Skip to main content
sharethis

มติ สนช. 165 เสียง รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. .... ที่ ครม. ผู้เสนอ ไว้พิจารณา เพื่อสอดสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น และมติคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ 

21 เม.ย. 2559 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 165 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน         ทั้งนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. .... ได้รายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุม สนช.ว่าปัจจุบันจะอยู่ระหว่างการจัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีรายละเอียดกว่า 400 มาตรา โดยต้องนำกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดรวม 7 ฉบับ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มารวมเป็นกฎหมายฉบับเดียว ดังนั้นหากมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำประมวลกฎหมายดังกล่าวอย่างมาก รวมถึงยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการควบคุมวัตถุที่ออกฤทธิ์ทางจิตและประสาทของประเทศต่างๆ ที่เป็นไปตามพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 และมติคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ หรือ CND ที่กำหนดแนวทางการควบคุมสารเสพติดซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องนำไปปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกัน ประกอบกับ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งมีสภาพปัญหาเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย

โดยคณะกรรมาการฯได้เสนอข้อสังเกตดังนี้ 1.บทสันนิฐานของกฎหมาย ไม่ควรใช้บทสันนิษฐานเด็ดขาด ควรกำหนดในลักษณะของบทสันนิษฐานทั่วไป โดยใช้คำว่า "ให้สันนิษฐานว่า" แทนคำว่า "ให้ถือว่า" เพื่อให้จำเลยได้รับโทษตามความผิดที่กระทำและมีสิทธินำสืบพยานในชั้นศาล 2.การค้น การกำหนดวิธีการค้นให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยนำวิธีการค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามากำหนดรวมไว้ 3.ควรนำมาตรการทางเลือกใช้แทนการลงโทษทางอาญาเกี่ยวกับความผิดในการเสพวัตถุออกฤทธิ์หรือการเสพและการครอบครอง 4.ควรนำนโยบายของสหประชาชาติเรื่อง การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดมากำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลด ละ เลิก และป้องกันไม่ให้สังคมได้รับผลกระทบจากผู้ติดวัตถุออกฤทธิ์ 5.การลงโทษพักใช้ใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์กับผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขในการรับใบอนุญาตที่มีพฤติทุจริต โดยกำหนดให้พักใช้ใบอนุญาตทุกประเภท

ที่มา : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net