในลักษณะเป็นสิ่งแปลกประหลาด ล้าหลัง ไร้อารยะธรรม และอันตราย”

นอกจากอคติในงานวิชาการแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังถูกผลิตซ้ำในสื่อแทบทุกแขนงในโลกตะวันตก ในรายงานการติดตามเกี่ยวกับอิสลามโมโฟเบียในที่ต่างๆ ขององค์กรความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี (OIC) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน สื่อในโลกตะวันตกมีความพยายามบิดเบือนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับอิสลามอย่างชัดเจน แม้ว่าในหลายประเทศเริ่มจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับความบิดเบือนและการทำร้ายหรือเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมแล้วก็ตาม

“สำหรับปัจจัยภายใน ต้องยอมรับว่าในหมู่มุสลิมเอง ซึ่งมีคนบางกลุ่มที่นิยมการใช้ความรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างมากมายแม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยก็ตาม เมื่อปรากฏเป็นข่าวตามสื่อกระแสหลักต่างๆ ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนโดยทั่วไปที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในอิสลาม และสำหรับในประเทศไทยตอกย้ำด้วยสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีมายาวนานจึงทำให้ชาวไทยในที่อื่นๆ เกิดความหวาดกลัวต่อชาวมุสลิม”

ดังนั้น ในหมู่ชนที่ไม่ใช่มุสลิมจึงมีคำถามที่ค้างคาใจหรือมีภาพเกี่ยวกับอิสลามหลายประการที่เป็นไปในลักษณะการวาดภาพอิสลามอย่างแข็งกระด้างมีความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดในโลกอิสลาม ซึ่งในความเป็นจริงโลกอิสลามยังคงมีความแตกต่างหลากหลายมากมาย มองว่าอิสลามมีคุณค่าที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจนเข้ากันไม่ได้กับศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆ คำสอนของศาสนาอิสลามสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในสังคม และมองศาสนาอิสลามเป็นอุดมการณ์ความรุนแรงในปริมณฑลทางการเมือง

ขณะที่สังคมไทยยังคงมีอคติและวนเวียนกับอาการหวาดกลัวอิสลามผ่านการกล่อมเกลาและผลิตซ้ำผ่านช่องทางต่างๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็กำลังจะสร้างชนวนปัญหาขึ้นใหม่

“การระบุถ้อยคำแบบนี้ในรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อความขัดแย้งอย่างแน่นอน เพราะเป็นข้อความที่มองศาสนาอย่างคับแคบ โดยความขัดแย้งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือในระหว่างชาวพุทธด้วยกันเอง เพราะศาสนาพุทธในสังคมไทยก็ไม่ได้มีแค่นิกายเถรวาท แล้วทำไมต้องระบุการสนับสนุนของรัฐแก่พุทธศาสนาแบบเถรวาทเท่านั้น และยิ่งถ้อยคำที่ว่า ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใดนั้น แสดงถึงเป็นการให้ใบอนุญาตในการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตจนเกินไปที่จัดการพุทธศาสนาแบบไม่ใช่เถรวาท รวมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ย่อมสามารถตีความเป็นอย่างนั้นได้ใช่หรือไม่ อะไรคือ คำนิยามความหมายของการบ่อนทำลาย มีขอบเขตแค่ไหน
“ผมคิดว่าสิ่งที่น่ากังวลใจที่สุดสำหรับถ้อยคำแบบนี้คือ มันอาจถูกนำไปใช้ในการทำลายผู้มีความคิดหรือวิถีความเชื่อ ความศรัทธา และการปฏิบัติที่ต่างไปจากพุทธกระแสหลักหรือพุทธเถรวาท ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคม

“ผมอยากพูดรวมๆ โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงในภาคเหนือที่ผมเติบโตมา ได้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่เปลี่ยนไปจนน่าตกใจ ในอดีตเมื่อหลายสิบที่ผ่านมานั้น ชาวมุสลิมค่อนข้างได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพี่น้องชาวพุทธในภาคเหนือ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสการต่อต้านการสร้างมัสยิดไม่ว่าจะเป็นที่เชียงราย น่าน รวมทั้งเชียงใหม่ โดยมีการใช้ข้อมูลทั้งที่ขาดความเข้าใจและข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อจงใจสร้างความเกลียดชังในหมู่มุสลิม ดังนั้น จากพัฒนาการดังกล่าว หากสังคมทุกฝ่ายต่างนิ่งเฉยและปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ โดยไม่ช่วยกันหาทางสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกันแล้ว ผมประเมินว่าในอีกไม่นาน อาจในช่วง 20-30 ปี ข้างหน้าหรืออาจจะเร็วกว่านั้นย่อมมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่รุนแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าได้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net