ฮารา ชินทาโร: มองปรากฏการณ์ 'บิน ลาเดน มีอยู่ทุกที่'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องภาษาท้องถิ่นมลายูในภาคใต้ของไทยตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์รุนแรง เขียนบทความสร้างความเข้าใจเรื่องกระแสการชื่นชมโอซามา บิน ลาเดน หลังเหตุการณ์ 911 และกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิสซึ่งเกิดขึ้นเป็นกระแสช่วงหนึ่ง และปรากฎการณ์นี้สะท้อนความสำคัญต่อการเจรจาหารือกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นทีอย่างไร

บทความจากฮารา ชินทาโร นักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้อาศัยอยู่ในทางภาคใต้ของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2532 เขาเคยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารและวิเทศสัมพันธ์ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขาเล่าถึงบรรยากาศในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์โจมตีตึกเวิร์ลเทรดเซนเตอร์หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 911 ใหม่ๆ ก่อนหน้าที่จะมีกระแสเรื่อง "เหตุไม่สงบ" ในภาคใต้ ไปจนถึงหลังจากมีเหตุรุนแรงแล้ว รวมถึงชวนทำความเข้าใจว่าคนในพื้นที่มองเรื่องเหล่านี้อย่างไร

เนื้อหาของบทความมีดังนี้

000

ผมใช้ชีวิตอยู่ในปัตตานีตั้งต่ปี 2532 ผมเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขามลายูศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมาลายา กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในตอนนั้นผมกำลังทำการวิจัยเรื่องการศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างภาษามลายูถิ่นกับภาษามลายูกลาง

ผมได้เห็นข่าวเหตุการณ์โจมตีเพื่อวันที่ 11 ก.ย. (ปี 2544) ครั้งแรกในร้านอาหารเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงเรื่องข้าวมันไก่อร่อย อยู่บนถนนทางไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมแวะไปร้านอาหารนี้บ่อยมากจนกระทั่งเจ้าของร้านย้ายออกจากพื้นที่ไป ในปัจจุบันถนนสายนี้ที่เรียกว่า "ถนนเจริญประดิษฐ์" กลายเป็นถนนที่เฟื่องฟูและคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากที่สุดในเมืองนี้ แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์โจมตี 911 นั้น มันเป็นถนนที่ค่อนข้างสงบเงียบ ในขณะที่ผมกำลังทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อยอยู่นั้น เจ้าของร้านซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยก้มานั่งข้างๆ ผมแล้วชี้ให้ดูที่โทรทัศน์ อธิบายถึงสื่งที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กซิตี้ บนจอภาพมีรูปของตึกระฟ้าสองอาคาร หนึ่งในนั้นมีควันดำขโมง เจ้าของร้านอธิบายให้ผมฟังว่ามีเครื่องบินขับชนตึกนี้ สักพักหนึ่งผมก็ได้เห็นการโจมตีครั้งที่ 2 ข่าวนี้ดูเหนือจริงมากไม่เข้ากับบรรยากาศเงียบสงบในที่ที่ผม อยู่ตอนนั้นเลย

ในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ว่าจะไม่เครื่องการันตีความมั่นคงได้อย่างเต็มที่เพราะมีอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นบ่อยมาก  แต่ในเมืองก็ค่อนข้างปลอดภัย ในตอนนั้นเหตุความขัดแย้งที่ร้ายแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เกิดขึ้น การโจมตี 11 ก.ย. ถือเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมากจนผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าอาจจะกำลังมีอะไรที่เลวร้ายอย่างมากเกิดขึ้นภายในเร็วๆ นี้ หรือในอนาคต

หลังเกิดเหตุ 911 สื่อก็เริ่มกล่าวหากลุ่มอัลกออิดะอ์ โดยเฉพาะผู้นำที่อื้อฉาวและมีบารมีอย่าง โอซามา บิน ลาเดน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับในโลกตะวันตกหรือส่วนที่ถูกทำให้เป็นตะวันตกมากพอที่จะมองบิน ลาเดน เป็นผู้ก่อการร้ายที่ชั่วช้าดุจปีศาจร้าย ชาวมุสลิมในปาตานีมีมุมมองต่อคนที่ชื่อบิน ลาเดน ต่างออกไป ไม่นานหลังจากที่เกิดเหตุโจมตีตึกเวิร์ลเทรด ผมก็ได้เห็นหน้าบิน ลาเดน อยู่ทุกที่ ไม่ใช่เป็นตัวๆ แต่เป็นรูปของเขา เสื้อยืดพิมพ์ลายหน้าบิน ลาเดน ขายดีมากในตลาดและตามร้านค้าริมถนน มีรูปสติกเกอร์ บิน ลาเดน บนรถหลายคัน และมีรูปโปสเตอร์ของเขาในร้านกาแฟหลายแห่ง

ผมถามเพื่อนบางคนว่าทำไมพวกเขาถึงสนับสนุนบิน ลาเดน ทำให้ผมทราบชัดเจนว่าพวกเขายกย่องบิน ลาเดน มากในแง่ที่เขา "กระทำสิ่งที่กล้าหาญ" อย่างการต่อต้านมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แทบจะเรียกได้ว่าอย่างเด็ดเดี่ยว นอกจากนี้แล้วเขาก็ ยังประสบความสำเร็จในการหลบเลี่ยงหน่วยข่าวกรองใหญ่ๆ อย่างซีไอเอ เรื่องนี้ทำให้ผมตื่นตระหนก ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าพวกเขาเป็นคนที่มีแนวทางแบบสันติที่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย แต่หลังจากเหตุการณ์โจมตีครั้งนั้นแล้วพวกเขาก็แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติความก้าวร้าวในตัวออกมาโดยความคิดเห็นด้วยไปกับผู้ก่อการร้ายอื้อฉาวรายนี้ สิ่งที่ได้ทราบจากเรื่องนี้เองที่มีอิทธิพลต่อมุมมองของผมที่มีต่อคนท้องถิ่นนี้

ในตอนนั้นผมกำลังทำการวิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับภาษาศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (sociolinguistics) และแทบจะไม่ได้สนใจเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองของที่นั่นอย่างจริงจังเลย ผมตีความปรากฏการณ์นั้นในฐานะเป็นสัญญาณเตือนคนเหล่านี้อาจจะอยู่ภายใต้อิทธิพลขององค์กรก่อการร้ายระดับโลกอย่างอัลกออิดะฮ์หรือพันธมิตรที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจามาห์ อิสลามมิอาห์ (Jemaah Islamiah หรือ JI) เมื่อความขัดแย้งในภูมิภาคนี้เริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 4 ม.ค. 2547 ผมก็คิดว่าการตีความของผมเองน่าจะเป็นเรื่องจริงที่ว่าพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายศาสนาอิสลาม

ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างโชคร้ายสำหรับผมที่เลือกพื้นที่นี้ทำการเก็บข้อมูลภาคสนามที่ผมตัดสินใจตั้งแต่ปี 2531 ทางเลือกแรกของผมคืออินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม หัวหน้างานวิจัยของผมก็ให้คำแนะนำที่สมเหตุสมผลไว้ว่าควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ความไม่สงบทางการเมืองหลังจากที่มีการโค่นล้มรัฐบาลซูฮาร์โต และเธอบอกว่าผมควรจะเลือกสถานที่ที่ปลอดภัยกว่านี้ ดังนั้นมจึงเลือกตัวเลือกที่ 2 คือปาตานี ผมไม่เคยนึกมาก่อนว่าสถานที่ที่ผมเลือกทำงานวิจัยภาคสนามเพราะมันดูค่อนข้างปลอดภัยนั้นสุดท้ายแล้วจะกลายมาเป็นสนามรบในความขดย้งที่รุนแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเกิดกระแสความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลันในพื้นที่ความขัดแย้งช่วงปี 2547 ผมรู้สึกว่าทุกคนที่นั่นเองก็งุนงงกับมัน เพราะไม่มีใครสามารถอธิบายได้ชัดเจนเลยเกี่ยวกับพื้นฐานของความขัดแย้งนี้ ใครคือผู้บงการ ทำไมพวกเขาถึงทำอะไรแย่ๆ แบบนี้ แรงจูงใจของพวกเขาคืออะไร ใครจะถูกตั้งเป้าเป็นรายต่อไป เราจะใช้ชีวิตอยู่ทีนี่ได้ปลอดภัยแค่ไหน พวกเขามีความเกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์หรือองค์กรอื่นๆ ที่คล้ายกันหรือไม่ มีคำถามเรียงรายออกมาได้ไม่รู้จบ

สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เข้าใจยากขึ้นไม่ใช่เพราะมีคำถามมากมายซึ่งถือว่ามากเกินพอ แต่เป็นเพราะมีคำตอบมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อคำถามเหล่านี้ ลองมามองถึงคำถามเรื่องเกี่ยวกับผู้บงการ บางคนบอกว่าผู้บงการคือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ ขณะที่บางคนก็บอกว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายระดับโลก บางคนบอกว่าความไม่สงบเหล่านี้มาจากกลุ่มมาเฟียยาเสพติดที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ตัวเอง และบางคนก็บอกว่าเป็นพวกลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายในเขตชายแดนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายนี้ มาเฟียท้องถิ่น (หรือที่เรียกกันว่า "ผู้มีอิทธิพล") ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเหล่านี้ด้วย

พวกเรามีตัวเลือกคำตอบเรื่องผู้บงการเยอะมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตีความว่าแรงจูงใจในเรื่องการก่อการร้ายนี้คืออะไร และจากสิ่งที่สรุปไม่ได้นี้เองทำให้เราไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นรายต่อไปที่ถูกตั้งเป้าหมายในขณะที่การสังหารและการก่อการร้ายยังคงเกิดขึ้นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันจากระดับความรุนแรงเช่นนี้ผู้บงการก็สามารถสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมได้โดยการก่อความโหดร้าย อย่างเช่น การตัดศีรษะ การเผาร่าง และอื่นๆ พวกเราถูกโหมกระหน่ำด้วยรายงานข่าวความโหดร้ายเช่นนี้ทุกวันๆ

ตราบใดที่คุณยังอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง จะไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่คุณจะรู้สึกว่าสถานการณ์ปลอดภัยอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามความหวาดกลัวที่ผมมีต่อสถานการณ์ในช่วงแรกๆ ของความขัดแย้งและสิ่งที่ผมรู้สึกก็แตกต่างออกไปทั้งในแง่ความเข้มข้นและระดับของสถานการณ์ นอกจากเรื่องเหตุก่อการร้ายรายวันแล้ววิธีการที่เจ้าหน้าที่ทางการไทยจัดการกับสถานการณ์ก็มีส่วนสร้างบรรยากาศความตึงเครียดในพื้นที่ด้วย การตอบโต้อย่างคุมเข้มของทางการนำไปสู่ดศกนากกรรมที่อื้อฉาว 2 เหตุการณืในปี 2547 อย่างไรกรณีการสังหารหมู่ประชาชนมากกว่า 100 ราย โดยเจ้าน้าที่ทางการในมัสยิดกรือเซะและที่อื่นๆ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือเหตุการณืผู้ชุมนุมถูกปราบปรามอย่างหนักที่ตากใบเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งมีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกอัดใส่รถบรรทุกทหารในสภาพไม่ต่างจากท่อนซุงเป็นเหตุให้เกิดการขาดอากาศหายใจจนมีผู้เสียชีวิต 87 ราย

ท่ามกลางพฤติการณ์ที่วุ่นวายเช่นนี้ ผมเองก็ไปไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ในตอนนั้นผมมีจักรยานที่จะปั่นไปไหนก็ได้ในเมืองปัตตานี ความรู้สึกที่แย่ที่สุดมักจะมาตอนช่วงกลางคืน ในขณะที่ผมปั่นจักรยานคนเดียวบนถนนใกล้กับย่านที่ผมอยู่ในตอนกลางคืน ผมมักจะถูกรบกวนจากความรู้สึกแย่ๆ ที่ว่าอาจจะมีผุ้ก่อการร้ายหลบซ่อนอยู่ที่ใดสักแห่ง พวกเขาอาจจะออกมายิงผมเมื่อไหร่ก้ได้ รถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่แล่นสวนมามักจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวที่ไม่มีเหตุผลเหล่านี้เพราะคิดไปว่าในรถพวกนี้อาจจะมีคนติดอาวุธที่เพิ่งไปยิงคนมาแล้ว ในช่วงระยะนั้นผมรู้สึกกังวลมากจนกระทั่งหลีกเลี่ยงเข้าไปในตัวเมืองเว้นแต่จะมีธุระด่วนจริงๆ ผมจำกัดการเดินทางของตัวเองโดยไม่รู้ตัวเพ่อเหตุผลด้านความปลอดภัย

เมื่อรู้สึกห้อมล้อมจากภัยก่อการร้ายและข่าวก็รายงานเหตุรุนแรงรายวัน ผมมักจะเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในปาตานีกับองค์กรก่อการร้ายศาสนาอิสลามระดับโลก อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้ง สิ่งต่างๆ ที่สื่อถึง บิน ลาเดน ซึ่งเคยมีอยู่มากในพื้นที่ก็ถูกขจัดหายไปเกือบหมด ในที่สุดแล้ว โอซามา บิน ลาเดน ก็ถูกสังหารในปี 2554 แต่การก่อการร้ายก็ไม่ได้หมดไป ผมเริ่มตั้งคำถามกับสมมุติฐานแรกของตัวเอง

นับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุรุนแรงในภาคใต้ ไม่มีเคยแถลงการณ์ใดๆ จากผู้บงการที่จะอ้างตัวว่าเป็นผู้ก่อเหตุออกมาเลย แต่หลังจากที่พ้นจากความสับสนในช่วงแรกมาได้ นักวิจัย, นักวิชาการ, นักข่าว และคงไม่ต้องบอกว่ารวมถึงกองทัพด้วยต่างก็เริ่มเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น

มันชัดเจนขึ้นว่าผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่แทบไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับองค์กรก่อการร้ายระดับโลกเลย แม้ว่าการก่อเหตุทั้งในระดับโลกและที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะเป็นชาวมุสลิมที่ก่อความรุนแรงโดยอ้างว่าเป็นการต่อสู้แบบญิฮาด แต่นอกจากความเหมือนในเรื่องนี้แล้วก็ไม่มีหลักฐานอื่นใดเลยที่สนับสนุนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้มีความพยายามจัดตั้งรัฐอิสลามขยายไปในพื้นที่อื่นแบบเดียวกับองค์กรก่อการร้ายระดับโลก

สำหรับกลุ่มก่อความไม่สงบเหล่านี้แล้วการต่อสู้ของพวกเขามีพื้นฐานมาจากองค์ประกอบ 3 ประการ ซึ่งเริ่มต้นจากตัวอักษร 3 ตัวแรกในอักขระอารบิคคือ อลิฟ, บาอ์ และตาอ์ สาเหตุที่พวกเขายังคงใช้ตัวอักษรอารบิคเป็นเพราะชาวมลายูในพื้นที่ยังคงใช้ระบบการเขียนที่เรียกว่า "ยาวี" ที่ใช้ตัวอักษรอารบิคละมีเสียงเพิ่มเติม 5 เสียงที่ไม่มีในภาษาอาหรับ

ตัวอักษรอลีฟใช้แทนคำว่า "อากามา" ของมลายูที่แปลว่าศาสนาซึ่งในบริบทนี้คือศาสนาอิสลาม บาอ์ ใช้ในคำว่า "บังซา" ซึ่งยากที่จะหาคำแปลในภาษาอังกฤษ คำๆ นี้มีความหมายถึงชาติ, ชาวบ้าน, ประชาชน, เชื้อชาติ, กลุ่มชาติพันธุ์ และอีกหลายๆ ความหมาย มันสื่อถือกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์เดียวกัน หนึ่งในเครื่องชี้วัดความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของชาวมุสลิมมลายูปาตานีคือภาษาของพวกเขา บางครั้งภาษาถิ่นของชาวมลายูก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาษา "ยาวี" (จริงๆ แล้วคำว่า "ยาวี" มาจาก 'jawi' ซึ่งหมายถึงระบการเขียนเช่นที่กล่าวไว้ข้างต้น) ในส่วนอื่นๆ ของโลกที่มีคนพูดภาษามลายูไม่ว่าจะใน มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ หรือแม้แต่อินโดนีเซีย (ภาษาอินโดนีเซียพัฒนามาจากภาษาพูดอย่างไม่เป็นทางการของชาวมลายูในพื้นที่) แม้ว่าคุณจะพูดภาษามลายูแต่ไม่จำเป็นว่าคนอื่นจะคิดว่าคุณเป็นชาวมุสลิม อย่างไรก็ตามในปัตตานีเมื่อผู้คนพบว่าคุณพูดภาษามลายูได้พวกเขาจะถามคุณทันทีว่า "คุณเป็นชาวมุสลิมหรือเปล่า" ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆ ที่พูดภาษามลายูคุณจะไม่ค่อยเจอคำถามนี้

ความเชื่อมโยงที่เหนียวแน่นระหว่างภาษาและศาสนาอิสลามนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้ทำความเข้าใจว่าศาสนาอยู่ในจุดใดกันแน่ของการต่อสู้ของพวกเขา กลุ่มที่ผู้คนเรียกว่าเป็น "ผู้ก่อความไม่สงบ" ในปาตานีไม่ได้ต่อสู้เพื่อศาสนาของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย พวกเขาแค่มีแนวคิดชาตินิยมและแนวคิดของ "ความเป็นมลายู" และ "ความเป็นมุสลิม" สำหรับพวกเขาแล้วไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกันได้ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงดูไม่สมเหตุสมผลในบริบทของขบวนการต่อสู้ปลดปล่อยปาตานี (นี่สิ่งที่พวกเขาเรียกตัวเอง) ศาสนาของพวกเขาและเชื้อชาติของพวกเขาเปรียบเสมือนคนละด้านของเหรียญเดียวกัน

ตัวอักษรสุดท้าย ตาอ์ เป็นตัวอักษรแทน "ตะนะห์ แอร์" ที่แปลว่า "มาตุภูมิ" (อาจจะเรียก "ปิตุภูมิ" หรือ "บ้านเกิดเมืองนอน" ก็ได้) ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะชาตินิยมจัดของกลุ่มก่อความไม่สงบ พวกเขาไม่เคยอ้างสิทธิเหนือดินแดนอื่นใดที่พวกเขามองว่าเป้นของประเทศไทยโดยชอบะรรม ยกตัวอย่างเช่นไม่เคยมีการอ้างสิทธิเหนือภูเก็ตหรือกรุงเทพฯ ในทางตรงกันข้าม พวกเขามองว่า "ปาตานี" (ซึ่งการนิยามพื้นที่ของปาตานีในเชิงภูมิศาสตร์ยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ แต่ตามที่เอกสารข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น ระบุว่าเป็นพื้นที่เขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) ไม่ได้เป็นของไทย แต่เป็นดินแดนของชาวมลายูที่ถูกสยาม (และต่อมาคือไทย) ยึดอาณานิคม ทำให้บีอาร์เอ็นเรียกรัฐไทยว่า "เปินฌาฌัฮสยาม" แปลว่า "สยามผู้ยึดครอบอาณานิคม"

สำหรับผู้ที่ใช้วาทกรรมของมลายูศึกษา มันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่มีการมองว่าสยาม/ไทย เป็นผู้ยึดครองอาณานิคม เช่นเดียวกับผู้ยึดครองอาณานิคมอื่นๆ ที่เคยยึดอาณานิคมโลกมลายูในอดีต อย่างเช่นโปรตุเกส, สเปน, เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ดังนั้นแล้วในบริทแบบชาตินิยมการต่อสู้กับผู้ครองอาณานิคมเหล่านี้เพื่อเป็นการปลดปล่อยประเทศตัวเองให้เป็นอิสระถือเป็นเรื่องที่ชอบธรรมโดยสมบูรณ์ บางประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน สามารถได้รับอิสรภาพโดยไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ชาวอินโดนีเซียจำต้องสู้กับเนเธอร์แลนด์เพื่อขับไล่อำนาจอาณานิคมแม้แต่หลังจากมีการประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2488 แล้ว ด้วยสาเหตุนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แถลงการณ์จากกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐในปาตานีโดยเฉพาะจากกลุ่มบีอาร์เอ็นจะสะท้อนให้เห็นอิทธิพลการต่อสู้ชาตินิยมของชาวอินโดนีเซียอย่างชัดเจน รวมถึงสไตล์ของภาษาที่พวกเขาใช้

เมื่อกลุ่มไอซิส (ISIS) เริ่มปรากฏตัว พวกเขารู้อยู่แล้วว่ากลุ่มติดอาวุธในปาตานีรวมถึงผู้ที่สนับสนุนพวกเขาเป็นกลุ่มชาตินิยมในตัวเองอยู่แล้ว ในยามที่โลโก้ของไอซิสหรือรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับไอซิสเริ่มถูกใช้เป็นรูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะในเฟซบุ๊คโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวปาตานีบางคนพวกเราก็ไม่ได้เชื่อมโยงว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเพราะอิทธิพลโดยตรงจากพวกไอซิสแต่เป็นการแสดงออกถึงแนวคิดการใช้ความรุนแรงโจมตีมหาอำนาจตะวันตก บิน ลาเดน และในเวลาต่อมาคือไอซิสอาจจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ "ดูเท่" สำหรับคนในพื้นที่ ไม่ใช่เพราะจากจุดยืนอุดมการณ์หรือความโหดร้ายที่พวกนี้กระทำ แต่เป็นเพียงเพราะพวกเขาแสดงออกต่อต้านสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ อย่างเปิดเผย อย่างที่ผมประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าแฟชั่นไอซิสนี้จะได้รับความนิยมเพียงไม่นาน อีกไม่กี่เดือนถัดมาพวกนี้ก็เสื่อมความนิยมไป

แม้กระนั้นกระแสแฟชั่นเช่นนี้ก็ไม่สามารถมองข้ามได้ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือมุมมองว่าบิน ลาเดน และไอซิสเป็นสิ่งที่ "ดูเท่" นั้นสะท้อนว่าอย่างน้อยก็มีคนในพื้นที่ปาตานีบางคนมีมุมมองในแง่บวกต่อกลุ่มเหล่านี้ การต่อสู้กับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ โดยกลุ่มเหล่านี้ดึงดูดให้คนในพื้นที่ปาตานีรู้สึกมีอารมณืร่วมไปด้วยได้ถึงแม้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะกระทำการโหดร้าย ซึ่งนำมาสู่ประการที่สองคือกลุ่มคนในพื้นที่ปาตานีสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้อย่างไร ในทีนี้เราต้องไม่ลืมข้อเท้จจริงว่ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักรบปลดปลอยปาตานีไม่ได้มีพื้นฐานจากแนวคิดชาตินิยมล้วนๆ แต่เป็นแนวคิดชาตินิยมในแบบของพวกเขาเองที่อ้างความชอบธรรมจากแนวคิดญิฮาด

เช่นที่กล่าวไว้ข้างต้น การต่อสู้ของพวกเขาโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องชาตินิยม อย่างไรก็ตามในหลักการความเชื่อของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้การต่อสู้ของพวกเขาถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของชาวมลายูทุกคนเพราะมันเป็นญิฮาด ดังนั้นแล้วแนวคิดญิฮาดจึงเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการที่พวกเขาใช้เกณฑ์นักรบใหม่ๆ เข้าร่วมการต่อสู้ นักวิจัยบางคนมองว่าจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่มีระดับต่ำกว่าไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ในสังกัดกลุ่มใดกันแน่ คนในท้องถิ่นมีคำที่ใช้เรียกคนเหล่านี้ว่า "จูแว" (คำแบบท้องถิ่นของภาษามลายูว่า "จวง" หมายถึง "การต่อสู้") หลังจากมีการลงนามฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในวันที่ 28 ก.พ. 2556 จูแวพวกนี้ถึงได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกว่าองค์กรของพวกเขาคือบีอาร์เอ็น ในแง่ของความพยายามรักษาความลับของพวกเขาแล้วถือเป็นเรื่องเข้าใจได้

กลุมย่อยที่สุดของบีอาร์เอ็นในระดับหมู่บ้านเรียกว่าอาร์เคเค เป็นคำย่อจากภาษามลายู "รุนดา คัมปุลัน เคซิล" (กลุ่มลาดตระเวณขนาดเล็ก) ประกอบด้วยนักรบ 6 คน คนกลุ่มนี้จะรู้จักแต่ผู้บัญชาการโดยตรงของพวกเขาเท่านั้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถโยงถึงผู้บัญชาการระดับที่สูงกว่าได้ จากงานวิจัยของกองทัพไทยระบุว่าสายการบัญชาการของบีอาร์เอ็นมีระดับเกือบจะเป็นแบบเดียวกับการแบ่งสายการปกครองของประเทศ จากระดับหมู่บ้าน ไปสู่ระดับตำบล ระดับอำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัด นักรบในทุกๆ ระดับจะรู้จักแต่ผู้บัญชาการโดยตรงของพวกเขาดังนั้นคนที่อยู่ในระดับต่ำสุดและผู้บัญชาการในระดับสูงกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้จักกัน ในเรื่องนี้ต้องย้ำให้ทราบด้วยว่ากระบวนการเกณฑ์คนและการฝึกฝนนักรบใหม่ก็กระทำภายใต้สภาพการณ์เดียวกัน

เช่นที่พวกเราได้เห็นกันไปแล้วว่าคนที่เป็นผู้บัญชาการระดับสูงในองค์กรนี้อย่างเช่น อุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ เป็นคนที่มีความเป็นการเมืองอยู่มาก มารา ปาตานี ประกาศตนว่าเป็นฝ่ายการเมืองของกลุ่มปลดปล่อยปาตานี อย่างไรก็ตามลักษณะความเป็นการเมืองนี้อาจจะไม่ได้มีอยู่ในตัวของนักรบภาคสนามด้วย ไม่ได้หมายความว่าพวกนักรบภาคสนามจะไม่มีเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองเลย แต่สิ่งที่นักรบคิดอาจจะเป็นสิ่งที่ดูเพ้อฝันมากกว่ากลุ่มผู้นำการเมือง

ในขั้นตอนการเกณฑ์คนเข้าร่ว พวกเขาจะบอกว่ามันเป็นการต่อสู้เพื่อชาวมลายูเพื่อศาสนาของพวกเขาและดินแดนของพวกเขา ดังนั้นแล้วเป้าหมายเดียวในการต่อสู้นี้คือการปลดปล่อยปาตานีเป็นอิสระ และถ้าหากพวกเขาเสียชีวิตในการต่อสุ้พวกเขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สละชีพ นี่เป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะมันเป็นไปได้ยากมากที่จะสามารถเชื้อชวนให้คนหนุ่มสาวเข้าร่วมการสู้รบด้วยอาวุธเพื่อที่จะทำให้เกิดการปกครองตนเองซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยง เมื่อเทียบกับผู้นำทางการเมืองแล้ว พวกนี้ส่วนใหญ่มักจะอยู่อย่างสะดวกสบายในต่างประเทศห่างจากสนามรบ ขณะที่พวกนักรบตัวเล็กๆ จะมีแนวคิดญิฮาดในการต่อสู้ของพวกเขามากกว่า พวกเขาเสี่ยงชีวิตตัวเอง เสี่ยงชีวิตครอบครัวและความปลอดภัยเพียงเพื่อการเป็นเอกราชที่ถูกทำให้เพ้อฝันและการยกยอ ครอบครัวหนึ่งที่มีคนในครอบครัวเป็นนักรบอาร์เคเคผู้ถูกยิงศีรษะเสียชีวิตในการปะทะวันที่ 13 ก.พ. 2556 กล่าวถึงสิ่งที่หลานชายพวกเขาพูดไว้บอกว่า "ถึงแม้ว่าพวกเราได้รับเอกราชแม้เพียง 1 วินาทีก่อนวันพิพากษา สำหรับพวกเรามันก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว"

เรื่องของข้อแตกต่างทางอุดมการณ์ส่วนหนึ่งสามารถนำมาอธิบายได้ว่าทำไมเมื่อฝ่าย B "ฝ่ายที่มีมุมมองต่างจากรัฐ" พยายามจะเจรจาหารือกับฝ่าย A ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐไทย พวกเขาถึงมักจะต้องเผชิญคำถามว่าพวกเขาสามารถควบคุมนักรบระดับล่างๆ ในภาคสนามได้หรือไม่ โดยพื้นฐานแล้วการต่อสู้ของพวกเขามีเป้าหมายสุดท้ายอย่างเดียวกันคือเอกราช อย่างไรก็ตามพวกเขาก็มีวิธีการเข้าถึงเป้าหมายต่างกัน การเจรจาหารือและต่อรองอาจจะเป็นเรื่องที่ดูประนีประนอมเกินไปในสายตาของนักรบภาคสนาม ในมุมมองของพวกเขาแล้วผู้ยึดครองอาณานิคมชาวสยามจะต้องถูกขับไล่โดยสิ้นเชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในแง่นี้มองแบบผิวเผินแล้วมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการเจรจาหารือหรือต่อรองกันเพื่อให้ได้สันติภาพในปาตานี อย่างไรก็ตามพวกเราไม่ควรจะหลงประเด็นว่าแม้แต่นักรบระดับล่างๆ ก็ใฝ่หาเอกราข ซึ่งหมายความว่าพวกเขาก็มีความชาตินิยมด้วยด้วยเหตุผลนี้เอง เมื่อโน้มน้าวใจพวกเขาสำเร็จแล้ว (แม้ว่ามันจะไม่ใช่กระบวนการที่ง่ายเลย) การเปิดเจรจาหารือและต่อรองก็จะยังเป็นไปได้ และเป็นสิ่งที่ควรจะทำในขณะที่พวกเขายอมรับทางออกนี้ จากข้อเท็จจริงที่ว่ามีการใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามทำลายกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นน้อยมากก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

ในทางกลับกัน ถ้าหากฝ่ายกองทัพใช้วิธีการแบบใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ ผลที่ตามมาก็อาจจะเป็นหายนะ จากประสบการณ์เมื่อ 12 ปีที่แล้ว คงสามารถสรุปได้ว่าจะไม่มีผู้ใดที่เป็นผู้ชนะอย่างหมดจดในความขัดแย้งครั้งนี้ ฝ่ายกองทัพไทยก็มีโอกาสต่ำมากที่จะแพ้ในการรบเนื่องจากมีทรัพยากรที่ใช้แทบไม่หมด แต่ในข้อเท้จจริงที่ว่าคนที่พวกเขาต่อสู้ด้วยเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบที่มาจากประชาชนในพื้นที่ ในทางเดียวกันเมื่อพูดในเชิงยุทธศาสตร์แล้วฝ่ายผู้ก่อคามไม่สงบก็มีโอกาสน้อยมากที่จะทำเป้าหมายสำเร็จจากวิธีการทางการรบอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้เองความขัดแย้งยืดเยื้อไปแทบจะไม่มีที่สิ้นสุด

ผมยังคงเชื่อมั่นว่าการเจรจาหารืออย่างสันติเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ปาตานีพ้นจากความขัดแย้งซึ่งทำให้มีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย ที่นี่รูปภาพของบิน ลาเดน และโลโก้ไอซิส ถือเป็นคำเตือนที่หนักแน่น เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบและเหล่าคนในพื้นที่ที่สนับสนุนพวกเขาอย่างมากรู้สึกว่าอนาคตของพวกเขาเข้าตาจนและไม่พอใจในยุทธศาสตร์การต่อสู้ปัจจุบันของพวกเขาอีก ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะหันไปยึดอุดมการณ์ที่สุดโต่งยิ่งกว่านี้ และองค์กรก่อการร้ายศาสนาอิสลามในระดับโลกจะเป็นผู้ให้อุดมการณ์เหล่านี้กับพวกเขา

เมื่อรูปของบิน ลาเดน และโลโก้ไอซิส เป็นที่ชื่นชอบของคนในพื้นที่ ตัวมันเองอาจจะเป็นแค่รูปสัญลักษณ์ แต่ถ้าหากว่าคนในพื้นทีแสดงให้เห้นโลโก้ขององค์กรก่อการร้ายศาสนาอิสลามในระดับโลกอีก มันอาจจะไม่ใช่แค่แฟชั่นอีกต่อไป แต่อาจจะกลายเป็นการที่พวกเขายกย่องคนเหล่านั้นให้เป็นผู้นำจริงๆ ของพวกเขา

ดังนั้นแล้วผมจึงอยากแนะนำเจ้าหน้าที่ทางการว่า ควรจะมีการเจรจาหารือกับฝ่าย B ในขณะที่พวกเขายังสามารถเจรจาหารือด้วยได้ ก่อนที่พวกเขาจะหันหน้าเข้าหาอุดมการณ์ทีสุดโต่งยิ่งกว่านี้

หมายเหตุ : ในบทความนี้ฮารา ใช้คำว่าปาตานี ซึ่งเป็นคำละความหมายกับปัตตานีที่เป็นชื่อจังหวัด แต่ปาตานีหมายถึงพื้นที่ความขัดแย้งในภาคใต้ทั้งในสามจังหวัด ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา

ถอดความจาก

Bin Laden was everywhere, Hara Shintaro, 22-03-2016 http://prachatai.org/english/node/5957

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท