ก.แรงงาน พร้อมจัดวันแรงงาน คสรท. ยื่น 6 ข้อเรียกร้องต่อประยุทธ์

19 เม.ย. 2559 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 ว่า เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานที่มีต่อการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินการต่าง ๆ แก่ผู้ใช้แรงงานในนามของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติมาโดยตลอดทุกปี สำหรับในปี พ.ศ. 2559 จะร่วมกันจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ในวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2559 โดยกำหนดใช้สถานที่จัดงาน 2 แห่ง คือ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและท้องสนามหลวง
 
“พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับวันแรงงานเนื่องจากผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่มีคุณค่า จึงให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ว่าผู้ใช้แรงงานมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร และต้องการให้งานวันแรงงานแห่งชาติมีความหมายมากขึ้น รูปแบบการจัดงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสนับสนุนการจัดงานฯ บริเวณเต็นท์สำนักงานประกันสังคม ณ บริเวณท้องสนามหลวง เช่น การให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน การปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดสำนักงานประกันสังคม แนะนำการประกอบอาชีพอิสระ การจัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน และการตอบปัญหาชิงรางวัล เป็นต้น
 
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมพิเศษแก่ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ได้แก่ กิจกรรมการบริจาคโลหิตของผู้ใช้แรงงานจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การบริการทันตกรรมจากโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล รวมทั้ง บริการตัดผมฟรีจากกรุงเทพมหานคร ในวันแรงงานแห่งชาติประจำปีนี้อีกด้วย
 

คสรท. ยื่น 6 ข้อเรียกร้องต่อประยุทธ์

Voicelabour.org รายงานด้วยว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และองค์กรสมาชิก ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 2559 ผ่านศูนย์บริการประชาชน รับเรื่องราวร้องทุกข์ (กพ.) ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 2559 ให้แก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
 
วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากลที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกต่างออกมารณรงค์ในประเด็นปัญหาต่างๆที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อสื่อสารให้รัฐบาลและประชาชนในประเทศได้รับทราบสถานการณ์ที่ผู้ใช้แรงงานกำลังเผชิญซึ่งทวีคูณมากขึ้นทุกวัน และส่งผลกระทบต่อชีวิตและครอบครัวจนขาดความมั่นคงในการทำงานและเข้าไม่ถึงคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่แรงงานคนหนึ่งพึงได้รับ
 
เนื่องในวันกรรมกรสากลปี 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการประชุมร่วมกันและรวบรวมประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลก่อนถึงวันกรรมกรสากลให้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อันจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยข้อเรียกร้องที่จะเสนอต่อรัฐบาลมีรายละเอียด ดังนี้
 
1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อให้กลไกของลูกจ้าง สหภาพแรงงาน เป็นส่วนช่วยให้คนงานเข้าถึงสิทธิ และเป็นกลไกในการเป็นเกราะป้องกันไม่ให้คนงานถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นส่วนช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสังคมโลก และรัฐบาลยังไม่มีกลไกที่ดีพอในการแก้ไขปัญหา การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งจะได้รับความนิยม ความชื่นชมจากนานาชาติ
 
2. รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยสาระสำคัญให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการขยายงาน การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน และยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างการบริหารงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วยภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน เพื่อให้เกิดระบบธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกัน
 
3. รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการ วางมาตรการอย่างเข้มข้นต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน การคุกคาม และการเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่นายจ้างมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายแม้ในยามที่รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมถึงข้อจำกัดของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน ในการนัดหยุดงาน การปิดงาน การเจรจาต่อรอง และการไม่พยายามบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีที่นายจ้างของสถานประกอบการบางแห่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
 
4. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน และรัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ.2557 และปี พ.ศ. 2558 ซึ่งในปัจจุบันจากผลสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีค่าจ้างวันละ 360 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศ และรัฐต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
 
5. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ (ประธานกรรมการและเลขาธิการต้องเป็นมืออาชีพ มาจากการสรรหา ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง) กำหนดให้ประกันสังคมถ้วนหน้าของคนทำงานทุกคนโดยการคุ้มครอง ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม มีสิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีสงเคราะห์บุตร เดิม 400 บาท/ต่อเดือน เพิ่มเป็น 600 บาท/ต่อเดือน รวมถึงการยกเลิกการใช้เงินที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกคน เช่น การทำปฏิทิน การทำเสื้อวันแรงงาน การจัดอบรมเรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคม รวมถึงการใช้เงินไปดูงานต่างประเทศที่ไม่ได้นำมาพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ให้ยกเลิกไป
 
6. รัฐบาลต้องดำเนินการจัดตั้งธนาคารแรงงาน ให้เป็นของผู้ใช้แรงงาน เพื่อผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ใช้แรงงาน ในการสร้างฐานเศรษฐกิจและเพื่อเป็นแหล่งทุน และส่งเสริมการออมให้กับผู้ใช้แรงงาน
 
จากข้อเรียกร้องที่กล่าวมาทั้ง 6 ข้อนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะรับพิจารณาและเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลของท่านต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท