ดิอิโคโนมิสต์: เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเดินตามรอยพลังงานแสงอาทิตย์

นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับ 'Business' รายงานเรื่องเกี่ยวกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเริ่มจากการระบุถึงกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจอร์แดนซึ่งมีกำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยแผงเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าหรือ "โซลาร์เซล" ที่วางเปล่งประกายอยู่ท่ามกลางแสงแดดของทะเลทราย ซึ่งคนขับรถชื่อ ราเอด คาเดอร์ กล่าวว่าเขารู้สึกภูมิใจที่ประเทศของเขาสามารถพัฒนาแหล่งพลังงานไว้ใช้เองได้จากแสงอาทิตย์ที่เป็นของฟรี

ประเทศจอร์แดนมีความต้องการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ลงซึ่งจากข้อมูลเมื่อปีที่แล้วระบุว่าเป็นแหล่งพลังงานที่พวกเขาเคยใช้ถึงร้อยละ 96 และมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จอร์แดนหันมาหาพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นคือเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศใกล้เคียงทำให้พวกเขาต้องหันมาพึ่งพาพลังงานของตัวเองมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการตัดสินใจใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของรัฐบาลและระบบข้าราชการในจอร์แดนก็ยังมีอยู่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีการแข่งขันเรื่องแผงพลังงานโซลาร์เซลโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินแบบเดียวกับประเทศจีนซึ่งหันมาทุ่มทุนให้กับพลังงานทางเลือกด้วย จากที่ในปี 2558 จีนเริ่มกลายเป็นผู้นำด้านการผลิตแผงโซลาร์เซลล์รวมถึงมีนโยบายลดการพึ่งพาพลังงานที่ก่อมลภาวะ ในตอนนี้จีนกำลังสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในทะเลทรายโกบี ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าจีนจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 12 กิกะวัตต์ ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

อีกประเทศหนึ่งที่พยายามไล่ตามคนอื่นให้ทันคือ อินเดีย อินเดียมีแผนการขยายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 20 เท่าภายในปี 2565 คือให้มีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้า 100 กิกะวัตต์ ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐปัญจาบซึ่งเป็นรัฐที่มีแดดแรงจัดถึงขั้นเรียกร้องให้ชาวนาให้เช่าที่ดินในแง่นี้แทนการใช้เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า จากที่มีโครงการใหญ่ๆ ในสองประเทศนี้ประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ในช่วงปีที่แล้ว และจากการคำนวน "ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ" (levelised cost of electricity) พบว่าราคาโดยรวมตลอดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกใกล้เคียงกับพลังงานก๊าซและพลังงานถ่านหินมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างแอฟริกาใต้, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เปรู และเม็กซิโก มีการเปิดประมูลสัญญาพลังงานแสงอาทิตย์ในระยะยาวเป็นหลักฐานชี้ชัดว่าการประเมินราคาดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องจริง

เซดริก ฟิลเบิร์ต นักประเมินด้านพลังงานชื่อดังจากทบวงพลังงานโลก (IEA) กล่าวว่า ในพื้นที่แดดจัดพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มเป็นที่นิยมทัดเทียมกับพลังงานก๊าซ ถ่านหิน และลม อีกทั้งในประเทศอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีการแข่งขันกันมากขึ้นในการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากที่ในปี 2557 มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ ที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่า 60 ดอลลาร์ (ราว 2,000 บาท) ในการสร้างไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ในโมร็อคโคก็กำลังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอาศัยกระจกสะท้อนแสงสร้างความร้อนเพื่อปั่นไฟจนสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้ร้อยละ 0.3 ของจีดีพี

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่บรรษัทพลังงานระดับโลกอย่างบรรษัทอัดวาพาวเวอร์ (Acwa Power) ของซาอุดิอาระเบียชนะการประมูลในดูไบและกำลังเดินหน้าต่อไปในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา ทางการบรรษัทสัญชาติอิตาลี เอเนล กรีน พาวเวอร์ (EGP) ก็เพิ่งชนะการประมูลโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเปรูซึ่งมีค่าใช้จ่ายผลิตพลังงานเพียง 48 ดอลลาร์ (ราว 1,600-1,700 บาท) ต่อ 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งบลูมเบิร์กนิวเอนเนอร์จีไฟแนนซ์ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยระบุว่าสัญญาโครงการนี้ถือเป็นสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการให้เงินช่วยเหลือน้อยที่สุดที่พวกเขาเคยพบมา

ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency) ระบุว่าสาเหตุหลักที่ราคาพลังงานนี้ถูกลงร้อยละ 80 เป็นเพราะแผงโซลาร์เซลถูกลงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา แต่ก็มีแนวโน้มว่าทางผู้รับโครงการโรงไฟฟ้าจะพยายามหันมาใช้การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น

ปัญหาหนึ่งที่นักวิเคราะห์กังวลคือการที่ผู้ประมูลตั้งราคาไว้สูงเกินไปจนอาจจะทำให้โครงการล่มได้เพราะเงินทุนไม่พอ หรือในบางกรณีก็มีการตั้งโครงการไว้สูงเกินไปจนยากจะตัดงบออก เคยมีเหตุโครงการล่มมาแล้วในกรณีของบริษัทกรีซชื่อ ซันไรซ์ ที่มีโครงการในจอร์แดน โดยที่โครงการดังกล่าวเพิ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งโดยอัควาพาวเวอร์เป็นผู้ซื้อสัญญาต่อ นักวิเคราะห์ก็มองว่าอัควาพาวเวอร์ทำเงินจากตรงนี้ได้ยากแต่ท่าทีเช่นนี้อาจจะช่วยให้ชนะสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคตได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ในจอร์แดนก็มีปัญหาในแบบของประเทศกำลังพัฒนาจากที่การไฟฟ้าของจอร์แดน (NEPCO) ไม่สามารถขยายโครงข่ายส่งไฟฟ้าได้เร็วทันที่บริษัทเอกชนผลิตพลังงานป้อนให้ให้ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในจีน แต่ดิอิโคโนมิสต์ก็ประเมินว่าถ้าจอร์แดนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แล้วข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์จะทำให้จอร์แดนสามารถขยายประสิทธิภาพในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมาก จากที่วิศวกรบอกว่ารอบเมืองมาอานมีวันที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงได้ดี 330 วันต่อปี ถือว่าแดดดีที่สุดในภูมิภาค อีกทั้งพื้นที่ความสูงและปัจจัยด้านความร้อนและฝุ่นก็ไม่ทำให้ประสิทธิภาพของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง ซึ่งเป็นคุณสมบัติแบบเดียวกับซาอุฯ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุในบทความอีกว่าจอร์แดนยังมีการสนับสนุนด้านพลังงานนี้จากคนระดับผู้นำอย่างสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ที่สังให้มีการตัดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ในวังและตามมัสยิด รัฐมนตรีระดับสูงในจอร์แดนก็พากันใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ทำให้อนาคตด้านพลังงานของจอร์แดนดูสดใส

 

เรียบเรียงจาก

Solar energy : Follow the sun, The Economist, 16-04-2016

http://www.economist.com/news/business/21696941-solar-power-reshaping-energy-production-developing-world-follow-sun

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท