เมื่อ ‘วันจันทร์’ เป็น ‘วันลาแห่งชาติ’ ของ ‘คนทำงาน’

ผลการศึกษาหลายสำนักพบคนทำงานชอบลางานในวันจันทร์มากที่สุด บ่อยครั้งต้องโกหกว่าเจ็บป่วยเพื่อที่จะได้เพิ่มวันหยุดมากขึ้น การแก้ปัญหานายจ้างควรเอาใจใส่พนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อค้นหาสาเหตุปัญหาที่แท้จริงในที่ทำงาน กำหนดชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น สถิติการลาป่วยอาจจะลดลงและเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานสูงขึ้น

ที่มาภาพประกอบ flickr/73614187@N03/CC BY-NC 2.0

ข้อมูลจากสกู้ปชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Sydney Morning Herald เมื่อเดือน ม.ค. 2559 ที่ผ่านมาระบุว่าทุกวันจันทร์จะมีคนทำงานชาวออสเตรเลียลาป่วยถึง 180,000 คน

ทั้งนี้จากการสำรวจภาคธุรกิจ 97 องค์กรในออสเตรเลีย โดยบริษัท ไดเรค เฮลท์ โซลูชัน (Direct Health Solutions) บริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรื่องการลางานและอาการเจ็บป่วยของพนักงาน พบว่าในออสเตรเลีย คนทำงานจะขอลางานมากที่สุดในวันจันทร์ คิดเป็นร้อยละ 40 ตามมาด้วยวันอังคาร ร้อยละ 21 วันพุธ ร้อยละ 20 วันศุกร์ ร้อยละ 11 วันเสาร์ร้อยละ 5 และวันพฤหัสบดี ร้อยละ 3

จากผลสำรวจพบชาวซิดนีย์ที่ลางานในวันจันทร์มีอยู่ราวร้อยละ 15 ส่วนชาวเมลเบิร์นมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 16 ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของวันลาของคนทำงานชาวออสเตรเลียอยู่ที่ 8.6 วัน และยังเคยมีผลการสำรวจความคิดเห็นชาวออสเตรเลีย 2,000 คน พบว่าร้อยละ 16 เคยลาป่วยก่อนหรือหลังวันชาติออสเตรเลีย (26 ม.ค.) อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตการทำงานอีกด้วย

นอกจากนี้วันหยุด Rostered Days Off (หรือวันหยุด RDO เป็นระบบวันหยุดที่พนักงานจะได้วันหยุดหลังจากการทำงานต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมธนาคารหากพนักงานทำงานครบ 19 วันก็จะได้สิทธิหยุดในวันที่ 20) ของพนักงานเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างข้อสำคัญของสหภาพแรงงานในออสเตรเลีย และก็เป็นข้อที่ฝ่ายนายจ้างให้ยากข้อหนึ่งด้วยเช่นกัน และข้อเสนอฝั่งนายจ้างก็อยากจะให้วันหยุด RDO นี้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม แต่กระนั้นก็มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและสามารถต่อรองวันหยุด RDO หลายวันต่อปีได้ เช่น สมาชิกของสหภาพแรงงานภาคก่อสร้าง ป่าไม้ เหมืองแร่และพลังงาน ที่มีวันหยุด RDO นี้รวมถึง 26 วันต่อปีเลยทีเดียว

อนึ่งมีการรวบรวมข้ออ้างในการลางานของพนักงานที่ดูสร้างสรรค์ไว้ ดังเช่น ถูกแมงกัด/ต่อย, ว่ายน้ำเร็วเกินไปจนหัวชนสระว่ายน้ำ, หนูแฮมสเตอร์ที่เลี้ยงไว้ตาย, ได้รับบาดเจ็บขณะมีเซ็กส์, เมื่อคืนได้นอนน้อย, เอามือเข้าไปในเครื่องปิ้งขนมปัง, นิ้วเท้าติดในท่อระหว่างอาบน้ำ และ กางเกงปริขณะเดินทางไปทำงาน เป็นต้น

วันจันทร์ เป็นวันลางานยอดฮิตในออสเตรเลีย (ที่มาภาพ: smh.com.au)

คนทำงานอังกฤษ แชมป์แห่งการลาป่วย

คนทำงานอังกฤษมีสถิติในการลาป่วยบ่อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 9.1 ครั้งต่อปี (ที่มาภาพ: pwc.co.uk)

เมื่อปี 2556 บริษัท พีดับบลิวซี (PwC) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของอังกฤษ เปิดเผยรายงานจากการสำรวจกว่า 2,500 องค์กรทั่วโลก พบว่าคนทำงานชาวอังกฤษมีสถิติในการลาป่วยบ่อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 9.1 วันต่อปี ขณะที่พนักงานชาวอเมริกันมีสถิติลาป่วยประมาณ 4.9 ครั้งต่อปี และพนักงานในองค์กรแถบเอเชียแปซิฟิกมีสถิติลาป่วยเพียง 2.2 ครั้งต่อปีเท่านั้น โดยการเปิดเผยรายงานครั้งนั้นของพีดับบลิวซี ได้เน้นเรื่องความเสียหายจากการลาป่วย 9.1 วันต่อปีของคนทำงานอังกฤษว่าคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 29 พันล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว

จากรายงานชิ้นนี้ เมื่อเจาะจงไปที่อาชีพต่าง ๆ ว่าอาชีพใดมีวันลาเฉลี่ยเท่าใด พบว่าคนทำงานภาครัฐของอังกฤษมีวันลาเฉลี่ยสูงสุดถึง 11.1 วันต่อปี ตามมาด้วยภาคการค้าปลีก 9 วันต่อปี ภาควิศวกรรมและโรงงาน 8.7 วันต่อปี ภาคโทรคมนาคมและสื่อ 8.3 วันต่อปี ภาคบริการ 8.1 ต่อปี ภาคการประกันชีวิต-ประกันภัย 7.4 วันต่อปี เท่ากับภาคธนาคารและการเงินที่ 7.4 วันต่อปี โดยคนทำงานในภาคเทคโนโลยีในอังกฤษลางานต่อปีน้อยที่สุดคือ 3.4 วันต่อปี

แบบแผนวันลาที่ออสเตรเลีย (ลางานในวันจันทร์มากที่สุด) ก็สอดคล้องกับผลการศึกษาของบริษัท เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง ที่เผยแพร่เมื่อปี 2552 โดยผลการศึกษานี้ได้อ้างอิงการวิเคราะห์บันทึกการจัดการเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของพนักงาน 11,000 คนจากบริษัทเอกชนสาขาต่าง ๆ ซึ่งพบว่าระหว่าง 2551 นั้นจะมีการลาป่วยในช่วงเดือน ม.ค. (เป็นเดือนที่มีสถิติการลางานมากที่สุด) เฉลี่ยครึ่งวันต่อพนักงานหนึ่งคน และวันจันทร์เป็นวันที่พนักงานลาป่วยกันมากที่สุดถึงกว่า 1 ใน 3

ทั้งนี้วันที่มีการลาป่วยมากที่สุดคือ 13 จาก 20 วันเกิดขึ้นในเดือน ม.ค. 6 วันในจำนวนนี้อยู่ระหว่างวันที่ 2-9 ซึ่งการลาป่วยเกิดขึ้นมากที่สุดในวันจันทร์ถึงร้อยละ 35 แต่วันที่มีสถิติลาป่วยต่ำที่สุดคือวันศุกร์ที่มีเพียงร้อยละ 3 โดยสาเหตุการลาป่วยที่พบมากที่สุดคือปัญหาจากกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ    

ปัญหาจากกระดูกและสันหลังเป็นสาเหตุของการลาป่วยร้อยละ 24 ตามมาด้วยการติดเชื้อไวรัสและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากความเครียดที่ร้อยละ 17 และแม้การติดเชื้อไวรัสเป็นเหตุผลในการลาป่วยที่พบบ่อยที่สุดแต่ระยะเวลาการลาเฉลี่ยค่อนข้างสั้น ในทางกลับกันพบว่าพนักงานจำนวนไม่มากนักลาป่วยเพราะความเครียดแต่ระยะเวลาการลาค่อนข้างยาว

พนักงานหญิงลาป่วยมากกว่าพนักงานชายร้อยละ 24 และมีแนวโน้มมาจากความเครียด เหนื่อยล้าและซึมเศร้ามากกว่าพนักงานชายสองเท่า ส่วนผู้ชายมีแนวโน้มลางานเพราะอาการปวดหลังหรือกล้ามเนื้อ กระดูกหัก หรืออาการเจ็บป่วยทางร่างกายมากกว่าผู้หญิงอย่างน้อยสองเท่า      

ทั้งนี้นักจิตวิทยาสาขาอาชีวอนามัยระบุว่าคนทำงานในยุคนี้ต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อเรียกร้องจึงมีความเครียดและความกดดันสูง ผลคือต้องการการพักผ่อนและพักฟื้นมากขึ้นและบางคนอาจรู้สึกว่าวันหยุดแค่วันเสาร์และอาทิตย์ยังไม่พอเลยอยากหยุดเพิ่มอีกหนึ่งวันซึ่งมักจะมีการโกหกเกี่ยวกับสาเหตุการลา และดูเหมือนการปวดหลังจะเป็นเหตุผลที่น่าเชื่อถือมากที่สุดสำหรับเป็นข้ออ้างในการลา ขณะที่เรื่องความเครียดอาจจะดูไม่น่าเชื่อถือ 

สำหรับการแก้ปัญหานี้นายจ้างควรมีการเอาใจใส่พนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อค้นหาสาเหตุปัญหาที่แท้จริงในที่ทำงาน ซึ่งถ้านายจ้างกำหนดชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น สถิติการลาป่วยและความเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับอาการเครียดจะลดลง และอาจจะเพิ่มประสิทธิภาพและผลงานของพนักงานสูงขึ้น

 

ที่มาข้อมูล:

Monday 'most common for sickness'
http://news.bbc.co.uk/2/hi/health/8347332.stm

Nearly 200,000 expected to chuck a sickie on Monday before Australia Day
http://www.smh.com.au/business/nearly-200000-expected-to-chuck-a-sickie-on-monday-before-australia-day-20160121-gmaqj3.html

The best (and worst) excuses for a sickie
http://www.executivestyle.com.au/the-best-and-worst-excuses-for-a-sickie-2n5zz

The rising cost of absence
http://www.pwc.co.uk/services/human-resource-services/insights/the-rising-cost-of-absence-sick-bills-cost-uk-businesses-29bn-a-year.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท