ต้องทำให้การลงประชามติมีความหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในการลงประชามติ จะทำอย่างไรต่อไป ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีข้อเสนอที่น่าสนใจมาจาก สปท.บางท่านที่เสนอให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญปี 50 และให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่

แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายเคยเสนอทำนองนี้มาแล้ว แต่นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับแม่น้ำ 5 สาย ข้อเสนอนี้เป็นการแสดงการยอมรับต่อการตัดสินของประชาชนและทำให้การลงประชามติเป็นเรื่องที่มีความหมายขึ้นมา แตกต่างจากที่ผู้มีอำนาจพูดกันอยู่อย่างมาก ผู้ที่เสนอแนวความคิดนี้ชี้แจงว่าจะเสนอเรื่องนี้ให้พิจารณากันในคณะกรรมาธิการการเมืองฯและสปท.ต่อไป

ผมหวังว่าข้อเสนอนี้จะเป็นที่ยอมรับและได้รับการผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เสียงเรียกร้องในทำนองเดียวกันนี้จะดังขึ้นเรื่อยๆเพราะการลงประชามติที่มีกติกาว่าถ้าผ่านได้ร่างที่มาจาก คสช. ถ้าไม่ผ่านก็จะได้ร่างของ คสช.อีกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล

แต่ข้อเสนอลักษณะนี้ก็อาจมีผู้ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่างๆกันไป จะให้ใครตัดสิน หากจะให้ คสช.ตัดสินก็จะมีคำถามว่าเมื่อไม่ผ่านแล้ว คสช.ยังมีความชอบธรรมที่จะร่างต่อไปอีกหรือ ผมจึงยังคงเห็นว่าควรจะเพิ่มคำถามในการลงประชามติว่าถ้าไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อไป จะให้ใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญและจะให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาอะไร

ผมคิดว่า คสช.และรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้อึมครึมไปเรื่อยๆอย่างที่ทำอยู่ โดยเฉพาะไม่ควรออกข่าวหรือทำให้คนเข้าใจว่าถ้าร่างไม่ผ่านในการลงประชามติ คสช.ก็จะทำอะไรตามใจชอบและจะได้ร่างที่แย่กว่าเดิม ที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการประกาศในวันท้ายๆก่อนการลงประชามติว่าถ้าร่างไม่ผ่าน คสช.จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนถึงขั้นทำให้ผลการลงประชามติจะพลิกไปทางใดทางหนึ่งได้เลย

เข้าใจว่า คสช.และรัฐบาลกำลังคิดอยู่ว่าถ้าร่างไม่ผ่านจะทำอย่างไร ที่ผมอยากเสนอความเห็นก็คือ อยากให้ท่านคิดออกมาดังๆคือคิดอะไรก็พูดออกมาให้ประชาชนได้ทราบ ประชาชนก็จะได้แสดงความเห็น และท่านก็จะได้ไปชั่งน้ำหนักให้ดีเสียก่อน แล้วจะสรุปว่ามีแผนอย่างไรหรือไม่ก็บอกกันเสียเนิ่นๆ ไม่ใช่เก็บเงียบไว้เพื่อใช้เป็นไม้ตายในช่วงโค้งสุดท้ายซึ่งจะกลายเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง

ขณะนี้มีคนจำนวนมากให้ความสนใจว่าการลงประชามติที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ ผมคิดว่าคสช. รัฐบาลและ กกต.น่าจะได้หารือกันและชี้แจงเสียให้ชัดว่าการลงประชามติจะทำกันอย่างไร ใครทำอะไรได้แค่ไหนกันแน่ ถ้าดูตามกฎหมายแล้วการรณรงค์หรือสื่อสารต่อกันให้คนออกเสียงไม่เห็นด้วยก็สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เวลานี้เหมือนกับว่าท่านให้ฝ่ายสนับสนุนพูดได้ฝ่ายเดียวและยังให้ผู้มีอำนาจสามารถชี้นำได้ตามสบายด้วย แต่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกลับมีข้อจำกัดสารพัดไปหมด จนไม่รู้ว่าท่านกำลังใช้กฎหมายฉบับไหน

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดกันมากขึ้นก็คือกลัวจะมีการโกงในการลงประชามติ กกต.น่าจะชี้แจงให้ชัดว่าการนับคะแนนจะทำที่หน่วยหรือนับรวมที่ไหน ที่หน่วยออกเสียงแต่ละหน่วยจะมีผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญสามารถเสนอตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยได้หรือไม่ ที่เสนอเรื่องนี้เพราะในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหรือผู้สมัครสามารถส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์ได้ทำให้เกิดการคานกันไปมา การโกงที่หน่วยจึงทำได้ยาก แต่ถ้าการลงประชามติไม่มีผู้สังเกตการณ์ เกรงว่าจะมีการกาบัตรใส่หีบกันตามใจชอบ เรื่องเหล่านี้ควรจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและทำให้ถูกต้องชัดเจนเสียแต่ต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท