Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เมื่อ คสช. ประกาศหลักสูตรชื่อสวยหรูสำหรับปรับทัศนคติผู้เห็นต่างในค่ายทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ผู้เขียนก็มั่นใจได้ว่าชื่อของบรรดาผู้เห็นต่างนั้นได้ถูกขึ้นบัญชีดำไว้แล้ว อีกระลอก นอกเหนือไปจากผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดคดีอาญามาตรา 112  (ในอนาคตเหยื่อรายใหม่ก็คือ ผู้รณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ) คนเหล่านั้นย่อมหลีกหนีไม่พ้นจากการถูกตีตราว่าเป็นพวกเสื้อแดง พวกล้มเจ้า ผู้เป็นภัยต่อความมั่นคง ฯลฯ ซึ่งเข้าทำนอง “ลัทธิล่าแม่มด” (Witch Hunt)

เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายทศวรรษก่อน นั่นคือ สหรัฐฯ มักถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างเหลือล้น จนถึงมีผู้หลงคิดไปว่าคนอเมริกันคิดจะทำอะไรก็ทำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 40 ได้ทำให้เกิดมุมมืดของลัทธิประชาธิปไตยขึ้นมาอย่างน่าละอายใจในสหรัฐฯ ตลอดทศวรรษที่ 50 และมีแรงเฉื่อยไปถึงต้นทศวรรษที่ 60  จนสังคมอเมริกันได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคมืดหรือยุคแห่งความเงียบ การล่าแม่มดยุคใหม่ของสหรัฐฯ ไม่ใช่การตามล่าผู้เล่นไสยศาสตร์มนต์ดำเหมือนกับมัธยมสมัยแห่งยุโรป หรือแม้แต่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างในเอเชียและแอฟริกาในปัจจุบัน หากพ่อมดและแม่มดนั้นอยู่ภายใต้ชื่อใหม่ คือ ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์
     
การล่าคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ เริ่มต้นจากการสงสัยและการกล่าวหาบุคคลนั้น ๆ ว่า มีพฤติกรรมการเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเป็นสายลับของโซเวียต ซึ่งเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของรัฐ มีการเชิญบุคคลที่เข้าข่ายดังกล่าวมาให้การต่อรัฐสภา พวกเขาจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดีโดยมีโทษ คือ จำคุก จนไปถึงการประหารชีวิต ลัทธินี้ได้โจมตีบุคคลในวงการต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ นักการทูต นักเขียน กองทัพ รวมไปถึงบุคลากรในวงการภาพยนตร์ ฮอลลีวูด ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะกรรมการของรัฐสภาเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าสามารถชี้นำมวลชนได้โดยการซ่อนเร้นสารเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์มากับภาพยนตร์ อันจะเป็นการล้างสมองคนอเมริกันเพื่อให้การสนับสนุนสหภาพโซเวียต 

บุคคลเหล่านั้นจำนวนมากต้องพบกับมรสุมชีวิต ถูกขึ้นบัญชีดำนั่นคือพวกเขาจะไม่ถูกทางค่ายภาพยนตร์หรือสตูดิโอทั้งหลายว่าจ้างหรือให้งานทำ หลายคนเอาตัวรอดมาได้ แต่ต้องแลกกับการเอ่ยชื่อของคนรอบข้างว่าเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ หรือชักจูงตนให้เข้าร่วมกับกิจกรรมอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นการทรยศจนมิตรเปลี่ยนเป็นศัตรูแทน แต่หลายคนโชคไม่ดีต้องติดคุกหรือต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะข้อกล่าวหาจริงบ้างไม่จริงบ้าง 

นอกจากผลร้ายที่เกิดกับปัจเจกชนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับระดับประเทศชาติคือในช่วงการล่าแม่มดนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีนของกระทรวงการต่างประเทศโดนกวาดล้างไปเสียสิ้น ด้วยสาเหตุว่าจีนอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 1949 ทำให้เกิดความสงสัยว่าคนเหล่านั้นฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 60  กระทรวงนี้จึงขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชีย จนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ แพ้สงครามเวียดนาม ด้วยจีนกับเวียดนามมีอาณาเขตติดต่อกันและมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันในหลายด้าน  
        
การล่าแม่มดมักเป็นคำพ้องกับลัทธิแม็คคาร์ธี (McCarthyism) ซึ่งตั้งตามชื่อของวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี แห่งพรรครีพับลิกัน เหตุผลสำหรับการล่าแม่มดของแม็คคาร์ธีนั้นสามารถกล่าวได้ว่าคือความทะเยอทะยานของเขาที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังและยิ่งใหญ่ เขามักกล่าวคำปราศรัยอันยืดยาวและกล่าวหาว่าองค์กรของรัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ มีลูกจ้างหรือข้าราชการที่แอบสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ ทำให้ต้องมีการสืบสวนกันขนานใหญ่ ซึ่งก็รอดบ้างไม่รอดบ้าง กระนั้นก็ถือได้ว่าเขามีมูลความจริงอยู่พอสมควรที่คนอเมริกันจำนวนหนึ่งฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลก ดังสถิติในปี 1950 ขณะที่ประชากรของสหรัฐฯ มีเพียง 150 ล้านคนนั้น คนอเมริกันถึง  50,000 คน เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอันโด่งดัง ได้แก่ คู่สามีภรรยา คือ จูเลียส และเอเทล โรเซนเบิร์ก ซึ่งสารภาพว่าเป็นสายลับให้กับสหภาพโซเวียตจริง ๆ และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตบนเก้าอี้ไฟฟ้าในปี 1953
    
เหยื่อของเขาในหลายครั้งก็ตัวใหญ่ ขนาดที่ทำให้สาธารณชนอ้าปากค้างเช่นนายพลจอร์จ   ซี มาร์เชล นายพลระดับ 5 ดาว ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อชาติ แม้แต่ประธานาธิบดีเฮนรี เอส. ทรูแมน เอง ก็โดนนายแม็คคาร์ธี หาว่า อ่อนข้อให้กับพวกคอมมิวนิสต์ ปกป้องสายลับโซเวียต และยังด่าเหน็บแนมว่า ทรูแมน เป็น “ทรัพย์สินที่ดีที่สุดเท่าที่เครมลิมเคยมีมา” แม็คคาร์ธี มีอิทธิพลถึงขนาดที่ว่าประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากทรูแมน ยังหวาดกลัว และหลีกเลี่ยงที่จะโจมตีหรือวิพากษ์วิจารณ์แม็คคาร์ธี จนมีการ์ตูนล้อเลียนท่านประธานาธิบดี ว่าแสดงความขลาดต่อแม็คคาร์ธีอย่างน่าละอายใจ

แต่แม็คคาร์ธีก็มีความสัมพันธ์อันดีกับตระกูลเคนนาดี โดยเฉพาะโจเซฟ  บิดาของจอห์น เอฟ เคนนาดี เพราะเป็นคนอเมริกันเชื้อสายไอริชและนับถือนิกายคาทอลิกเหมือนกัน  ลูกชายอีกคนของโจเซฟ คือโรเบิร์ต เคนนาดี ยังได้ทำงานเป็นลูกน้องของแม็คคาร์ธี โรเบิร์ตให้ความเคารพและสนิทกับแม็คคาร์ธีมาก ถึงขั้นให้แม็คคาร์ธีเป็นพ่อทูนหัวแก่ลูกคนหนึ่งของเขา แม็คคาร์ธี ยังถือว่าเป็นผู้กำหนดประวัติศาสตร์ของการเมืองสหรัฐฯ อีกประการหนึ่ง คือ ถ้าหากเขาเล่นงานตระกูลเคนนาดีตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้ตระกูลนี้ต้องมัวหมองและจบสิ้นบทบาททางการเมืองตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 50  จอห์นก็อาจจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี  และโรเบิร์ต ก็ไม่ได้เป็นอัยการสูงสุดหรือเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดัง (อันอาจกลายเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะทั้งคู่ก็อาจมีชีวิตยืนยาวกว่านี้) 
     
นอกจากนี้เหยื่อของแม็คคาร์ธี และผู้ช่วยตัวแสบ คือ รอย โคห์น ยังไม่ใช่แค่คอมมิวนิสต์เท่านั้น หากรวมไปถึงการเป็นพวกรักร่วมเพศ ซึ่งต้องห้ามอย่างมากในสังคมอเมริกันในยุค 50  ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ มักต้องตกงาน หรือติดคุกในที่สุด แม้แต่เอฟบีไอก็จะสืบให้ได้ว่าใครเป็นพวกรักร่วมเพศ แล้วจะข่มขู่คนเหล่านั้นเพื่อรีดเอาข้อมูลบางอย่าง พวกรักร่วมเพศจึงกลายเป็นภัยต่อสังคมอเมริกันเช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์ ด้วยมุมมองที่ว่าพวกรักร่วมเพศเป็นพวกจิตไม่ปกติและมีแนวโน้มที่จะถูกชักจูงหรือล้างสมองโดยคอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นสายลับหรือผู้บ่อนทำลายศีลธรรมอันดีของสังคมอเมริกัน
          
อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของแม็คคาร์ธีมาตกต่ำในปี 1954 เมื่อเขาออกรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก และประณามพรรคเดโมแครต รวมทั้งกองทัพ (ที่พยายามจะเล่นงานเขาคืนบ้าง) ด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อนและรุนแรง จนทำให้ผู้ดูทางบ้านรับไม่ได้ อันส่งผลให้คะแนนความนิยมลดฮวบฮาบ อีกทั้งแม็คคาร์ธียังพบกับเหตุการณ์ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ความนิยมของเขาตกลงอย่างรวดเร็วจนต้องหมดบทบาททางการเมืองไปในที่สุด นั่นคือการเผชิญหน้ากับ โจเซฟ เวล์ช หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของกองทัพบก ขณะที่มีการไต่สวนหาผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ในกองทัพเมื่อเดือนมิถุนายน  โจเซฟ ได้ถามแม็คคาร์ธีเป็นเชิงกระแทกกระทั้นจากประโยคสุดท้ายอันโด่งดังที่สุดประโยคหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ว่า


At long last, have you left no sense of decency?
            
จนถึงตอนนี้ คุณไม่มีสำนึกชั่วดีเหลืออยู่เลยใช่ไหม


แม็คคาร์ธีใช้ชีวิตภายหลังจากนั้นจมอยู่กับกองเหล้าเป็นส่วนใหญ่ อันนำไปสู่การเสียชีวิตใน ปี 1957 ด้วยวัยเพียงไม่มากคือ 48 ปีจากโรคตับแข็ง (เข้าใจว่าคงกลับมาเกิดใหม่เป็นกำนัน     สุเทพ นายแพทย์เหรียญทองหรือไม่ก็ใครหลายคนในรัฐบาลขณะนี้)

เป็นที่น่าสนใจว่ายังมีบุคคลที่มีพฤติกรรมแบบเดียวกับแม็คคาร์ธีอีกหลายคน แต่อาจมีบทบาทที่ไม่แข็งขันเท่าหรือน่ารังเกียจน้อยกว่า อย่างเช่น โรนัลด์ เรแกน ดาราหนังคาวบอยเกรดบีซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในทศวรรษที่ 80 หรือ จอห์น เวย์นดาราหนังคาวบอยเกรดเอ ซึ่งประกาศตนต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน  คนเหล่านี้จะเป็นนักฉวยโอกาสหรือมีความเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่ก็แล้วแต่คนจะตีความ
     
นอกจากนี้ องค์กรสำคัญซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างลัทธิแม็คคาร์ธี คือ สำนักงานสืบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ภายใต้การก่อตั้งและอำนวยการของจอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ซึ่งใช้ทุกวิถีทางในการลิดรอนเสรีภาพของคนอเมริกัน ไม่ว่าจะติดเครื่องดักฟัง แอบสะกดรอย ข่มขู่ ฯลฯ รวมไปถึง คณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของวุฒิสภา (HUAC – House Unamerican Activities Committee)  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดั้งเดิม คือ การค้นหาสายลับนาซีที่แฝงมากับสังคมอเมริกันในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นคอมมิวนิสต์ในภายหลัง น่าสนใจอีกว่า หนึ่งในคณะกรรมการนั้นมีนักการเมืองคนดัง ได้แก่ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายทศวรรษที่ 60 

อาจเป็นได้ว่าคดีวอเตอร์เกต ที่ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งในช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเจ้าเล่ห์เพทุบายของเขานับตั้งแต่หนุ่ม ๆ คือ ทศวรรษที่ 40 และอาจสะท้อนภาพโดยรวมของคณะกรรมการชุดนี้ได้ว่า มีมาตรฐานทางจริยธรรมขนาดไหน  อย่างไรก็ตามคณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของวุฒิสภา ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปเรื่อย ๆ ไปในทศวรรษที่ 60 และต้องถูกยุบไปในที่สุดเมื่อปี 1975  ทิ้งไว้แต่ภาพที่แสนชั่วร้ายจนน่าละอายใจสำหรับคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เป็นการล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญ
     
ต่อไปนี้เป็นรายชื่อเพียงน้อยนิดของผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งถูกกว่าหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์


1.เดวิด บอห์ม

นักฟิสิกส์ชื่อดังที่ทำงานอยู่ในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งสร้างอาวุธนิวเคลียร์ เขาถูก คณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของวุฒิสภาเรียกตัวไปสอบ ด้วยตอนเป็นวัยรุ่นนั้น บอห์ม เป็นสมาชิกขององค์การเยาวชนคอมมิวนิสต์ เขาปฏิเสธไม่ยอมตอบคำถามจึงถูกจับกุม แต่พ้นผิดในปี 1951 กระนั้นก็ต้องเดินทางจากสหรัฐฯ ไปสอนหนังสือที่บราซิล


2.อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

นักวิทยาศาสตร์นามอุโฆษ ถึงแม้เขาจะไม่ถูกแม็คคาร์ธีโจมตีตรง ๆ แต่เขาถูกเอฟบีไอจับตาชนิดไม่ยอมกระพริบ และระบุในแฟ้มลับหนาเป็นปึก ๆ ว่า ไอน์สไตน์มีพฤติกรรมฝักใฝ่ไปทางคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ไม่มีมูลความจริงเลย เพราะไอน์สไตน์มีความคิดแบบเสรีนิยม กระนั้นเป็นไปได้ว่า แนวคิดของเขาบางอย่างมีส่วนให้ตีความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น แนวคิดต่อต้านสงครามและเน้นการเป็นหนึ่งเดียวของประเทศทั้งผอง รวมไปถึงการที่ไอน์สไตน์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกรุงวอชิงตันที่เป็นปรปักษ์ต่อสหภาพโซเวียต


3. ชาร์ลี แชปลิน

ตลกอัจฉริยะ แต่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมไม่เป็นอเมริกัน (นั่นคือเป็นคอมมิวนิสต์) อาจเพราะมีคนตีความคำพูดของเขาใน The Great Dictator ซึ่งถูกสร้างในปี 1940  ภาพยนตร์ที่เขาแต่งตัวเลียนแบบฮิตเลอร์ ว่าค่อนไปทางซ้าย อีกทั้ง แชปลิน ยังเคยไปหักหน้าฮูเวอร์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ อันสะท้อนได้ว่าเป็นการล้างแค้นนั้นเอง แม้ว่าจะอยู่ในสหรัฐฯ กว่า 40 ปี  แชปลิน ไม่เคยมีสัญชาติเป็นอเมริกัน ในปี 1952 ขณะที่เขาพร้อมครอบครัวกำลังเดินทางในยุโรป รัฐบาลสหรัฐฯ ขู่เป็นทำนองว่าหากเขากลับมาสหรัฐฯ ก็จะถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับกุมเพื่อสอบสวน จน        แชปลิน ต้องไปตั้งรกรากที่สวิสเซอร์แลนด์จนถึงบั้นปลายของชีวิต  แม้ว่าเขาจะสามารถกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อรับรางวัลออสการ์ในทศวรรษที่ 70 ก็ตาม


4.อาเทอร์ มิลเลอร์

นักเขียนระดับรางวัลพูลิเซอร์ อดีตสามีของมาริลีน มอนโร บทละครอันแสนโด่งดังของเขาคือ อวสานเซลล์แมน (Death of a Salesman) และหมอผีครองเมือง (The Crucible)  ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการล่าแม่มดในสหรัฐฯ เมื่อศตวรรษที่ 17 อันเป็นการเปรียบเปรยกับการล่าแม่มดของแม็คคาร์ธี ที่ตัวมิลเลอร์เองกำลังโดนเล่นงานอยู่ เขาไปให้การต่อคณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของวุฒิสภา และถูกตัดสินว่าผิดในข้อหาไม่ยอมเปิดเผยชื่อของเพื่อนร่วมงานที่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็พ้นผิดในภายหลัง


5.จอห์น การ์ฟิลด์

ดาราหนังฮอลลีวูดผู้โด่งดัง ถูกคณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของวุฒิสภาสอบสวน แต่ก็ปฏิเสธไม่ยอมบอกว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งความจริงนั้นภรรยาของเขาเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนี้ แม้การ์ฟิลด์ไม่ได้โดนเล่นงานโดยตรง เพราะขาดหลักฐาน แต่ชื่อของเขาก็ถูกขึ้นบัญชีดำ จากบรรดาค่ายภาพยนตร์ เลยกลายเป็นดาวร่วงไป บ้างมองว่าด้วยความเครียดจากการถูกเล่นงาน ส่งผลต่อสุขภาพของการ์ฟิลด์ ทำให้เขาต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร


6.ชาวฮอลลีวูดทั้ง 10 (Hollywood 10)

กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบท และผู้ผลิตรายการของฮอลลีวูดรวมจำนวน 10 คน ซึ่งอดีตเคยเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ อันเป็นเรื่องธรรมดาของคนอเมริกันจำนวนมากในทศวรรษที่ 30 และ 40 ซึ่งสหรัฐฯ ได้เป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ พวกหัวเสรีนิยมจำนวนมากจึงให้ความชื่นชอบและสนับสนุนพวกสังคมนิยม ในการต่อสู้กับพวกฟาสซิสต์ อันเป็นอุดมการณ์ของเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ชาวฮอลลีวูดทั้ง 10 สร้างความอื้อฉาวไปทั่วประเทศ เพราะปฏิเสธไม่ยอมตอบคำถาม ขณะให้การต่อคณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของวุฒิสภา อันเป็นความผิดอาญา คือ การแสดงการดูถูกต่อรัฐสภา
       
สมาชิกหนึ่งในนั้นซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด คือ ดัลตัน ทรัมโบ นักเขียนบทภาพยนตร์ที่เข้าขั้นอัจฉริยะคนหนึ่งของฮอลลีวูดถูกศาลตัดสินให้จำคุกถึง 11 เดือน จากวีรกรรมของเขาในการแสดงความคิดอย่างตรงไปตรงมา ต่อคณะกรรมการดังกล่าว  ภายหลังจากนั้น ชื่อของเขาและพรรคพวกก็ถูกขึ้นบัญชีดำ เช่นเดียวกับจอห์น การ์ฟิลด์ ทำให้ทรัมโบ ต้องทำงานแบบใต้ดินเพื่อเงิน คือ “ยืม” หรือ “เช่า” ชื่อของคนอื่นให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง และ 2 ในนั้นได้รับรางวัลออสการ์สาขาการเขียนเล่าเรื่องยอดเยี่ยม (ต่อมาสาขานี้ถูกยุบ) อย่าง Roman Holiday และ The Brave One  ซึ่งน่าเศร้าเพราะทรัมโบไม่สามารถไปรับรางวัลด้วยตัวเองและชื่อที่สลักในรางวัลออสการ์ก็เป็นชื่อของคนอื่น หรือไม่ก็นามแฝงที่ทรัมโบคิดขึ้นมาเอง
     
อย่างไรแล้ว ทรัมโบ ยังเป็นหลักฐานของความเสื่อมอิทธิพลของค่านิยมล่าแม่มดในต้นทศวรรษที่ 60 เมื่อเคิร์ก ดักลัส ดาราและผู้อำนวยการผลิต จ้างให้เขาไปเขียนบทในภาพยนตร์เรื่อง Spartacus (1960) และนำเสนอชื่อของทรัมโบ บนจอภาพยนตร์จริง ๆ เช่นเดียวกับที่ชื่อของเขาได้ปรากฏในภาพยนตร์ Exodus ของ ออตโต เปรมิงเกอร์ ในปีเดียวกัน อันสะท้อนถึงความกล้าหาญของคนทั้ง 2 แม้ว่าจะถูกกดดันจากคนรอบข้าง รวมไปถึงค่ายภาพยนตร์และพวกต่อต้านคอมมิวนิสต์ในฮอลลีวูดก็ตาม เรื่องราวของทรัมโบในตอนนี้ ซึ่งถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ Trumbo (2015) เป็นภาพสะท้อนถึงการต่อสู้ของคนอเมริกันในฐานะปัจเจกชนต่อระบบอันฉ้อฉลของประเทศตนเองอันจะส่งผลต่อความเฟื่องฟูของพวกหัวเสรีนิยมในปลายทศวรรษที่ 60 และ 70  ดังเช่นกลุ่มประชาชนที่ทำการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของพลเมืองและต่อต้านสงครามเวียดนาม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net