Skip to main content
sharethis

บท บ.ก.อีสต์เอเชียฟอรัม เขียนถึงประเด็นการใช้อำนาจของรัฐบาลกลางจีนที่ส่งอิทธิพลทั้งในด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก แต่ก็วิเคราะห์ว่าอำนาจนิยมในแบบของผู้นำอย่างสีจิ้นผิงที่สร้างความเกลียดชังไปทั่วก็อาจทำให้เขาแพ้ภัยตัวเอง


ภาพจาก Foreign and Commonwealth Office (CC BY 2.0)

25 เม.ย. 2559 บทบรรณาธิการของอีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าจะในตลาดการค้าหรือในแง่นโยบายการเมืองทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของผู้นำจีน มีการติดต่อสื่อสารกับคนในจีนทั้งในแง่คู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ร่วมวิชาชีพ เพื่อนหรือครอบครัวเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อประชาชนจีนติดต่อสื่อสารกับคนที่อื่นของโลกได้มากขึ้นแล้วเรื่องมุมมองของประชาชนต่อรัฐบาลจีนก็กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารระดับปัจจุบันนี้แม้แต่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลจีนเองก็คงทำใจลำบากถ้าจะปิดกั้นการสื่อสารกันต่อไปถ้าหากพวกเขาต้องการความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโลก

มีการพยายามวิเคราะห์ประเทศจีนไปในทำนองว่าจีนจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่และต้องรับมือกับอิทธิพลทางการเมืองภายนอกหลังจากที่จีนมีแผนปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะเปิดประตูจีนสู่คนทั้งโลก โดยที่อีสต์เอเชียยกตัวอย่างบทความในเว็บไซต์ตัวเองที่เขียนโดย คาร์ล มินซ์เนอร์ ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายฟอร์ดแอม ที่อีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่าเป็นผู้ศึกษาด้านการบริหารประเทศของจีน

ในบทความของมินซ์เนอร์ระบุว่าจีนกำลังอยู่ใน "ยุคที่มืดมนกว่าเดิม" ทั้งจากการที่มีการปราบปรามกลุ่มนักกฎหมาย นักข่าว และนักกิจกรรมมากขึ้น ในขณะเดียวกันการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมของจีนก็เริ่มผุพังลงเรื่อยๆ จากปัญหาที่มาจากอำนาจนิยมของพวกเขาเอง

โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจ เขาก็ใช้อำนาจหนักมือขึ้นและพยายามรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเอง โดยเคยมีคนวิเคราะห์ว่าเพื่อเป็นการกลบจุดอ่อนของผู้นำคนก่อนคือหูจิ่นเทา โดยสีจิ้นผิงยังได้พยายามสร้างสถาบันการเมืองใหม่เพื่อปกครองจีนซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพอย่างมากและเป็นการเน้นเพิ่มอำนาจให้รัฐ แต่มินซ์เนอร์มองต่างออกไปว่าลักษณะการใช้อำนาจของรัฐบาลจีนยุคปัจจุบันกำลังดำเนินไปในแนวทางออกห่างจากสถาบันการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการเน้นสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) ห้อมล้อมสีจิ้นผิงและหันกลับไปสู่แนวทางเชื้อชาตินิยม จักรวรรดินิยม ที่ผสมกับแนวคิดของขงจื้อ รวมถึงมีการฟื้นวิธีการ "ปกครองด้วยความหวาดกลัว" ในยุคเหมาเจ๋อตุงมาใช้

มินซ์เนอร์มองว่าการที่สีจิ้นผิงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเองคนเดียวอาจจะทำให้เขาได้เปรียบในแง่การจัดการกับประเด็นใหญ่ๆ แต่ก็สร้างความเสี่ยงให้เขาต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวเวลาที่เกิดข้อผิดพลาด อีกทั้งบทความยังมีการอ้างแมกซ์ เวเบอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ว่าการใช้ความหวาดกลัว ประเพณี และบารมีส่วนบุคคล ไม่นับเป็นการปกครองด้วยสถาบันทางการเมืองหรือระบบราชการ และอาจจะถือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม

มินซ์เนอร์ระบุว่าการเมืองของสีจิ้นผิงทำลายความพยายามสร้างระบอบการปกครองด้วยสถาบันทางการเมือง และอาจจะทำให้ระบบ "กลืนกินตัวเอง" ได้

ในแง่ของการที่สีจิ้นผิงพยายามสร้างลัทธิการเมืองแบบบูชาตัวบุคคลโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเขาเองก็เคยมีการวิเคราะห์ไว้ในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ในบทความระบุว่าถึงแม้สีจิ้นผิงที่อ้างว่าตัวเอง "ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน" พยายามเข้ามาเพื่อกำจัด ปราบปราม การทุจริตคอร์รัปชันในพรรค แต่กลับปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหาอื่น เช่น ปัญหาอื้อฉาวเกี่ยวกับการสาธารณสุขเรื่องวัคซีนที่ไม่ปลอดภัย ทำให้การปราบปรามของสีจิ้นผิงไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนทั่วไปดีขึ้น เพราะคุณภาพชีวิตของพวกเขาถูกทำลายจากการทุจริตคอร์รัปชันในอีกแบบหนึ่ง

ทั้งนี้บทความในดิอิโคโนมิสต์ยังระบุอีกว่ากลุ่มชนชั้นนำในจีนเองก็เริ่มแสดงความไม่พอใจสีจิ้นผิงมากขึ้น สื่อของรัฐตำหนิผู้นำอย่างเปิดเผยในเรื่องการจำกัดการรายงานข่าว นักธุรกิจชื่อดังเขียนโจมตีเขาในไมโครบล็อก และบรรณาธิการอาวุโสลาออกจากตำแหน่งด้วยความรังเกียจ อีกทั้งการควบรวมอำนาจในภาคส่วนต่างๆ ทั้งการเป็นหัวหน้าพรรค การเป็นประมุขรัฐ และการเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดไว้ที่ตัวเขาคนเดียวก็เป็นการบ่อนเซาะการนำแบบ "เป็นหมู่คณะ" ของพรรคลง

บทความในดิอิโคโนมิสต์ยังระบุถึงการที่สีจิ้นผิงสร้างลัทธิบูชาตัวเองแบบที่ถูกเปรียบเทียบกับเหมาเจ๋อตุงว่า ถึงแม้ว่าลัทธิบูชาตัวบุคคลของสีจิ้นผิงอาจจะไม่ถึงขั้นทำให้เกิดความรุนแรงและความบ้าคลั่งแบบเหมาเจ๋อตุงในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการพยายามยึดกุมอำนาจไว้ที่ตัวเองของสีจิ้นผิงจะไม่ก่อความเสียหายเลย ความเสียหายที่ว่ามาจากการลิดรอนเสรีภาพและการปราบปรามผู้คนอย่างหนักในระดับเดียวกับช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 2532 แต่ประชาชนก็เริ่มต่อต้าน ไม่ว่าจะมีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเข้มงวดแค่ไหนก็ตามก็ยังคงมีเสียงต่อต้านออกมาเรื่อยๆ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า ไม่ว่าจะปราบปรามมากแค่ไหนก็ตามแต่สีจิ้นผิงก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองมั่นคงปลอดภัยขึ้นหรือทำให้จีนมีเสถียรภาพมากขึ้นเลย การใช้พนักงานสอบสวนที่เหมือนอันธพาลจัดการเรื่องปราบปรามสินบนก็เป็นสิ่งที่พวกเขาทำไปเพื่อสร้างคะแนนทางการเมืองมากกว่าเพื่อเป็นการพิทักษ์กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และยังกลายเป็นการขัดขวางการบริหารประเทศเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าใช้เงินเนื่องจากกลัวว่าจะถูกหาเรื่องสอบสวน นอกจากนี้ความพยายาม "ปฏิรูป" แบบที่สีจิ้นผิงเคยสัญญาไว้ก็ดูไม่มีความหวังว่าจะเกิดเป็นรูปเป็นร่างใดๆ

"ยิ่งสีจิ้นผิงพยายามต่อกรกับศัตรูด้วยวิธีการขู่ให้กลัวและใช้กำลังมากเท่าใด เขาก็ยิ่งจะสร้างศัตรูมากขึ้นเท่านั้น" ดิอิโคโนมิสต์ระบุในบทความ

 


เรียบเรียงจาก

Is China’s authoritarianism decaying into personalised rule?, Carl Minzner, East Asia Forum, 24-04-2016
http://www.eastasiaforum.org/2016/04/24/is-chinas-authoritarianism-decaying-into-personalised-rule/

The limits to Chinese political power, East Asia Forum, 25-04-2016
http://www.eastasiaforum.org/2016/04/25/the-limits-to-chinese-political-power/

Beware the cult of Xi, The Economist, 02-04-2016
http://www.economist.com/news/leaders/21695881-xi-jinping-stronger-his-predecessors-his-power-damaging-country-beware-cult

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net