Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


1. มากกว่าการซื้อขาย: พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เกิดกระแสในโลก social network กระแสหนึ่ง นั่นก็คือการแชร์โพสต์ รณรงค์งดเข้าร้าน 7-11 ตั้งแต่วันที่ 7-11 พฤษภาคม 2558 เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการไม่พอใจระบบการผูกขาดตลาดของยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีก ที่ทำให้บริษัทหรือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่อยู่ในวงการค้าปลีกเดียวกันแทบจะหมดหนทางสู้กับยักษ์ใหญ่รายนี้ได้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่การเกิดขึ้นของร้านค้าสะดวกซื้อรูปแบบใหม่ในประเทศไทยนั้นก็คือธุรกิจร้านขายของชำที่หมดหนทางสู้จนล้มและปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ร้านขายของชำทุกร้านจะอยู่รอเวลาปิดกิจการ ยังมีร้านขายของชำอีกหลายร้านที่ยังทำธุรกิจต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องสนใจเซเว่นที่มาเปิดใกล้ๆ นั่นก็เพราะทุกธุรกิจย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ โดยร้านขายของชำหรือร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมของไทยเรานั้นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกันนั้นก็คือความจริงใจ รอยยิ้ม มิตรภาพ น้ำใจของผู้ขายที่มีให้ลูกค้าทุกคน รวมไปถึงการเป็นพื้นที่ที่เป็นมากกว่าพื้นที่สำหรับซื้อขายสินค้าเพียงอย่างเดียว

ธุรกิจร้านขายของชำเป็นธุรกิจที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมไทยและอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นแหล่งกระจายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายสำหรับการนำไปใช้สอยภายในครัวเรือน ย้อนไป 20 ปีก่อนร้านขายของชำหรือร้านโชห่วยเป็นธุรกิจที่มาแรงมาก มีผุดขึ้นทั่วไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ แม้แต่ถนนสายเศรษฐกิจก็มีร้านโชว์ห่วยแทรกขึ้นมา แต่ต่อมาเกิดการเข้ามาของธุรกิจร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่หรือที่เรียกว่า modern trade modern trade นั้นก็คือร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน มีสินค้าและบริการที่หลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้า เป็นร้านค้าที่เรียกได้ว่า one stop service คือมาที่เดียวสามารถทำธุระได้ครบทุกอย่างตั้งแต่ซื้อสินค้าไปจนถึงจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ  ซึ่งการเข้ามาของ modern trade ได้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลกับวงการธุรกิจร้านขายของชำเนื่องจากขาดศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งด้านของราคาขายสินค้า คุณภาพสินค้า การโฆษณา โปรโมชั่น และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งส่งผลให้อำนาจในการต่อรองทางด้านธุรกิจระหว่างร้านขายของชำกับผู้ค้าส่งหรือ supplier ลดลงเพราะ supplier ไปผูกขาดการทำธุรกิจกับผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่แทนเนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อที่มากกว่า ส่งผลทำให้ร้านขายของชำมียอดขายลดลงจนเป็นผลให้ล้มหายตายจากปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก

แต่แน่นอนว่าธุรกิจทุกธุรกิจย่อม มีทั้งจุดวันได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?  ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการทำธุรกิจของร้านขายของชำนั้นมีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับร้านค้า modern trade ทั้งหลาย หนึ่งในข้อแตกต่างระหว่างร้านขายของชำกับ modern trade ที่จะกล่าวถึงในงานนี้คือหลักการเลือกทำเลที่ตั้งของธุรกิจ modern trade ยกตัวอย่าง 7-11 นั้น จะใช้วิธีการเช่าที่โดยเลือกทำเลที่ตั้งในแหล่งที่มีผู้คนสัญจรผ่านไปมาจำนวนมากมักพบตามริมถนน ตามหน้าหมู่บ้าน หรือถ้าอยู่ในซอยก็จะเลือกทำเลตามปากซอยหรือกลางซอยที่เป็นทางผ่านของผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาสะดวก แต่สำหรับการเลือกทำเลที่ตั้งร้านของร้านขายของชำแล้วจะพบว่าร้านขายของชำจะอยู่ตามแหล่งที่เป็นที่อยู่อาศัยของคน เช่นในหมู่บ้านหรือใต้หอพัก โดยตัวร้านขายของชำจะเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของเจ้าของธุรกิจด้วย

การมองหากลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันระหว่าง modern trade กับ ร้านขายของชำ ในขณะที่ modern trade พยายามมองหากลุ่มลูกค้าที่สัญจรผ่านไปมา ร้านขายของชำก็พยายามขายสินค้าให้กับคนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชน ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายก็จะแตกต่างกันไปด้วย กล่าวง่ายๆว่าในรูปแบบการทำธุรกิจ modern trade ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย จะมีลักษณะเป็นทางการเพียงแค่ซื้อมาขายไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายของร้านขายของชำจะมีลักษณะยืนหยุ่นได้ ในแง่ของความเป็นกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายรวมไปถึงสินค้าด้วย เช่น สินค้าสามารถซื้อย่อยได้ แบ่งขายได้ เจ้าของร้านกับผู้ซื้อก็รู้จักกันเพราะอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน ในบางรายถ้าหากสนิทกับเจ้าของร้านในระดับที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็อาจจะขอติดค่าสินค้าไว้ก่อนด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายของร้านขายของชำจึงมีความซับซ้อนมาก เป็นมากกว่าการแลกเปลี่ยนเงินกับสินค้าแต่ยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจกรรมการซื้อขายด้วย ตามธรรมชาติของความสัมพันธ์ของมนุษย์ เมื่อเวลายิ่งนานขึ้นความสัมพันธ์ย่อมมีการพัฒนาขึ้นตามไปด้วย โดยความสัมพันธ์ระหว่างร้านขายของชำกับคนในชุมชนเมื่อเวลาผ่านไปก็จะเกิดเป็นเครือข่ายเชื่อมคนในชุมชนเข้าถึงกันโดยมีร้านค้าเป็นตัวกลาง ซึ่งร้านค้าในฐานะศูนย์กลางของคนในชุมชน จัดเป็นพื้นที่กลางที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มารวมตัวกันพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันได้ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้คนในชุมชนรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในชุมช


2. แว่นในการมอง มองผ่านแว่นทฤษฎี

งานศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ใช้การลงเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม โดยใช้กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา ดังนี้

ทฤษฎีเครือข่ายทางสังคม (Social Network Theory)

การขับเคลื่อนทางสังคมสมัยใหม่นั้น มีแนวโน้มที่จะใช้ฐานความรู้และปัญญาในการขับเคลื่อนทางสังคมซึ่งกระบวนการนั้นมีความสำคัญต่อการขยายแนวคิดและกระบวนการทำงาน ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ วิธีการใหม่ และปัญญาในการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะความเป็นมิตรภาพ ความเป็นหุ้นส่วนแห่งความสำเร็จ และการพึ่งพาอาศัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในสังคม คือ กระบวนการเสริมสร้างความรู้ใหม่และกระบวนการใหม่ที่ต่อเนื่อง ถ้าเมื่อใดขาดการเรียนรู้ กระบวนการของสิ่งต่างๆเหล่านั้นย่อมจะขาดความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลให้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจโผล่ขึ้นมาจัดการกับสิ่งต่างๆแทน เหมือนเช่น การปฏิวัติและการใช้อำนาจในสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นการทำลายโครงสร้างที่เป็นไปตามธรรมชาติ และส่วนหนึ่งจะเป็นเสมือนการครอบงำทั้งความคิด สิทธิ ประโยชน์ และกระบวนการ

ในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญคือ ข้อมูลและข่าวสาร(data and information) การมีข้อมูลและความสามารถในการแปรผลข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดข่าวสารความรู้ เพื่อนำไปสู่การจัดการและการยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน เราไม่จำเป็นต้องรับรู้ข้อมูลทุกอย่าง เพียงแต่เราใช้กระบวนการที่เหมาะสมที่จะทำให้ข้อมูลนั้นไปสู่การแลกเปลี่ยนและการแปรผลความหมาย เพื่อให้ทุกคนได้มีการเสวนา พูดคุยในเรื่องนั้นๆก็จะทำให้เกิดความรู้ใหม่และกระบวนการใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็คือ การนำไปสู่การขยายผลของโครงสร้างที่เป็นไปตามธรรมชาติ การขยายแนวคิดและกระบวนการทำงาน ซึ่งกลายเป็นเครือข่ายทางสังคมที่มาจากกระบวนทัศน์ใหม่

ทิศนา แขมมณี และคณะ (2542, น.12-13) กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ว่า เป็นกระบวนการที่แต่ละบุคคลต้องดำเนินการเองให้ผู้อื่นมาทำแทนไม่ได้ เพราะการสร้างความหมายเป็นกระบวนการเฉพาะตน แต่การรับสิ่งเร้าหรือข้อมูลมาเพิ่มเติมซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการปรับสภาวะ(accommodation) ที่ไม่สมดุลให้เกิดเป็นสภาวะที่สมดุลนั้น บุคคลจำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อมูลจากบุคคลอื่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองในแง่ต่างๆดังนั้นการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ เพื่อช่วยตรวจสอบการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลว่า การเรียนรู้นั้นเป็นที่ยอมรับ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือในมุมมองของบุคคลอื่นอย่างไร และช่วยให้บุคคลได้ข้อมูลในการสร้างความหมายของสิ่งที่เรียนรู้มากขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการเรียนรู้นอกจากจะเป็นกระบวนการทางสติปัญญาแล้ว ยังเป็นกระบวนการทางสังคมอีกด้วย และเป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กับจิตใจและความรู้สึกของบุคคล

ดังนั้นกระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ก่อให้เกิดกระบวนการและวิธีการที่สร้างความหมายร่วมระหว่างบุคคล กลุ่มคน และเครือข่าย ซึ่งกระบวนการดังกล่วงนำไปสู่การจัดการทางสังคมในรูปแบบต่างๆ และเป็นวิธีการทำงานในสมัยปัจจุบันที่ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันทำงานภายใต้การเรียนรู้ที่เป็นอิสระจากการครอบงำในเชิงอำนาจและความอ่อนล้าในทางวัฒนธรรม

เครือข่ายที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ วัฒนธรรม และกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจึงเป็นฐานคิดที่สำคัญของเครือข่ายในฐานะเป็นระบบความสัมพันธ์ทางสังคมมนุษย์ ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนำไปสู่การจัดการเครือข่ายทางสังคมที่มีโครงสร้างและรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ดังนั้น การประยุกต์ใช้และการสร้างความเข้าใจถึงบริบทต่างๆย่อมจะช่วยให้มีมุมมองในการพิจารณาเครือข่ายทางสังคมได้หลากหลายยิ่งขึ้น

ทฤษฏีพื้นที่ทางสังคม(Social Space Theory)

พื้นที่สาธารณะ (Public space) เป็นพื้นที่ในโลกทางสังคมซึ่งปัจเจกบุคคลมาพบปะพูดคุยและอภิปรายกันอย่างเสรีในประเด็นปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ประเด็นจากการอภิปรายโต้เถียงปัญหา ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จะถูกตีแผ่แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางการเมืองของสาธารณชนในอันดับต่อไป พื้นที่สาธารณะจึงเป็นอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การสร้างความรู้สึกเป็นส่วนรวม (sense of public) และผลประโยชน์ของส่วนรวม พื้นที่สาธารณะเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ รูปธรรมของพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ทางกายภาพที่กำหนดขอบเขตไว้แน่นอน  เช่น ร้านกาแฟ ลานประชาชน จัตุรัสกลางเมือง สวนสาธารณะ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น  ส่วนพื้นที่นามธรรม เช่น สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ กลุ่มทางสังคม หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นต้น


3. ปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ

กรณีศึกษาที่ 1 ป้าดี อายุ 55 ปี เกิดปี พ.ศ.2502 จบป.4 ที่โรงเรียนช่างทอง เป็นคนช่างทอง(ข้างสนามบิน เชียงใหม่แอร์พอร์ต) หลังออกจากทำงานโรงงานเพราะมีปัญหากับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน ป้าดีก็ออกมาเปิดร้านขายของชำที่บ้าน เมื่อปีพ.ศ.2550 หลังจากผ่านไป1ปีป้าดีสังเกตุเห็นว่ายังไม่มีร้านอาหารเกิดขึ้นในชุมชนที่อาศัยอยู่จึงเปิดร้านอาหารตามสั่งขึ้นที่บ้านด้วย

กรณีศึกษาที่ 2 ป้าปรียารัตน์ อายุ 58 ปี เกิดปีพ.ศ.2499 ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนเชียงใหม่ จบการศึกษา มศ.5 หรือ ม.8 เดิม ปี 2521 หลังจากออกจากงานเสมียนบัญชีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก็มาเปิดร้านขายของชำที่บ้าน พร้อมกับประกอบธุรกิจหอพักให้เช่าไปด้วย

กรณีศึกษาที่ 3 นางวนิดา กัณฐิยะ (ป้าแต๋ว) อายุ 57 ปี เกิดพ.ศ.2500 เป็นคนแม่แตง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปีพ.ศ.2523 ตอนเรียนจบป้าทำงานอยู่ที่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน(NGO) จนลาออกในปี2553 เพราะปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เลยตัดสินใจออกจากงานมาอยู่บ้าน และเริ่มมองหาอะไรทำตอนแรกป้าอยากไปขายของในห้างแต่ว่าค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง พอดีลูกสาวป้ามาเจอประกาศเซ้งร้านที่ใต้หอพักพอดีเลยลองมาดูแล้วสนใจจึงเซ้งร้านรับช่วงต่อ

จากการลงพื้นที่ภาคสนาม ผู้วิจัยเห็นถึงกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นภายในอาณาบริเวณร้านขายของชำที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังฉากการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หากพิจารณาตั้งแต่ทำเลที่ตั้งไปจนถึงลักษณะการออกแบบจะพบว่าร้านขายของชำโดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทั้งนี้เพื่อขายสินค้าให้กับคนที่อาศัยในชุมชนนั้นๆโดยเฉพาะ เช่น ร้านป้าดีตั้งอยู่ในตัวชุมชนบริเวณรอบข้างเป็นบ้านคนไม่ได้อยู่ติดถนนใหญ่ ร้านป้าแต้วก็ขายอยู่ใต้หอพักเพื่อให้คนที่พักในหอมาซื้อสินค้า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านขายของชำจึงเป็นคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณร้านค้านั้นๆ และมาใช้บริการเป็นประจำจนรู้จักคุ้นเคยกับเจ้าของร้านเป็นอย่างดี จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่บังเอิญผ่านมาใช้บริการเพียงไม่กี่ราย ทำเลที่ตั้งของร้านขายของชำจึงเน้นขายสินค้าให้กับคนในชุมชนเป็นหลัก ในเรื่องของการออกแบบร้านของร้านขายของชำจะมีการออกแบบให้มีที่นั่งอยู่ภายในบริเวณร้านโดยส่วนใหญ่จะเป็นหน้าร้าน เช่นร้านป้าปรียาจะมีโต๊ะหินอ่อนสองโต๊ะอยู่หน้าร้าน ส่วนป้าดีจะมีโต๊ะอยู่แล้วเนื่องจากเป็นร้านอาหาร ให้ลูกค้ามานั่งคุยกันเวลามาซื้อของหรือมานั่งดื่มเบียร์ เวลามีลูกค้ามาซื้อสินค้าก็จะมีการพูดคุย ทักทายกับเจ้าของร้าน ถามถึงคนในครอบครัวเช่น วันนี้แฟนไปทำงานหรอ? วันนี้หยุดงานหรอ? แสดงความสนิทสนมกันหรือบางรายมาซื้อแล้วไม่รีบกลับก็จะนั่งคุยกับเจ้าของร้านที่หน้าร้านประมาณสิบนาทีก็กลับ
อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ทำเลที่ตั้งตลอดจนการออกแบบร้านขายของชำนั้น เอื้อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ มีความสัมพันธ์ที่เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวเกิดขึ้นในการซื้อขายสินค้า  เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็เป็นคนในละแวกบ้านเดียวกัน รู้จักสนิทสนมกัน การซื้อขายสินค้าจึงเป็นมากกว่าแม่ค้ากับคนแปลกหน้า ในบริเวณพื้นที่ร้านขายของชำยังมีกิจกรรมอื่นที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่เดียวกัน โดยผู้เขียนจะขอแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น โดยในสามประเด็นแรกจะขอยกกรณีตัวอย่างคือ ร้านป้าดี เพราะเป็นร้านขายของชำและอาหารตามสั่งร้านเดียวในตัวชุมชน เลยเป็นร้านที่ชาวบ้านในชุมชนมาค่อนข้างเยอะ

1. ร้านขายของชำกับการเป็นพื้นที่พบปะ พูดคุยของคนในชุมชนในเรื่องทั่วๆไป ร้านป้าดี เป็นร้านขายของชำและร้านอาหารตามสั่งร้านเดียวที่อยู่ในตัวชุมชน ตอนที่ป้าดีเปิดร้านใหม่ๆป้าดีขายของชำอย่างเดียวแต่เห็นว่าในชุมชนยังไม่มีร้านอาหารตามสั่ง จึงเป็นเหตุให้ป้าดีขยายร้านทำเป็นร้านขายอาหารตามสั่งเพิ่มเติมด้วย ตอนเปิดร้านใหม่ๆก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ลูกค้าก็ยังไม่ค่อยกล้าเข้ามากิน เพราะยังไม่รู้ว่ารสชาติเป็นยังไง เรียกว่าลูกค้ายังไม่ติดร้าน จนเวลาผ่านไปหนึ่งปีร้านของป้าดีก็เป็นที่รู้จักดีของคนในชุมชน มีลูกค้ามากินค่อนข้างเยอะในช่วงเจ็ดโมงเช้าและช่วงพักเที่ยง
เมื่อเปิดร้านมา1ปี ร้านของป้าดีก็กลายเป็นร้านประจำของคนในชุมชน กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของคนในชุมชน ก่อนไปทำงานก็มากินข้าวร้านป้าดี กลางวันก็มากิน บางคนโทรมาสั่งให้ป้าดีเอาไปส่งให้ถึงที่ทำงานที่อยู่ใกล้ๆ ป้าดีก็จะให้สามีป้าเอาไปส่งให้ หรือบางคนที่ไม่ได้ทำงานก็มานั่งเล่นที่ร้าน เผื่อคนรู้จักมากินข้าวจะได้นั่งคุยกัน ร้านของป้าดีเลยเริ่มเป็นพื้นที่สำหรับพบปะเพื่อนฝูงของคนในชุมชนพื้นที่หนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างร้านป้าดีกับคนในชุมชนมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆนับตั้งแต่เปิดร้านมาจากที่เป็นเพียงร้านขายของชำในชุมชน ที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าให้กับคนในชุมชนเท่านั้น ก็กลายมาเป็นร้านอาหารและพัฒนาต่อมาเป็นพื้นที่สำหรับพบเจอเพื่อนฝูง ลูกสาวป้าดีก็ตอบสนองการเป็นพื้นที่พูดคุยของคนในชุมชนด้วยการขายกาแฟเพิ่มเพราะสังเกตเห็นว่าบางคนพอมาซื้อของชำแล้วเจอคนรู้จักก็จะนั่งคุยกันแต่ไม่สั่งข้าว การพบปะพูดคุยของชาวบ้านที่ร้านป้าดี ในส่วนนี้จะเป็นการพูดคุยในเรื่องทั่วๆไปด้วยการคุยเรื่องที่ไม่เป็นทางการ เช่นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องหน้าที่การงานของกันและกัน เพื่อเป็นการทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนม ความรู้สึกคุ้นเคยไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ของตัวเองกับคู่สนทนาแน่นแฟ้นมากขึ้น

2. ร้านขายของชำกับการเป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของคนในชุมชน พื้นที่ของร้านป้าดีนับได้ว่าเป็นพื้นที่พื้นที่หนึ่งในชุมชนที่ถูกใช้ในการสื่อสาร ประกาศ เผยแพร่ข่าวสารในชุมชน ร้านป้าดีจะเต็มไปด้วยใบปิดประกาศต่างๆ เช่นเบอร์โทรฉุกเฉิน เบอร์สถานีตำรวจ ร้านรับซ่อมคอมพิวเตอร์ป้ายหาเสียง โดยพ่อหลวงเป็นคนเอามาให้ติดเพราะชาวบ้านจะได้รู้เบอร์ไว้เวลาเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย ส่วนป้ายหาเสียงก็จะมีผู้สมัครมาฝากติดประกาศหาเสียงที่ร้านเวลาที่เป็นช่วงเลือกตั้ง รวมถึงประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านไปเลือกตั้งด้วย เมื่อไม่นานมานี้มีหลานที่ป้าดีรู้จักเอาถังกฐินมาฝากตั้งไว้ที่ร้าน ฝากให้ชาวบ้านร่วมทำบุญทอดกฐิน เพราะเห็นว่าร้านป้าดีเป็นที่ที่คนมาเยอะ เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ได้ดี เวลามีชาวบ้านมาเห็นใครอยากทำบุญก็ทำคนละยี่สิบ บางคนก็ร้อย ถังกฐินนี้ตั้งไว้ที่ร้านป้าดี 10 วันได้เงินทำบุญไปสามพันกว่าบาท หรือบางทีก็มีการฝากแจกซองผ้าป่าที่ร้านป้าดี ป้าดีก็ต้องเป็นคนแจกซองให้ชาวบ้าน ชาวบ้านก็เอาไปใส่ซองกับครอบครัวที่บ้านแล้วก็เอามารวบรวมที่ป้าดี นอกจากนั้นบางทีบ้านไหนจะมีคนในครอบครัวแต่งงาน บางทีบังเอิญมาเจอคนรู้จักที่ร้านป้าดีก็มีเชิญชวนกันไปงาน ชาวบ้านไม่ถึงกับใช้ร้านป้าดีประกาศจัดงานแต่งงานเพียงแต่ร้านป้าดีเป็นพื้นที่ที่มีคนไปตลอดเวลาจึงทำให้มีโอกาสที่จะเจอคนรู้จักค่อนข้างมาก ยิ่งเป็นร้านอาหารตามสั่งร้านเดียวในชุมชนด้วยแล้วทำให้ร้านป้าดีกลายเป็นพื้นที่กลางไว้ใช้พบปะระหว่างกันของคนในชุมชนได้อย่างดี ในประเด็นนี้เราก็จะเห็นร้านขายของชำในฐานะการเป็นพื้นที่กลางให้คนในชุมชนเดียวได้มาพบกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารหรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับคนในชุมชน

3. ร้านขายของชำกับการเป็นพื้นที่ในการต่อรอง ต่อต้านอำนาจทางการเมืองระดับท้องถิ่น ถึงแม้ว่าร้านป้าดีจะมีประกาศหาเสียงมาติดไว้หรือประกาศต่างๆจากพ่อหลวง แต่ว่าพื้นที่ของร้านป้าดีก็ยังเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการต่อรอง ต่อต้านอำนาจของพ่อหลวงเช่นกัน โดยผ่านทางการนินทา การพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ป้าดีเล่าว่าชาวบ้านที่มาที่ร้านบางคนพูดวิพากษ์การทำงานของพ่อหลวงคนปัจจุบันซึ่งได้รับเลือกมาไม่นานว่าบริหารการเงินแบบไม่สุจริต มีการแอบเก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง อย่างเช่นกรณีกลุ่มชาวบ้านที่ทำกระเป๋าสานในชุมชนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก อบต.มีการให้งบมาที่พ่อหลวงให้มีการพาคนข้างนอกเข้าไปดูงานสาธิตการทำกระเป๋าของชาวบ้านในชุมชน โดยอบต.ก็ให้งบมาสำหรับให้ชาวบ้านที่เปิดบ้านสาธิตวิถีชีวิตและวิธีทำกระเป๋าให้คนข้างนอกมาเยี่ยมชม แต่พอมีคนมาดูการทำกระเป๋า พ่อหลวงกลับไม่ให้เงินชาวบ้านที่สาธิตการทำกระเป๋าให้ดูแต่เอาเก็บไว้ที่ตัวเอง ชาวบ้านบางส่วนก็ไม่พอใจพฤติกรรมของพ่อหลวงก็มาคุยกันที่ร้านป้าดี จากตอนแรกที่พ่อหลวงมากินข้าวที่ร้านป้าดีตลอด ช่วงหลังก็หายไปเลยไม่มากินแล้ว นอกจากนั้นชาวบ้านก็มาคุยกันที่ร้านป้าดีอีกเรื่องคือโครงการใหม่ของพ่อหลวงที่จะจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านในชุมชนให้ช่วยกันทำน้ำพริกขาย แต่เนื่องจากพฤติกรรมบริหารงานที่ไม่โปร่งใสของพ่อหลวงชาวบ้านเลยไม่สนใจเข้าร่วมเลยรวมกลุ่มจัดตั้งชมรมกันไม่ได้ ป้าดีเล่าว่าการเมืองในชุมชนตอนนี้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนพ่อหลวงกับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนพ่อหลวง ในบางครั้งป้าดีต้องคุยเรื่องการเมืองในชุมชนกับคนทั้งสองฝ่ายทั้ง เพราะชาวบ้านมาชวนคุย และเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ป้าดีก็ต้องคุยแบบเป็นกลางไม่แสดงท่าทีชอบหรือไม่ชอบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป เพราะอาจสร้างความรู้สึกไม่สบายใจให้กับอีกฝ่ายได้ การคุยเรื่องการเมืองกับลูกค้าป้าดีจึงต้องค่อนข้างระวังความคิดเห็นของตนเองไม่ให้ไปกระทบกับอีกฝ่าย

ในประเด็นนี้ร้านขายของชำนอกจากจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปิดสำหรับการต่อรอง ต่อต้านอำนาจทางการเมืองระดับท้องถิ่น พื้นที่ดังกล่าวยังได้สร้างสิ่งที่เรียกว่าสำนึกความเป็นเจ้าของ (sense of belonging) ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย ด้วยการที่ชาวบ้านได้ตั้งคำถามกับการทำงานของพ่อหลวง ได้ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้านด้วยกันในชุมชนโดยไม่นิ่งดูดาย ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่ได้เป็นปัจเจกที่อยู่บ้านติดกันเท่านั้น แต่ชาวบ้านยังมีความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่มีหน้าที่ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนเอาไว้ ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความผูกผันทางสังคม(Social Bond) ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

4. ร้านขายของชำกับบทบาทการช่วยเหลือด้านการเงินทางอ้อมให้กับคนในชุมชน อีกบทบาทสำคัญของธุรกิจร้านขายของชำคือการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับคนในชุมชน นั้นไม่ใช่การปล่อยเงินกู้ แต่เป็นการยินยอมให้เอาสินค้าไปก่อนแล้วค่อยมาจ่ายเงินทีหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาขอติดเงินไว้นั้นจะเป็นสินค้าจำเป็น เช่นของกิน มาม่า กรณีป้าแต้วก็ยินยอมให้เด็กนักศึกษาที่พักในหอที่ป้าแต้วขายของอยู่ติดเงินไว้ก่อน เพราะเด็กบางคนปลายเดือนก็ไม่มีเงินเหลือก็มาขอมาม่าป้าไปกินก่อนแล้วมีเงินก็เอากลับมาจ่าย ป้าแต้วเล่าว่ามีหลายคนมาขอติดค่าสินค้าทุกเดือนป้าก็ให้เพราะเห็นว่าเป็นเด็กๆ เด็กบางคนเงินหมดก็ไม่ค่อยอยากขอเงินพ่อแม่ ก็มาขอมาม่าไปกินก่อนบางคนทั้งวันกินแต่มาม่าติดกันหลายๆวันป้าก็สงสารบางทีก็ต้องแถมไข่ให้ไปด้วย ป้าดีเองก็ทำอาหารส่งตามที่ทำงาน พนักงานจะมาฝากป้าทำอาหารไปส่งทุกวันรวมถึงกาแฟด้วย มีพนักงานสั่งป้าประมาณ 6-7คน แต่พนักงานก็จะขอติดเงินไว้ก่อนแล้วพอเงินเดือนออกก็ค่อยจ่ายป้าเป็นรายเดือน ตกคนละประมาณ 900บาทต่อเดือน ป้าดีก็ยอมเพราะเห็นว่าพนักงานเงินเดือนน้อยไม่ค่อยพอจ่าย ไว้เงินเดือนออกแล้วค่อยจ่ายทีเดียวก็ได้

ทั้งนี้การที่จะขอติดเงินค่าสินค้าไว้ได้นั้นลูกค้าจะต้องมีความสนิทสนมกับตัวเจ้าของร้านในระดับที่สามารถเชื่อใจกันได้ว่าจะกลับมาจ่ายคืน หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมากกว่าการแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่การแลกเปลี่ยนสินค้าในรูปแบบนี้สิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางไม่ใช่เงินตราหรือของมีค่า แต่กลับเป็นความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่มาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้าของร้านขายของชำไม่ได้แลกเปลี่ยนกันเฉพาะตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความเชื่อใจ ตลอดจนความห่วงใยระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายด้วย
 

4สายสัมพันธ์ที่ร้านสะดวกซื้อไม่มี

จากที่ได้กล่าวมาทั้ง 4 ประเด็น เราได้เห็นถึงวิวัฒนาการของร้านขายของชำที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากการเป็นเพียงพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า ไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของคนในชุมชน แต่ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งประเด็นที่พบระหว่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูล คือ บทบาทของตัวแม่ค้าหรือเจ้าของร้านเองที่กลายเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน มีบทบาทในการช่วยกระจายข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ จนถึงช่วยเหลือชาวบ้านในด้านการเงิน ยกตัวอย่าง ป้าปรียาเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนค่อนข้างเยอะ  เล่าว่าตอนนั้นมีเด็กวัยรุ่นอายุประมาณยี่สิบกว่า ๆ ที่อยู่ในชุมชนที่ป้าปรียาเปิดร้านขายของชำอยู่ เมาแล้วขับเลยโดนตำรวจเป่าแอลกอฮอล์ต้องไปเสียค่าปรับรวมทั้งไปขึ้นศาล ต้องใช้เงินประมาณสองหมื่นบาท พ่อแม่เด็กก็ไม่ค่อยมีเงิน เลยจำเป็นต้องมาขอยืมป้า ป้าปรียาค่อนข้างสนิทกับครอบครัวนี้ดี เพราะป้าเปิดร้านขายของมานานก็รู้จักลูกค้าหลายๆคน ป้าก็เลยให้ยืมเงินไปจ่ายค่าปรับกับค่าประกันให้เรียบร้อยแล้วมีเงินค่อยเอามาคืน ป้าดีเองก่อนที่จะเปิดร้านขายของชำก็เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งในชุมชนรู้จักเพื่อนบ้าน เพียงไม่กี่คนที่อยู่บ้านใกล้ ๆ กัน แต่พอเปิดร้านขายของชำและร้านอาหารก็กลายเป็นที่รู้จักของชาวบ้านที่มาเป็นลูกค้าประจำที่ร้านมีการมาเยี่ยมซื้อของมาฝาก และมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวสารในชุมชน เพราะชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข่าวสารจากประกาศที่ติดในร้านเท่านั้นแต่ยังรู้ได้จากการพูดคุยกับป้าดี ทำให้ชาวบ้านก็มีข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับเรื่องภายในชุมชน และอาจจะเอากลับไปเล่าให้คนในครอบครัวฟังต่อๆไป นอกจากนั้นตัวป้าดีเองยังทำหน้าที่ที่เรียกว่า Gate Keeper ที่ทำหน้าที่กรองข้อมูลข่าวสารตัดสินใจเลือกว่าจะเอาข้อมูลอะไรมาเผยแพร่หรือไม่เผยแพร่ที่ร้านด้วยตัวเอง จะเอาป้ายหาเสียงของผู้สมัครคนไหนมาติด หรือกรณีถังกฐินที่ป้าดีเอามาก็เพราะว่ารู้จักเป็นการส่วนตัวกับหลานเลยยอมให้เอามาตั้งที่ร้านได้ เคยมีคนอื่นมาขอฝากถังกฐินที่ร้านป้าดีเช่นกันแต่ว่าป้าไม่รับไว้เพราะว่าไม่สนิทกับคนที่มาฝากมากนักเลยไม่อยากรับผิดชอบเงินที่ชาวบ้านเอามาทำบุญเพราะถ้าเกิดหายหรือเป็นอะไรไปป้าก็ไม่ค่อยสบายใจ แต่จะยอมกับคนที่สนิทสนมกับป้าในระดับหนึ่งเพราะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้วคุยกันง่าย ก็สบายใจที่จะรับฝากอะไรไว้


5. สรุป

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าร้านขายของชำทำหน้าที่มากกว่าการเป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ผู้คนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ตั้งแต่เรื่องทั่ว ๆ ไปจนถึงการต่อรองต่อต้านการทำงานของภาครัฐ(ระดับท้องถิ่น) และด้วยความสัมพันธ์ระหว่างร้านขายของชำกับผู้ซื้อที่มีความสัมพันธ์ต่อกันแบบไม่เป็นทางการ พื้นที่ที่เกิดขึ้นมาจากร้านขายของชำจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีในทุก ๆ สังคมที่เปิดให้ชาวบ้านสามารถพูดในเรื่องที่ไม่สามารถพูดในพื้นที่ที่เป็นทางการได้ เช่นในเวลาประชุม ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนกับไม่สนับสนุนพ่อหลวง แต่ก็มักจะไม่ค่อยมีใครแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาในที่ประชุม แต่จะมาพูดแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งร้านขายของชำก็ได้เป็นหนึ่งในการเป็นพื้นที่ดังกล่าวให้คนในชุมชนมีพื้นที่สำหรับถกเถียง ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเป็นอิสระจากการครอบงำเชิงอำนาจ อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ (sense of belonging) ให้กับคนในชุมชน ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่มีหน้าที่ต้องช่วยกันรักษาสิทธิและร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net