Skip to main content
sharethis

Save the Children เปิดคอร์สอบรมพัฒนาศักยภาพองค์กรเด็กและเยาวชนในชายแดนใต้ รุกสร้างมาตรฐานการทำงานคุ้มครองสิทธิเด็กอย่างถูกต้อง โดยมุ่ง 3 ผลลัพธ์คือ พัฒนาศักยภาพ มีทักษะในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างกระบวนการสันติภาพที่เด็กมีส่วนในการคุ้มครองเด็ก

 

ระหว่างวันที่ 18 – 20 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา องค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save The Children) จัดการอบรม “เรื่องการเสริมสร้างความตระหนักในประเด็นการคุ้มครองเด็กและการพัฒนานโยบายมาตรฐานการคุ้มครองเด็กขององค์กร” ภายใต้โครงการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและชุมชนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการสันติวิธีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Local  Engagement to Advocate For Peace Project : LEAP)  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU)

การอบรมครั้งนี้ จัดที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ.เมือง จ.ปัตตานี มีตัวแทนองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 30 คน โดยจัดอบรมร่วมกับองค์กรต่างๆด้านเด็ก เช่น สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (Dream South) มูลนิธินูซันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เป็นต้น เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาการกระทำรุนแรงต่อเด็กและสร้างกลไกคุ้มครองเด็กภายในองค์กรสิทธิเด็กและเยาวชน

วรางคณา มุทุมล ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์กรช่วยเหลือเด็ก เปิดเผยว่า เป้าหมายของโครงการ LEAP คือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่องค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบองค์กร เช่น การเงิน การประเมินผลและการติดตามโครงการ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับกรอบหรือมาตรฐานของการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกต้องแก่องค์กรเหล่านี้ในการนำไปปฏิบัติใช้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเคารพและเข้าใจสิทธิเด็ก และสามารถคุ้มครองเด็กได้อย่างเต็มที่

“องค์กรช่วยเหลือเด็กคาดหวังว่าองค์กรเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นองค์กรที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 100% มีความรู้และทักษะในการดำเนินกิจกรรมที่คุ้มครองเด็กได้อย่างเต็มที่ เพราะเราเชื่อว่าหลายองค์กรก็ยังไม่มีนโยบายคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนที่ดีพอ จึงทำให้เกิดช่องโหว่ที่ทำให้มีบุคคลมาแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก เช่น การละเมิดทางร่างกายต่อเด็ก นำรูปเด็กไปแสวงหาผลประโยชน์ เป็นต้น” วรางคณา กล่าว

อับราน มอซู จากกลุ่มพิราบขาวชายแดนใต้ กล่าวว่า การเข้าอบรมครั้งนี้ทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความรู้เรื่องสิทธิเด็ก 4 ประการ 1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด คือได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพและความปลอดภัย 2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา คือ มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม3.สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง คือรอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้งและการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ และ 4.สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม คือ ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟังและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง

“จะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์จากทำงานของกลุ่มพิราบขาวชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้นถ้าเด็กดีในวันนี้คือผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต”  อับราน กล่าว

สร้างกระบวนการสันติภาพที่เด็กมีส่วนในงานคุ้มครองเด็ก

ในเอกสารโครงการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและชุมชนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการสันติวิธีในจังหวัดชายแดนภาคใต้(Local Engagement to Advocate For Peace Project  :  LEAP ) ระบุว่า โครงการนี้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 36 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2561

จุดประสงค์ของโครงการคือการกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนที่ได้รับผกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่ เพื่อเป็นส่งเสริมความร่วมมือด้านสังคมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ดียิ่งขึ้น โดยมีองค์กรภาคี ได้แก่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) มาทำงานร่วมกับสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากเครือข่ายนิรภัยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

โดยมุ่งหวังเกิดผลลัพธ์ 3 ประการต่อองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ได้แก่ 1.สามารถพัฒนาศักยภาพขององค์กรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 2.มีทักษะความชำนาญในการสร้างกระบวนการให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมและกระตุ้นและการพัฒนาศักยภาพต่อเด็กและเยาวชน 3.ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างกระบวนการสันติภาพให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานด้านคุ้มครองเด็ก โดยได้รับร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น

ทั้งนี้ได้ตั้งกองทุนขนาดเล็กสำหรับโครงการย่อยขององค์กรภาคประชาสังคมที่จะระดมเด็กและเยาวชนที่นับถือศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาร่วมทำกิจกรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กเพื่อทำให้งานสนับสนุนกระบวนการสันติภาพมีประสิทธิภาพ และหากลไกเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในกิจกรรมที่จัดร่วมกัน

นอกจากจัดสรรกองทุนเล็กแล้ว องค์กรช่วยเหลือเด็กและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กยังทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อสร้างความตระหนักในชุมชนในประเด็นการคุ้มครองเด็กในภาวะความขัดแย้งอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net