Skip to main content
sharethis

ปปง.พบ 16 รายชื่อคนไทยจาก 21 รายชื่อปานามาเปเปอร์ส ลุยตรวจเชิงลึกตามมูลฐานฟอกเงิน สรรพากรรอข้อมูล ป.ป.ง.ตรวจสอบ พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ยังไม่ฟันธงเลี่ยงภาษี รับหลายประเทศไม่มีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนเรียกขอเอกสารภาษีลำบาก

8 เม.ย. 2559 พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  แถลงกรณีเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortional Consortium Of InvestigativeJournalists : ICIJ ) ร่วมกับหนังสือพิมพ์ Suddeutsche Zeitung ของประเทศเยอรมัน เปิดเผยข้อมูลที่ได้มาจากบริษัท Mossack Fonseca มอสแซ็ค ฟอนเซกา ในประเทศปานามา หรือปานามาเปเปอร์ส พบว่ามีผู้นำประเทศในปัจจุบัน 12 ประเทศ นักการเมืองกว่า 200 คน ธนาคารใหญ่กว่า 350 แห่ง และมีรายชื่อคนไทย 21 คนเกี่ยวข้องนั้น ปปง. ตรวจสอบข้อมูลกับเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินข้ามชาติทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ ซึ่งกรณีที่เป็นข่าวนั้น  ที่เปิดเผยรายชื่อมิใช่หน่วยงานของรัฐโดยตรง สำนักงาน ปปง. จึงดำเนินการประสานงานไปยังแหล่งที่มาของข้อมูล ได้แก่หน่วยข่าวกรองทางการเงิน (FINANCAIL INTELLIGENCE UNIT-FIU) ของประเทศต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติและสำนักพิมพ์ ซุสดอยเชอร์ไซตุง (Suddeutsche Zeitung) ของประเทศเยอรมัน ขอความร่วมมือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมายังสำนักงาน ปปง.เพื่อสอบทานยืนยันความถูกต้องของข้อมูล

เลขาธิการ ปปง.กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของสื่อมวลชนปรากฏมีชื่อคนไทย 21 รายชื่อ  ปปง. ตรวจพบได้เพียง 16 รายชื่อคนไทย และมีข้อมูลชื่อบริษัทและประเทศที่ไปจดทะเบียน ส่วนการตรวจสอบฐานข้อมูลของ ICIJ พบว่ามีรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลที่มีความเกี่ยวพันกับไทย รวม 780 รายชื่อ แบ่งเป็นรายชื่อบุคคลไทย 411 รายชื่อ บุคคลต่างชาติ 262 รายชื่อ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับประเทศไทย นิติบุคคล 46 บริษัทที่จดทะเบียนมีความเกี่ยว ข้องกับไทยและรายชื่อซ้ำ 61 รายชื่อ ซึ่งบุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวอาจเป็นนักลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีผลกำไรมากกว่าการลงทุนในประเทศไทย  โดยบุคคลในรายชื่อ 719 รายชื่อมี สถานะในบริษัทเป็นทั้งผู้ถือหุ้น กรรมการและผู้รับประโยชน์ทอดสุดท้าย จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศ 48 บริษัท สำหรับที่อยู่ในไทยที่บุคคลกว่า 700 รายชื่อนำไปอ้างอิง
 
สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมี 634 ที่อยู่ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวของไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ 418 รายชื่อ  ภูเก็ต 88 รายชื่อ นนทบุรี 15 รายชื่อ พัทยา 13 รายชื่อ สมุทรปราการ  7 รายชื่อ หาดใหญ่ 4 รายชื่อ สมุทรสาคร 3 รายชื่อ ปทุมธานี 3 รายชื่อ สุราษฎร์ธานี 3 รายชื่อ เชียงใหม่ 2 รายชื่อ ระยอง 2 รายชื่อ ประจวบคีรีขันธ์  2 รายชื่อ นครราชสีมา 1 รายชื่อ ขอนแก่น 1 รายชื่อ และอื่นๆ 72 รายชื่อ
 
เลขาธิการปปง. กล่าวว่า ปปง.ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าบุคคลตามข่าวมีความผิดตามมูลฐานกฎหมายฟองกเงิน  โดยต้องรอแหล่งเปิดเผยข้อมูลยืนยันข้อมูมาก่อนและต้องเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกในทางลับก่อน  เบื้องต้น ตรวจสอบ16 รายชื่อที่พบจากปานามาเปเปอร์ก่อน ส่วนรายชื่อไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้  แต่ตอบได้แค่ว่ามีชื่อที่เผยทั่วไปในเว็บไซต์ต่างๆ การที่สำนักงาน ปปง.จะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินหรือความผิดฐานฟอกเงินได้นั้น บุคคลที่ถูกตรวจสอบจะต้องมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน
 
เลขาธิการปปง. กล่าวด้วยว่า กรณีมีรายชื่อใด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศซึ่งอาจเป็นวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สิน หากมีการออกไปทำธุรกิจต่างประเทศ และนำเงินเข้าในต่างประเทศ ก็ไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมายปปง. ส่วนจะผิดกฎหมายเรื่องการเลี่ยงภาษีหรือไม่ เป็นเรื่องกฎหมายภาษี ไม่ใช่กฎหมายฟอกเงิน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร
 
เลขาธิการ ปปง. กล่าวอีกว่า  ที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง.เคยพบบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานก็ได้มีการดำเนินการลักษณะนี้ มาก่อนแล้ว อาทิ กรณีอดีตผู้บริหารของบริษัท(ชาวต่างชาติ)รายหนึ่ง มีพฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกง และนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานไปเปิดบริษัทลงทุนในต่างประเทศอันมีลักษณะเป็นการฟอกเงินในกลุ่มประเทศที่เป็นข่าว สำนักงาน ปปง. จึงได้ทำการตรวจสอบเชิงลับ และนำมาซึ่งการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดดังกล่าวไปแล้ว และบุคคลนี้ ก็มีรายชื่อในฐานข้อมูลของ ICIJ ด้วยเช่นกัน 
 

สรรพากรรอข้อมูล ป.ป.ง.ตรวจสอบ พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ยังไม่ฟันธงเลี่ยงภาษี 

ขณะที่ อภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพากรทำหน้าที่ดูแลการทำธุรกิจในต่างประเทศตามอนุสัญญาภาษีซ้อนและดำเนินธุรกิจสามารถดำเนินการได้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  แต่ยอมรับว่าอาจเป็นช่องทางให้นักการเมืองหรือนักธุรกิจอาศัยเป็นช่องว่างในการหลบหลีกเลี่ยงภาษี  จึงมอบหมายให้กรมสรรพากรไปตรวจสอบการเสียภาษีอย่างใกล้ชิด
 
ทั้งนี้ ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร  กล่าวว่า กรมสรรพากรประสานขอข้อมูลจาก ปปง. จัดส่งมาให้ก่อนทำการตรวจสอบการเสียภาษีของบุคคลผู้มีรายชื่อในปานามาเปเปอร์สทั้ง 21 คน หรืออาจจะมีมากกว่านั้น เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นเอกสารหลักฐาน โดยพร้อมให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่มีรายชื่อ เพราะการตั้งบริษัททำธุรกิจในต่างประเทศมีความเป็นไปได้หลายแนวทางทั้งการฟอกเงิน การหลบเลี่ยงภาษีและการทำธุรกิจแท้จริง ซึ่งการตั้งบริษทในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติของภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีจริงกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ แม้เป็นข้อมูลปี 2548 แต่มีหลักฐานปรากฎอยู่  อย่างไรก็ตาม  ยอมรับว่าการตรวจสอบเอกสารทรัพย์สินในต่างประเทศอาจทำได้ยาก โดยต้องขอให้ ปปง.ประสานขอข้อมูลกับต่างประเทศ เนื่องจากหลายประเทศไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net