Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ลักษณะเฉพาะตัวของกิจกรรมการเมืองนักศึกษาที่ได้กล่าวไปในตอนแรก ได้สร้างความสัมพันธ์ยึดโยงระหว่างหมู่นักศึกษาที่ซับซ้อนและหนักแน่นอันมีลักษณะที่เฉพาะตัวและเกี่ยวเนื่องกันมาก เริ่มจากการใช้อำนาจที่สถาปนาขึ้นผ่านองค์กรนักศึกษาต่างๆ โดยผู้นำนักศึกษา สู่การหาผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อให้ตนเองและตัวแทนตนเองคือนักศึกษารุ่นน้องในสังกัดได้สืบทอดอำนาจต่อไปให้ได้ โดยจะได้อธิบายและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทั้งหมด ซึ่งจะขอแบ่งเป็น 3 ความสัมพันธ์ ดังนี้


วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าผสมการมีส่วนร่วม

ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคและจำนวนนักศึกษาที่มากถึงสามหมื่นคน แน่นอนว่าความสัมพันธ์ทางสังคมในทุกด้านระหว่างนักศึกษาจะไม่ผสานกันทั่วตลอด การรับรู้และสื่อสารของสังคมนักศึกษาจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสังคมนักศึกษานั้นได้แบ่งพื้นที่ของกลุ่มตนเองกับกลุ่มของผู้อื่นขึ้น เป็นกลุ่มสังคม “นักศึกษานำ” อันหมายรวมถึงผู้นำองค์กรนักศึกษาและผู้นำกลุ่มนักศึกษาต่างๆ และกลุ่มสังคม “นักศึกษาทั่วไป” ที่คิดว่ากิจการที่เหล่านักศึกษานำทำอยู่นั้นไม่ใช่กิจเกี่ยวข้องกับตนเลย การแบ่งความเกี่ยวข้องสัมพันธ์นี้จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่แนวดิ่ง[1] ที่เหมือนแบ่งและรับรู้โดยกลุ่มนักศึกษาทั่วไปเท่านั้น นักศึกษานำอาจไม่รับรู้หรือรู้สึกแบบนี้เลย

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถึงช่วงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยซึ่งมักจะเป็นช่วงเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาและนายกสโมสรนักศึกษาของทุกคณะด้วย[2] บรรยากาศทางการเมืองท่ามกลางกลุ่มสังคมนักศึกษาทั้งสองนั้นกลับมีสีสันและสัมพันธ์กันอย่างอัตโนมัติชนิดที่ไม่อาจแบ่งพื้นที่เป็นแนวดิ่งที่เคยเกิดขึ้นได้ชัดเจน จึงเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมที่เกิดในสังคมนักศึกษา

“นักศึกษาทั่วไป” ก็เกิดสนใจและติดตามกระบวนการแบ่งงบประมาณราว 20 ล้านบาทของสโมสรนักศึกษาขึ้นมา[3] สนใจการโกงเงินโครงการหรือแม้กระทั่งสนใจการวิจารณ์ของ “นักศึกษานำ” ต่อการทำงานของสโมสรชุดที่แล้วและบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ขึ้นมาอย่างกว้างขวางในช่วงเลือกตั้งใหญ่นี้ พื้นที่แนวดิ่งที่สร้างและรับรู้โดย “นักศึกษาทั่วไป” นี้จึงถูกทำลายลงก็แต่โดย “นักศึกษานำ” ที่ทำการใส่ตัวก่อปฏิกิริยา (catalyst) ลงไปในสังคมทั้งทางส่วนรวมและทางปัจเจก คือเมื่อถึงช่วงเวลาเลือกตั้งนี้นักศึกษานำมักจะทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ป้ายหาเสียงมากมายพร้อมคำโฆษณานโยบายของพรรคก็จะถูกติดตั้ง บางพรรคมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในทุกเรื่องจากนักศึกษาทั่วไปในช่วงนั้น บางพรรคจัดกิจกรรมแข่งขันฟุตบอลระหว่างคณะขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการหาเสียงของพรรคนักศึกษาทั้งสิ้นที่จะถูกจัดขึ้นเป็นการเฉพาะในช่วงเวลานี้ ส่วนด้านปัจเจกบุคคลแน่นอนว่าคำโฆษณา รูปภาพต่างๆ จะถูกโพสต์และแชร์อย่างมากมายในเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเฉพาะในเฟสบุ๊ค (facebook) รวมถึงการพูดคุยหรือปล่อยข่าวลือทั้งดีและร้ายในกลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มนักศึกษาของตนเองที่สังกัดอยู่

เมื่อสถานการณ์ยิ่งดุเดือดขึ้น การด่าทอและสาดโคลนในทางมืดหรือการเล่นการเมืองใต้ดินของทุกพรรคก็เกิดขึ้น ท่ามกลางนักศึกษาทั่วไปที่เฝ้ามองอย่างใกล้ชิดและก็แสดงความเห็นออกมาเป็นปกติ ยิ่งส่งผลให้พรรคต้องปรับกลยุทธ์ต่างๆ นานาตามนักศึกษาทั่วไปที่เป็นพลังเงียบเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่จะเห็นชัดเจนของการก่อตัวในการเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วมก็คือการมาใช้สิทธิเลือกตั้งของนักศึกษามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี[4] แน่นอนว่าผลเหล่านี้เกิดจากการปรับเอานวัตกรรมข้อมูลข่าวสารออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายและเข้าถึงได้ทุกคนอยู่แล้วของยุคนี้มาใช้

เมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง เขตแดนของพื้นที่แนวดิ่งก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งโดยนักศึกษาทั่วไปอีกเช่นเดิม ผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งกลายเป็นชนชั้นนำของนักศึกษาทั่วไป เป็นคนที่นักศึกษาทั่วไปไม่กล้ารู้จักหรือทักทายด้วยซ้ำ ขณะที่ในระหว่างนักศึกษานำด้วยกันเองคือกลุ่มที่แพ้และกลุ่มที่ชนะการเลือกตั้ง ยังคงจะเล่นการเมืองกันต่อไปในเวทีที่ทำได้ของตนเอง แม้บางครั้งจะมีการเติมตัวก่อปฏิกิริยาก็ไม่ได้ผลในตอนนี้ เช่นการแฉการโกงเงินโครงการบางโครงการของคณะกรรมการบริหารสโมสร เหมือนว่าการปลดป้ายหาเสียงตามถนนหนทางและสี่แยกจะเป็นการปลดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาทั่วไปไปด้วย

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า ที่นักศึกษาทั่วไปรู้แต่ว่าผู้นำนักศึกษาของตนเป็นใคร มาจากคณะอะไร ชนะเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่อะไรเท่านั้น เขาไม่เคยรับรู้และไม่ใคร่จะสนใจต่อว่านักศึกษานำเหล่านั้นจะทำอะไรต่อบ้าง ส่งผลต่อเขาไหม เขาจะได้รับประโยชน์ไหม ช่วงแห่งการเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้านี้จะเกิดขึ้นนานเสียด้วยในรอบปี คือเกิดนอกช่วงการเลือกตั้งใหญ่คิดเป็นราวสิบเดือน

การเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่นำการสื่อสารแบบเครือข่ายออนไลน์เข้ามาสู่ตัวสมาชิกในสังคมทุกคน ได้ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองของนักศึกษาเริ่มจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การแสดงออกและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ความสนใจเหล่านี้กลับเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ของการเลือกตั้งเท่านั้น วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าแบบเดิมที่มีมาก็ยังมีอยู่ต่อไปและกินเวลานานเสียด้วย สังคมนักศึกษาจึงมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าผสมการมีส่วนร่วม ที่ต้องจับตาดูว่าสังคมนักศึกษาจะเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมจริงๆ ได้หรือไม่


อำนาจบงการแนวดิ่งและอำนาจสืบทอดแนวดิ่งในกลุ่มนักศึกษา

การนับถือความอาวุโส (seniority) และการเชื่อฟังคำสั่ง (order) ในแบบที่ตีความตามที่ได้กล่าวไปแล้วในสังคมนักศึกษานั้น เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่รุ่นพี่หรือ “ผู้มาก่อน” เป็นผู้ที่ถูกต้องเสมอและสามารถสั่งการอะไรก็ได้ต่อผู้มาทีหลังหรือ “รุ่นน้อง” โดยรุ่นน้องปราศจากสิทธิที่จะตั้งคำถามหรือความคิดเห็นต่อรุ่นพี่ได้นั้น ทำให้ความเข้มข้นของระบบเผด็จการและการนับถือความอาวุโสทางอายุเป็นสำคัญได้ทวีทั้งความเข้มแข็งขึ้นพร้อมๆ กับการหล่อหลอมให้นักศึกษาไม่รู้จักใช้เหตุผลในสิ่งต่างๆ

ในทุกกลุ่มนักศึกษาทั้ง “องค์กรนักศึกษา” และ “กลุ่มนักศึกษา” ก็ล้วนแล้วแต่มีสภาพความสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งสิ้น ทั้งนี้อาจแตกต่างกันในความเข้มข้นหรือเจือจางของความเป็นเผด็จการและการถือความอาวุโสนี้ ในบางกลุ่มนักศึกษาอาจมองดูจากภายนอกไม่ได้เลยว่ามีระบบแบบนี้อยู่ในความสัมพันธ์เนื่องจากการดำเนินงานหรือกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษานี้เป็นไปโดยธรรมชาติที่ไม่ขัดกับความรู้สึกของกลุ่มนักศึกษาทั้งพี่และน้อง กล่าวคือเป็นเผด็จการและอิงแอบการถือผู้มาก่อนแบบยอมรับโดยสมบูรณ์ ซึ่งสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์น่าจะเป็นภาพตัวอย่างได้ดีถึงความสัมพันธ์เช่นนี้ โดยอาศัยภาพของความเป็นคณะที่รู้กฎหมายรู้สิทธิเสรีภาพ การพูดจาหรือปฏิบัติตัวก็จะเป็นไปอย่างสุภาพเรียบร้อย ไม่มีภาพของความรุนแรงใดๆ ปรากฏขึ้นเลย แต่การบริหารภายในนั้นกลับยังต้องคอยฟังคำสั่งหรือคำแนะนำจากรุ่นพี่อยู่เสมอ ซึ่งมักเป็นการร้องขอของนักศึกษารุ่นน้องด้วยความตั้งใจจริง

ความสัมพันธ์ในกลุ่มนักศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ของ “อำนาจบงการแนวดิ่ง” คือความสัมพันธ์ที่นักศึกษารุ่นพี่มีอำนาจเด็ดขาดจากระบบเผด็จการที่รับมาจากตอนจัดกิจกรรมรับน้อง โดยรุ่นพี่จะสั่งน้องในเรื่องใดหรือกิจใดก็ได้ และนักศึกษารุ่นน้องก็จะปฏิบัติตามโดยง่ายไร้การอุทธรณ์ดังที่อธิบายไว้ หากพิจารณาซีกของผู้เป็นน้องก็อาจเป็นไปได้ว่าต้องการสร้างผลงานหรือแสดงความนับถือเชื่อฟังรุ่นพี่ ซึ่งอาจหมายคาดถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากรุ่นพี่ในอนาคต เป็นรูปแบบของการสังกัดมูลนายหรือศักดินาสวามิภักดิ์ที่ได้กล่าวไปในตอนต้น

ในการเลือกตั้งนายกสโมสรนักศึกษาคณะ ซึ่งเป็นการเมืองเฉพาะในระดับคณะของกลุ่มนักศึกษา ก็มักจะมีการปลุกปั่นกระแสโดยรุ่นพี่ว่าต้องการให้รุ่นน้องเลือกผู้สมัครคนไหนตามที่รุ่นพี่เห็นสมควรหรือสนับสนุนอยู่ ซึ่งแน่นอนว่านักศึกษารุ่นน้องจากลงคะแนนเสียงตามที่รุ่นพี่ร้องขอนี้อย่างเรียบร้อยแน่นอน แต่ต้องตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจบงการแนวดิ่งนี้อาจเป็นเครื่องมือของรุ่นพี่ในกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็ได้ เพราะในหมู่รุ่นพี่ด้วยกันเองก็ย่อมมีหลายกลุ่มที่แน่นอนว่ากำลังต่อสู้ในทางการเมืองกันอยู่ รุ่นน้องในสังกัดมูลนายเหล่านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือชั้นคุณภาพที่ยอมเชื่อฟังและจะลงคะแนนตามที่พี่สั่ง นั่นแปลว่ารุ่นพี่คนไหนหรือกลุ่มไหนมีจำนวนน้องหรือมูลนายในสังกัดมากกว่าก็ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบมากในทางการเมือง

อำนาจบงการแนวดิ่งนี้อาจมีบทบาทที่เห็นได้ชัดในการกลับมาเยี่ยมเยียนรุ่นน้องของรุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้ว ที่ต่างก้อยู่ในหน่วยนักศึกษาเดียวกันซึ่งแน่นอนว่ามีความสนิทมักคุ้นกันดีทั้งระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องหรือแม้กระทั่งระหว่างรุ่นน้องด้วยกันเอง การมาเยี่ยมนี้มักเกิดขึ้นในช่วงที่รุ่นน้องกำลังเตรียมงานหรือจัดกิจกรรมใหญ่ที่สำคัญของปี เช่น กิจกรรมกีฬาระดับมหาวิทยาลัย (sports day) และกิจกรรมประเพณีที่ดังดังคือการรับน้องขึ้นดอย รุ่นพี่ที่มามักจะพูดจาหรือกล่าวตำหนิการดำเนินงานของรุ่นน้องที่ตนเห็นได้และจะให้ดำริหรือแนวความคิดเพื่อให้แก้ไขหรือทำตามสิ่งที่ตัวรุ่นพี่นั้นคิดว่าถูกต้องหรือแค่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งในบางครั้งอาจมีการเห็นต่างระหว่างตัวนักศึกษารุ่นน้องด้วยกันเองที่เห็นด้วยและไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับรุ่นพี่ศิษย์เก่า อันนำไปสู่ความขัดแย้งหรือวิวาทะภายในในกลุ่มนักศึกษาขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วกลายเป็นว่าการฟังและปฏิบัติตามรุ่นพี่นั้นทำให้เกิดปัญหาในหมู่คณะของนักศึกษาปัจจุบันผู้เป็นน้อง

แต่อย่างไรก็ตามวิวาทดังกล่าวกลับกลายเป็นโอกาสของรุ่นพี่ที่จะแสดงความอาวุโสห้ามปรามผ่านทางโอวาทหรือคำว่ากล่าว รุ่นพี่ซึ่งจบการศึกษาไปแล้วจึงกลับมามีบทบาทในการเป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้อาวุโส” ของรุ่นน้องเพื่อสงบศึกภายในซึ่งเกิดจากผู้อาวุโสเองนี้ อันเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระบบพี่น้องเผด็จการโดยการบงการแนวดิ่งให้เข้มแข็งฝังแน่นขึ้นไปอีก

ความสัมพันธ์อีกรูปแบบซึ่งเป็นแนวดิ่งคือสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษารุ่นพี่กับนักศึกษารุ่นน้องโดยได้รับอิทธิพลจากรูปแบบศักดินาสวามิภักดิ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมนักศึกษาดังที่กล่าวไปนั้น คือความสัมพันธ์แบบ “อำนาจสืบทอดแนวดิ่ง” การสืบทอดอำนาจที่ว่านี้ก็คือการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของนักศึกษารุ่นพี่ แน่นอนว่าด้วยความเป็นนักศึกษาที่มีกำหนดเวลาเรียนทั่วไปเพียง 4 ปีนั้นทำให้รุ่นพี่ได้ครองอำนาจในมืออยู่เพียงชั่วขณะเท่านั้น แต่ความผูกพันที่มีทำให้แม้จะสำเร็จการศึกษาออกไปนักศึกษารุ่นพี่เองก็เหมือนจะต้องการมีอำนาจที่ว่านี้อยู่เช่นเดิม

การสืบทอดอำนาจให้นักศึกษารุ่นน้องที่ไว้ใจได้จึงเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อสถานภาพทางการเมืองของตนเองอย่างมาก นอกจากนี้ในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่การมีมวลชนในสังกัดหรือมีนักศึกษารุ่นน้องในมือเป็นจำนวนมากจะทำให้นักศึกษาหรือกลุ่มนักศึกษารุ่นพี่ผู้นั้นมีอำนาจทางการเมืองมากตามไปด้วย และสามารถต่อรองในกิจการเรื่องต่างๆ หรือแม้กระทั่งนำประโยชน์จากการมีรุ่นน้องในสังกัดเหล่านี้มาสร้างฐานเสียงสนับสนุนตนเองให้เติบโตในสายอำนาจผ่านตำแหน่งต่างๆ ในองค์การนักศึกษา อาทิประธานชั้นปีขณะอยู่ปี 2 สามารถใช้ฐานรุ่นน้องของตนสนับสนุนให้เป็นประธานชมรมในปี 3 ได้ และอาจเข้มแข็งถึงขั้นเป็นนายกสโมสรนักศึกษาในปี 4 ได้เลย

นักศึกษารุ่นน้องก็เห็นในประโยชน์จากการสังกัดมูลนายนี้ นอกจากประโยชน์เกี่ยวกับการยอมรับหรือมีที่อยู่ทางสังคมที่เกิดจากระบบห้องเชียร์และการยอมรับของรุ่นพี่แล้ว นักศึกษารุ่นน้องบางคนหรือบางกลุ่มก็จะรักษาความสัมพันธ์แบบศักดินานี้ไว้กับรุ่นพี่ที่ตนเห็นว่าฝากเนื้อฝากตัวได้เพื่อหวังว่าในอนาคตจะได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากนักศึกษารุ่นพี่ที่ตนสังกัดให้ทำหน้าที่หรือดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในกลุ่มนักศึกษา เป็นต้นว่าเป็นประธานนักศึกษาจังหวัด เป็นนายกสโมสรนักศึกษาคณะ เป็นต้น โดยอาจมีการแข่งขันกันระหว่างนักศึกษารุ่นน้องเพื่อสร้างผลงานให้รุ่นพี่เห็นเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจกัน

ด้วยเหตุนี้นักศึกษารุ่นพี่จึงสามารถกำหนดตัวทายาทของตนเองคือผู้ที่จะมาสืบตำแหน่งต่อตนเองในอนาคตได้ แน่นอนว่าตำแหน่งสำคัญต่างๆ ของกลุ่มนักศึกษาจะต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งซึ่งรุ่นพี่ไม่มีสิทธิกำหนดด้วยตนเอง แต่การกำหนดทายาททางการเมืองที่ว่านี้คือการให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่นักศึกษารุ่นน้องที่ตนเลือกผ่านทางวิธีการต่างๆ เช่นใช้อำนาจบงการแนวดิ่งสั่งให้รุ่นน้องในสังกัดของตนลงคะแนนในการเลือกตั้งให้ผู้สมัครที่ตนเลือกดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การกำหนดตัวทายาทนี้นักศึกษารุ่นพี่จะต้องเลือกจากผู้ที่ตนคิดว่าจะสนองผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองได้ดีที่สุด และขณะเดียวกันก็จะต้องมั่นใจว่ารุ่นน้องที่ตนเลือกนี้จะยอมทำตามที่ตนร้องขอหรือชี้นำอย่างแน่นอนในอนาคตซึ่งดูเหมือนเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่อธิบายได้ภายใต้ความเป็นรูปแบบศักดินา การเล่นพรรคเล่นพวกในสังคมนักศึกษาจึงมีความซับซ้อนมากขึ้น

นอกเหนือจากนี้ความสามารถทางการเมืองหรือความกว้างขวางทางการเมืองของนักศึกษารุ่นน้องก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้น้องคนนั้นถูกเลือกเป็นทายาทได้ เพราะความสัมพันธ์เหล่านี้ที่รุ่นน้องมีจะสามารถช่วยให้การดำเนินงานของนักศึกษารุ่นพี่ง่ายขึ้น เป็นไปได้ หรือสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น ผ่านการช่วยประสานงานจากนักศึกษารุ่นน้อง เช่นการเลือกนักศึกษารุ่นน้องผู้ที่รู้จักกลุ่มชมรมนักศึกษาจังหวัดเป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้การประชุมระหว่างชมรมนักศึกษาจังหวัดด้วยกันเองที่มีสโมสรนักศึกษาเป็นตัวกลางจัดประชุม ย่อมเกิดขึ้นโดยง่ายและสัมฤทธิ์ผลตามที่สโมสรนักศึกษาต้องการหากให้นักศึกษารุ่นน้องคนนี้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการประชุม

ระบบรับน้องได้หล่อหลอมความสัมพันธ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์ขึ้นระหว่างนักศึกษารุ่นพี่และรุ่นน้อง ทั้งสองกลุ่มยังคงรักษาความสัมพันธ์แบบนี้เอาไว้ได้ก็ด้วยแต่การได้รับประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องพึงพากัน รุ่นพี่ก็ต้องการเพิ่มกำลังทางการเมืองให้คงเสถียรภาพและสืบทอดต่อไป รุ่นน้องก็ต้องการพื้นที่ทางการเมืองต้องการผู้สนับสนุนเพื่อเติบโตทางการเมืองเช่นกัน จึงกลายเป็นความสัมพันธ์แบบ “อำนาจบงการแนวดิ่งและอำนาจสืบทอดแนวดิ่ง” ที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษา

ความสัมพันธ์ยึดโยงระหว่างกลุ่มนักศึกษาโดยนักศึกษานำ

ความสัมพันธ์ดังกล่าวที่ได้อธิบายมานี้ แน่นอนว่าถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางการเมืองโดยเหล่า “นักศึกษานำ” ไม่ว่ากลุ่มใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะร่วมมือกันหาผลประโยชน์มาสู่หน่วยนักศึกษาของตนและพวกพ้อง เป็นต้นว่าหากผู้นำสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยสนิทสนมกับผู้นำสโมสรนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์แล้ว ในการจัดสรรงบประมาณหรือการอำนวยการจัดกิจกรรมต่างๆ ของสโมสรนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยก็สามารถเอื้อหรืออำนวยประโยชน์ให้สโมสรนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ได้มากหรือง่ายกว่าสโมสรนักศึกษาอื่นที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ยึดโยงร่วมมือกัน ในทางกลับกันฝ่ายสโมสรนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก็จะตอบแทนสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วย อาทิ การลงคะแนนเสียงสนับสนุนหรือไม่คัดค้านญัตติใดๆ ที่เสนอโดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัย หรืออาจเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งให้กับพรรคนักศึกษาที่ดำรงตำแหน่งสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอยู่ในการเลือกตั้งสมัยหน้า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นความสัมพันธ์ยึดโยงระหว่างกลุ่มนักศึกษาโดยนักศึกษานำ ที่อิงและใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการเมืองของนักศึกษาทั้งแบบอำนาจบงการแนวดิ่งและอำนาจสืบทอดแนวดิ่ง อันเกิดจากระบบรับน้องซึ่งเป็นแบบศักดินาสวามิภักดิ์

วัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้าซึ่งโดดเด่นและยาวนานกว่าวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วมของนักศึกษา แน่นอนว่าทำให้ความสัมพันธ์ยึดโยงระหว่างตัวผู้นำนักศึกษานั้น ไม่สามารถรับรู้หรือเป็นที่ชัดเจนในสังคมนักศึกษาทั้งหมด เนื่องจากตัวความสัมพันธ์ก็เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์นี้สามารถสืบทอดต่อได้จากรุ่นสู่รุ่นจากอำนาจบงการแนวดิ่ง โดยทั่วไปแล้วนักศึกษานำรุ่นพี่ที่มีความสัมพันธ์ยึดโยงกัน ก็จะแนะนำหรือนำพาให้ทายาททางการเมืองของตนเองมาร่วมประสานงานหรือทำงานด้วย จึงทำให้เวลาต่อมาที่แม้แต่นักศึกษานำเดิมจะจบการศึกษา นักศึกษานำรุ่นใหม่ก็ยังจะสามารถสืบทอดรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้

ชัยชนะของพรรคนักศึกษาในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสโมสรนักศึกษาทุกปีนั้น ก็ล้วนแต่มีความสัมพันธ์ยึดโยงระหว่างกลุ่มนักศึกษาโดยนักศึกษานำนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะถ้าหากมีพันธมิตรทางการเมืองมากแล้ว นักศึกษานำรุ่นพี่ที่เป็นผู้นำหน่วยนักศึกษาพันธมิตรก็จะสามารถสั่งหรือบงการให้นักศึกษาในสังกัดของตนลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคนักศึกษาที่ตนต้องการได้ โดยหวังผลตอบแทนจากพรรคนักศึกษานั้นในการเอื้อประโยชน์ให้แก่หน่วยนักศึกษาของตนที่ตนเป็นนักศึกษานำ ในปีต่อไปนั่นเอง

ความสัมพันธ์ในสังคมนักศึกษาที่เป็นผลผลิตจากระบบรับน้องที่ส่งผ่านมาตั้งแต่อดีต ที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากอดีตอยู่บ้างแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งการปลูกฝังความเป็นเผด็จการ พร้อมกับหล่อหลอมให้สภาพความสัมพันธ์ของนักศึกษารุ่นพี่และนักศึกษารุ่นน้องให้กลายเป็นความสัมพันธ์แบบมูลนายหรือศักดินาสวามิภักดิ์ขึ้น สำหรับปัจจัยเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ง่ายและมากขึ้นกว่าเดิมของผู้คนในศตวรรษปัจจุบัน และการประยุกต์ใช้ทักษะด้านข้อมูลข่าวสารนี้ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของมนุษย์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 กับถูกนักศึกษานำมาเป็นทักษะในป้องกันสังคมตนเองให้บุคคลภายนอกไม่สามารถสืบเห็นความไม่ถูกต้องถูกร่องถูกรอยของระบบรับน้อง ผ่านการปกปิด และอำพรางความจริงด้วยวิธีการต่างๆ นานา และปัจจัยสุดท้ายซึ่งก็คือเงื่อนไขที่นักศึกษามีจำนวนมาก ทำให้ความทั่วถึงของข่าวสารข้อมูลและการมีส่วนร่วมในกิจการต่างๆ ของนักศึกษาเกิดขึ้นได้ไม่ทั่วถึงและสมบูรณ์ ทั้งหมดเหล่านี้จึงเกิดรูปแบบความสัมพันธ์ทางการเมืองของนักศึกษาที่มีอิทธิพลจากการรับน้องขึ้น คือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าผสมการมีส่วนร่วม อำนาจบงการแนวดิ่งและอำนาจสืบทอดแนวดิ่งในกลุ่มนักศึกษา จนนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากรูปแบบความสัมพันธ์เหล่านี้ของกลุ่มนักศึกษานำผ่านความสัมพันธ์ยึดโยงระหว่างกลุ่มนักศึกษาโดยนักศึกษานำ เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองในระดับนักศึกษาต่อไป.

 

เชิงอรรถ

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2534, ธันวาคม). พื้นที่ในคติไทย. ศิลปวัฒนธรรม, 13(2), 185-187. 

[2] ระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2554 กำหนดให้คุณสมบัติและสมาชิกภาพของคณะกรรมการสโมสรคณะ เป็นไปตามประกาศหรือการกำหนดของคณะนั้นๆ การเลือกตั้งนายกสโมสรนักศึกษาคณะหรือคณะกรรมการสโมสรคณะจึงอาจไม่พร้อมกันในแต่ละคณะก็ได้

[3] สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เอกสารจัดสรรงบประมาณองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2558.

[4] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เอกสารการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการบริหารสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2557, 12 กันยายน 2556.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net