Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




เคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีบางคนพร่ำบอกและตอกย้ำกับสังคมไทยตลอดมาว่า  ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ  ที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน  ซึ่งความหมายทางทฤษฎีจะหมายถึง  การปกครองของรัฐที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่  ไม่ใช่การปกครองด้วยอำนาจบารมีของผู้ถือกฎหมาย  และกฎหมายต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง  กล่าวโดยสรุปก็คือ  รัฐต้องให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้ง 3 ประการ  ได้แก่  สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล , สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ และสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง  แต่นั่นก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเลื่อนลอยที่เป็นแผ่นเสียงตกร่องมาช้านาน  ทั้งยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติด้วย  ถือได้ว่าเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างกับสังคมไทยเรื่อยมาว่า  ไม่มีคนกลุ่มใดสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้

แต่ความเป็นจริงที่ปรากฎโดยทั่วไป  ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน  ระหว่างฝ่ายเดียวกันและต่างฝ่าย  จึงทำให้เกิดสองมาตรฐานในเรื่องเดียวกัน  หรือบางครั้งก็ไม่สามารถหามาตรฐานมารองรับหรืออธิบายได้เลยก็เป็นได้  ซึ่งจะเห็นได้จากคนบางกลุ่มสามารถทำเรื่องที่ผิดกฎหมายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย  โดยผู้มีอำนาจให้การหนุนหลังหรือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองให้รับรองพฤติกรรมว่าเป็นคนดี  หรือเป็นโชคดีของคนไทย  ทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐกล้าดำเนินการตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา  เพราะเมื่อดำเนินการไปแล้วก็อาจถูกเพ่งเล็งจนอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตในอาชีพการงาน  หรือเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว  การพิจารณาก็ใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน  ไม่รวดเร็วเหมือนกับอีกฝ่ายหนึ่ง  เช่น  คดียึดทำเนียบรัฐบาล , คดียึดสนามบิน  เป็นต้น  กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า  ก็คือ  ความอยุติธรรม  นั่นเอง

เหตุใดและทำไม  ชนชั้นสูง  ผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายพลเรือนและกองทัพ  กลุ่มนักวิชาการสายอนุรักษ์นิยม  รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นสลิ่ม  มักจะเรียกร้องให้ประชาชนคนรากหญ้า  ต้องปฏิบัติตามและอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  แต่พวกเขาเหล่านี้กลับมีอภิสิทธิ์  มีสิทธิพิเศษ  โดยอยู่เหนือกฎหมายหรือสามารถทำผิดกฎหมายเสียเอง  จึงเกิดคำถามที่ค้างคาใจยิ่งนักว่าเพราะอะไร  หรือสังคมไทยแท้ที่จริงแล้ว  เป็นสังคมแห่งข้อยกเว้น  ที่สามารถกระทำตรงข้ามกับกฎหมายได้ตลอดเวลา  มีการเลือกปฏิบัติและยืดหยุ่นไว้สำหรับคนบางกลุ่มเสมอ  ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับว่า  เป็นเครือข่าย  เป็นเส้นสายหรือเป็นผู้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของใคร

ในสังคมศักดินาสมัยโบราณ  ระบบเจ้าขุนมูลนายนั้น  ไพร่คือราษฎรทั่วไปที่ไม่ใช่ทาส  เป็นเสรีชนที่ประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ  แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้สังกัดมูลนายเช่นเดียวกัน  ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย  หน้าที่หลักก็คือ  ถูกเกณฑ์แรงงานเพื่อมาทำงานตามที่ราชการกำหนด  โดยมีทั้งไพร่หลวง , ไพร่สม  และไพร่ส่วย  มูลนายจะมีไพร่มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง  อำนาจบารมี  ยศฐาบรรดาศักดิ์  หากมีบารมีมากก็จะมีผู้คนเข้ามาสวามิภักดิ์กันมาก  ตัวไพร่เองก็มีหน้าที่คอยทำงานรับใช้มูลนายอีกเช่นกัน  แต่ถ้าไม่ต้องการทำงานก็เพียงส่งส่วยหรือเงินเป็นค่าแรงแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน  มูลนายก็มีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองไพร่ในปกครองของตน  ไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร  ไพร่ก็ต้องแย่งกันเสนอหน้าเพื่อเอาใจหรือทำให้มูลนายพึงพอใจเช่นกัน

กาลเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน  สัญชาตญาณดังกล่าวก็ยังมีอยู่  เนื่องจากเป็นมรดกตกทอดทางจารีตและจิตวิญญาณ  และถูกกำหนดด้วยความสัมพันธ์แบบชนชั้นที่ไม่เป็นทางการ  ซึ่งไม่ต้องอธิบายก็เข้าใจในความหมาย  ดังนั้นคนบางกลุ่มจึงยังคงอยู่เหนือกฎหมายและอยู่เหนือนิติรัฐเสมอมา  แต่น่าเสียดายที่คนกลุ่มนี้กลับกลายมาเป็นผู้ร่างกฎหมาย  บทบัญญัติ  หลักเกณฑ์  รวมถึงระเบียบปฏิบัติเพื่อใช้บังคับและปกครองประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่  และเมื่อคนกลุ่มใด  ชนชั้นใด  เป็นผู้ร่างกฎหมาย  ก็จะร่างกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนั้น  ชนชั้นนั้นเป็นสำคัญ  หาได้ยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญไม่  ถ้าเป็นสามัญชนทั่วไปที่ไม่มีอำนาจวาสนา  ไม่มีเส้นสายหรือไม่มีความรู้ทางกฎหมายแล้ว  เมื่อกระทำการที่ขัดต่อรัฐหรือท้าทายอำนาจรัฐตามการตีความของผู้ปกครองในแต่ละยุค  ก็จะถูกดำเนินการอย่างเคร่งครัด  เที่ยงตรง  ตามนิยามที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ  ทั้งนี้เพื่อแสดงให้สาธารณชนได้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย  หรืออาจจะกล่าวได้ว่า  ผู้มีอำนาจได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกและปกครอง  เพื่อจัดระเบียบสังคมให้เกิดความเรียบร้อยและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิพิเศษ  มีอำนาจวาสนา  มีเงิน  มีเส้นสายหรือมีผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนแล้ว  กฎหมายจะมีข้อยกเว้นไว้เสมอ  คล้ายกับว่า  ยอมถูกปิดตาข้างหนึ่ง  และถ้าหากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนก็จะยกประโยชน์ให้จำเลย  หรือบางครั้งก็ไม่เร่งรัดดำเนินคดี  โดยจะปล่อยให้หมดอายุความไปเอง  ซึ่งสังคมจะทำเป็นมองไม่เห็นและลืมเลือนไปตามสายลม  หรืออีกนัยหนึ่ง  นิติรัฐของไทยนั้น  บทบัญญัติหรือข้อบังคับกำหนดไว้อย่างไรนั้น  หาใช่สาระสำคัญไม่  ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจและข้อยกเว้นว่ามีอะไรบ้าง  โดยจะตีความแบบศรีธนญชัยเพื่อเลี่ยงบาลีและช่วยเหลือหรือลดหย่อนผ่อนโทษให้  โดยกระทำในนามของกฎหมาย

การเลือกปฎิบัติ , การเคร่งครัด , การย่อหย่อน , การเอาใจเจ้านายหรือผู้มีอำนาจนั้น  มีให้เห็นกันอยู่ทุกขณะจิต  ผู้น้อยต้องคอยเอาใจผู้ใหญ่หรือรับใช้เจ้าใหญ่นายโตเพียงเพื่อการเลื่อนตำแหน่งหรือเข้าสู่อำนาจในอนาคต  เช่น  ผู้มีอำนาจใช้ระบบอุปถัมภ์ฝากลูกหลานเข้าทำงานในหน่วยงานของตน  เช่น  หน่วยงานราชการ , รัฐวิสาหกิจ  หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชน  โดยเป็นผู้ออกคำสั่งและเซ็นอนุมัติเอง  ทั้งนี้เพื่อให้ลูกหลานได้รับเงินเดือนและสวัสดิการ  รวมทั้งบำเหน็จบำนาญที่มาจากภาษีประชาชน  โดยที่ไม่ต้องสอบแข่งขันกับคนอื่น  ถือเป็นมรดกสืบทอดทางวงศ์ตระกูลจากพ่อสู่ลูก  ถึงแม้กฎหมายจะไม่มีข้อห้าม  แต่ก็ผิดทั้งศีลธรรมและจริยธรรม  แต่จากประสบการณ์ของผู้มีอำนาจในอดีตได้เคยกระทำกันจนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว  ผู้ใต้บังคับบัญชาก็มีหน้าที่สนองนโยบายเท่านั้น  พร้อมทั้งยินดีให้การอุปการะลูกท่านหลานเธอต่อไป  โดยถือว่าเป็นลูกหลานเจ้านายเก่าผู้มีพระคุณ  เพราะเจ้านายเก่าก็ได้ช่วยเหลือผลักดันตนเองให้ขึ้นมารับตำแหน่งแทน  ดังนั้นภายใต้อำนาจที่มีอยู่ก็สามารถดำเนินการใดๆ ก็ได้

แค่เพียงผู้มีอำนาจเอ่ยปากเกริ่นนำ  ก็จะมีบ่าวไพร่หรือบริวารว่านเครือแข่งขันเอาใจและเสนอหน้าให้ได้ผลงาน  ซึ่งนโยบายหรือความคิดบางอย่างนั้นอาจเป็นเพียงความคิดชั่ววูบที่ไม่ได้ใคร่ครวญไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วน  และบางครั้งก็อาจผิดหลักกฎหมายเองด้วย  แต่ด้วยรหัสที่ฝังรากลึกอยู่ในยีนส์ที่ต้องการทำให้เจ้านายพึงพอใจ  สังคมจึงได้เห็นการกวดขัน  การเคร่งครัดกฎหมายเฉพาะบางพื้นที่  บางช่วงเวลา  และคนบางกลุ่มเท่านั้น  เช่น  การจับปรับมอเตอร์ไซต์และหมวกกันน็อค , การตรวจจับความเร็ว  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย  สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการย้อนแย้งสังคมโดยตัวของมันเอง  ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่มีมาตรฐานมารองรับ  ซึ่งในจิตสำนึกของสังคมทั่วไปถึงแม้จะมองว่าเป็นสิ่งไม่ดีงาม  แต่ถ้าผู้ใหญ่ให้ท้ายหรือไม่ได้ตักเตือนแล้ว  สังคมนั้นก็จะพร้อมใจกันหลับตาข้างหนึ่งเสมอ  หรือหากผู้มีอำนาจรัฐทำผิดกฎหมาย , ศีลธรรม , จริยธรรมเสียเอง  แต่ก็ไม่มีใครกล้าทักท้วงเช่นกัน  เพราะรับรู้และเข้าใจดีว่า  เป็นสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจกัน

เหตุใดและทำไม  ชนชั้นกลางในเมืองหลวงจึงเพิกเฉยต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม  นั่นเป็นเพราะการคอร์รัปชันก่อกำเนิดจากระบบอุปถัมภ์  การคอร์รัปชันในนามของคนดีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของชนชั้นกลางและไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในสังคม  เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้เติบโตขึ้นมาในสังคมที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ผู้มีอำนาจสามารถกระทำได้  หรืออาจจะเรียกได้ว่า  มือใครยาว  สาวได้สาวเอา , ทีของใคร  ทีของมัน  เป็นต้น  อันที่จริงแล้วชนชั้นกลางเคยชินและพอใจกับระบบจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ตนเองได้เปรียบคนรอบข้างจนเป็นปกติ  แต่ทำไมจากความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา  เมื่อคนต่างจังหวัดต้องการเรียกร้องความเสมอภาคและเท่าเทียมกันผ่านระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งโดยต้องการระบบที่โปร่งใสและตรวจสอบได้  แต่ทำไมชนชั้นกลางจึงเกิดสำนึกต่อต้านการคอร์รัปชั่นขึ้นมาอย่างฉับพลันทันใด  เสมือนหนึ่งมีการเปิดปุ่มต่อต้านการโกงขึ้นมาโดยอัตโนมัติ  หรืออาจเป็นเพราะว่า  อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างพวกที่ไม่ใช่พวกตน  ชนชั้นกลางจึงเกิดความรู้สึกอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง  หวั่นไหวและหวาดกลัวว่าโครงสร้างทางสังคมที่กลุ่มของตนได้เปรียบและได้ประโยชน์มาช้านานจะพังทลายลงมาด้วยการเลือกตั้ง  พร้อมทั้งกลัวว่าสถานภาพของตนจะถูกสั่นคลอนโดยหวาดระแวงว่า  ชนชั้นล่างจะก้าวขึ้นมาทัดเทียมเสมอหน้า  กลัวว่าตนเองจะสูญเสียอภิสิทธิ์หรือถูกลิดรอนสิทธิพิเศษ  และถูกตัดทอนอำนาจที่อยู่เหนือกฎหมายออกไป  ดังนั้นจึงต้องออกมาเดินขบวนปกป้องผลประโยชน์แห่งตน  ซึ่งเป็นตรรกะวิบัติยิ่งนัก  เพราะที่ผ่านมา  รัฐได้สูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากกับการรณรงค์แคมเปญโตไปไม่โกง  แต่สุดท้ายก็ถูกละเลยและไม่ใส่ใจอย่างสิ้นเชิงจากชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาและมีศีลธรรมชั้นสูง  เพราะพวกเขาทราบดีว่าเป็นการรณรงค์ให้คนชั้นล่างต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามเท่านั้น  แต่จะยกเว้นไว้สำหรับพวกตน

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น  จะเปิดพื้นที่ให้มีการตรวจสอบจากสังคมรอบข้างได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ  มีการถกเถียงโต้แย้งแบบมีเหตุผลและตรงไปตรงมา  ซึ่งการใช้อำนาจที่ไม่อิงประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้น้อยลงหรือต้องรัดกุมมากขึ้น  และไม่สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป  ทั้งนี้ระบอบประชาธิปไตยจะทำให้การคอร์รัปชั่นถูกตรวจสอบและควบคุมได้จากประชาชนทั่วไป  ในยุคปัจจุบัน Social Media ได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลมากขึ้น  มีส่วนช่วยให้การตรวจสอบทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย  อีกทั้งยังใช้ย้อนเวลาสืบค้นหลักฐานว่า  ในอดีตใครเคยแสดงความเห็นหรือเขียนข้อความในสื่อออนไลน์ไว้อย่างไร  ซึ่งจะมีบันทึกไว้ทั้งภาพและเสียงที่สามารถเรียกดูได้ตลอดเวลา  กลับกลายเป็นว่า  อดีตจะเป็นตัวไล่ล่าปัจจุบัน  ถ้าหากบุคคลนั้นพูดไม่ดี  ทำไม่ดี  หรือแสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับสามัญสำนึกของสังคมทั่วไป และจะเป็นอดีตที่จะคอยหลอกหลอนคนๆ นั้นไปตลอด  เปรียบเหมือนเป็นการเจาะเวลาหาอดีตโดยเครือข่ายสังคมในโลกออนไลน์จะขุดค้นเรื่องราวในอดีตขึ้นมาโดยพร้อมเพรียงกัน 

บางคนให้นิยามระบอบประชาธิปไตยไทยว่าเป็น  ประชาธิปไตยแบบ a day นั่นคือ  เป็นประชาธิปไตยเฉพาะบางวัน  มีปุ่มเปิดและปิดได้ตลอดเวลา  ซึ่งจะเปิดก็ต่อเมื่อกลุ่มของตนได้ประโยชน์  และปิดเมื่อกลุ่มของตนเสียประโยชน์  วันหนึ่งในอดีตเคยรังเกียจการคอร์รัปชัน  ไม่ต้องการรัฐบาลนอมินีที่มาจากการซื้อเสียง  แต่อีกวันหนึ่งในปัจจุบันไปปั่นจักรยานสนับสนุนเผด็จการ  โดยโยนทิ้งอุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไว้เบื้องหลัง  โยนทิ้งการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง  เพราะฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า  ตัวเองเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในสังคมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้  ดังนั้นจึงขอหลบลี้หนีภัยไปดำเนินชีวิตตามปกติสุข  ตามวิสัยและแบบฉบับที่ตัวเองนึกฝันหรือจินตนาการไว้   เช่น  กระแสอินดี้อยากเรียนรู้ชีวิตชาวนา , กระแสวิถีเกษตรแบบอินทรีย์ , กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  แม้กระทั่งกระแสท่องเที่ยวและปฎิบัติธรรมกับพระชื่อดัง  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้เป็นเปลือกนอกที่สร้างภาพอันวูบวาบ  ฉาบฉวย เพียงเพื่อสนองตอบความต้องการระยะสั้นหรือเป็นกิจกรรมยามว่างช่วงสุดสัปดาห์เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดไปของสังคมเมืองหลวงเท่านั้น  แล้วเมื่อใดก็ตามที่เวลามาถึง  ปุ่มกระแสรักชาติจะถูกเปิดขึ้น  พวกเขาก็จะกลับมาใหม่เมื่อได้ยินเสียงนกหวีดดังขึ้นอีกครั้ง

ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงจะเกิดขึ้นได้นั้น  ก็ต่อเมื่อ  สังคมได้สถาปนาอำนาจอธิปไตยทั้งจากฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติ  และฝ่ายตุลาการ ขึ้นมาอย่างถาวร  และพร้อมใจกันสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย  ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก  ไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตาม  มีความโปร่งใสที่เชื่อถือได้  รวมทั้งทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน  โดยปราศจากข้อยกเว้นและการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ในท้ายที่สุดแล้ว  เมื่อการเปลี่ยนผ่านมาถึง  การสร้างบ้านแปงเมืองครั้งใหม่ด้วยหลักนิติรัฐอย่างแท้จริงจะก่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นของคนทุกชนชั้น  และจะนำซึ่งสังคมที่ไม่ต้อง  ละไว้...ในฐานที่เข้าใจ  อีกต่อไป
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net