งานวิจัยสหรัฐฯ ศึกษารายได้เทียบอายุขัย-ยิ่งรวยยิ่งอายุยืนจริงหรือไม่

เมื่อมีผู้วิจัยโดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างรายได้กับอายุขัย พบว่าคนยิ่งรวยยิ่งอายุยืนกว่า แสดงให้เห็นว่าความร่ำรวยกับความอายุยืนส่งผลต่อกัน อย่างไรก็ตามบทบรรณาธิการของวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกันระบุว่าควรมีการสำรวจสาเหตุเชื่อมโยงและปัจจัยเสริมมากกว่านี้

ประชากรอาวุโสฟังการบรรยายเกี่ยวกับวิกิพีเดีย ที่ห้องสมุด Bekkestua เมือง Baerum ประเทศนอร์เวย์ ในเดือนกันยายน ปี 2554 (ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia)

บทบรรณาธิการวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA) ฉบับวันที่ 10 เม.ย. 2559 ระบุถึงความเกี่ยวข้องระหว่างระดับรายได้ของบุคคลกับอายุขัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการวิจัยเปรียบเทียบมาเป็นเวลานานแล้วในหลายแห่งเช่นในอังกฤษหรือฝรั่งเศสเมื่อราวหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว และถึงแม้ว่าการเน้นศึกษาเรื่องการรักษาและพฤติกรรมทางสุขภาวะของแต่ละบุคคลยังคงเป็นเรื่องสำคัญแม้แต่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ควรจะมีการทำความเข้าใจว่าทำไมการมีรายได้สูงกว่าถึงมีความเกี่ยวข้องกับอายุขัยที่สูงกว่าด้วย เนื่องจากเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวพันกับนโยบายด้านภาษีและการกระจายรายได้ซึ่งอาจเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการสาธารณสุขและยืดอายุขัยให้ผู้คนได้

บทบรรณาธิการ JAMA ระบุต่อไปว่าต่อให้มีการศึกษาพบว่ารายได้อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยเชื่อมโยงโดยตรงกับอายุขัยที่ มากกว่า แต่การศึกษาถึงความเกี่ยวข้องระหว่างสองตัวแปรนี้ก็ยังมีความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคเนื่องจากคนรวยนอกจากจะดูมีชีวิตที่ดีกว่าแล้วยังมีชีวิตที่ยืนยาวมากกว่าด้วย เรื่องนี้ยังมีความสำคัญต่อนักวิจัยเองเนื่องจากสถาบันสุขภาวะแห่งชาติสหรัฐฯ วางแนวทางการให้ทุนใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการวิจัยเรื่อง "ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน" (financial well-being) โดยจะให้ทุนวิจัยเฉพาะต่อเมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่าง "ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน" กับ "สุขภาวะ" ได้โดยตรงเท่านั้น

ในวารสาร JAMA ฉบับดังกล่าว มีการวิจัยโดยเชตตีและทีมงาน ทำการรวบรวมข้อมูลประชากรตั้งแต่ปี 2532-2557 จากบันทึกภาษี 1,400 ล้านฉบับ และข้อมูลทั้งอายุ เพศ ภูมิลำเนา ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจที่มีปริมาณข้อมูลดีที่สุด ผู้สำรวจเปรียบเทียบโดยการวัดรายได้ก่อนหักภาษี 2 ปีก่อนเสียชีวิต รวมถึงนำข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เช่น เพศ อายุ ช่วงวัย อาณาเขตการเดินทาง หรือรัฐที่อยู่อาศัยมาประกอบด้วย พวกเขาสำรวจเปรียบเทียบโดยการหาค่าอัตราส่วนร้อยละของรายได้และข้อมูลอื่นๆ โดยวัดจากอายุขัยของกลุ่มช่วงวัย 40 ปี แล้วคำนวนเทียบกับอัตราส่วนรายได้ต่อปี

ผลสรุปออกมาอย่างไม่น่าแปลกใจว่าผู้มีอัตราส่วนรายได้ที่มากกว่าแปรผันตามทำให้มีอายุขัยมากกว่าตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของคนรวยกับคนจนเท่านั้นแต่เป็นความแตกต่างที่เป็นเนินลาดชัน โดยมีช่องว่างอายุขัยระหว่างกลุ่มผู้มีอัตราส่วนรายได้สูงกับผู้มีอัตราส่วนรายได้ต่ำห่างชั้นกันมาก คือ 15 ปีสำหรับผู้ชาย และมากกว่า 10 ปีสำหรับผู้หญิง ซึ่งหมายความว่าพวกคนรวยร้อยละ 1 ส่วนบนสุดจะมีเวลาได้เสพสุขความร่ำรวยของตัวเองอยู่ในโลกนานกว่าราว 10-15 ปี

"ความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาวะส่งเสริมให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ อาจจะเรียกได้ว่าชีวิตที่ยืนยาวกว่าต้องใช้เงินซื้อมา" JAMA ระบุในบทบรรณาธิการ

อย่างไรก็ตาม JAMA ก็วิจารณ์งานวิจัยของเซตตีไว้ว่าด้วยลักษณะการคำนวนแล้วผลการวิจัยนี้อาจจะนำเสนอเรื่องความต่างด้านอายุขัยระหว่างคนจนกับคนรวยมากเกินจริง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าพวกเขาวิจัยผิดพลาดแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกับก็มีสิ่งที่งานวิจัยนี้สื่อออกมาน้อยเกินไปคือแนวโน้มของการที่อายุขัยระหว่างคนจนกับคนรวยจะห่างกันมากขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่างานวิจัยของเชตตีจะมุ่งสำรวจว่าความแตกต่างด้านรายได้กับอายุขัยมีความสัมพันธ์เปลี่ยนไปอย่างไรในแต่ละช่วงยคสมัย แต่ก็ควรจะมีการสำรวจไปไกลกว่านี้ในเรื่องสิ่งที่เป็นสาเหตุเชื่อมโยง (causality) ปรากฎการณ์นี้และพิจารณานดยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องประกอบ

บทบรรณาธิการ JAMA ระบุถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นสาเหตุเชื่อมโยงได้ยกตัวอย่างเช่น การที่มีสุขภาวะแย่ส่งผลต่อรายได้ โดยอ้างการสำรวจที่ว่าคนยากจนในสหรัฐฯ มักจะมีความพิการในระยะยาวและมีความโน้มเอียงที่จะเสียชีวิตแต่ไม่ใช่เพราะจากการมีรายได้น้อย นอกจากนี้ยังเสนอแนะว่างานวิจัยนี้ควรสำรวจรายได้จริงแทนอัตราร้อยละของรายได้ซึ่งละเลยเรื่องความช่วยเหลือจากโครงการของรัฐ

ทั้งนี้บทบรรณาธิการ JAMA ยังเสนอแนะให้มีการพิจารณาปัจจัยด้านบทบาทของการศึกษาร่วมพิจารณาเชื่อมโยงด้วย เช่นกรณีที่รายได้ของพ่อแม่ส่งผลต่อสุขภาวะและการศึกษาของเด็กก้จะมีผลกับสุขภาวะและรายได้ของเด็กในยามที่เขาโตขึ้น

บทบรรณาธิการ JAMA สรุปว่า "นี่คือรายงานผลการวิจัยโดยเชตตีและคณะทำงานคนอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงในแบบที่สมบูรณ์และเข้าใจได้ดีมาก และข้อเท็จจริงเหล่านี้จะต้องเผชิญกับทฤษฎีใดๆ ก็ตามที่พิสูจน์ได้ว่าทำไมสุขภาวะและรายได้ถึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก" 

 

เรียบเรียงจาก

On Death and Money : History, Facts, and Explanations, 10-04-2016 http://jama.jamanetwork.com/article.aspx?articleid=2513558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท