Skip to main content
sharethis

สมาคมนักเรียนไทยในตุรกีประกาศเปิดรับการช่วยเหลือจากพี่น้องชาวไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยซีเรียในตุรกี โดยเฉพาะเด็กอพยพ เผยพบสถานการณ์หนักจากภาวะสงคราม มีปัญหาสารพัดที่ต้องร่วมกันช่วยเหลือ

17 เม.ย. 2559 นายฮูซัยฟะ กือเลาะ นายกสมาคมนักเรียนไทยในตุรกี เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมนักเรียนไทยในตุรกีได้ขอรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวซีเรียที่ลี้ภัยสงครามกลางเมืองเข้าอยู่ในประเทศตุรกี โดยเฉพาะเด็กอพยพชาวซีเรียในตุรกี โดยจะเปิดรับบริจาคตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน 2559 และจะดำเนินการส่งมอบภายในต้นเดือนพฤษภาคมต่อไป หลังจากที่เคยดำเนินการช่วยเหลือไปเมื่อปีที่ผ่านมา

นายฮูซัยฟะ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา สมาคมนักเรียนไทยในตุรกีได้รับเงินช่วยเหลือจากพี่น้องในประเทศไทย 150,000 บาท ซึ่งทางสมาคมฯได้ส่งไปช่วยเหลือพี่น้องชาวซีเรียที่เมือง Rayhanlı แล้ว โดยเน้นให้ความช่วยเหลือเด็กที่โรงเรียนในเมืองเป็นหลัก

นายฮูซัยฟะ เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา นักเรียนไทยในตุรกีพยายามหาแนวทางช่วยเหลือเด็กซีเรียอพยพเท่าที่สามารถทำได้ โดยประสานการทำงานและปรึกษาหารือกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีมาก่อนแล้วจึงลงพื้นที่สำรวจเรื่องการเรียนของเด็กซีเรียในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยดำเนินการร่วมกับองค์กร Syria Nur

“แต่จากปัญหาเกี่ยวกับเด็กอพยพชาวซีเรียที่มีหลายอย่างทำให้การดำเนินการช่วยเหลือของสมาคมฯยังคงมีข้อจำกัดที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ การประสานกับโรงเรียนซีเรียในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กก็เป็นเป้าหมายที่ต้องดำเนินการด้วย” นายฮูซัยฟะ กล่าว

นายฮูซัยฟะ เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา สมาคมนักเรียนไทยในตุรกีได้ดำเนินกิจกรรมทั้งในตุรกีและในไทยมาตลอด 3 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมขึ้นมา ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว โดยจะให้มีโครงการดีๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษาไทยในตุรกีได้ทำกิจกรรมร่วมกันต่อไปอย่างเช่นที่ผ่านมา เช่น กิจกรรมพบปะนักศึกษาไทยในตุรกี กิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อในประเทศตุรกี รวมถึงเวทีเสวนาวิชาการเกี่ยวกับตุรกี เป็นต้น

 

สถานการณ์หนักเด็กอพยพชาวซีเรียในตุรกี

นางสาวยาสมิน ซัตตาร์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ประเทศตุรกี ให้ข้อมูลว่า ตุรกีเป็นประเทศแรกที่รับผู้อพยพชาวซีเรียที่หนีภัยสงครามกลางเมือง ซึ่งสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่ามีผู้อพยพชาวซีเรียในตุรกีที่จดทะเบียนแล้วกว่า 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้องค์การเด็กแห่งสหประชาชาติหรือ UNICEF ระบุว่าเป็นเด็ก 1,356,924 คน คิดเป็น 54% ของจำนวนชาวซีเรียทั้งหมดในตุรกี

“ในจำนวนเด็กซีเรียในตุรกีเหล่านี้มีเพียง 278,890 คนที่เข้าศึกษาในโรงเรียน และประมาณการณ์ว่ามีเด็กในวัยเรียนกว่า 450,000 คนที่ไม่ได้รับการศึกษา”

นางสาวยาสมิน เปิดเผยต่อไปว่า จากรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้ให้เห็นว่า แม้เด็กกว่า 90% ในค่ายผู้ลี้ภัยกว่า 25 แห่งของตุรกีจะได้รับการศึกษาแต่ก็เพียง 13% ของเด็กที่อยู่ในค่ายเท่านั้น และยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่อยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ แต่ก็มีจำนวนน้อยที่เข้าโรงเรียน

นางสาวยาสมิน เสริมด้วยว่า รายงานวิจัยของสมาคม Yuva ระบุว่า ผู้อพยพซีเรียที่อยู่ในเขตเมืองของตุรกีเข้าเรียนในจำนวนน้อย ขณะเดียวกันคุณภาพและศักยภาพของโรงเรียนก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะมีครูที่ชำนาญจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสาหรือได้รับเงินเดือนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นางสาวยาสมิน กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการของตุรกีก็สามารถช่วยเหลือโรงเรียนซีเรียได้อย่างจำกัดด้วยกรอบกฎหมายของประเทศ ส่วนเด็กซีเรียที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนตุรกีก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านภาษาตุรกี ขณะที่ผลการศึกษายังพบว่าคนซีเรียในตุรกีต้องการเรียนภาษาตุรกีมากที่สุด รองลงมาเป็นการทำงานและมีแนวโน้มที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนซีเรียในตุรกีมากกว่าโรงเรียนของตุรกีเอง

นางสาวยาสมิน กล่าวว่า รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ค้นพบปัญหาเช่นเดียวกันว่า เด็กที่อยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยมีอุปสรรคในการเรียน คือ ปัญหาด้านภาษาและปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจ่ายค่าเดินทางและสนับสนุนการเรียนได้

นางสาวยาสมิน กล่าวว่า หลายครอบครัวก็ให้เด็กทำงานด้วยเนื่องจากรายได้ไม่พอและภาวะตกงานของพ่อแม่ ขณะเดียวกันความกังวลในการปรับตัวของเด็กหากเข้าเรียนกับชาวตุรกี ก็เป็นประเด็นหลักที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาในเขตเมืองใหญ่ แม้มีการช่วยเหลือจากหลายๆ องค์กรแล้วก็ตาม แต่ปริมาณการช่วยเหลือเรื่องการเรียนของเด็กซีเรียในเขตเมืองก็ยังเป็นจุดที่ถูกมองข้าม

“การพัฒนาศักยภาพของเด็กซีเรียในตุรกี โดยเฉพาะเด็กกำพร้าและยากจนที่อยู่ในเมืองใหญ่ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในภาวะสงครามอันหนักหน่วงครั้งนี้ ดูเหมือนจะต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน แต่ชีวิตที่จำต้องโยกย้ายมาสู่พื้นที่ใหม่นี้ก็จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อไป” นางสาวยาสมิน กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net