Skip to main content
sharethis

การตอบคำถามสัมภาษณ์แบบไม่ใช้เสียง

‘การที่คนยังกิน ขี้ ปี้ นอน หรือค้าขายกันอยู่ ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าประเทศไม่มีปัญหา ถึงแม้จะเกิดสงคราม หรือมนุษย์บนดาวอังคารมาบุกโลก คนก็ยังต้องดำรงชีพ แต่ในทุกๆ การกระทำมันมีปัญหาซ่อนอยู่ ละครใบ้จึงต้องสะท้อนปัญหาเหล่านั้น’ ไพฑูรย์ ไหลสกุล นักแสดงละครใบ้คนแรกของไทยได้สะท้อนถึงแก่นแท้ และจุดมุ่งหมายของละครใบ้ผ่านการแสดงซึ่งไร้เสียงใดๆ

ละครใบ้แตกต่างจากศิลปะการแสดงละครอื่นตรงที่ศิลปะอื่นเล่าเรื่องที่มีอยู่แล้ว เช่น โขนเล่าเรื่องรามเกียรติ์ กลับกันละครใบ้จะเล่าเรื่องทั่วไปในปัจจุบัน โดยไม่กำหนดว่าต้องเป็นเรื่องอะไร จะเป็นเรื่องของคนชนชั้นไหนก็ได้ เรื่องของใครก็ได้ เพียงแต่ว่าเรื่องที่เล่าจะต้องมีประเด็นน่าสนใจ มันจึงมีธีมตั้งแต่เรื่องโลก สงคราม สันติภาพ ธรรมชาติ คน ความรัก ปัญหาสังคม กระทั่งปัญหาจุดเล็กๆ ของปัจเจกชนเลยทีเดียว

ปีนี้ประเทศไทยมีการจัดเทศกาลคนรักละครใบ้ขึ้นในเดือนพฤษภาคม ธีมหลักเป็นการนำเสนอเรื่องราวการพูดไปเรื่อย อ้างไปเรื่อยของสังคม คล้ายกับ “การออกทะเล” ไพฑูรย์ผู้จัดและผู้แสดงคนสำคัญอธิบายว่า เขาต้องการสื่อว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมที่ไร้ข้อยุติ และไร้กฎเกณฑ์ แทบไม่มีความคิดที่พอดีแล้ว เหมาะสมแล้ว การจะหาข้อยุติในเรื่องใดๆ ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับ ‘ความพอดีหาไม่ได้’ จึงทำให้เกิดแต่ความคิดเรื่องการฉกฉวยสถานการณ์เท่านั้น

ไพฑูรย์ ไหลสกุล

“อย่างเรื่องคนเล็กคนน้อย เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องพูดถึง เพราะถึงจะเป็นคนเล็กคนน้อย แต่เป็นคนที่มีจำนวนเยอะที่สุดในประเทศ เราต้องสะท้อนปัญหาของเขา” ไพฑูรย์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างละครใบ้เรื่อง ‘รัดสาหัสกิจ’ (กิจกรรมที่ทำให้เกิดความสาหัสโดยใช้วิธีบีบรัด) ซึ่งเป็นเรื่องราวปัญหาของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้งน้ำ ไฟฟ้า รถเมล์ ฯลฯ ซึ่งได้การตอบรับที่ดี เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่มีคนอยู่ในเหตุการณ์ร่วมจำนวนมาก

ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ความเป็นมาของละครใบ้ ไพฑูรย์เล่าว่า ละครชนิดนี้เป็นศิลปะการแสดงสากลจากฝั่งยุโรป อาจมีมานานกว่าร้อยปี พันปี แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่รู้แน่ชัดนัก แต่หากอ้างอิงตามตำราฝรั่งจะพบว่า การแสดงในลักษะนี้มีมาตั้งแต่ยุคโรมัน ขณะที่บางคนกล่าวว่า หากอยากรู้ประวัติก็ต้องย้อนกลับไปถึงยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มติดต่อกับเทพเจ้าเลยทีเดียว

“ในสมัยก่อน เวลาเราติดต่อกับเทพเจ้า มักเห็นคนที่เป็นตัวกลางในการติดต่อต้องทาหน้าขาวๆ และทำท่าทางเพื่อเล่าว่า วันนี้ไปทำอะไรมา ล่าสัตว์มาหรือเปล่า หรือทำโน่นทำนี่ไปตามประสา แล้วก็บอกกับเทพเจ้าว่า พรุ่งนี้อยากจะล่าสัตว์ให้ได้มากขึ้น” เขากล่าวและคนหน้าขาวเหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของมนุษย์เพื่อขอพรโดยใช้ท่าทาง ซึ่งนั่นคือต้นตอของละครใบ้

เมื่อ 36 ปีที่แล้วไพฑูรย์ได้มีโอกาสเรียนรู้ละครใบ้กับ มิลาน สลาเดค นักแสดงละครใบ้ชาวเยอรมัน และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มคนหน้าขาวในปี 2529 เขาและคณะเปิดแสดงตามสถานที่ต่างๆ เรื่อยมา โดยผลงานชิ้นแรกได้แก่ละครเรื่อง กามา-ละครใบ้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเท่าเทียมของหญิง-ชาย  ทำให้ทางกลุ่มได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่นำละครไปแสดงยังประเทศเยอรมนี กระทั่งปี 2547 จากกลุ่มคนหน้าขาวที่เป็นอยู่ก็กลายเป็นสถาบันละครใบ้คนหน้าขาวและเปิดสอนการแสดงละครใบ้ให้แก่ผู้ที่สนใจ

แนวทางของละครใบ้ในโลกมี 3 แบบหลักๆ คือ แบบดั้งเดิมซึ่งไม่มีการใช้เสียงพูด หรือซาวน์เอฟเฟคใดๆ, แบบพัฒนา คือมีการใช้ซาวน์ประกอบ  และแบบประยุกต์ คือมีการนำเอามายากลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง ผ่านนักแสดงละครใบ้ที่ทาหน้าขาว ไม่แสดงสีหน้า และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันเรียบๆ อย่างไรก็ตาม ละครชนิดนี้เริ่มเข้ามาในประเทศราว 4 ทศวรรษ แต่ความนิยมที่มีต่อละครชนิดนี้กลับไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ซ้ำยังคงถูกเล่นอยู่ในวงแคบ ซึ่งมีเพียงแค่นักแสดงกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คน เท่านั้น

“ถ้าจำนวนคนเล่นก็มีหลักสิบ ถ้าคณะละครก็สามถึงสี่คณะ”เขากล่าว

เป็นเรื่องน่าแปลกใจว่า ถึงแม้ละครใบ้จะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่กลับสนใจละครชนิดนี้กันมากขึ้น ไพฑูรย์เห็นว่า อาจเป็นเพราะละครใบ้เป็นศิลปะที่ไม่ต้องแบกอะไรเลย เสื้อผ้าก็ง่ายๆ ไปที่ไหนก็เล่นได้ ลำบากแค่อย่างเดียวนั่นคือคือต้องใช้เวลาฝึกฝนค่อนข้างนาน

“ปัญหาหลักที่พบนอกเหนือจากนั้นก็คือโครงสร้างของละคร ที่เราต้องมีโรงละคร ทีมงาน นักแสดง และผู้ชม ตอนนี้เราไม่มีโรงละคร นักแสดงก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เมื่อไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดง นักแสดงจึงไม่เติบโต เพราะไม่มีใครทำอย่างจริงจังเป็นอาชีพ” เขากล่าว

ท่ามกลางอุปสรรคสารพัดที่ทำให้ศิลปะแขนงนี้ยังไม่พัฒนาไปมากนักในสังคมไทย แต่เขาก็มีประสบการณ์ด้านบวกอยู่เหมือนกัน เช่น มีช่วงหนึ่งที่ได้รับเชิญไปเล่นให้เด็กดู ทั้งในสลัม บนดอย ค่ายอพยพ และรวมทั้งเด็กพิการทางการได้ยิน  ซึ่งพบว่า เด็กพิการทางการได้ยินมีความสุขมาก การสื่อสารแนวนี้ไปกันได้ดีกับเขา จึงพัฒนามาสู่การสอนละครใบ้เด็กพิการ

ละครใบ้เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้โลกที่พวกเขามีกว้างขึ้น  เด็กพิการมักถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบว่าทำสิ่งนี้ได้ หรือทำสิ่งนั้นไม่ได้ การมีกิจกรรมที่พวกเขาสามารถทำได้อย่างเท่าเทียมอย่างแสดงละครใบ้ จึงทำให้เด็กๆ  รู้สึกมีความภาคภูมิใจที่พวกเขาสามารถเล่นละครให้คนที่ไม่พิการดูได้ ที่สำคัญคือเขาก็สามารถดูละครใบ้อย่างเท่าเทียมร่วมกับคนอื่น  ความเท่าเทียมในเรื่องเล็กๆ เช่นนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้ความเท่าเทียมนั้นกระจายไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย

 

เทศกาลคนรักละครใบ้ จะจัดขึ้นภายใต้วาระครบรอบ 100 ปี ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 20-29 พฤษภาคม 2559 โดยมีนักแสดงระดับโลกจากหลายชาติ อาทิ Milan Sladek ศิลปินละครใบ้อันดับหนึ่งจากประเทศเยอรมันนี เจ้าของรางวัล 1st Class Order of Merit of the Federal Republic of Germany ผู้ริเริ่มเทศกาลละครใบ้นานาชาติ, Kita Kyoichi นักแสดงละครใบ้ชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น , เห่า ไมม์  หรือวิสุทธิ์ กุศลมโนมัย และ Yano Kazuki นักแสดงละครใบ้ ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ และเจแปนฟาวเดชั่น

จัดการแสดงทั้งสิ้น 6 รอบ จำนวน 3 ชุดการแสดง ในวันที่ 20-22,  27-29 พ.ค.2559

ข้อมูลเพิ่มเติม https://facebook.com/konnakhao.mime.academy/

Milan Sladek

Kita Kyoichi

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net