สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 เม.ย.2559

สบส.เผยสถิติคนชราอยู่ตามลำพังพุ่งกว่า 8 แสนราย ขณะที่ผู้สูงอายุป่วยติดเตียงเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย/เตือนผู้สูงอายุสมัคร "กอช."/ธนาคารออมสินตั้งงบ 2,600 ล้านบาท เปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์พนักงานสูงอายุขั้นต่ำ 600 คน/กรมการจัดหางานเผย ปี 2558 แรงงานไทยส่งเงินกลับประเทศกว่า 82,000 ล้านบาท/รัฐบาลเล็งใช้บุคคลากรด้านอาชีวะขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ/แล้งหนักคนหนีหางานในกรุง กกจ.ตั้งโต๊ะรับถึงสถานีขนส่ง
 
เตือนผู้สูงอายุสมัคร "กอช."
 
สมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสะสมเงินออมไว้ใช้ในยามชรา ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 50-70 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน กอช.ได้ ไปจนถึงเดือนกันยายน 2559 นี้เท่านั้น
 
ดังนั้น ในโอกาสที่ประชาชนได้เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และลูกหลานได้กลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ จึงต้องการให้ลูกหลานย้ำเตือนและบอกกล่าวผู้ใหญ่ที่มีอายุในช่วงดังกล่าวเข้าสมัครเป็นสมาชิกกองทุน กอช. ซึ่งขณะนี้ผู้มีอาชีพอิสระสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน กอช.แล้วจำนวน 4.12 แสนคน สมาชิกนำส่งสมทบประมาณ 600 ล้านบาท และ รัฐบาลนำส่งสมทบ 300 ล้านบาท รวมเป็นเงินกองทุนขณะนี้ 900 ล้านบาท
 
ด้าน สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ให้เป็นกองทุนแบบภาคบังคับ เพื่อนำแรงงานในระบบมาอยู่ในภาคบังคับ เพื่อดูแลเรื่องชราภาพทั้งระบบ โดยอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อนำบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาอยู่ในระบบกองทุน กบช. เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทได้รับสัมปทานจากภาครัฐ บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จากนั้นจึงทยอยขยายไปยังบริษัทขนาดเล็ก และอนาคตอีก 5-6 ปีจะครอบคลุมไปถึงบริษัทขนาดเล็ก ที่แม้ว่าจะมีพนักงานเพียงหนึ่งคน ก็จะนำเข้ามาในระบบกองทุน กบช. ด้วยเช่นกัน
 
 
สบส.เผยสถิติคนชราอยู่ตามลำพังพุ่งกว่า 8 แสนราย ขณะที่ผู้สูงอายุป่วยติดเตียงเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย
 
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังถึงกว่า 8 แสนราย หรือ 8.7% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
 
นพ.บุญเรือง กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพังเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในรอบ 20 ปี โดยสาเหตุหลักคือ โสด ไม่มีลูกหลาน คู่สมรสเสียชีวิตก่อน ลูกหลานอยู่ต่างถิ่น นั่นส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องประสบปัญหาในยามเจ็บป่วย
 
นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า จากผลการตรวจคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558 ในผู้สูงอายุ 6 ล้านคน พบว่ามีถึง 1.3 ล้านคน ที่อยู่ในสภาพติดบ้านและอยู่ในสภาพหง่อม คือนอนติดเตียง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องพึ่งพิงคนช่วยดูแล
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ กระทรวงแรงงานจะดำเนินโครงการ Brain Bank เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานที่มีความต้องการจ้างผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี และรวบรวมข้อมูลของผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเพื่อให้นายจ้างเข้าถึงข้อมูล
 
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานจะนำข้อเสนอจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่องการเพิ่มอายุเกษียณไปอยู่ที่ 65 ปี หรือปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพและปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณไปศึกษา เนื่องจากปัจจุบันไทยเก็บเงินสมทบน้อย แต่มีรายจ่ายเงินสมทบกรณีบำเหน็จและบำนาญมาก คาดว่าใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งความปรารถนาดีและความห่วงใยไปยังผู้สูงอายุทั่วประเทศ และอยากให้ลูกหลานตรวจสอบว่าปู่ย่าตายายในบ้านได้รับสิทธิสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครบถ้วนแล้วหรือไม่ พร้อมทั้งเร่งรัดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โอนเบี้ยยังชีพผ่านธนาคาร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกไม่ต้องให้ผู้สูงอายุเดินทางไปรับด้วยตัวเอง
 
สำหรับเบี้ยยังชีพรายเดือน ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดอัตราแบบขั้นบันได เริ่มตั้งแต่ 600-1,000 บาท ตามช่วงอายุ โดยในปี 2559 มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิทั้งสิ้น 7,996,332 ราย ขณะที่รัฐจัดสรรงบประมาณไว้ 63,098.55 ล้านบาท โดยรัฐบาลยังพบว่ามีผู้สูงอายุที่ยังไม่อยู่ในระบบหรือยังไม่ได้ลงทะเบียนอีกประมาณ 2 ล้านราย ทั่วประเทศ
 
 
ธนาคารออมสินตั้งงบ 2,600 ล้านบาท เปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์พนักงานสูงอายุขั้นต่ำ 600 คน
 
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมวงเงินไว้ 2,600 ล้านบาท เพื่อออกโครงการเกษียณอายุงานก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) ให้กับกลุ่มพนักงานทั่วประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่มีสุขภาพไม่ดี ต้องลาหยุดงานบ่อยๆ หรือไม่พร้อมที่จะทำงานไปกับโลกยุคใหม่ได้ คาดว่าจะมีคนสมัครเข้าโครงการราว 600 คน ซึ่งผู้ที่เข้าโครงการจะได้ค่าตอบแทนหรือเงินชดเชย 32 เดือน
 
โครงการเออร์ลี่รีไทร์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าปรับภาพลักษณ์องค์กรไปสู่ออมสินยุคใหม่ เปลี่ยนผู้บริหารและพนักงานให้เป็นคนหนุ่มสาว ปัจจุบันมีพนักงานรวมลูกจ้างชั่วคราวกว่า 2 หมื่นคน พนักงานที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 30 ปี มีจำนวน 50% ที่เหลือมีอายุเกิน
 
"คาดว่า 3 ปี ธนาคารจะลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานลงได้ 1,000 ล้านบาท และจะเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ในส่วนที่ขาดแคลน ซึ่งพนักงานใหม่จะมีฐานเงินเดือนต่ำกว่า ในระยะยาวจะลดต้นทุนของธนาคารได้มาก และสัดส่วนพนักงานที่มีอายุน้อยจะสูงขึ้น" นายชาติชาย กล่าว
 
 
ก.แรงงานลุยช่วยปราบไกด์เถื่อนจีน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากที่สมาชิกเครือข่ายสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทยได้เดินทาง มากล่าวขอบคุณ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่สามารถแก้ไขปัญหาไกด์เถื่อนชาวจีนย่านหัวเมือง ท่องเที่ยวได้เป็นผลสำเร็จ จนสามารถทำให้ไกด์คนไทย มีงานทำอีกครั้ง และขอให้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ต่อไป ซึ่งกรมการจัดหางานจะทำงานร่วมกับทางสมาคม เนื่องจากเป็นนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ที่ต้องการให้ คนไทยมีงานทำ
 
สำหรับสาเหตุที่ไกด์คนไทยทั่วประเทศเดินทางมาขอบคุณในครั้งนี้ เป็นผลจากการที่กรมการจัดหางานได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบการทำงานของไกด์สัญชาติจีน ตามที่สมาคม มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ได้ร้องทุกข์และแจ้งเบาะแสว่ามีไกด์สัญชาติจีนเข้ามาแย่งอาชีพไกด์คนไทยในเขตพื้นที่หัวเมืองท่องเที่ยว และได้ส่งชุดเฉพาะกิจแฝงตัวออกตรวจสอบตามแหล่งท่องเที่ยว จนสามารถจัดการกับปัญหาไกด์เถื่อนได้เป็นผลสำเร็จ
 
ทั้งนี้สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ชื่นชมกระทรวงแรงงานที่สามารถแก้ไขปัญหาและทำงานอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่องให้คนไทยมีงานทำ โดยสมาคม ยืนยันว่าจะร่วมมือกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นหู เป็นตาช่วยกันสอดส่องดูแลและทำงานร่วมกันไม่ให้มี ไกด์เถื่อนเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยอีกทางหนึ่ง
 
 
กรมการจัดหางานปิ๊งไอเดียผุดแอพพลิเคชั่น"Smart Job Center" หางานป้อนนศ.-ประชาชนรับมือมหกรรมเตะฝุ่น
 
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.ได้เตรียมมาตรการรองรับนักศึกษาที่จะจบการศึกษาในปีนี้ โดยเบื้องต้นได้สำรวจและรวบรวมตำแหน่งงานว่างที่มีกว่า 39,984 ตำแหน่ง ในสาขาต่างๆ จึงมองว่าหากนักศึกษาจบใหม่ไม่เลือกงาน ทำงานไม่ตรงกับสายอาชีพที่เรียนจบมา ก็จะมีงานทำ ทั้งนี้ กกจ.ได้ร่วมมือกับบริษัทจัดหางานขนาดใหญ่ เพื่อหางานให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีมากขึ้น โดยนักศึกษาสามารถเดินทางมาลงทะเบียนหางานที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย(สมาร์ท จ็อบ เซ็นเตอร์) ได้ทุกแห่ง อีกทั้งเราได้จัดทำแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า "Smart Job Center" เพื่อให้สามารถหาข้อมูลตำแหน่งงานว่างและสถานประกอบการหาผู้สมัครงานได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยขณะนี้สามารถดาวน์โหลดไปติดตั้งทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยส์ นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่มีนายจ้างแจ้งความต้องการแรงงานเข้ามายังกระทรวงแรงงาน 5 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต ต้องการแรงงาน 17,218 อัตรา การขายส่ง/ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 9,404 อัตรา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2,900 อัตรา กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 1,607 อัตรา และการก่อสร้าง 1,491 อัตรา โดยวุฒิการศึกษาที่ต้องการมากที่สุดคือ ระดับปวช.และปวส. ทั้งนี้ขอให้เยาวชนที่จะตัดสินใจเลือกศึกษาต่อ พิจารณาทิศทางของตลาดแรงงานเพื่อให้จบออกมามีงานรองรับ
 
 
ครม.ไฟเขียวพนักงาน-ลูกจ้าง กทพ. เบิกค่ารักษาพยาบาลคลินิกได้ วงเงินไม่เกิน 3,600 บาทต่อปี จากเดิมต้อง รพ.รัฐ ส่วนเอกชนต้องนอน จึงเบิกได้
 
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 เม.ย.2559 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามที่ กทพ. เสนอเรื่องการปรับเปลี่ยนค่ารักษาพยาบาลแก่พนักงานลูกจ้างในสังกัดกทพ. และครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยเช่น เป็นไข้ หวัด ไอ สามารถเข้ารับการรักษาที่คลินิก และเบิกค่ารักษาพยาบาลได้วงเงิน 3,600 บาทต่อปี ทั้งนี้เนื่องจากพนักงานและลูกจ้าง กทพ.ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นกะ ซึ่งตามระเบียบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กทพ. เวลาพนักงานและลูกจ้างเกิดการเจ็บป่วยจะต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐโดยเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงหรือโรงพยาบาลเอกชน ต้องเป็นผู้ป่วยใน นอนรักษาตัวจึงจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ตามวงเงินที่กำหนดเท่านั้น ทำให้พนักงานและลูกจ้างที่เกิดการเจ็บป่วยขณะทำงานเข้ากะไม่สะดวกเท่าที่ควร กทพ.จึงเล็งเห็นผลประโยชน์พนักงานจึงเสนอคณะรัฐมนตรีขอผ่อนปรนสิทธิ์ให้พนักงาน ลูกจ้างในสังกัด กทพ.และครอบครัว สามารถเข้ารับการรักษาที่คลินิกใกล้บ้านได้
 
นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนดำเนินการ ต้องรอเอกสารมติคณะรัฐมนตรีส่งมาอย่างเป็นทางการก่อน จากนั้น กทพ.จะต้องออกประกาศระเบียบ กทพ. รองรับ โดยกำหนดขั้นตอน วิธีปฏิบัติและวันมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้พนักงาน กทพ.มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลประกอบด้วย ครอบครัวพนักงาน ได้แก่ ตัวพนักงาน ภรรยา บุตร และบิดา-มารดา ส่วนลูกจ้าง กทพ.นั้น จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เฉพาะครอบครัวของลูกจ้างเท่านั้น
 
 
กรมการจัดหางาน เปิดเผย ปี 2558 แรงงานไทยส่งเงินกลับประเทศกว่า 82,000 ล้านบาท
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ว่า ในปี 2558 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 69,664 คน แบ่งเป็นบริษัทจัดหางานจัดส่ง 33,635 คน เดินทางด้วยตัวเอง 11,765 คน กรมการจัดหางานจัดส่ง 10,870 คน นายจ้างพาไปทำงานต่างประเทศ 8,419 คน และนายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศ 4,975 คน สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวน 82,326 ล้านบาท ประเทศที่แรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด 10 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน อิสราเอล เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง การ์ต้า บรูไนและมาเลเซีย ส่วนเดือนมกราคม 2559 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 3,474 คน ส่วนใหญ่ไปทำงานเป็น ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ ร้อยละ 60.2 รองลงมา เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ สร้างรายได้เข้าประเทศ 7,242 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2559 คาดว่าจะมีรายได้จากแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า จากการจัดส่งโดยรัฐและบริษัทจัดหางานที่ถูกกฎหมาย ทำให้ค่าใช้จ่ายการเดินทางและปัญหาการหลอกลวงแรงงานลดลง อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยยังคงเป็นที่ต้องการของนายจ้างต่างชาติ เพราะมีทักษะฝีมือที่ดีและรอบด้าน แต่จะต้องปรับปรุงเรื่องวินัยการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
 
 
เสร็จสงกรานต์แรงงานพม่ากว่า 7 หมื่นคนทะลักกลับกรุงจนล้นขนส่งแม่สอด
 
(17 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เย็นที่ผ่านมาสถานีขนส่งผู้โดยสารชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เต็มไปด้วยผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานสัญชาติพม่าที่มารอขึ้นรถโดยสารที่ต้องใช้รถเสริมเพิ่มอีกหลายเท่าตัวเพื่อเดินทางกลับไปทำงานในกรุงเทพฯ ต่อ หลังจากได้หยุดงานกลับไปฉลองสงกรานต์ที่บ้านเกิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด และทีมแพทย์สนาม ที่จัดกำลังมาอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารทุกคน จนสร้างรอยยิ้มให้ผู้โดยสารเป็นอย่างดีท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด
 
ด้านนายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอด ได้เดินทางไปตั้งศูนย์อำนวยการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานสัญชาติพม่า เนื่องจากมีรายงานว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแรงงานสัญชาติพม่าข้ามชายแดนกลับประเทศกว่า 70,000 คน และขณะนี้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้กำลังทยอยเดินทางมาที่สถานีขนส่งอำเภอแม่สอดเพื่อขึ้นรถเดินทางกลับไปทำงานต่อที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลานานนับอาทิตย์กว่าจะสามารถส่งแรงงานกลับได้ทั้งหมด
 
ขณะเดียวกัน นายอำเภอแม่สอดยังใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดให้ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์แก่พนักงานขับรถทุกคนก่อนที่จะออกเดินทาง พร้อมตรวจสภาพรถยนต์โดยสารทุกคันว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์นิรภัย เช่นเข็มขัดนิรภัย เครื่องมือดับเพลิง ฯลฯ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ผู้โดยสารให้เชื่อมั่นในการโดยสารว่าปลอดภัยอย่างแน่นอน โดยผลการตรวจสอบพบว่ารถทุกคันได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด
 
 
"นกแอร์" จ้างเพิ่มนักบินต่างชาติ 20 คน อุดวิกฤตปัญหานักบินขาดแคลน
 
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) และผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่าสายการบินนกแอร์ ทำหนังสือถึงทย. ขอนำนักบินต่างชาติจำนวน 20 คน เข้ามาบินในเส้นทางการบินในประเทศและระหว่างประเทศ โดยผู้บริหารสายการบินนกแอร์แจ้งว่า อยู่ระหว่างเสนอเรื่องถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอใบอนุญาตทำงาน หรือเวิร์กเพอร์มิตให้กับนักบินต่างชาติ
 
ส่วนจะเข้ามาบินในระยะเวลาเท่าไรนั้นยังไม่ทราบรายละเอียด เชื่อว่าหากได้นักบินต่างชาติเข้ามา จะทำให้การบริหารงานของสายการบินนกแอร์ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา หลังจากเกิดปัญหานักบินขาดแคลน สายการบินนกแอร์พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด ทั้งปรับตารางการบินเพื่อให้สอดคล้องกับนักบินที่มีอยู่ แต่ตารางการบินของสายการบินนกแอร์จะกลับเข้าปกติเมื่อไรนั้น ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้บริหารสายการบิน
 
 
มทร.ธัญบุรี จับมือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ทำมาตรฐานอาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย
 
รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช ผู้จัดการโครงการวิจัยมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาธุรกิจรักษาความปลอดภัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร. )ธัญบุรี เปิดเผยว่า ทางโครงการได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) และผู้ประกอบการ จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพรักษาความปลอดภัยมากถึง 5 แสนคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งขณะนี้การจัดทำกรอบมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพก็มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยได้แบ่งสาขาวิชาชีพเป็น 3 สายงาน คือ 1.งานรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่และทรัพย์สิน 2.งานรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญเช่น ผู้นำประเทศ หรือบุคคลสำคัญจากต่างประเทศที่เดินทางมายังประเทศไทย หรือเดินทางไปต่างประเทศผู้มีตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งดารา ศิลปิน นักฟุตบอล นักร้อง นางงาม นักธุรกิจ เป็นต้นและ 3.งานรักษาความปลอดภัยขนส่งทรัพย์สินมีค่า เช่น รถขนเงินธนาคารหรือพาหนะในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน เช่น อัญมณี วัตถุโบราณ หรือของมีค่าต่าง ๆ เป็นต้น
 
“ตอนนี้อยู่ในขั้นการจัดทำรายละเอียด ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่ในอาชีพรักษาความปลอดภัยและได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว ที่สำคัญทุกภาคส่วนก็เห็นด้วยกับการจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขาธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพื่อยกระดับบุคลากรในอาชีพให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก ในการทำหน้าที่ป้องกันรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับบุคคล สถานที่ต่าง ๆ ”รศ.ดร.เนตร์พัณณา กล่าวและว่า หากทำหลักสูตรมาตรฐานเสร็จสมบูรณ์แล้ว สถานศึกษาสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมอาเซียนได้ด้วย
 
 
นิคมฯอมตะทยอยเปิดรับพนักงานกว่า 20,000 อัตราเน้นทำงาน รง.ชิ้นส่วนรถ
 
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้พบว่า มีความต้องการแรงงานหญิง จำนวน 1,095 อัตรา แรงงานชายจำนวน 1,550 อัตรา และไม่ระบุเพศอีกจำนวน 2,155 อัตรา จำแนกตามวุฒิการศึกษาระดับประถมศึกษาจำนวน 545 อัตรา ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 1,205 อัตรา ระดับอาชีวศึกษา/อนุปริญญาจำนวน 1,500 อัตรา ระดับอุดมศึกษาจำนวน 1,400 อัตรา และ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาอีกจำนวน 150 อัตรา
 
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ อมตะ ร่วมกับจังหวัดระยอง และกระทรวงแรงงาน โดยจัดหางานจังหวัดระยอง จัดงานนัดพบแรงงานจังหวัดระยอง ประจำปี 2559 ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการพิเศษที่ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกันให้นายจ้างและ ผู้ต้องการหางานมีโอกาสพบปะกันโดยตรง เพื่อช่วยแก้ปัญหา การขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการภายในนิคมฯอมตะซิตี้ โดยมีการรวบรวมตำแหน่งงานว่าง 4,800 อัตรา จาก สถานประกอบการจำนวน 75 แห่ง มาเปิดบูธรับสมัครงาน ได้รับความสนใจจากผู้ว่างงานสนใจมาสมัครงานเป็นจำนวนมาก รวมกว่า 3,000 คน โดยคาดว่ามีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานทันทีจำนวนถึง 1,350 คน แบ่งเป็นชาย 511 คน หญิง 839 คน
 
"ด้วยศักยภาพการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะในขณะนี้ เชื่อว่า นิคมอุตสาหกรรม อมตะทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ อมตะซิตี้ จ.ระยอง มีความสามารถ ในการรองรับแรงงานสำหรับภาคการผลิตได้อีกเป็นจำนวน 4,800 อัตรา ส่วนอมตะนคร จ.ชลบุรี รองรับได้อีกจำนวน 20,000 อัตรา ซึ่งตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรม พลาสติก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น" นายวิบูลย์ กล่าว
 
 
รัฐบาลเล็งใช้บุคคลากรด้านอาชีวะขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผย ในการประชุม และติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ทั้ง 12 คณะ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า การทำงานของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ทั้ง 12 คณะ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐกับเอกชน ซึ่งจะสามารถช่วยพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศได้ โดยขณะนี้ ในส่วนของความคืบหน้า ทั้งการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การพัฒนาด้านการศึกษาถือว่า มีความก้าวหน้าตามแผนงาน ขณะเดียวกันในอนาคต จะใช้บุคลากรทางด้านอาชีวะศึกษาในการพัฒนา กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และการปรับปรุงข้อกฎหมายสำคัญ เพื่อให้ภาคธุรกิจเดินหน้าได้อย่างสะดวก
 
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากดำเนินการ ให้เห็นผลได้เป็นรูปธรรม และเกิดขึ้นเร็วภายใน 2 ปี จะช่วยให้ประเทศไทยขยับความน่าลงทุน ในการประกอบธุรกิจของประเทศ ขึ้นมาอยู่ 1 ใน 20 อันดับแรกของโลก จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49 ซึ่งจะส่งผลระยะยาวแม้จะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม
 
 
แล้งหนักคนหนีหางานในกรุง กกจ.ตั้งโต๊ะรับถึงสถานีขนส่ง
 
เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการหางานทำเพื่อสร้างรายได้ โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการทำงานพิเศษ (พาร์ตไทม์) และกลุ่มที่ประสบภัยแล้ง ว่าได้ให้สำนักงานจัดหางานทุกแห่งทั่วประเทศรวบรวมข้อมูลความต้องการจ้างแรง งานในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และจัดงานนัดพบแรงงานเฉพาะกิจในพื้นที่ โดยประสานสถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานไปตั้งโต๊ะเปิดรับสมัครงานโดย ตรง รวมทั้งเปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการทำงานพาร์ตไทม์ช่วงปิดภาคเรียนเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง ซึ่งตัวเลขช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พบว่ามีนักเรียน นักศึกษาลงชื่อสมัครงาน จำนวน 2,018 คน ขณะนี้ได้รับการบรรจุงานแล้ว 956 คน นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประสบภัยแล้งที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานครนั้น กกจ.มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่สำนักงานจัดหางานที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอ ชิต 2 และที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ล่าสุดพบว่ามีผู้ต้องการทำงานจำนวน 241 คน ในจำนวนนี้ได้รับการบรรจุงาน 124 คน โดยตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุ 5 อันดับแรก คือ แรงงานทั่วไป พนักงานฝ่ายผลิต เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คนงานก่อสร้าง และพนักงานขับรถส่งของ
 
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า กกจ.ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จัดหางานเข้าไปให้ความรู้เรื่องการประกอบอาชีพ อิสระในพื้นที่ เช่น การขายไอศกรีม การส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้านแทนการเดินทางออกนอกพื้นที่ เป็นต้น เนื่องจากผู้ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคการเกษตร อยู่ในวัยกลางคน อาจส่งผลให้เดินทางไปทำงานนอกพื้นที่ลำบาก นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานที่มีงบประมาณในการจ้างงานเร่งด่วน ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 90 ล้านบาท โดยส่งเสริมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในโครงการสาธารณ ประโยชน์ต่างๆ และได้รับค่าตอบแทน เช่น ขุดลอกคูคลอง ซ่อมแซมอาคารสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
 
 
หอการค้า สำรวจพบรายได้ ปชช.ไม่พอรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ลูกจ้าง มีหนี้สินสูง หนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำ 5 - 7% มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตต่ำ 3% แนะรัฐบาลเร่งลงทุนเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ชี้แล้งนาน ฉุด ศก.
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ เรื่อง “ค่าครองชีพแพงจริงหรือ ในสถานการณ์ภัยแล้งและยุคเงินเฟ้อติดลบ” พบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,356 ตัวอย่างทั่วประเทศ ในปี 2558 มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนอยู่ที่ 26,915 บาท รายจ่าย 21,157 บาท อัตราเงินเฟ้อติดลบที่ร้อยละ 0.9 และ จีดีพี ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดย ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.2 มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 156,770 บาท ทำให้รายได้ไม่พอกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร และ ลูกจ้างรายวัน ส่งผลต่อความรู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะไม่ได้มีการปรับค่าแรงมาแล้ว 3 ปี ขณะที่เ กษตรกรมีรายได้ติดลบ โดยทางหอการค้าไทยมองว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 - 7 หรือเฉลี่ย 10 - 15 บาท เป็นเรื่องที่เหมาะสมและไม่ควรปรับเท่ากันทั้งประเทศแต่ควรพิจารณาตามภาวะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่
 
นายธนวรรธน์ ยังเปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวจนถึงในช่วงกลางปีนี้ และมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 จากประมาณการเดิมของหอการค้าไทย ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3 - 3.5 จากภาวะการส่งออกของประเทศที่ยังชะลอตัวลง และอาจขยายตัวติดลบ จากที่ประเมินไว้ว่าการส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0 - 2 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยรัฐบาลจะต้องเร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงไปในระบบให้ได้ 2 แสนล้านบาท
 
นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งหากยาวนาน ถึงเดือนกรกฎาคม จะมีผลต่อเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ให้หายไป 1.2 แสนล้าน
 
 
ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์เดือนมี.ค. อยู่ที่ 192,811 คัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน ขณะที่ยอดส่งออก อยู่ที่ 109,334 คัน ลดลง 14.33%
 
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนผลิต ยอดขายรถยนต์ในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศในเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 192,811 คัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2558 ที่ 8.19% เนื่องจากผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้น 18.08% และ 63.56% ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 15.86% 
 
สำหรับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 506,874 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.37% รถยนต์นั่งเดือนมีนาคมที่ผลิตได้ 71,183 คันลดลงจากเดือนมีนาคมของปีก่อน 0.1% ยอดผลิตของรถยนต์นั่งตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 189,118 คัน เท่ากับ 37.31% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.03% รถยนต์โดยสารขนาดต่ำกว่า 10 ตันและมากกว่า 10 ตันขึ้นไป ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผลิตได้ 39 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.1% รวมเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมาผลิตได้ 72 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.06% เป็นต้น
 
ส่วนรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผลิตได้ทั้งสิ้น 211,807 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.27% แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป หรือ CBU 151,313 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.56% และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ 60,494 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.31% ส่วนยอดการผลิตรถจักรยานยนต์ตั้งแต่มกราคม-มีนาคมที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 624,663 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.6% 
 
ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 72,404 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 2.3%เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวตาม อีกทั้งสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อและกำลังซื้อที่ยังไม่ขยายตัว แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 26.8% เพราะมียอดจอดรถยนต์ในงานบากกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 37 มากกว่า 30,000 คัน 
 
ส่วนรถจักรยานยนต์มียอดขาย 155,183 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.7% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 23.3% นับตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา รถยนต์มียอดขาย 181,318 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.3% ส่วนรถจักรยานต์มียอดขาย 435,700 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9% 
 
ขณะที่การส่งออกรถยนต์ในเดือนมีนาคมที่่ผ่านมาส่งออกได้ 109,334 คัน เกินหนึ่งแสนคันติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.33% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 57,335.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน0.39% มูลค่าการส่งออกรถยนต์มากกว่าปีที่แล้ว เพราะส่งออกรถพีพีวีเพิ่มขึ้นในแทบทุกตลาด ซึ่งมีราคาสูงกว่ารถอีโคคาร์ โดยผลิตรถพีพีวีเพื่อส่งออกมากขึ้นจากปีที่แล้วถึง 153% ส่วนการส่งออกรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 88,525 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน4.02% โดยมีมูลค่า 4,672.16 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.32%
 
 
แรงงานไทย ยื่น 6 ข้อ ร้อง บิ๊กตู่ ขึ้นค่าจ้าง 360 บาทต่อวัน-ปฎิรูปประกันสังคม
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 เมษายน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท. ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้แก้ปัญหาแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะถึงวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม นี้
 
น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า โดยทางกลุ่มขอยื่นข้อเสนอ 6 ข้อต่อรัฐบาล 1.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาการแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกันและอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ช่วยคนงานให้เข้าถึงสิทธิ และป้องกันไม่ให้คนงานถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม 2.รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกแบบ และผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการขยายงาน มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เกิดระบบธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ 3. รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน การคุกคาม และเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงข้อจำกัดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานในการนัดหยุดงาน ปิดงาน เจรจาต่อรอง ทำให้แรงงานอยู่ในสภาพลำบาก
 
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวต่อว่า 4. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างวันละ 360 บาทจากเดิม 300 บาท เพราะค่าครองชีพปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ รวมถึงปรับค่าจ้างสำหรับแรงงานที่มีฝีมือทุกสาขาอาชีพ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม 5. ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใสตรวจสอบได้ ปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 400 บาทต่อเดือนเป็น 600 บาทต่อเดือน ยกเลิกการใช้เงินที่ไม่เกิดประโยชน์ไม่ครอบคลุมผู้ประกันผู้ประกันตนทุกคน เช่น การทำปฏิทินการทำเสื้อวันแรงงาน หรือการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ และ6. ข้อสุดท้าย รัฐต้องดำเนินการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเอง ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินดอกเบี้ยแพง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความเป็นธรรม ด้านเศรษฐกิจสังคมให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างยั่งยืน
 
“กลุ่มคสรท. และสรส. จะรวมตัวทำกิจกรรมที่ถนนอู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา ในช่วงเช้าวันที่ 1 พฤษภาคม จากนั้น จะเดินไปที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้นายกรัฐมนตรีให้เป็นของขวัญวันแรงงานปีนี้ คือการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 และการขึ้นค่าจ้างแรงงานวันละ 360 บาท” น.ส.วิไลวรรณกล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท