Skip to main content
sharethis

นาซีมอุดดิน ซาหมัด นักศึกษากฎหมายอายุ 28 ปี ชาวบังกลาเทศ ถูกฆาตกรรมในกรุงธากาหลังจากที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอิสลามในเฟซบุ๊ค การสังหารในครั้งนี้เป็นหนึ่งในเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์ผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนา กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์รัฐบาลบังกลาเทศไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้

ตำรวจนครบาลธากาเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 6 เม.ย. มีคนร้ายอย่างน้อย 4 คนรุมทำร้ายด้วยการใช้มีดพร้าศีรษะของซาหมัดในช่วงคืนวันพุธที่ผ่านมา เมื่อเขาล้มลงแล้วก็เอาปืนพกจ่อยิงเขาในระยะเผาขนทำให้ซาหมัดเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกอีกว่าการฆาตกรรมในครั้งนี้เป็นการฆาตกรรมโดยตั้งเป้าหมายไว้ก่อน โดยในตอนนี้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบและทางตำรวจกำลังสืบหาว่าเขาถูกสังหารจากสาเหตุเพราะสิ่งที่เขาเขียนหรือไม่

ธากาทริบูนรายงานว่าผู้ก่อเหตุตะโกนข้อความสรรเสริญพระเจ้าในขณะที่พวกเขาทำร้ายซาหมัดบนถนนย่านที่มีคนพลุกพล่านใกล้กับมหาวิทยาลัยจากกานนาถที่ซาหมัดเรียนอยู่ โดยที่ก่อนหน้านี้ชื่อของซาหมัดถูกระบุเป็นหนึ่งในรายชื่อบล็อกเกอร์ผู้ไม่มีศาสนาจำนวน 84 คน ที่ถูกตั้งเป้าโดยกลุ่มหัวรุนแรง

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวสมาชิกกลุ่มที่ถูกแบนจากทางการชื่อกลุ่ม 'อันซารูลลาห์ บังกลา ทีม' ในฐานะผู้ต้องสงสัยก่อเหตุในครั้งนี้แต่ก็ยังไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี

นาซีมอุดดิน ซาหมัด (ที่มา: IHEU)

ซาหมัดเป็นผู้ที่วิจารณ์ศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติตามรัฐธรรมนูญของบังกลาเทศ ในเฟซบุ๊คของเขามีการระบุถึงมุมมองด้านศาสนาไว้ว่า "วิวัฒนาการเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ ศาสนาและเชื้อชาติเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเองโดยกลุ่มคนป่าเถื่อนและไร้อารยธรรม"

เพื่อนของซาหมัดกล่าวว่าก่อนหน้านี้ซาหมัดเคยดิแอคทิเวทบัญชีเฟซบุ๊คของตัวเองราว 1 เดือนที่ผ่านมาจากคำขอร้องของครอบครัวแต่เขาก็บอกกับเพื่อนว่าอาจจะกลับไปใช้งานเฟซบุ๊คอีก ทางด้านเจ้าหน้าที่สืบสวนของตำรวจกล่าวว่าซามัดเพิ่งมาอยู่ที่กรุงธากาได้เพียง 2 เดือน เขาเคยอาศัยอยู่ในซิลเหตและครอบครัวของเขาเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ที่กรุงลอนดอน

อิมราน ซาร์เคอร์ ผู้นำสมาคมบล็อกเกอร์บังกลาเทศซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนาในโลกออนไลน์กล่าวว่าซาหมัดเคยร่วมประท้วงในระดับประเทศเพื่อต่อต้านผู้นำอิสลามในปี 2556 ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามในช่วงสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ ซาร์เคอร์บอกว่าซาหมัดเป็นผู้ที่ประกาศตนต่อต้านความไม่เป็นธรรมทางสังคมทุกรูปแบบและเป็นผู้ต่อต้าน "แนวคิดอิสลามแบบยึดมั่นสุดโต่ง" (Islamic fundamentalism)

องค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่าการสังหารในครั้งนี้เป็นการเตือนให้เห็นว่าทางการบังกลาเทศไม่สามารถคุ้มครองประชาชนที่ใช้สิทธิ์เสรีภาพในการแสดงออกของตนไว้ได้ โดยที่ก่อนหน้านี้ในปี 2558 ก็เคยมีเหตการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธอิสลามต้องสงสัยว่าเป็นผู้สังการบล็อกเกอร์และผู้จัดพิมพ์ที่ไม่ฝักใฝ่ศาสนาอย่างน้อย 4 ราย ถือเป็นการฆาตกรรมต่อเนื่องที่ยาวนานในประเทศบังกลาเทศที่มีคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

"นี่ไม่ใช่การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างไร้สาเหตุ มันถือเป็นการโจมตีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทางการบังกลาเทศจึงต้องประณามการฆาตกรรมแบบนี้โดยเฉพาะและเพิ่มความพยายามยับยั้งวงจรของความรุนแรงนี้" จำปา พาเทล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้เอเชียใต้กล่าว

อย่างไรก็ตามซาหมัดก็มีเพื่อนเป็นผู้นับถือศาสนาชื่อ มุสตากูร์ รอห์มาน เขาบอกว่าเพื่อนที่วิทยาลัยรวมถึงตัวเขาเองรู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะพวกเขาสนิทสนมกันมาก ถึงแม้ว่ารอห์มานจะเคยเตือนเพื่อนให้ระวังเรื่องการแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวเขาเป็นอันตรายเนื่องจากผู้คนที่จริงจังมากในเรื่องศาสนาอาจจะคิดแค้นเขา ถึงแม้ว่าตัวรอห์มานเองจะมองว่าการวิจารณ์ศาสนาของซาหมัดเป็นเรื่องขำๆ และสำหรับรอห์มานแล้วซาหมัดก็ไม่ควรถูกสังหารเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับศาสนา

"ผมเป็นคนเชื่อศาสนา เขาไม่ใช่คนเชื่อศาสนา และเขาอาจจะแค่พยายามแสดงความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับศาสนา มันเป็นโลกเสรี ทำไมเขาต้องถูกสังหารด้วย" รอห์มานกล่าว

"ผมรู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก แต่ในบังกลาเทศมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นประจำในทุกวันนี้ มีคนที่ไม่นับถือศาสนาจำนวนมากถูกสังหาร แล้วก็จะมีการประท้วงเกิดขึ้นเป็นพักๆ แต่หลังจากนั้นก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะมีการประท้วงอีก พวกเราประท้วง พวกเราเขียนลงในเฟซบุ๊ค แต่มันก็เท่านั้น ไม่มีความยุติธรรมออกมาเลย" รอห์มานกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Secular activist who criticised Islamism hacked to death in Dhaka, The Guardian, 07-04-2016 http://www.theguardian.com/world/2016/apr/07/secular-activist-who-criticised-islamism-hacked-to-death-in-bangladesh

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net