Skip to main content
sharethis

เปิดรายงาน ‘ทบทวนการใช้กลไกทางกฎหมายกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ 2 ปีการหายไปของบิลลี่ กับความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง’ โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ที่ด่านเขามะเร็ว ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าบิลลี่มีรังผึ้งและน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง หลังจากนั้นบิลลี่ก็หายตัวไปโดยไม่ทราบชะตากรรมจนกระทั่งบัดนี้ แม้ภายหลังนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะอ้างว่าได้ทำการตักเตือนและปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏหลักฐานที่อ้างเกี่ยวกับการจับกุมและหลักฐานการปล่อยตัวแต่อย่างใด

บิลลี่เป็นแกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ช่วยทนายความในคดีที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อศาลปกครองกลาง จากกรณีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ที่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ตาม“โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” หรือ “ยุทธการตะนาวศรี” เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แม้จะปรากฏผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมชาวปาเกอญอที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว ขณะที่บิลลี่หายตัวไปนั้นอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าว นอกจากนี้ บิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้ เรายังเชื่อด้วยว่านายบิลลี่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและกรณีร้องเรียนดังกล่าวอยู่กับตัวด้วยในขณะที่หายไป

หลังจากที่บิลลี่ถูกบังคับให้หายตัวไป ครอบครัวของเขา รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและระหว่างประเทศหลายองค์กร ได้พยายามเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนหาตัวบิลลี่และนำตัวผู้กระทำมาลงโทษ ผ่านการใช้กลไกทางกฎหมายหลากหลายช่องทาง แต่ 2 ปีผ่านไป การดำเนินการเหล่านั้นกลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

การดำเนินคดีอาญาถือเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการที่จะสืบหาตัวบิลลี่ที่สูญหายไปและนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เขาหายไปมารับโทษอย่างเหมาะสม การสืบสวนสอบสวนเริ่มต้นขึ้น เมื่อนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 หลังจากนั้นวันที่ 22 เมษายน 2557 พล.ต.ต.พีรชาติ รื่นเริง ผบก.เพชรบุรี ก็ได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดี ในการสืบสวนสอบสวนได้มีการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง และได้ลงพื้นที่ติดตามร่องรอยตามเส้นทางที่คาดว่าบิลลี่หายไป แต่ที่น่าเสียดายคือหลังจากได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบิลลี่แล้ว คณะสืบสวนสอบสวน ได้เพียงแต่สรุปสำนวนส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เท่านั้น[1] ส่วนคดีอาญาเกี่ยวกับการบังคับให้บิลลี่หายตัวไปยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

การดำเนินการของ ป.ป.ท. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้รับเรื่องกล่าวโทษนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรจากสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 รวมทั้งรับสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 แล้ว ก็ได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนอย่างเร่งด่วน เพราะคดีนี้ทางตำรวจ สภ.แก่งกระจานเป็นผู้ส่งสำนวนและเอกสารขอให้ป.ป.ท.เร่งดำเนินการ[2] ซึ่งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 เลขาธิการ ป.ป.ท. ออกมาเปิดเผยว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้เดินทางเข้าพบอนุกรรมการไต่สวนที่สำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว และปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวนซึ่งจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรม ป.ป.ท. เพื่อชี้มูลว่ามีความผิดหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน[3]

นับแต่วันดังกล่าวจนถึงบัดนี้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ในส่วนของการสืบสวนสอบสวนหาตัวบิลลี่และการดำเนินคดีฐานความผิดอื่นที่เกี่ยวกับการทำให้บิลลี่หายไปก็ยังไม่สามารถคลี่คลายได้ แม้มีพยานบุคคลและพยานแวดล้อมที่น่าเชื่อได้ว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนบังคับให้นายพอละจีหายไปโดยไม่มีการปล่อยตัวตามที่นายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่กระจานกล่าวอ้างก็ตาม ในส่วนการดำเนินการของ ป.ป.ท. ที่รับไม้ต่อมาจากตำรวจให้ดำเนินการกับนายชัยวัฒน์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ก็ยังคงรอคอยต่อไปว่าคณะกรรมการ ป.ป.ท. จะชี้มูลออกมาในแนวทางใด

กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่รับกรณีการบังคับสูญหายกรณีของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ลงพื้นที่แก่งกระจานตามความคืบหน้าคดีบิลลี่ มาตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งก็พบพิรุธจากภาพของกล้องวงจรปิดที่ด่านมะเร็ว ที่หัวหน้า อช.แก่งกระจานอ้างว่ารถ จยย.บิลลี่ จอดอยู่ที่ด่านแต่ในภาพกล้องวงจรปิดกลับไม่มีรถจักยานยนต์แต่อย่างใด[4] และวันที่ 19 สิงหาคม 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็ได้ลงพื้นที่อำเภอแก่งกระจานอีกครั้ง โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากจะมีการสอบปากคำพยานชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้จุดที่มีการอ้างว่าบิลลี่ถูกนำตัวมาปล่อยไว้ก่อนจะหายตัวไป จุดประสงค์เพื่อต้องการหาเส้นทางการหายตัวที่แน่ชัด พร้อมกันนี้ยังได้นัดเก็บ “ดีเอ็นเอ” ลูกชายของนายบิลลี่ เพื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับวัตถุพยานสำคัญที่เก็บได้ก่อนหน้านี้ในรถปิกอัพที่ใช้เป็นพาหนะนำตัวบิลลี่ไปสอบปากคำและนำตัวไปปล่อย[5] หลังจากนั้น วันที่ 19 กันยายน 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อเก็บหลักฐานเพิ่มเติม และส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบอีกครั้ง หากผลดีเอ็นเอตรงกันก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีได้ โดยดีเอ็นเอที่เจ้าหน้าที่เก็บมาตรวจมีเพียงคราบเลือดเท่านั้น และผลการตรวจสอบดีเอ็นเอดังกล่าวพบว่าเป็นคราบเลือดของมนุษย์เพศชาย[6]

อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ ก็ได้เข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อยื่นหนังสือขอให้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ และขอให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากที่ผ่านมาคดียังไม่มีความคืบหน้า โดยขอให้ใช้พนักงานสอบสวนชุดเดิมทำงานควบคู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่หลังจากที่ยื่นเรื่องดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ผ่านมาเกือบจะ 9 เดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆในการที่ DSI จะรับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งยิ่งหากมีการดำเนินการล่าช้าออกไปอีก การสืบสวนสอบสวนก็จะยิ่งยากลำบาก เพราะพยานหลักฐานอาจสูญหายหรือถูกทำลายไปได้

การดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

หลังจากทราบข่าวบิลลี่หายไปรวม 7 วัน ในวันที่ 24 เมษายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน โดยมีการสืบพยานรวมทั้งสิ้น 12 ได้แก่ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่ ในฐานะผู้ร้อง และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีกจำนวน 4 คน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักศึกษาฝึกงาน 2 คน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และพยานผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2557

17 กรกฎาคม 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีก็ได้มีพิพากษายกคำร้องของนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ โดยระบุว่า พยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้ทนายความฝ่ายผู้ร้องจะนำพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาเบิกความต่อศาลได้ความว่าคำให้การนักศึกษาฝึกงานในชั้นพนักงานสอบสวนขัดกับคำให้การในชั้นศาล แต่พยานปากพนักงานสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าจึงไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น จากการไต่สวนพยานทั้งหมดแล้วยังฟังไม่ได้ว่านายบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน[7]

16 กันยายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีที่มียกคำร้อง ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดเพชรบุรีให้ยกคำร้อง โดยเนื้อหาในคำพิพากษาระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่ ส่วนพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น[8]

27 เมษายน 2558 นางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2558 ศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องเช่นเดียวกับศาลจังหวัดเพชรบุรี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และข้อเท็จจริง ดังนี้[9]

1. เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องของนางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่ ศาลชั้นต้นต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลจึงมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามคำร้องและทางไต่สวนของผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้คุมขังนายบิลลี่และให้นำตัวนายบิลลี่ผู้ถูกคุมขังมาศาล และให้นายชัยวัฒน์กับพวกดังกล่าวแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายชัยวัฒน์ และร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันมาไต่สวนโดยไม่ได้มีคำสั่งก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

2. ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลขั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก โดยพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ นางสาวพิณนภาและนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้หรือไม่ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ไม่สามารถรับฟังได้เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในศาลชั้นต้น

กระบวนการตรวจสอบภายในหน่วยงาน

22 เมษายน 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้มีจดหมายเปิดผนึกขอให้กรมอุทยานฯ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากนั้นวันที่ 23 เมษายน 2557 นายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้ลงนามในคำสั่งที่ 910/2557 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ ทั้งนี้ คำสั่งได้ระบุให้ คณะกรรมการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวให้ได้ความชัดเจนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการรับทราบคำสั่ง[10]

14 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง นำเสนอผลการสอบสวนระบุว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร มีมูลความผิดวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบวินัยข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ส่วนความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ผู้กระทำแม้จะมีหน้าที่ราชการจะต้องปฏิบัติ ได้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบแล้วก็ตาม แต่มิได้กระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพฤติการณ์ยังไม่พอรับฟังได้ว่าผู้กระทำกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด สำหรับกรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ หายตัวไป เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หรือบุคคลใดหรือไม่ เพียงใดนั้น คณะกรรมการเห็นว่ากรณีอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ไปประจำอยู่ที่สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี[11] ต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน 2557 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ให้ไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง[12]

22 สิงหาคม 2557 คำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1939 /2557 ลงวันที่ 22 สิงหาคม ให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ให้เดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557[13] ซึ่งนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงว่า คำสั่งให้ นายชัยวัฒน์ กลับไปทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน มีผลถึงวันที่ 30 กันยายนนั้น เนื่องจากยังมีแผนงานตามปีงบประมาณ 2557 ที่ยังคงค้างและ นายชัยวัฒน์ ต้องดำเนินการต่อเนื่องให้แล้วเสร็จ ก่อนเริ่มปีงบประมาณ 2558 รวมทั้งทางองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) จะเข้าประเมินพื้นที่เตรียมประกาศมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ เมื่อหมดภารกิจตรงนี้ นายชัยวัฒน์ ก็ยินดีจะออกมา[14]

1 ตุลาคม 2557 นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีคำสั่งที่ 2383/2557 โยกย้ายให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ให้ไปปฏิบัติราชการให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 -5 ตุลาคม 2557 และให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ในตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำเป็นต้นไป โดยให้นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มาปฏิบัติหน้าที่หัวอุยานแห่งชาติแก่งกระจานแทน มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2557

ล่าสุด 7 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคม 22 องค์กร นำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เข้ายื่นจดหมายร้องเรียนต่ออธิบดีกรมอุทยานแงชาติฯ ขอให้สั่งพักราชการนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เพื่อรอฟังผลการสอบสวนหรือผลแห่งคดีที่ถูกฟ้องคดีอาญาต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา จากกรณีที่มีฟ้องร้องในคดีอาญาในเหตุการณ์เผาทำลายบ้านที่พักอาศัย ยุ้งฉาง และข้าวของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดั่งเดิม จนมาสู่กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดคือ กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ ซึ่งถูกนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานอีก 3 นายควบคุมตัวไว้ และหลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นบิลลี่อีกเลย ทั้งยังเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เรื่องการเผาบ้านที่อยู่อาศัย ยุ้งฉาง ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเรื่องการหายตัวไปของบิลลี่[15]

การตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

25 เมษายน 2557 มีการประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบเรื่องการหายตัวของบิลลี่ ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อบ่ายวันที่ 17 เมษายน 2557 ในบริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฎผลการตรวจสอบเรื่องการหายตัวของบิลลี่ดังกล่าวจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

บทสรุป 2 ปีการใช้กลไกทางกฎหมายกรณีการหายตัวไปของบิลลี่

จากการติดตามกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี แม้ว่าจะมีการใช้กลไกทางกฎหมายหลากหลายช่องทางเท่าที่เป็นไปได้ รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวติดตามอย่างใกล้ชิดจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ แต่ก็พบว่า การดำเนินการสืบสวนหาตัวบิลลี่ และนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยังมีข้อจำกัดและยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ผ่านไป 2 ปี การสืบสวนสอบสวนยังไม่คืบหน้า และ DSI ยังไม่รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ

การดำเนินการโดยการสืบสวนสอบสวนโดยตำรวจในพื้นที่ แม้จะมีความตั้งใจในการสืบสวนสอบสวน แต่ด้วยทรัพยากรและเครื่องมือที่จำกัด รวมทั้งการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ไม่ได้เต็มที่นัก ประกอบกับคดีเกี่ยวกับการบังคับให้หายสาบสูญโดยสภาพเป็นคดีที่ทำการสืบสวนสอบสวนยากอยู่แล้ว เพราะจะไม่ค่อยปรากฏพยานหลักฐานใดๆให้ตรวจสอบ และยิ่งเป็นคดีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการข่มขู่พยาน ก็ยิ่งจะทำให้การสืบสวนสอบสวนคดีมีความยากลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในคดีลักษณะเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่มีอำนาจพิเศษและมีเครื่องมือที่พร้อมกว่าตำรวจในท้องที่ จะต้องเข้ามาสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน

บทเรียนการขอให้ปล่อยตัวบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับกระบวนการตรวจสอบโดยศาลที่ยุติลงบนชะตากรรมที่มืดมนของผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ

หลังจากที่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 ซึ่งทั้ง 3 ชั้น ทั้งศาลจังหวัดเพชรบุรี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกาต่างก็มีคำสั่งยกคำร้อง โดยศาลจังหวัดเพชรบุรีและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้เหตุผลว่าพยานที่นำมาสืบฟังไม่ได้ว่านายบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

แม้ผู้ร้องได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยนำเสนอประเด็นที่สำคัญคือ การให้ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมตัว และตุลาการจะต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ถึงที่สุดว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่

อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกคำร้องเช่นเดียวกันกับ 2 ศาลล่าง โดยรายละเอียดในคำวินิจฉัยที่น่าสนใจ คือ

1. ศาลฎีกาเห็นว่า พยานปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้ เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ได้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีมีมูลหรือไม่ แต่มีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คำเบิกความของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้

2. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล โดยพิจารณาจากเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ นางสาวพิณนภาและนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก เพราะนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้ตามที่กล่าวไปในข้อ 1 ทั้งนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานปากนางสาวพิณนภา และนายกระทง เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้หรือไม่ ส่วนพยานปากนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เป็นช่องทางหนึ่งในกรณีที่รู้หรือสงสัยว่าบุคคลใดถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นมาตรการที่อาจใช้เพื่อป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ ปัญหาและช่องว่างในการพิจารณาคดีประเภทนี้คือ ผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกคุมขังจะอยู่ในการควบคุมหรือคุมขังของเจ้าหน้าที่ ประจักษ์พยานก็มักจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ พยานเอกสาร พยานวัตถุ ก็มักจะอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้ร้องซึ่งเป็นญาติของผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกคุมขังเป็นฝ่ายพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าบุคคลใดถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลักการจึงควรเป็นภาระการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวหรือคุมขังเป็นฝ่ายพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อศาล

คำพิพากษาของทั้ง 3 ชั้นศาล แสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมไทย ได้เป็นอย่างดี โดยหลักการในการดำเนินคดีอาญานั้น ต้องเป็นไปตาม “หลักการตรวจสอบค้นหาความจริง” โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศาลต้องร่วมมือกันในการค้นหาความจริงในเนื้อหาของคดี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้กำหนดบทบาทของศาลในการค้นหาความจริงไว้[16] แต่ในทางปฏิบัติศาลไม่ได้ใช้บทบาทดังกล่าวมากนักหรือแทบไม่ใช้เลย โดยศาลจะปล่อยให้คู่ความต่อสู้กันเหมือนอย่างในคดีแพ่ง ส่วนศาลก็จะวางเฉยเป็นเสมือนกรรมการเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเข้าใจของศาลในเรื่อง “ความเป็นกลาง” กับ “บทบาทในการตรวจสอบค้นหาความจริง” ไม่ถูกต้อง ศาลจะเข้าใจว่าหากใช้บทบาทในการค้นหาความจริง ก็จะเป็นการเข้าข้างคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้กระทบต่อความเป็นกลางของศาลได้[17]

ในการไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยตัวจากการควบคุมตัวโดยมิชอบในกรณีของบิลลี่ก็ไม่ต่างกัน แทนที่ศาลจะใช้บทบาทในเชิงการตรวจสอบค้นหาความจริงอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะทราบว่าบิลลี่ถูกควบคุมตัวไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ใช้เพียงการนั่งฟังการสืบพยานที่ถูกนำเสนอเข้ามาเท่านั้น โดยละเลยที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานอื่น ส่วนคำพิพากษาของศาลฎีกานั้นยิ่งแสดงให้เห็นถึงการลดทอนการตรวจสอบค้นหาความจริงในเนื้อหาลงไปอีก เพราะนำข้อกฎหมายในเชิงเทคนิคมาวินิจฉัยตัดพยานออกไปแทบทั้งหมด ส่วนพยานปากที่เหลืออยู่ซึ่งพอให้รับฟังได้ ศาลก็กลับบอกว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า แต่ก็ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด เพราะก็มีข้อยกเว้นที่ศาลจะรับฟังได้ ได้แก่ (1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ (2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น[18] ดังนั้น การที่ศาลอ้างว่าเป็นพยานบอกเล่าและไม่ได้พยายามค้นหาความจริงในเนื้อกาต่อจากถ้อยคำของพยานเหล่านั้น จึงเท่ากับศาลได้ละเลยหลักความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก หากใช้การต่อสู้แบบคู่ความ คนด้อยสิทธิในสังคมย่อมตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ อีกทั้งอาชญากรรมในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการอำนาจรัฐอิทธิพลท้องที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ศาลไม่ใช้บทบาทเชิงรุกในการค้นหาความจริง ก็อาจทำให้ผู้กระทำความผิดที่แท้จริงลอยนวลได้ และไม่สามารถปกป้องสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ข้อเรียกร้อง

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศต่างมีข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วและอย่างเป็นอิสระ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดความรับผิดทางอาญากรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายตามกฎหมายของไทย แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอเสนอให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

1. ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดเดิมของพื้นที่ที่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่แล้วร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในคดีด้วย ทั้งนี้ ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของบิลลี่

2. ขอให้เร่งดำเนินการตราพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... โดยเร่งด่วน ทั้งนี้ เนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ โดยกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา และให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ โดยไม่ชักช้า เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศในการป้องกันการกระทำผิดและมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3. ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า การบังคับบุคคลให้สูญหาย กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย

4. นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับบุคคลใดๆให้สูญหายไปอีก จึงขอให้ยกเลิก ระเบียบ กฎ ที่เอื้อให้มีการควบคุมตัวลับ การควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวหรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น การควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ เป็นต้น และรัฐต้องกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่เริ่มสูญสิ้นเสรีภาพ ได้แก่ การห้ามจำกัดเสรีภาพโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกและการห้ามควบคุมตัวในสถานที่ลับ มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นอิสระโดยพลัน สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เป็นอิสระ ตลอดจนมีการบันทึกข้อมูลผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันการบังคับให้หายสาบสูญ ตลอดจนประโยชน์ในการติดตามและสืบสวนสอบสวนเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เป็นต้น

 




[1] http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRReE1UWTBOalV5TWc9PQ==

[2] http://www.komchadluek.net/detail/20140719/188536.html

[3] http://prachatai.com/journal/2016/02/64117

[4] http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000067875

[5] http://www.dailynews.co.th/Content/Article/261209/‘ดีเอสไอ’+ลงพื้นที่ป่าแก่งกระจาน+ลุยเก็บดีเอ็นเอพิสูจน์ไขคดี+‘บิลลี่’

[7] สามารถเข้าถึงคำพิพากษาศาลจังหวัดเพชรบุรีฉบับเต็มได้ผ่านลิ้ง https://voicefromthais.files.wordpress.com/2016/04/e0b884e0b8b3e0b8aae0b8b1e0b988e0b887e0b8a8e0b8b2e0b8a5-17-7-14-ciourt-order-17-7-14.pdf

[8] สามารถเข้าถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฉบับเต็มได้ผ่านลิ้ง https://voicefromthais.files.wordpress.com/2016/04/e0b884e0b8b3e0b89ee0b8b4e0b89ee0b8b2e0b881e0b8a9e0b8b2e0b8a8e0b8b2e0b8a5e0b8ade0b8b8e0b897e0b898e0b8a3e0b893e0b98ce0b884e0b894e0b8b5.pdf

[9] สามารถเข้าถึงคำพิพากษาศาลฎีกา ฉบับเต็มได้ผ่านลิ้ง https://voicefromthais.files.wordpress.com/2016/04/e0b884e0b8b3e0b89ee0b8b4e0b89ee0b8b2e0b881e0b8a9e0b8b2e0b8a8e0b8b2e0b8a5e0b88ee0b8b5e0b881e0b8b2e0b884e0b894e0b8b5e0b89ae0b8b4e0b8a5.pdf

[10] http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/28871-billy5.html

[11] http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/ภาคกลาง/299241/กรมอุทยานฯสอบชัยวัฒน์ผิดตามม-157

[12] http://www.komchadluek.net/detail/20140612/186346.html

[14] http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=561050

[15] https://www.isranews.org/isranews-news/item/46086-news_46086.html

[16] โปรดดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 228, 229, 230, 235

[17] วิภา ปิ่นวีระ, บทบาทของศาลในการพิจารณาคดีอาญา, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550

[18] โปรดดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net