Skip to main content
sharethis
"ไอแอลโอ" เสนอไทยขยายอายุเกษียณ ปลัดแรงงานชี้อยู่ระหว่างศึกษา/ย้ำนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานทุกสัญชาติในทุกกิจการ หลังตรวจพบฟาร์มเลี้ยงหมูมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย/คปค.ร้องขอเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปาก/ก. แรงงานเผย 6 เดือน ส่งเสริมคนพิการมีงานทำแล้ว 7,295 คน/"กลุ่มสูงวัย" เรียกร้อง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ/บีเอ็มดับบลิวเตรียมขยายกำลังการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศไทยเพิ่ม/ฯลฯ
 
ย้ำนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานทุกสัญชาติในทุกกิจการ หลังตรวจพบฟาร์มเลี้ยงหมูมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย
 
น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่าได้รับรายงานจากเจ้าพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดนครปฐม ว่า วันที่ 17 มีนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจกิจการฟาร์มเลี้ยงหมู บริษัท เอบีเจ ฟาร์ม จำกัด ตามมาตรการกำกับดูแลสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยง พบว่ามีการจ้างแรงงานสัญชาติพม่าไม่มีใบอนุญาตทำงาน 34 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเด็ก 5 คน ซึ่งมีความผิดฐานใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 1 คน ใช้แรงงานเด็กอายุระหว่าง 15 – 18 ปี โดยไม่ได้แจ้งการใช้จ้างเด็กทำงาน 4 คน และจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด มีความผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พนักงานตรวจแรงงาน จึงแจ้งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้ครบตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างยินยอมจ่ายเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเงินทั้งสิ้น 2,196,235 บาท
 
น.ส.พรรณี กล่าวอีกว่าจากการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม นายจ้างอ้างว่ากิจการเป็นประเภทเกษตรกรรม จึงเข้าใจผิดว่า ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประเภท ทุกสัญชาติ ที่ทำงานในประเทศไทย โดยไม่เลือกว่าเป็นแรงงานถูกกฎหมายหรือเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
 
 
พนักงานบริษัทที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเห็นด้วยนโยบายกำหนดอัตราค่าจ้างรถจักรยานยนต์สาธารณะ 
 
วันที่ 6 เม.ย. 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าจ้างรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2559 เพื่อคุ้มครองสิทธิและป้องกันการฉวยโอกาสในการเอาเปรียบผู้โดยสาร ด้วยการกำหนดค่าโดยสาร 2 กิโลเมตรแรก ต้องไม่เกิน 25 บาท และกิโลเมตรต่อๆ ไป แต่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 5 บาท และตั้งแต่ 5 กิโลเมตรเป็นต้นไป จากเดิมให้ตกลงราคากันเองระหว่างผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและผู้โดยสาร เป็นกิโลเมตรละไม่เกิน 10 บาท ตั้งแต่กิโลเมตรแรกจนสิ้นสุดการรับจ้าง และหากมากกว่า 15 กิโลเมตรขึ้นไป ให้สามารถเลือกตกลงราคากันเอง หรือคิดค่าโดยสารกิโลเมตรละไม่เกิน 10 บาทนั้น
 
ข้อ 1 ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2548
ข้อ 2 อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะให้กำหนด ดังนี้
 
– ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ต้องไม่เกิน 25 บาท และกิโลเมตรต่อๆ ไป แต่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 5 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 5 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 15 กิโลเมตร ตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท
ข้อ 3 ระยะทางเกินกว่า 15 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เป็นไปตามที่ผู้ขับรถและคนโดยสารตกลงกันก่อน หากไม่ตกลงกันก่อนอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท
 
ขณะที่ พนักงานบริษัทที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างต่างเห็นสอดคล้องกันว่า นโยบายนี้ทำให้ผู้โดยสารไม่ถูกเอาเปรียบเหมือนที่ผ่านมา
 
“ถ้าเป็นตามที่ประกาศ 2 กิโลเมตรแรก 25 บาท ดีกว่าตอนแรก เพราะว่า บางทีวินที่เราโบกไประยะใกล้ๆ ก็คิดแพง หากมีการควบคุมจะดีกว่า”
 
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมของอัตราค่าโดยสาร สามารถร้องเรียนผ่านทางสายด่วน 1584 ได้ทันที
 
 
รมว.สธ. เร่งขึ้นทะเบียนต่างด้าวเข้าระบบประกันสุขภาพ เพื่อให้เข้าถึงการรักษา เหลืออีก 1.6 แสนคน
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตาม การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และผู้ติดตาม ซึ่งหมดระยะเวลาผ่อนผันให้อยู่ในประเทศ ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ โรงพยาบาลสมุทรสาคร
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 การผ่อนผันให้แรงงานสัญชาติ เมียนมา ลาวและกัมพูชา ในกลุ่มที่มีบัตรสีชมพู และกลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้จากการตรวจสัญชาติหรือพิสูจน์สัญชาติทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี มีเอกสารหนังสือเดินทางที่เคยมีใบอนุญาตทำงานแล้ว มารายงานตัวทำบัตรใหม่ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 29 กรกฎาคม 2559 ระยะเวลา 120 วัน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตาม และคนต่างด้าวที่มีประมาณ 3.5ล้านคนเข้ารับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพก่อนขึ้นทะเบียนทำงาน เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและรักษาพยาบาล
 
ทั้งนี้ ในปี 2558 มีแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม ซื้อบัตรประกันสุขภาพจำนวน 1,341,616 คน จังหวัดที่มีผู้ซื้อบัตรมากที่สุด คือ ชลบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร เชียงใหม่ และสมุทรปราการ สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ในปี 2559 มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติและผู้ติดตาม ขึ้นทะเบียน 200,650 คน ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2559 มีแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามเข้ารับการตรวจและประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลสมุทรสาครแล้ว 34,000 คน ยังเหลือประมาณ 160,000 คน
 
 
คปค.ร้องขอเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปาก
 
(7 เม.ย.) นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกร้องสิทธิบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน โดยเฉพาะปัญหาจากการสำรองจ่าย และเพดานเงินที่กำหนดให้รักษาเพียง 600 บาทต่อปี ว่า ทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้เตรียมเอกสารข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อเรียกร้องเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พรุ่งนี้ ( 8 เม.ย.) เวลา 10.00 น.
 
นายมนัส กล่าวต่อว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมวิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนวทางหาทางออก โดยข้อเสนอเบื้องต้น คือ 1.การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับการบริการทางตามความจำเป็น โดยไม่ต้องสำรองจ่าย 2.ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก บนและ/หรือล่างได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องสำรองจ่าย 3.เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปี อาจจะทำได้ทั้งในหน่วยบริการ หรือเป็นบริการเคลื่อนที่ สำหรับการบริหารการจ่ายเงินนั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ่ายให้หน่วยบริการตามราคากลางที่ สปส.กำหนด โดยหน่วยงานบริการเบิกไปที่สำนักงานโดยตรง ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย
 
“อยากให้มีการตรวจสุขภาพช่องปากด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมป้องกันโรค เหมือนกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นอกจากนี้ พวกเราจะขอให้ ก.แรงงาน และ สปส. ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาสิทธิทันตกรรมของผู้ประกันตน หวังว่าเรื่องนี้จะได้เป็นของขวัญวันแรงงาน ในวันที่ 1 พฤษภาคม ถ้าหากไม่มีความคืบหน้า ทางกลุ่มจะมีการหารือเพื่อร่วมกันหาทางออก และเคลื่อนไหวต่อไป” นายมนัส กล่าว
 
 
ก. แรงงานเผย 6 เดือน (ต.ค.58 – มี.ค.59) ส่งเสริมคนพิการมีงานทำแล้ว 7,295 คน
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นเสริมสร้างให้คนพิการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างให้คนพิการมีงานทำโดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ทั้งทำงานในสถานประกอบการ หน่วยงานรัฐ ตลอดจนการให้สัมปทาน การจัดสถานที่ให้จำหน่ายสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้จากการรายงานของกรมการจัดหางานในช่วง 6 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 – มี.ค.59) พบว่า มีคนพิการได้รับการบรรจุงานทำงานในสถานประกอบการ ผ่านการใช้บริการของกระทรวงแรงงาน จำนวน 1,130 คนจากตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ 1,178 อัตรา ซึ่งสามารถบรรจุได้คิดเป็นอัตราร้อยละ 97 ของตำแหน่งงานว่าง นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำในด้านอื่น ๆ อีก 6,157 คน โดยมีสถานประกอบการ 845 แห่ง หน่วยงานรัฐ 15 แห่ง ให้การสนับสนุน แยกเป็น การให้สัมปทาน 410 คน/ การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3,961 คน/ จัดจ้างเหมาช่วงงาน /จ้างเหมาบริการ 295 คน/ ฝึกงาน 1,090 คน/ ล่ามภาษามือ 1 คน และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นอีก 400 คน อาทิ สร้างโรงเพาะชำให้กลุ่มคนพิการปลูกพืชผักหรือสร้างอาคารร้านค้าให้กลุ่มคนพิการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ของสถานประกอบการในการจ้างงานคนพิการ คือ ได้รับการ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นายจ้าง/สถานประกอบการ/ยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่าย ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายปกติจะหักได้ 2 เท่า/ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้เฉพาะการจ้างลูกจ้างที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น และกรณีมีการจ้างคนพิการมากกว่า 60% ของลูกจ้างในสถานประกอบการจะสามารถหักค่าจ้างเป็น 3 เท่าด้วย ตัวอย่างกรณีนี้ (จ้างคนพิการ60%) กล่าวคือ นายจ้างสามารถนำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ถึง 3 เท่าของที่จ่ายเป็นค่าจ้างคนพิการ เช่น ค่าจ้าง 1 ปีจ่ายจริง 100,000 บาท สามารถถือเป็นรายจ่ายได้ถึง 300,000 บาท นายจ้างเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ย่อมหมายความว่ารัฐบาลได้ช่วยออกค่าจ้างในรูปแบบภาษีร้อยละ 30 คิดเป็น 200,000 x 30/100 = 60,000 บาท แสดงว่านายจ้างจ่ายจริงเพียง 40,000 บาท ต่อคนเท่านั้น
 
สถานประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือคนพิการจะสมัครงานหรือใช้บริการติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือ โทร.1694
 
 
เครือข่ายผู้ประกันตนวอน"สปส."เพิ่มสิทธิทำฟัน 1,200 บาท เชื่อไม่กระทบกองทุน ลั่นหากไม่คืบ จ่อล่า 1 ล้านรายชื่อร้อง“บิ๊กตู่”
 
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่กระทรวงแรงงาน แกนนำเครือข่ายสุขภาพผู้ประกันตน อาทิ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เครือข่าย"ฟ.ฟัน สร้างสุข" และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้เดินทางมายื่นหนังสือข้อเรียกร้องเพิ่มสิทธิทำทันตกรรมของผู้ประกันตน พร้อมยื่นรายชื่อผู้ประกันตนที่ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้อง กว่า 10,000 รายชื่อด้วย โดยมีนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับเรื่อง ทั้งนี้ นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) กล่าวว่า จากการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์แล้วทางเครือข่ายฯ ขอให้ประกันสังคมเพิ่มเพดานค่าทำฟันจากปีละ600 บาท เป็น 1,200 บาทต่อครั้งโดยตั้งเป็นกองทุนเฉพาะ แล้วเกลี่ยเงินจากกรณีแทนการเสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วย และการคลอดบุตร ซึ่งเป็นคนละส่วนกับกองทุนชราภาพอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามต้องมีการพิจารณาหารือเพื่อไม่ให้กระทบกับ 4 กองทุนนี้ต่อไป ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่กระทบเนื่องจากเมื่อปี 2557 ผู้ประกันตนมีอยู่ 11 ล้านคนมีการเบิกค่าทำฟันเพียง 521 ล้านบาทเท่านั้น ยังเหลืออีกกว่า 42,000 ล้านบาท นอกจากนี้ต้องไม่ให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย แต่จัดให้มีระบบตรวจสุขภาพในช่องปากเคลื่อนที่ และมีสิทธิได้รับฟันเทียมทั้งล่างและบน เทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง)
 
“ประกันสังคมเกิดขึ้นเมื่อปี 2533 สิทธิของเราดีที่สุดในตอนนั้น แต่เมื่อสปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 สิทธิประกันสังคมก็ตามหลังมาตลอดที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม แต่ยุคนี้ นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และเรื่องฟันเป็นด่านหน้าของปัญหาสุขภาพหลายอย่าง จึงควรได้รับการปฏิรูปด้วย”นายมนัส กล่าวและว่า มาตรา 63 (2) เขียนชัดเจนเรื่องประกันสุขภาพ แต่จนถึงตอนนี้ประกันสังคมยังไม่ได้ออกกฎหมายลูก ดังนั้นหากยังไม่คืบหน้าจะล่ารายชื่อให้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อยื่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก่อนถึงวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.นี้
 
ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า สิทธิทางด้านทันตกรรมมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ขณะที่นโยบายของรัฐบาลพูดเสมอว่าความต่างที่มีอยู่ต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้นตนจะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯ ไปเสนอต่อรมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ทราบแนวคิด รวมถึงหารือกันในบอร์ด สปส.ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตามบางเรื่องอาจสามารถทำได้ แต่บางเรื่องก็ไม่สามารถทำได้ ขณะที่นางชลอลักษณ์ แก้วพวง ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า การปรับระบบการให้บริการผู้ประกันตนให้ไม่ต้องจ่ายเงินสำรองไปก่อนนั้น จะต้องไปศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสะดวกกับผู้ประกันตนและสถานพยาบาลที่เข้าร่วม ซึ่งต้องจัดระบบการเบิกจ่ายเงินให้รัดกุม เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการยื่นเบิกค่าทำฟันของสถานพยาบาล ส่วนการเพิ่มวงเงินต้องมีการศึกษาอย่างชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อกองทุนหรือไม่ นอกจากนี้อาจต้องนำระบบของ สปสช.มาประกอบการพิจารณาด้วย.
 
 
"กลุ่มสูงวัย" เรียกร้อง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ
 
เมื่อวันที่ 8 เมษายน บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 5 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องในรัฐบาลขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ ให้มีการจัดระบบบำนาญพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุทุกกลุ่ม โดยมีผู้สูงอายุและตัวแทนเครือข่ายประมาณ 300 คน
 
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์และวันผู้สูงอายุ เครือข่ายต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ด้วยการเดินหน้าจัดทำ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้ปัดตกไป ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ระบุให้รัฐจัดระบบบำนาญพื้นฐานให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับประชาชนเมื่อเป็นผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ด้วยการจัดระบบการออมเพื่อบำเหน็จบำนาญ และกองทุนเงินออมเพื่อบำเหน็จบำนาญ โดยมีคณะกรรมการกำกับควบคุมดูแลแต่ละกองทุนไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ และมีการนำเงินในกองทุนไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สมาชิกในกองทุน โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นภาคบังคับให้ประชาชนออมเงิน นอกเหนือจากที่ปัจจุบันมีระบบสมัครใจคือกองทุนการออมแห่งชาติ ส่วนประชาชนที่ไม่มีรายได้ รัฐบาลก็ต้องหาแนวทางสนับสนุนอาชีพ เพื่อให้สามารถสมทบเงินเข้ากองทุน
 
น.ส.สุรีรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนที่มีบำนาญคือข้าราชการ ซึ่งได้รับเงินจากเงินแผ่นดินปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท อีกกลุ่มคือผู้ประกันตน ซึ่งมาจากเงินออมของตัวเองตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่มีบำนาญจะได้รับเบี้ยยังชีพประมาณเดือนละ 600 บาท ซึ่งมีประมาณ 8 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 64,000 ล้านบาท แต่จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่าผู้สูงอายุจะมีรายจ่ายต่อเดือนที่เหมาะสมอยู่ที่ 2,600 บาท ดังนั้นหากมีการออก พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ รัฐบาลอาจต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเงินบำนาญ ซึ่งอาจต้องมีการปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1 รัฐจะจัดเก็บได้ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี และเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ หากทราบว่าเป็นการเพิ่มภาษีเพื่อนำมาเพิ่มสวัสดิการบำนาญให้กับทุกคน
 
"ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 15 มีฐานะยากจนไปจนถึงไม่มีรายได้ ดังนั้น การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี จึงต้องการรณรงค์ประชาชนเห็นความสำคัญของการวางแผนออมเงินเพื่ออนาคตเมื่อ เป็นผู้สูงอายุ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีเงินครองชีพอย่างเหมาะสม" น.ส.สุรีรัตน์กล่าว
 
 
สธ. แนะนำ 7 กลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงทำงาน/อยู่กลางแจ้งช่วงหน้าร้อน ป้องกันโรคลมแดด
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยอากาศร้อนจัด บางพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดอาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ประชาชนอาจเป็นโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ ซึ่งเกิดเกิดจากการอยู่กลางแดด ออกกำลังกาย หรือทำงานในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนเหงื่อไม่สามารถระเหยและพาความร้อนออกจากร่างกาย ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาท ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 20 กว่าราย ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ส่วนมากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโรคประจำตัว แล้วออกไปทำงาน ทำกิจกรรมกลางแจ้งในขณะอากาศร้อน
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ช่วงฤดูร้อนตั้งแต่มีนาคม –พฤษภาคม รอบ 3 ปีที่ผ่านมา พ.ศ.2556-2558 มีรายงานผู้เสียชีวิต 25 ราย 28 ราย และ 56 ราย ในเดือนมีนาคมปีนี้พบผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย ซึ่งตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นไปอากาศจะยิ่งร้อนมากขึ้น ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ออกประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรือบริเวณที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันอันตราย โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร ทหาร นักกีฬา 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 3.ผู้สูงอายุ 4.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ 5.คนอ้วน 6.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 7.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน เมื่อจะต้องออกไปทำงานกลางแจ้งหรือกลางแดด ขอให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และพยายามดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด เลือกออกกำลังกายการช่วงเช้าหรือเย็น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้มีโรคเรื้อรังให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ อย่าให้อยู่ในรถที่จอดตากแดดเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่มีการระบายอากาศ อุณหภูมิจะสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ
 
ผู้ที่เป็นโรคลมแดดจะมีอาการ ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เพ้อ ชัก มึนงง หน้ามืด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือโทรสายด่วน 1669
 
 
บีเอ็มดับบลิวเตรียมขยายกำลังการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นคัน/ปี จากเดิมที่ผลิตได้ 8,000-9,000 คัน
 
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายแมทธิอัส พฟาลซ์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ว่า บีเอ็มดับเบิลยูระบุว่าในปีนี้บริษัทจะขยายกำลังการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นคัน/ปี จากเดิมที่ผลิตได้ 8,000-9,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและตลาดจีน และมั่นใจว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทได้ เนื่องจากมีแรงงานที่มีศักยภาพ และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ที่ผลิตในประเทศไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
 
"บริษัทระบุว่าจะเพิ่มการผลิตรถยนต์ 2 รุ่น คือ X3 และ X5 เพื่อส่งออกไปอาเซียน และจีน" นางอรรชกา กล่าว
 
นางอรรชกา กล่าวว่า ขณะนี้บีเอ็มดับเบิลยูอยู่ระหว่างการก่อสร้างสำนักงานจัดซื้อในประเทศไทย (โกลบอล เพอร์เชสซิ่ง ออฟฟิศ) จากปัจจุบันที่บริษัทมีสำนักงานจัดซื้อทั่วโลก 30 แห่งใน 14 ประเทศ เพื่อซื้อชิ้นส่วนป้อนโรงงานรถยนต์ของบริษัทที่มีกำลังการผลิต 2 ล้านคัน/ปี และที่ผ่านมาบริษัทมีการซื้อชิ้นส่วนรถยนต์จากผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ในไทย โดยเฉพาะระบบนำทางซึ่งมีมูลค่า 4,000 ล้านบาท/ปี และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
 
นายแมทธิอัส กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในประเทศไทย โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในรุนบีเอ็มดับเบิลยู X5 ก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในปีนี้บริษัทจะมีการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคัน
 
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในงานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ หรือ Thailand Auto Parts & Accessories (TAPA 2016) ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของโลก โดยในปี 2558 ไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนคิดเป็นมูลค่า 3.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์มูลค่า 1.92 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักๆ เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย และส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
 
"กระทรวงคาดการณ์ว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 3.8% แบ่งเป็นการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้น 5% และส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น 2% โดยมูลค่าการส่งออกจะสูงเกิน 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแน่นอน ขณะที่ผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่จะทำรายได้ส่งออกได้ดีในปีนี้ คือ รถยนต์อีโคคาร์ และรถยนต์อเนกประสงค์" นางมาลี กล่าว
 
นางมาลี ระบุว่า งาน TAPA 2016 จะกระตุ้นให้มีการตกลงซื้อขายยานยนต์และชิ้นส่วนระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตลอดทั้งงานคาดว่าจะมีนักธุรกิจเข้าร่วมกว่า 1 หมื่นรายจากทั่วโลก อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย แอฟริกา สหภาพยุโรป จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และรัสเซีย และมีมูลค่าสั่งซื้อสินค้าภายใน 1 ปีนับจากนี้จะสูงถึง 2,100 ล้านบาท
 
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกยานยนต์อันดับ 12 ของโลก และจากการที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ทั้งด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัย และการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ เช่น สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฮเทคและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
 
 
ไทย-กัมพูชา จับมือพัฒนาข้อมูลแรงงานผ่าน Online หวังต้นแบบอาเซียน
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนกัมพูชาตามคำเชิญของนายอิธ ซัมเฮงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอบรมวิชาชีพ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่าง 6 -7 เมษายน2559 ที่ผ่านมา เพื่อประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการจากบันทึกการหารือระดับวิชาการ กัมพูชา-ไทย ณ เมืองเสียมเรียบ ระหว่างวันที่ 24-25 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปร่วมกันที่สำคัญหลายประการ อาทิ พัฒนาข้อมูลความต้องการแรงงานกัมพูชาโดยใช้ระบบ Online เพื่อการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมแรงงานกัมพูชาที่ต้องการทำงานในไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุผลในการแก้ปัญหาแรงงานในกลุ่ม CLMV และจะใช้เป็นต้นแบบในกลุ่ม รวมทั้งจะให้เป็น Model ของอาเซียนด้วย โดยจะเน้นร่วมมือกันในระดับรัฐบาลกับรัฐบาลเพื่อดำเนินกระบวนการนำแรงงานกัมพูชาที่ผิดกฎหมายเข้าสู่สถานะที่ถูกต้องโดยไม่ให้หน่วยงานเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ ทั้งนี้ กัมพูชาจะตั้งทีมเพื่อดำเนินการตรวจสอบและจัดทำเอกสารทางกฎหมาย (Cambodian Legalization Committee) ให้กับแรงงานเพื่อปรับสถานะให้แรงงานทุกคนมีเอกสารประจำตัว โดยกัมพูชาขอบคุณไทยที่ยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลที่บรรจุในบัตรสีชมพู ซึ่งเมื่อกระบวนการจัดทำเอกสารประจำตัวแรงงานแล้วเสร็จ กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานจะช่วยเหลือฝ่ายกัมพูชาในการแจกจ่ายเอกสารให้ถึงมือแรงงานกัมพูชา ซึ่งในแต่ละพื้นที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการประสานนายจ้างเพื่อให้ความร่วมมือ ซึ่งกระบวนการจัดทำเอกสารประจำตัวนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้เริ่มดำเนินการแล้ว และจะเริ่มส่งเอกสารถึงมือแรงงานกัมพูชาได้ในเดือนสิงหาคม และขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แต่ละประเด็นที่ยังต้องใช้เวลาในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการประสาน ผลักดันให้สำเร็จภายในสองเดือนนี้ ประเด็นสำคัญ กัมพูชาจะจัดฝึกอบรมแรงงานกัมพูชาทุกคนก่อนการเดินทางเข้ามาทำงานในไทย ตลอดจนจะหาแนวทางร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลบริเวณชายแดน มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานในกลุ่มนี้มาทำงานในประเทศไทยใน 5 จังหวัดชายแดน (ศรีสะเกษ, สุรินทร์, สระแก้ว, จันทบุรี และตราด) รวม 14,349 คน
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า ในการหารือครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานไทย-กัมพูชา ที่ปูนพนม ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นศูนย์ฯ ที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันช่วยเหลือแรงงานกัมพูชา โดยดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2539 และได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง ตอนนี้จะได้เริ่มดำเนินการใหม่ โดยกำลังปรับปรุงและก่อสร้างอาคารฝึกอบรมฯ ที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ คาดว่าอีก 3-4 เดือน น่าจะแล้วเสร็จ และเริ่มฝึกอบรมได้ จากการประสานในขั้นต้น ฝ่ายกัมพูชาขอให้ไทยไปฝึกอบรมและกำหนดมาตรฐานงานช่างสาขาปูนและการก่ออิฐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาร่วมกับฝ่ายกัมพูชาเพิ่มเติมว่ายังมีสาขาช่างอื่น ๆ อีกหรือไม่ ที่จะสามารถยกระดับฝีมือแรงงานช่างกัมพูชาได้ โดยฝ่ายไทยพร้อมที่จะสนับสนุนทางด้านวิชาการให้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้ให้ทุนฝึกอบรมและส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือ 48 คน มูลค่ารวมประมาณ 75 ล้านบาท) และจากการเยือนครั้งนี้นับว่าประสบผลสำเร็จทุกประการเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
 
 
แรงงานเกาะลังกาวี - มาเลเซีย ทยอยเดินทางกลับ ร่วมเทศกาลสงกรานต์ ท่าเทียบเรือตำมะลัง จ.สตูล
 
แรงงานไทยบนเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย แห่นั่งเรือเฟอรรี่ลำใหญ่เดินทางกลับบ้านเพื่อมาร่วมประเพณีเทศกาลสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทย ทำให้บริเวณท่าเรือตำมะลัง ต.ตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล ดูแน่นคึกคัก สำหรับแรงงานไทย ทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิม ที่เดินทางไปทำงานที่เกาะลังกาวี และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ต่างเดินทางกลับในวันนี้ตั้งแต่เช้า ทำให้เส้นทางขาเข้าดูคึกคัก โดยมีเจ้าหน้าที่ เจ้าท่า ตำรวจน้ำ ออกมาประจำท่าเทียบเรือตำมะลัง ด้านขาเข้า เพื่อเป็นการออกบริการดูแลความเรียบร้อย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนไทยไปทำงานเกี่ยวกับก่อสร้าง และร้านอาหารไทยอยู่บนเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ได้กำหนดปิดร้าน 3 วัน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ แรงงานไทยที่ทำงานต่างประเทศ จึงเดินทางกลับบ้านเพื่อไปพบญาติพี่น้องในช่วงนี้
 
 
ดัน 'ถนนกีบหมู' เป็นแหล่งแรงงานก่อสร้าง
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี บอกว่า จากการลงพื้นที่ป้องปรามการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ที่ถนนกีบหมู เขตคลองสามวา กทม. พบมีแรงงานด้านก่อสร้างทั้งไทย และต่างด้าวกว่า 2,000 คน โดยรับเหมารายวันค่าจ้างเฉลี่ย 600- 800 บาท และมีแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน 6 คน จึงส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนี้มีแนวคิดจัดระเบียบถนนกีบหมู ให้เป็นแหล่งจ้างงานช่างก่อสร้างของกทม. โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลให้ความรู้เรื่องสิทธิกับแรงงาน ตั้งหน่วยดูแลการจ้างงานร่วมกับเขตคลองสามวา เพื่อให้เป็นตัวกลางนระหว่างแรงงานกับผู้รับเหมา และให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครอง
 
 
ศาลพิทักษ์ทรัพย์ นิคมสหรัตนนคร หนี้ท่วมเฉียดพันล้าน เอคโค่ขู่ไม่ทำเขื่อนหนีพ้นไทย
 
ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ "นิคมสหรัตนนคร" หลังหนี้ท่วมเฉียด 1 พันล้าน แถม "เอคโค่" โรงงานผลิตหนังสำเร็จรูป รองเท้าสัญชาติเดนมาร์กตบเท้าพบ "อรรชกา" ยืนคำขาดภายใน 1 เดือนหากไม่ตัดสินใจสร้างเขื่อนรอบนิคม พร้อมถอนลงทุนไปเวียดนาม
 
กรณี บริษัท สหรัตนนคร จำกัด เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ขาดทุนสะสมกว่า 900 ล้านบาท ส่งผลให้เจ้าหนี้สั่งฟ้องล้มละลาย บริษัทจึงเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาในปี 2554 พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมรัตนนครได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่ 2,050 ไร่ เป็นส่วนที่พัฒนาระยะแรก 1,441 ไร่ ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 867 ไร่ เขตที่พักอาศัย/พาณิชย์ 38 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 536 ไร่ ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ขณะเดียวกันโรงงานที่ตั้งในนิคมเรียกร้องให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรอบ นิคม โดยมีเงื่อนไขว่าขนาดของกำแพงเขื่อนต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมเมื่อปี 2554 และเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด แล้ว บริษัทจึงไม่มีอำนาจในทรัพย์สินทั้งหมดในนิคม
 
นาง อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเข้าพบของนายมิคาเอล เฮมนิตี้ วินเธอร์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย และคณะผู้บริหารบริษัท เอคโค่ แทนเนอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหนังสำเร็จรูป และผู้ผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนรองเท้าจากหนัง เพื่อหารือถึงแผนการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและติดตามแผนการสร้างเขื่อนของ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เนื่องจากบริษัท สหรัตนนคร ไม่สามารถบรรลุแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้การกู้เงินจากธนาคารออมสินไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น แผนการสร้างเขื่อนรอบนิคมจึงต้องชะลอออกไป โดยเอคโค่ฯ ให้เวลา 1 เดือนในการชี้แจงถึงความชัดเจนในการสร้างเขื่อนรอบนิคม หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะถอนการลงทุนและย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม และไม่สนใจลงทุนในพื้นที่อื่นในประเทศไทย
 
ก่อนหน้านี้เอคโค่ฯได้ปิด โรงงานที่ จ.พิจิตรหลังได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และให้พนักงาน 500 คนมาประจำที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนฯ ทั้งนี้ ในส่วนของ กนอ. หนึ่งในเจ้าหนี้หากจะเข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดหรือสร้างเขื่อนถือเป็นการลงทุน ที่ใช้เม็ดเงินหลายร้อยล้านบาท จึงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะคุ้มทุน หรือขาดทุน หรือจะได้กำไรจากส่วนใด รัฐบาลไทยและ กนอ.จะต้องมีคำตอบให้"
 
นาย วีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กนอ.ได้ให้บริษัทสหรัตนฯกู้เงิน 30 ล้านบาท เพื่อสร้างเขื่อนคันดิน ซึ่งมีระดับที่สามารถป้องกันน้ำท่วมเท่ากับปี 2554 ได้ แต่ทางโรงงานในนิคมยังไม่พอใจ และเร่งให้สร้างเขื่อนที่มีกำแพงสูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมหรือสูงกว่า 4.5 เมตรขึ้นไป แต่การก่อสร้างล่าช้าเอกชนจึงไม่มั่นใจและมีปัญหาการกู้เงินไม่ได้ ทำให้ชะลอการสร้างเขื่อนจนถึงปัจจุบัน
 
"เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทสหรัตนฯ เขาก็จะไม่มีสิทธิ์ทุกอย่างในบริษัทและที่ดินในนิคมแล้ว ถามว่าโรงงานจะถึงขั้นย้ายออกจนหมดหรือไม่คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเอกชนส่วนใหญ่เป็นการซื้อที่ดินเพื่อตัวโรงงาน ในส่วนของ กนอ. ต่อจากนี้จะต้องกลับไปดู พ.ร.บ.การนิคม ว่าให้อำนาจขอบเขตขนาดไหน จะมอบให้การนิคมเข้าไปดูเลยกฎหมายไม่ได้เปิดช่องไว้เพราะไม่ใช่สถานการณ์ กิจการแบบปกติ ดังนั้นจึงขอดูข้อมูลรายละเอียดกว่านี้จึงจะรู้ว่าอำนาจ กนอ.สามารถทำอะไรได้บ้าง แต่จะเข้าไปควบคุมกิจการทั้งหมดในฐานะเจ้าหนี้ไม่สามารถทำได้ แม้จะมีบทบาทกำกับดูแลนิคมทั่วประเทศก็ตาม แต่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมีกฎหมายลงทุนอยู่จะเข้าไปควบคุมทั้งหมดไม่ได้ และยังมีเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ด้วย"
 
 
‘เวียงลอ’ลดเงินเดือนพนักงานลง 30-40% โอดเงินสะสมเกลี้ยง เริ่มทำงานลำบาก
 
วันที่ 10 เมษายน 2559 นายสมชาย เข็มเพชร ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล (ทต.) เวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ ทต.เวียงลอ ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2559 จากรัฐบาลลดลงถึงร้อยละ 50 ทำให้ส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านการบริหารสำนักงานอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานจ้างตามภารกิจ จากที่เคยได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,000-9,000 บาท ได้ค่าจ้างลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้น หรือประมาณ 5,000-6,000 บาท เนื่องจากหากจ่ายเต็มอัตราจ้างจะทำให้ ทต.เวียงลอ ไม่มีงบประมาณเหลือเพียงพอสำหรับใช้บริหารหรือพัฒนาด้านอื่น
 
ที่ปรึกษาฯกล่าวต่อว่า ปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา ทางเทศบาลฯเคยประสบปัญหางบประมาณขาดแคลนครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนั้นทางฝ่ายบริหารได้ขอเปิดสภาประชุมของมติฝ่ายสภา เพื่อขอใช้เงินสะสมนำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนพนักงาน โดยหลังจากได้มติเห็นชอบจากฝ่ายสภาแล้ว จึงได้นำเสนอถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพื่อพิจารณาเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้เงินสะสมได้ แต่ขณะนี้เงินสะสมของ ทต.เวียงลอ ไม่มีเหลือแล้ว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเวียงลอประสบภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ พายุหลายครั้ง เงินสะสมได้นำออกมาใช้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
 
“จึงร้องขอไปยังรัฐบาลขอให้ความเห็นใจแก่ท้องถิ่น ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นบริหารและพัฒนาอย่างเพียงพอ เพราะหากงบประมาณขาดแคลน ย่อมส่งผลกระทบถึงระบบบริหารงานสำนักงานและการพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์น้อยลงหรือไม่เพียงพอ และไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันการณ์” นายสมชายกล่าว
 
 
“ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ไฟเขียวใช้กฎกระทรวงฯ อนุญาตต่างด้าวพยานคดีค้ามนุษย์ อยู่ราชอาณาจักรไทยต่อ 1 ปี
 
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้แผนโรดแม็พ 7 ขั้นตอน ในด้านการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัดชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้บูรณาการการทำงาน ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ หน่วยตำรวจ ทหารในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชน และพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ดำเนินการปราบปราม จับกุม ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการลงพื้นที่ตรวจสอบในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น โรงงาน สถานประกอบการ สถานบริการ ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะที่อาจมีการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และจับกุมผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ส่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ในการดำเนินคดีดังกล่าวจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาในการสอบสวน ฟ้องคดีตามขั้นตอนเพื่อนำตัวผู้ที่กระทำผิดจริงมาลงโทษตามกฎหมาย
 
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 29 มีนาคม 2559 จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 1.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นพยานที่สืบพยานก่อนการฟ้องคดี หรือระหว่างการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ 2.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2)
 
“สาระสำคัญของประกาศฯคือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษคือ คนต่างด้าวที่เป็นผู้เสียหายและพยานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 1 ปี หากมีความจำเป็นตามข้อเท็จจริงแห่งคดี สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 1 ปี โดยให้จัดทำทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวสำหรับคนไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
 
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในระหว่างการดำเนินคดี ให้หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การดูแล คุ้มครอง รวมทั้งสิทธิประโยชน์แก่ผู้เสียหาย และพยานในคดีค้ามนุษย์ อาทิ การขออนุญาตทำงาน การบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้เร่งดำเนินการมาอย่างเข้มข้นทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การดำเนินคดี และการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยยึดหลักการปฏิบัติงานตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยธรรม เพื่อให้กลไกในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ
 
 
อาชีวะจับมือญี่ปุ่นยกระดับคุณภาพการเรียนช่าง
 
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เยี่ยมคารวะ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมกันนี้ได้หารือถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพและสร้างความเข้มแข็งในการจัดการอาชีวศึกษาระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นเห็นร่วมกันว่าจะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ อาจารย์และนักศึกษา ซึ่งทางญี่ปุ่นมีเครือข่ายวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เรียกว่า โคเซ็น ซึ่งมีความเข้มแข็งอย่างมาก ในส่วนของประเทศไทยจะคัดเลือกวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จำนวน 5 แห่ง คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ชลบุรี, วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี เปิดห้องเรียนฐานวิทย์สาขาช่างอุตสาหกรรม, วิทยาลัยเทคนิคพังงา สาขาโรงแรมและการท่องเที่ยว, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี สาขาเทคโนโลยีอาหาร และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน สาขาเกษตร โดยคาดว่าจะลงนามความร่วมมือประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2559
 
เลขาฯ สอศ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นแจ้งด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญและต้องการจะพัฒนาศักยภาพคนไทยให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่สุด เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด กำหนดเป้าหมายว่าภายในระยะเวลา 10 ปีจากนี้จะต้องพัฒนาคนไทยให้เป็นหัวหน้าวิศวกร หัวหน้าช่าง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีความต้องการมากถึง 30,000 คน เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อทราบเป้าหมายที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็จะต้องเร่งเตรียมการเพื่อพัฒนาคนที่อยู่ในสายปฏิบัติการและการผลิตกำลังคนในอนาคต
 
"เนื่องจากมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่ง รมว.ศธ.ได้เสนอกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นด้วยว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรม พัฒนาและทดสอบสมรรถนะ มาตรฐานทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งทางเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นก็แจ้งว่าจะลองกลับไปประสาน" เลขาฯ กอศ.กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในประมาณเดือนกรกฎาคม 2559 รมว.ศธ.จะเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเจรจาความร่วมมืออย่างเป็นทางการด้วย
 
 
กรมการจัดหางาน เข้าให้ความช่วยเหลือแรงงานเมียนมาที่ถูกบริษัทนายหน้าพาไปทำงานในหลายจังหวัดแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง พร้อมสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทนายหน้าทั้งสองแห่งแล้ว
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กล่าวภายหลังร่วมกับจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงถึงการช่วยเหลือแรงงานเมียนมา 19 คนที่ถูกบริษัทจัดหางานซึ่งนำเข้าแรงงานต่างด้าว หรือบริษัทโบรคเกอร์พาเร่ไปทำงานในหลายจังหวัดและถูกยึดพาสสปอร์ต ว่า กรมการจัดหางานได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เอ็นจีโอและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานสัญชาติเมียนมา 19 คนซึ่งถูกบริษัทที่เป็นโบรคเกอร์ 2 แห่งใน กทม.นำไปทำงานในหลายบริษัท และหลายจังหวัด เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งแรงงานเมียนมาเหล่านี้ถูกยึดพาสสปอร์ตและไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้าง เบื้องต้นตำรวจได้ควบคุมตัวชายชาวเมียนมา 1 คน ซึ่งเป็นผู้ยึดพาสปอร์ตของแรงงานเมียนมาเอาไว้เพื่อสอบสวน และได้ให้แรงงานเมียนมาทั้งหมดเข้าพักชั่วคราวที่สพภ. 4 ราชบุรี ซึ่งจากการสอบถามแรงงานเมียนมาเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้ามาในไทยโดยระบบความร่วมมือระหว่างประเทศ(เอ็มโอยู)อย่างถูกต้องตั้งแต่เดือนพ.ย.2558 บางคนเข้ามาก่อนหน้านั้น โดยบริษัทโบรกเกอร์(ตัวแทน)เป็นผู้นำเข้าแรงงานเมียนมา และแจ้งเป็นนายจ้างด้วย แต่แรงงานเมียนมาเหล่านี้กลับไม่ได้ทำงานตามที่ระบุในสัญญาจ้าง รวมทั้งถูกเรียกเงินค่าเปลี่ยนงานครั้งละ 6,000-8,000 บาท ซึ่งมีแรงงานเมียนมา 2 คนหนีออกมาและขอความช่วยเหลือผ่านเอ็นจีโอ หลังจากนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันช่วยเหลือ
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวด้วยว่า การกระทำของบริษัทนายหน้าทั้งสองแห่งเข้าข่ายทำให้แรงงานเมียนมาทั้งหมดเป็นแรงงานขัดหนี้ แรงงานบังคับและจะสอบสวนต่อไปว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ด้วยหรือไม่ โดยจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นกรมการจัดหางานได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทนายหน้าทั้งสองแห่งแล้ว ทั้งนี้ หลังจากนี้กรมการจัดหางานจะควบคุมดูแลโดยอาจให้ขยายพื้นที่ทำงานของแรงงานต่างด้าวเฉพาะงานก่อสร้างและขนส่งเท่านั้น รวมทั้งต้องทำสัญญาจ้างระหว่างบริษัทที่รับเข้าทำงานกับแรงงานต่างด้าวโดยตรง ส่วนแรงงานเมียนมาทั้งหมดนั้นได้คืนพาสสปอร์ตให้แล้ว และประสานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานช่วยเหลือโดยเรียกร้องค่าจ้างจากบริษัทนายหน้า ขณะที่กรมการจัดหางานจะช่วยเปลี่ยนนายจ้างให้
 
 
ใช้ ม.44 ผ่อนผันแรงงาน 3 สัญชาติ กลับบ้านฉลองสงกรานต์
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามที่พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เสนอเรื่อง การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา เดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2559 เพื่อให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เดินทางกลับไปร่วมฉลองสงกรานต์ในแต่ละประเทศ และให้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไม่เกินวันที่ 20 เมษายน 2559 แต่ต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างให้หยุดด้วย โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ในกรณีนี้ ทั้งนี้ การดำเนินการในส่วนนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาการเดินทางกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวเพื่อร่วมงานสงกรานต์ไม่สะดวก บางรายอาจถูกจับกุม โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยและอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้
 
ดังนั้น การออกคำสั่งฉบับนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และส่งผลที่ดีต่อภาพลักษณ์การใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย อีกทั้งยังทำให้แรงงานต่างด้าวได้พบปะครอบครัว ซึ่งจะทำให้ผ่อนคลายจากการตรากตรำในการทำงาน และเป็นการแก้ไขปัญหาการเดินทางเข้า – ออก ประเทศของแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้แรงงานทุกคนเดินทางกลับด้วยความปลอดภัยและมีความสุขในการเฉลิมฉลองวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ในประเทศของตนด้วย
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่าสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้เดินทางกลับช่วงสงกรานต์ ปี 2559 ประกอบด้วย 1. แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพู 1) แรงงานต่างด้าวที่ได้รับบัตรสีชมพูตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยระบุปีที่หมดอายุ พ.ศ. 2557 หรือ พ.ศ. 2558 2) แรงงานต่างด้าวที่ได้รับบัตรสีชมพูทุกกลุ่มที่ระบุวันหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2559 และวันที่ 31 มีนาคม 2561 2. แรงงานต่างด้าวซึ่งถือบัตรสีชมพูที่จดทะเบียนในกิจการประมงทะเล 1) บัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2559 2) บัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 3) บัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุวันที่ 31 มกราคม 2560 3. แรงงานต่างด้าวซึ่งถือบัตรสีชมพูที่จดทะเบียนในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 1) บัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 2) บัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 และ 4. แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติหรือพิสูจน์สัญชาติทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกินสิบแปดปีที่มีเอกสาร ดังนี้ 1) หนังสือเดินทาง (Passport – PP) 2) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport – TP) 3) เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Travel Document – TD) 4) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity – CI)
 
 
แล้งนี้คนไทยนิยมหางานทำต่างประเทศ 'กรมการจัดหางาน' เตือนระวัง!มิจฉาชีพ
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่า มี "คนหางานไทย" ไปทำงาน และฝึกงานในต่างประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,101 คน โดยนิยมเดินทางไปทำงานที่ "ไต้หวัน" มากที่สุดจำนวน 2,440 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดส่งของบริษัทจัดหางานในขณะนี้เข้าสู่ "สถานการณ์ภัยแล้ง" แรงงานที่ประสบปัญหาไม่สามารถทำการเกษตรในภูมิลำเนาได้ จึงมักจะเดินทางเข้ามาหางานทำในเมือง หรือในต่างจังหวัด, บางรายต้องการไปทำงานยังต่างประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะ ถูกหลอกลวงจาก "กลุ่มมิจฉาชีพ" โดยอ้างว่าสามารถหางานที่มีรายได้ดีสวัสดิการดีให้ทำได้ ทำให้หลงเชื่อจ่ายเงินค่าบริการให้กลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว แต่สุดท้ายถูกหลอกเสียเงินฟรีอย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องการเข้ามา หางานทำในกรุงเทพฯ หรือต้องการไปทำงานยังต่างประเทศสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด "ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย" (Smart Job Center) และสำนักงานบริหารแรงงานไป ต่างประเทศ "กรมการจัดหางาน"
 
"กรมการจัดหางาน" ให้บริการกับประชาชนคนไทยที่ต้องการหางานทำทั้งในประเทศและ ไปทำงานต่างประเทศกับทางภาครัฐ โดยเปิด รับสมัครคนไทยที่ต้องการไปทำงานยังต่างประเทศ อาทิ ประเทศเกาหลีใต้, อิสราเอล, ญี่ปุ่น (เทรนนิ่ง), ไต้หวันฯ ทั้งนี้เพื่อประชาชนคนหางานได้ไปทำงานจริง ไม่ถูกหลอกลวงจากสายนายหน้าเถื่อน, ไม่เสียค่าบริการที่สูงเกินจริง และเป็นการ ลดอัตราการว่างงานสร้างอาชีพ, สร้างเศรษฐกิจ,สร้างรายได้เข้าประเทศสู่ครัวเรือน และภูมิภาค ในปีๆ หนึ่งนับเกือบแสนล้านบาท
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้กล่าวย้ำเตือน "คนหางาน" ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและบุคคลทั่วไป หากประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ "เพื่อหางานทำ" ให้พิจารณาไตร่ตรอง ให้รอบคอบ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง และจากสถิติที่ ผ่านมาพบว่า "คนหางาน" ยังนิยมเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จึงส่งผลให้ มีผู้แสวงหาประโยชน์จาก "คนหางาน" ด้วยการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ
 
ดังนั้นจึงขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับ "กรมการจัดหางาน" ก่อนตัดสินใจเสียเงินค่าบริการไปทำงานยังต่างประเทศกับ ผู้ชักชวนให้หลงเชื่อ
 
หากพบเห็นหรือทราบเบาะแสการหลอกลวงคนหางานสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน, ร้องทุกข์ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 กองตรวจ และคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทรศัพท์ 02-2484792 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
ครม.เคาะโทษค้าแรงงานเด็ก
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากฉบับเดิมใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบท บัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยน แปลงไป โดยเฉพาะอัตราโทษสำหรับความผิดที่กระทำต่อแรง งานเด็ก และไม่เอื้ออำนวยต่อการป้องกันยับยั้ง และขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จึงแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็กให้รุนแรงเพิ่มขึ้น
 
 
"ไอแอลโอ" เสนอไทยขยายอายุเกษียณ ปลัดแรงงานชี้อยู่ระหว่างศึกษา 
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานมีนโยบายด้านการส่งเสริมและขยายโอกาสด้านอาชีพของผู้สูงอายุมี 5 ด้าน คือ 1.การกระจายงานสู่บ้าน /ชุมชน 2.การขยายอายุการเกษียณราชการ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับไปศึกษาต่อว่าสามารถทำได้หรือไม่ 3.การส่งเสริมให้จ้างงานต่อเนื่องในภาคเอกชน ในสาขาอาชีพที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ ตำแหน่งที่ขาดแคลน 4.ส่งเสริมการจ้างงานของผู้สูงอายุในกลุ่มอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ประสบ การณ์ ทักษะความสามารถ และ 5.สร้างฐานข้อมูลโดยสำรวจความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุ รับลงทะเบียน จัดทำเป็นตลาดแรงงานผู้สูงอายุซึ่งกระทรวงแรงงาน จะเริ่มโครงการ Brain Bank ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานที่มีความต้องการจ้างผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี จัดแบ่งเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมููลจากนายจ้าง และขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างร่างแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติม.ล.ปุณฑริก บอกว่า ที่ผ่านมาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้เสนอมาตรการแก้ปัญหาโดยเสนอให้เพิ่มอายุเกษียณของไทยจากเดิม 55 ปี จนถึง 65 ปี เพราะจากการศึกษาของไอแอลโอพบว่าอายุเกษียณของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก หากดูประเทศสิงคโปร์ ที่มีอายุเกษียณอยู่ที่ 67 ปี หรือปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวนเงินบำนาญ เพราะปัจจุบันไทยเก็บเงินสมทบน้อยแต่มีรายจ่ายเงินสมทบกรณีบำเหน็จและบำนาญออกไปเยอะ โดยกระทรวงแรงงานก็จะนำข้อมูลของไอแอลโอไปศึกษาอีกครั้ง คาดว่าใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน"
 
 
ครม.รับทราบการโอนผู้ประกันตน ม.40 กว่า 9 แสนรายไป กอช.ภายในกำหนด 20 เม.ย.
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการดำเนินงานคุ้มครองประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบ และได้อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 เป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินไม่เกิน 254 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินการโอนผู้ประกันตนกรณีบำนาญชราภาพ ตามมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคมไปกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการออม และการรวมระบบชราภาพของแรงงานนอกระบบไว้ที่หน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลัง
 
ทั้งนี้ การโอนผู้ประกันตนที่แสดงความจำนงไป กอช.นั้น สำนักงานประกันสังคมจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างสำนักงานประกันสังคม และ กอช. โดยจะโอนข้อมูลผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่มีอยู่กว่า 9 แสนราย ตลอดจนเงินทั้งจำนวนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถโอนข้อมูลและเงินไป กอช.ได้ทัน จะส่งผลให้ผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว
สำหรับสมาชิกของ กอช.ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งในส่วนที่รับโอนมาจากกองทุนประกันสังคม และเข้ามาสมัครใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 4 แสนราย
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 59 กองทุนประกันสังคมได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณเงินอุดหนุน 479 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทั้ง 5 ทางเลือก เพื่อนำไปเบิกจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.58 ในบางส่วน โดยรัฐบาลยังค้างเงินอุดหนุนตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.58 ในบางส่วนอยู่อีก 464 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเฉพาะกรณีบำนาญชราภาพ ทางเลือกที่ 3-5 จำนวน 254 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินการโอนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไปยัง กอช. ดังนั้น ครม.จึงได้อนุมัติเงินเพื่อสนับสนุนในส่วนดังกล่าว
 
 
กรมโรงงานฯ ประกาศ เตือนโรงงาน 8 กลุ่มเสี่ยงไฟไหม้ช่วงหน้าร้อน พร้อมให้ความรู้ป้องกันอัคคีภัย
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนที่สุดในรอบปี โดยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 35-44 C ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ซึ่งจากสถิติการเกิดไฟไหม้ของโรงงานทั่วประเทศเมื่อปี 2558 พบว่าอุบัติเหตุในโรงงานทั้งหมด กว่าร้อยละ 73 เป็นการเกิดไฟไหม้ ในอุตสาหกรรม 8 ประเภท โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมโกดังและคลังสินค้า อุตสาหกรรมพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมกากหรือขยะ อุตสาหกรรมสี ไวไฟ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย โดยสาเหตุของการเกิดไฟไหม้บ่อยที่สุดคือ ไฟฟ้าลัดวงจร คิดเป็นร้อยละ 29 ของสาเหตุการเกิดไฟไหม้ทั้งหมด และนอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น การเชื่อม การซ่อมบำรุงที่ผิดวิธี การเสียดสีหรือสะสมความร้อนในกองวัสดุที่สามารถติดไฟได้ ความร้อนหรือประกายไฟจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า โดย กรอ. ได้ออกมาตรการเชิงรุก เพื่อลดจำนวนการเกิดอัคคีภัยและลดความเสี่ยงเกิดไฟไหม้ ในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนี้ ฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกใช้อุปกรณ์ดับเพลิงอย่างถูกต้อง เพิ่มความระมัดระวังงานที่ก่อให้เกิดประกายไฟ และความร้อนสูงเป็นพิเศษ ให้ความสำคัญในการเก็บรักษา การจัดวางวัสดุ สิ่งของ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้ง่าย โดยจะต้องอยู่ในพื้นที่ระบายอากาศและถ่ายเท ไม่ให้เกิดการสะสมของไอระเหยของสารไวไฟ พร้อมแนะนำให้ทุกโรงงานจัดเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ดับเพลิงและเส้นทางหนีไฟต่าง ๆ ควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้ไฟฟ้ามากเกินพิกัด ควรมีอุปกรณ์แจ้งเตือนอัคคีภัยอัตโนมัติ และต้องระมัดระวังสาเหตุอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การเผาหญ้าหรือขยะมูลฝอย
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net