Skip to main content
sharethis



26 เม.ย.2559 ณ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และนักวิชาการ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้มีการหยุดต่อใบอนุญาตเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่จะหมดอายุในวันที่ 13 พ.ค.นี้ พร้อมรายชื่อผู้ลงนามคัดค้านกว่า 20,000 รายชื่อจากการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org  รวมถึงแถลงการณ์ 21 เม.ย. ที่ผ่านมาจากคณะปูชีนียบุคคลไทย ซึ่งมี ศ.ระพี สาคริกเป็นประธาน

สมิทธ์ ตุงคะสมิต  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประเด็นสำคัญตอนนี้คือชาวบ้านป่วยจริงและเสียชีวิตจริงจากการมีโลหะหนักในกระแสเลือด ที่ผ่านมามีการตรวจพิสูจน์และเจาะเลือดประชาชนรอบๆเหมืองทองคำประมาณ 1,000 กว่าคน ซึ่งกว่า 60% นั้นมีสารเคมีในเลือดสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ค่าแมงกานีส ค่าอาซีนิค ค่าไซยาไนด์ คำถามคือสารเคมีเหล่านี้มาจากไหน ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือช่วยเหลือประชาชนก่อน แทนที่จะไปฟังฝรั่งว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเหมืองทองคำ ในประเทศไทยมีทีมวิชาการที่ทำงานมา 2 ปีทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วก็ได้ผลลัพธ์ชัดเจนว่าทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นมีการปนเปื้อนสารพิษจริง ดังนั้นคำถามปัจจุบันจึงควรคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับพื้นที่รอบเหมืองเมื่อสุขภาพผู้คนและสิ่งแวดล้อมเสียไปแล้ว

“กรณีแบบนี้มันค่อนข้างชัดกว่ามาบตาพุด เพราะมาบตาพุดมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรงงาน ชาวบ้านมาบตาพุดก็ยังเถียงกันว่ามาจากโรงงานใด แต่กรณีนี้ชัดเจนเนื่องจากบริเวณนั้นมีเหมืองแร่ทองคำอยู่แห่งเดียว แล้วก็มีโรงงานประกอบอุตสาหกรรมอยู่แห่งเดียว แล้วชาวบ้านเจ็บป่วยแบบนี้จะหมายความว่าอย่างไร”สมิทธ์กล่าว

“ตอนนี้ผมไม่ได้เรียกร้องให้ท่านฟังใครข้างใดข้างหนึ่ง แต่เรียกร้องให้เอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาดูกัน ในแง่ของผลกระทบทางสุขภาพนั้นชัดเจน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็ชัดเจน ผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์และผลประโยชน์ของประเทศก็ชัดเจนประเทศไทยได้รับผลประโยชน์นิดเดียวจากเหมืองแร่ทองคำตลอดที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องของความคุ้มไม่คุ้มตัดออกไปได้เลย มันไม่คุ้มไม่ต้องมานั่งคิดมาก” นักวิชาการจากม.รังสิตกล่าว

สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครอิสระเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน อดีตพยานผู้เชี่ยวชาญกรณีเหมืองแร่ทองคำพิจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ต้องการให้นายกฯ หยุดใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ซึ่งจะหมดอายุ 13 พ.ค.นี้ไว้ก่อน จนกว่าผลตรวจทุกอย่างจะออกมาเป็นที่กระจ่างชัดเจน แต่ตราบเท่าที่ผลตรวจใหม่ยังไม่ออกมาก็ไม่ควรต่อใบอนุญาต เพราะมันไม่มีโอกาสใดที่นายกจะสามารถหยุดเหมืองทองคำได้โดยชอบธรรม ถ้านายกไปหยุดจังหวะอื่นก็ต้องหาเหตุผลมากมายมาทำการยุติ แต่ตอนนี้ผลการตรวจที่พบการปนเปื้อนรอบเหมืองทองคำในคน พืช น้ำ มีมากเพียงพอที่จะสั่งหยุดได้ เพราะเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายใบประกอบโลหกรรมที่ทางเหมืองทำไว้กับหน่วยราชการ แค่คนในหน่วยงานราชการไม่กล้าตัดสินใจ ในเมื่อนายกเป็นทหารก็ควรจะกล้าตัดสินใจ

“คณะกรรมการประมวลผลเก่าทั้งหมดตรวจมาแล้ว คน พืช ดิน น้ำ ผลลัพธ์ของหน่วยงานไหนเชื่อถือได้ ไม่ได้ และก็จะสุ่มตรวจใหม่ทั้งหมดโดยที่ประชุมจะกำหนดร่วมกันซึ่งจะต้องรอผลตรวจประมาณ 2-3 เดือน แล้วตัดสินใจอีกครั้ง แต่ถ้านายกฯ ไม่ตัดสินใจหยุดการต่อใบอนุญาตฯที่จะหมด 13 พ.ค.นี้ นายกฯ ต้องคิดว่า 5-6 เดือนจากนี้ไป ชะตากรรมของชาวบ้านจะต้องล้มป่วยอีกเท่าไร อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เปิดเหมืองคือทุกนาทีที่สร้างความเสี่ยงโดยหาผู้กระทำผิดไม่ได้ และชาวบ้านก็ป่วยทุกวัน ดังนั้นนายกฯ ต้องรับผิดชอบต่อการป่วยและเสียชีวิตในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศ”

มานิต ลำพะศอน ชาวบ้านหนองระมานหมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กล่าวว่า ก่อนที่มีเหมืองทองคำอาศัยอยู่มาก็สบายอยู่แบบปกติ น้ำบ่อตื้นก็สามารถเอามาดื่มได้ตั้งแต่ปู่ย่าตายายสามารถใช้น้ำได้ปกติ พอมีเหมืองตั้งแต่ ปี 2544 อยู่มาสัก 4-5 ปี ก็รู้สึกน้ำที่ใช้อาบผิดปกติ อาบแล้วเป็นผื่นคันแดงไปทั้งตัว ทำให้การใช้ชีวิตลำบากมากยิ่งขึ้น และชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองจากเหมือง เสียงระเบิด และเครื่องจักร ซึ่งหมู่บ้านมีระห่างจากเหมืองแค่ประมาณ 300 เมตร

มานิต กล่าวต่อว่า ชาวบ้านพยายามร้องเรียนตลอดมาตั้งแต่ปี 2550 เมื่อบริษัทเริ่มขยายพื้นที่ทำเหมืองทองคำ ทุกวันนี้ชาวบ้านเจ็บป่วย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจไม่ออกไม่ได้เป็นแค่ตัวเองแต่เป็นทั้งครอบครัวและหมู่เพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน พอมีหน่วยงานมาตรวจก็จึงได้พบว่ามีสารพิษปนเปื้อนทั้งในพืช ดินและน้ำ ทำให้ไม่สามารถปลูกผักกินเองได้ แล้วจนกระทั่งได้คูปองจากภาครัฐมาใช้แลกผักเพื่อบริโภคอย่างปลอดภัย ช่วง 5 ปีหลังนั้นหนักที่สุด เพราะแพทย์ลงพื้นที่และตรวจพบสารไซยาไนด์และสารหนูที่เกินเกณฑ์มาตรฐานในชาวบ้านเกือบทุกคน เหมือนกับการใช้ชีวิตรอบเหมืองคือการตายผ่อนส่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net