TCIJ: เทียบความเหลื่อมล้ำ'ทหารเกณฑ์-รด.'

รายงานพิเศษจาก TCIJ แกะรอยความเหลื่อมล้ำในกำลังพลสำรอง ตั้งแต่การคัดเลือก ระหว่างฝึก และการปลดประจำการ  งานวิจัยเผย รด. ฝึกเบา เพราะไม่ได้หวังให้ออกรบ จบแล้วยศสูงกว่า ครูฝึกระบุทหารเกณฑ์ฝึกหนักเพราะหวังให้รบจริง ชี้พลทหารควรเป็นชนชั้นล่างเพราะสั่งการง่ายกว่า ฝึกทหารเท่ากับดัดนิสัย พบพลทหารร้อนตายระหว่างฝึกปีละนับสิบ สำนักระบาดวิทยา คาดยังน้อยเกินจริง ด้านนักวิชาการแนะโมเดลทหารอาสา สร้างคุณภาพกำลังพลได้มากกว่า 
 
11 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ TCIJ นำเสนอรายงานพิเศษ 'เทียบความเหลื่อมล้ำ'ทหารเกณฑ์-รด.' เผชิญอคติ ฝึกหนัก ยศต่ำ ออกรบก่อน' ระบุว่าราวเดือนเมษายนของทุกปี คือช่วงเทศกาลเกณฑ์ทหารของชายไทย เป้าหมายหลักเพื่อเตรียมกำลังพลสำรองให้พร้อมรับมือต่ออริราชศัตรู  แต่หากไม่นับรวมความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้  กล่าวได้ว่าประเทศไทยพ้นจากสภาวะสงครามครั้งใหญ่ นับแต่ส่งกำลังเข้าร่วมในสงครามเวียดนาม  ทว่าพระราชบัญญัติกำลังพลสำรองที่ผ่านวาระไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558  นำมาสู่คำถามที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกำลังพลทหารมากขนาดนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ปัจจุบัน ประเทศไทยมีทหารกองหนุนอยู่ราว 12 ล้านคน
 
ความยากลำบากและการละเมิดสิทธิ์ทหารเกณฑ์จากครูฝึกและรุ่นพี่  ที่มีข่าวคราวถึงขั้นเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง กอปรกับความพรั่นพรึงที่จะต้องถูกส่งตัวไปประจำการในพื้นที่เสี่ยง เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ชายไทยจำนวนมากที่ถึงวัยเกณฑ์ทหาร หลีกเลี่ยงการเข้าประจำการด้วยหลากหลายวิธี ตั้งแต่ขั้นตอนพื้นฐานที่สุดคือการสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (รด.)ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  หรือจ่ายเงินสินบนให้กับสัสสดีเพื่อให้ออกเอกสารรับรองโรคที่เข้าข่ายโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร  ซึ่ง TCIJ เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่าน ‘ทหารเกณฑ์’ความเหลื่อมล้ำในกองทัพ ชี้ระบบและเงินเอื้อลูกคนรวยรอดทหาร)
 

รด. VS ทหารเกณฑ์

พิจารณาเฉพาะการเรียน รด. ซึ่งแทบจะกลายเป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เหตุผลหลักของนักเรียนชายที่เข้าเรียน รด. คือ ไม่อยากเสี่ยงจับใบดำใบแดงเมื่อถึงคราวการเกณฑ์ทหาร  รวมถึงเพื่อให้แน่ใจว่าตนจะไม่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบกองทัพ และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ดังเช่นภาพการทำร้ายร่างกายพลทหารจนเสียชีวิต สำหรับนักศึกษาวิชาทหารโดยทั่วไปแล้วมีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าสำเร็จชั้นปีที่ 1 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี 6 เดือน ถ้าสมัคร ก็จะเป็นเพียง 1 ปี สำเร็จชั้นปีที่ 2 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 6 เดือน ส่วนผู้ที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนและนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 คือ ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก
 
ในด้านหนึ่ง  กฎกติกาเหล่านี้เอื้ออำนวยลูกหลานชนชั้นกลางให้ไม่ต้องเป็นทหาร  หรือเป็นในระยะเวลาสั้น มากกว่าจะเอื้อลูกหลานชนชั้นล่าง หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือไม่มีโอกาสเรียนวิชาทหาร   งานวิจัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง’ความเหลื่อมล้ำในการผลิตกำลังพลสำรองของกองทัพ’ เผยแพร่เมื่อปี 2557 โดย ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ยิ่ง ได้ศึกษาเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำในกระบวนการผลิตกำลังสำรองระหว่างนักศึกษาวิชาทหารและพลทหารกองประจำการ พบความเหลื่อมล้ำปรากฎชัดเจนด้วยกัน 3 ด้าน ตั้งแต่
 
กระบวนการคัดเลือก เอื้อให้ผู้ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาและมีทุนทรัพย์มากพอที่จะเช้าเรียนหลักสูตร รักษาดินแดน  รอดพ้นจากการเป็นทหาร สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรการเรียนรักษาดินแดนประมาณปีละ 600 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกประมาณ 1,200 บาท ยังไม่นับรวมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายปลีกย่อย
 
การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม เมื่อเทียบระหว่างนักเรียน รด. และพลทหาร พบว่าการฝึกส่วนใหญ่ นักเรียน รด.จะเน้นการเรียนภาคทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ มีเป้าหมายเพื่อเป็นกองหนุนมากกว่าลงพื้นที่ประจำการหรือเป็นกองหน้า ขณะที่พลทหารกลับเน้นฝึกปฏิบัติกลางแจ้งมากกว่าและมีบทลงโทษทางวินัยที่เคร่งครัด  
 
ความเหลื่อมล้ำในการบรรจุเป็นกำลังพลสำรอง แม้จุดมุ่งหมายของกระบวนการฝึกกำลังสำรองทั้งสอง ประเภทคือการบรรจุเข้ากองทัพในหน่วยกำลังสำรอง แต่เมื่อปลดประจำการแล้วนักเรียน รด. จะได้รับยศสิบเอก (ซึ่งจัดว่าเป็นนายทหารชั้นประทวน) ขณะที่พลทหารหรือทหารเกณฑ์ จะได้รับเพียงยศพลทหารลูกแถว กล่าวคือ  นักเรียน รด. ฝึกมาเพื่อเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเกณฑ์
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท