รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดวางโครงสร้างสังคมไทยไว้อย่างไร / สังคมวิทยาการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ที่ผ่านมามีทั้งนักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญไว้  แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีความสำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศ ทั้งยังจะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีกยาวนานเพราะยากที่จะแก้ไข จึงสมควรที่สังคมจะได้ตั้งคำถาม ให้ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ก่อนที่จะตัดสินใจลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้   นอกจากมุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์แล้ว ในที่นี้จะขอเสนอมุมมองทางสังคมวิทยาการเมืองซึ่งมีคำถามต่อร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประการ  ที่คิดว่ามีความสำคัญมากสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน  ดังนี้

1. ประชาชนคนเล็กคนน้อย คนยากจน  ประชาชนผู้ถูกกระทำจากนโยบายของรัฐ ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้ประโยชน์อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ?

2. แน่ใจหรือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะ “ปราบโกง” ได้ โดยไม่สร้าง “คนโกง” กลุ่มใหม่ขึ้นมา

3. บทบัญญัติส่วนใดของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แตกแยก ของคนในชาติ?

จากการอ่านบทบัญญัติที่เขียนไว้ นอกจากรัฐธรรมนูญจะไม่มีคำตอบให้กับคำถามข้างต้นแล้ว ยังพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้  ทำหน้าที่ผลิตสร้าง จัดวาง ช่วงชั้นทางสังคมที่จำแนกแตกต่างประชาชนในสังคมออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่สั่งสมจนกลายเป็นวิกฤติในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาขยายขอบเขตความรุนแรงกว้างขวางมากยิ่งขึ้น  กล่าวคือ

1. ปัญหาสำคัญของประเทศนอกจากจะถูกละเลยแล้ว ยังมีแนวโน้มว่ารัฐธรรมนูญนี้จะให้การรับรอง ทำให้สิ่งที่เป็นปัญหากลายเป็นประเพณีปฏิบัติ และมีความชอบธรรม   จากการการใช้อำนาจรัฐในการบริหารประเทศที่ผ่านมา

1.1 ปัญหาการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต การควบคุม กักขังหน่วงเหนี่ยว นำพลเมืองขึ้นศาลทหาร ปรับทัศนคติ การล่วงละเมิดต่อสิทธิชุมชน และสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน ชาวชนบท

1.2 ความเสื่อม ความบกพร่อง ของการทำหน้าที่ของสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม การพัฒนาประเทศ และความมั่นคงของชาติ

1.3 ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของการพัฒนาประเทศ ที่แบ่งคนเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญแตกต่างกัน คนชนบทในความหมายเกษตรกร ชาวนา แรงงาน คนตัดหญ้า ผู้เขลาซื่อ กับคนเมืองผู้ทำหน้าที่พลเมืองของชาติอย่างแข็งขัน

1.4 วงจรการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการกระทำ รัฐประหาร กลายเป็นประเพณีปฏิบัติและได้รับการรับรองโดยกฎหมาย

ทั้งนี้จะเห็นได้จากบทเฉพาะกาล “มาตรา 249  บัญญัติรับรองไว้ว่า บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไป ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้นเป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป”

ทำให้คิดต่อไปได้ว่า การกระทำ คำวินิจฉัยที่ ผลิตซ้ำปัญหาดังกล่าวข้างต้นจะกลายเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 สืบไป

ปัญหาสี่ประการข้างต้นนอกจากจะคงดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไทย หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

2. สร้างบรรทัดฐานสำคัญของชาติ ขึ้นมาใหม่

2.1  จากระบบการเลือกตั้ง และการจัดวางบทบาทความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่า  มีการแบ่งคนในสังคมเป็น 2 ประเภท คือคนดี ที่ได้มาด้วยการเกิดในชาติตระกูลดี และสถานภาพที่่ได้รับการยกย่องรับรอง (achieved status)  คนกลุ่มนี้คือคนมีฐานะทางเศรษฐกิจ เกิดในตระกูลคนชั้นสูง แม่ทัพ ขุนศึก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  มีแนวโน้มที่ถูกจัดวางให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อาทิ นายกรัฐมนตรี (มาจากบุคคลที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่ไม่จำเป็นว่าบุคคลนั้นจะต้องได้รับการเลือกตั้ง)  รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ (ดูที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 200) กรรมการปฏิรูปประเทศ  ส่วนคนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ต้องจำกัด ควบคุม เป็นพวกนักการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือถูกมองว่าเกี่ยวข้องในโครงข่ายของ "ระบอบทักษิณ" คนกลุ่มนี้ถูกเลือกโดยประชาชนแต่ได้จำกัด บทบาท อำนาจ และจำนวนไว้จนแทบจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชนได้

โดยรัฐธรรมนูญนี้มีวิธีคิดแบบง่ายๆ ว่า ส่งเสริมให้คนดีขึ้นมามีอำนาจ และกีดกัน ขจัดคนไม่ดีไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจ จะเห็นได้จากระบบการเลือกตั้งที่ไม่เปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อีก ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญมองว่าคนดี คือคนที่มาจากการแต่งตั้ง สรรหา เลือกกันเอง แต่คนไม่ดีคือคนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา

ดังที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิเลือก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต สามร้อยห้าสิบคน แต่อีกหนึ่งร้อยห้าสิบคนในแบบบัญชีรายชื่อ ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกโดยตรง รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำคะแนนที่ได้จากการเลือกสามร้อยห้าสิบคน มาคำนวณ ซึ่งวิธีการคำนวณจะทำให้ พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. อันดับ 1 อาจไม่ได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือได้ก็มีจำนวนน้อยมาก  แต่พรรคการเมืองตามลำดับถัดมายิ่งได้จำนวน ส.ส. เขตเลือกตั้งน้อยกลับยิ่งทำให้ได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมาชดเชยจำนวนมากขึ้น  ดังนั้นประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แต่ถูกลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งจากการเพิ่มขึ้นของจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจาก 100 คนในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนโดยตรง เป็น 150 คน โดยที่ประชาชนไม่ได้ลงคะแนนเลือกโดยตรง และการไม่ได้เลือกตั้งวุฒิสภา 200 คน แต่วุฒิสภามาจากการเลือกกันเอง (มาตรา 83 มาตรา 91 มาตรา 107) ระบบการเลือกตั้งจึงไม่ได้สนองตอบต่อเจตจำนงของประชาชน ทั้งที่มาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”

2.2 การประทับรับรองความดี และความเลว จากสถานภาพในสังคม มากกว่าการความคิด การกระทำ เป็นความดี ความเลวที่ติดตัว แต่เป็นความดีที่ได้มาจากตำแหน่ง ดังที่กำหนดในมาตรา 268 ให้วุฒิสภาประกอบไปด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง 4 ตำแหน่งหลังล้วนเป็นตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องกับการกระทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 2 ครั้งที่ผ่านมา  

2.3 คนดีสามารถล่วงละเมิดหลักการใดๆ ก็ได้ ขอเพียงทำหน้าที่ปราบคนเลว หรือปราบโกง ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกินเลยขอบเขต หรือล่วงละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมได้รับการนฺิรโทษกรรม หรือได้รับการรับรองว่าชอบด้วยกฎหมาย

บรรทัดฐานเหล่านี้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม รวมทั้งความขัดแย้งแตกแยกของของคนในสังคม ขยายกว้างมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะความไม่ไว้วางใจประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

3.แช่แข็งประเทศไทยจากการพัฒนา

3.1 นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน คนข้างล่าง คนยากจน กลายเป็นเรื่องประชานิยม ที่จะต้องถูกจำกัด ตรวจสอบ โดยเข้มงวด เพราะนำนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน ไปเชื่อมโยงกับการทุจริต คอรัปชั่น แต่นโยบายประเภทอื่นๆ ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน กลายเป็นเรื่องของคุณงามความดี เหมาะสม ถูกต้องที่กระทำได้  จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลไว้อย่างเข้มงวด รัดกุม ทั้งยังให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการตรวจสอบ ถอดถอนนโยบายเหล่านี้ด้วย แต่ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญ และวุฒิสภา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แนวโน้มคำวินิจฉัยจึงไม่ได้ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชนผู้เลือกตั้ง แต่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ที่อ้างถึงส่วนรวม ประเทศชาติ ดังเช่น กรณีรถไฟความเร็วสูงที่ถูกมองว่ายังไม่จำเป็น โดยให้ทำถนนลูกรังให้หมดไปเสียก่อน

3.2 ยุทธศาสตร์ชาติในมาตรา 65 มีผลผูกพัน การจัดทำงบประมาณประจำปี  นโยบายของรัฐบาล ทั้งยังให้วุฒิสมาชิกติดตามตรวจสอบให้รัฐบาลจะต้องบริหารตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว  การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะออกมาหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน  ทราบว่ามีหน่วยงานที่ทำการยกร่างยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้ว และคาดว่ายุทธศาสตร์จะมีผลบังคับใช้ 10 ปี ดังนั้นรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจึงเป็นเสมือนผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่ผู้ที่จะมาบริหาร สร้างสรรค์นโยบาย ทิศทางการพัฒนาประเทศ แต่ต้องมาทำตามกรอบที่มีแนวโน้มจะล้าหลังโบราณ แช่แข็งประเทศไทยไปได้อีก 10 ปี  ทั้งที่สถานการณ์ด้านการพัฒนาประเทศปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี แม้แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ประกาศบังคับใช้ทุก 5 ปี ยังตามไม่เท่าทันโดยจะต้องมีการปรับแผนเมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่ง  ทั้งแผน 5 ปี ยังมีบทเรียนความผิดพลาดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 แต่แผนดังกล่าวมุ่งเน้นที่การพัฒนา คนสังคมและสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการวางแผนที่ผูกมัด ตายตัว และมีผลผูกพันยาวนานย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ

3.3 การพัฒนาประเทศ ภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่จะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะกลายเป็นเรื่องของข้าราชการประจำ และกลุ่ม “เทคโนแครต” ที่อิงแอบอำนาจ ผู้ไม่เคยสัมผัสใกล้ชิดปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน เพราะการได้มาซึ่งตำแหน่งของพวกเขาและเธอเหล่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องยึดโยงกับประชาชนแม้แต่น้อย

ทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงมีแนวโน้มจะไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนคนเล็กคนน้อย คนยากจน แต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนายทุน กลุ่มชนชั้นสูง ที่ครอบครองปัจจัยการผลิต ดังที่ได้เห็นมาแล้วในการบริหารประเทศที่กำลังเป็นอยู่

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงนำไปสู่คำถามสำคัญหากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ

1. ประชาชนคนเล็กคนน้อย คนยากจน  ประชาชนผู้ถูกกระทำจากนโยบายของรัฐ ได้ประโยชน์อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ?

2. แน่ใจหรือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะ “ปราบโกง” ได้ โดยไม่สร้าง “คนโกง” กลุ่มใหม่ขึ้นมา

3. บทบัญญัติส่วนใดของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แตกแยก ของคนในชาติ?

เพราะเท่าที่เห็นดูเหมือนว่าจะยิ่งสร้างความขัดแย้ง แบ่งแยก ไม่เท่าเทียม ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท