ปภ. ประกาศเขตประสบภัยแล้งแล้ว 27 จังหวัด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเผยขณะนี้มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 27 จังหวัด 127 อำเภอ 562 ตำบล 4,354 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 5.81 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ
 
 
แฟ้มภาพประชาไท
 
9 เม.ย. 2559 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า ขณะนี้มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 27 จังหวัด 127 อำเภอ 562 ตำบล 4,354 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.81 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นจังหวัดที่มีการให้ความช่วยเหลือด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 10 จังหวัด จังหวัดที่มีการให้ความช่วยเหลือด้านน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 9 จังหวัด และจังหวัดที่มีการให้ความช่วยเหลือด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร จำนวน 8 จังหวัด ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งนั้น ได้ประสานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ การนำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร การเป่าล้างบ่อบาดาล การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เป็นต้น
 
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาสาธารณะเรื่อง "ฝ่า วิกฤตน้ำ" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าในพื้นที่เขตชลประทานใช้น้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาถือว่าน้อยมาก แต่ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทานได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้ขึ้น จึงได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะๆ ตลอดมา แต่เชื่อมั่นว่า ด้วยปริมาณน้ำดังกล่าวหากมีการบริหารจัดการน้ำได้เหมือนที่ผ่านมา พื้นที่ในเขตชลประทานจะไม่มีปัญหาจนหมดหน้าแล้งนี้อย่างแน่นอน ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจำนวน 28 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ได้มีการวิเคราะห์น้ำบนผิวดินเป็นระยะๆ หากพบว่าไม่เพียงพอ จะให้ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มเติม โดยขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณมาแล้ว พร้อมทั้งเตรียมรถบรรทุกน้ำกว่า 4,000 คัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ที่โทร 1460 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
โดยสถานการณ์ภัยแล้งของภาคต่าง ๆ ณ วันที่ 9 เม.ย. 2559 มีดังต่อไปนี้

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.มหาสารคาม นำรถบรรทุกน้ำเร่งให้ความช่วยเหลือราษฎร ตามโครงการราษฎร์รัฐร่วมใจช่วยภัยแล้ง ในพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม
 
จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มรุนแรงและขยายวงกว้าง ส่งผลให้แม่น้ำลำคลองหลายแห่งใน พื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม แห้งขอดส่งผลกระทบต่อน้ำที่จะใช้สำหรับอุปโภค บริโภค กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม จึงได้ดำเนินการตามนโยบายของกองทัพบกและกองทัพภาคที่ 2 ในการออกช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งตามโครงการ "ราษฎร์รัฐร่วมใจช่วยภัยแล้ง" ด้วยการได้นำรถบรรทุกออกแจกจ่ายน้ำให้แก่ราษฎรที่หมู่บ้านทิพโสต ตำบลดอนกลาง อำเภอโกสุมพิสัย ทั้ง 3 หมู่บ้าน โดยนำรถบรรทุกน้ำประปาออกให้ความช่วยเหลือราษฎรทุกวัน ซึ่งราษฎรต่างดีใจและขอบคุณที่ออกมาให้การช่วยเหลือ
 
นายนราธร ศรประสิทธิ์ นายอำเภอโกสุมพิสัย กล่าวว่าอำเภอโกสุมพิสัย ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้ว 167 หมู่บ้าน ใน 17 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน กว่า 1,500 ครัวเรือน ในช่วงนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการนำน้ำออกแจกจ่ายราษฎร ซึ่งได้มีการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคไปแล้ว 65 หมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2559 รวม 1 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นลิตร (1,250,000ลิตร) ในพื้นที่ประสบปัญหาที่ต้องแจกจ่ายน้ำทุกวัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 3 เที่ยว คือที่บ้านทิพโสต ตำบลดอนกลาง ทั้ง 3 หมู่บ้าน
 

ภาคกลาง

กรมชลประทานเร่งจัดสรรน้ำช่วงภัยแล้ง ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันละไม่น้อยกว่า 75 ลบ.ม./วินาที

นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากการที่มีการคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญ หรือภาวะฝนแล้ง จะสิ้นสุดประมาณต้นเดือนมิถุนายนนี้ และจะเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานิญา มีฝนชุก ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป แต่กรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจได้เตรียมสำรองน้ำป้องกันไว้จนถึงเดือน กรกฎาคม เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการปลูกพืชใช้น้ำน้อย จึงฝากให้ทีมประชารัฐในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงพื้นที่ทำความเข้าใจ พร้อมวางแผนการช่วยเหลือและจัดรอบเวรการรับน้ำหรือการส่งน้ำในพื้นที่ของแต่ ละอำเภอด้วย พร้อมย้ำชลประทานไม่ได้ห้ามรับน้ำเข้าพื้นที่แต่อย่างใด แต่การเปิดประตูน้ำเพื่อรับน้ำเข้าพื้นที่ต้องดูช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งจะไม่กระทบกับค่าความเค็มที่สำแล จังหวัดปทุมธานี ซึ่งต้องใช้น้ำในการผลิตน้ำประปาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งต้องมีแผนชัดเจน ดังนั้น จึงขอเสนอว่าน้ำที่รับเข้าไปแล้วมีการจัดรอบเวรให้กับกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือต่อไป
 

ภาคตะวันออก

หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 นำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค ให้กับประชาชน ที่พักสงฆ์ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ บ้านช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด

พ.อ.กฤษฏิ์ชัย จำนงค์เนียร ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 สำนักพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย มอบหมายให้กำลังพลนำรถบรรทุกน้ำ ขนาด 6,000 ลิตร ออกจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ หมู่ที่ 4 บ้านหนองมาตร ตำบลช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด และบริเวณที่พักสงฆ์อภัยวัน ตำบลช้างทูน ซึ่งทั้งประชาชน และพระภิกษุสงฆ์ของที่พักสงฆ์แห่งนี้ ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค จากปัญหาภัยแล้งที่หลายพื้นที่ประสบอยู่
 
สำหรับการออกแจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภคครั้งนี้ เป็นหนึ่งของโครงการ “กองบัญชาการกองทัพไทย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง” โดยได้นำรถบรรทุกน้ำสะอาดจากการประปาส่วนภูมิภาค ออกไปเติมน้ำในภาชนะบรรจุน้ำให้กับประชาชน วัด โรงเรียน ถังน้ำกลางหมู่บ้าน รวมไปถึงสถานที่ที่ยังไม่มีระบบประปาเข้าถึง ซึ่งทางหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 ได้นำรถบรรทุกน้ำ จำนวน 3 คัน ออกแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่เริ่มพบปัญหาภัยแล้ง และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง วันละ 12 เที่ยว รวมปริมาณน้ำ 72,000 ลิตรต่อวัน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท