รอบโลกแรงงานมีนาคม 2559

ผลสำรวจระบุว่าคนทำงานหญิงในญี่ปุ่นราว 1 ใน 3 ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน แต่ร้อยละ 63 ระบุว่ายังทนนิ่งเงียบอยู่ และรอบโลกแรงงานอื่น ๆ ประจำเดือนมีนาคม 2559

ผู้หญิงญี่ปุ่น 1 ใน 3 ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน แต่ร้อยละ 63 เลือกที่จะเงียบ

ผลสำรวจระบุว่าคนทำงานหญิงในญี่ปุ่นราว 1 ใน 3 ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน แต่ร้อยละ 63 ระบุว่ายังทนนิ่งเงียบอยู่ (ที่มาภาพ: Flickr/yosh_amekago/CC BY 2.0)

กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจระบุว่าคนทำงานหญิงในญี่ปุ่นราว 1 ใน 3 ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เช่น ถูกวาจาล่วงเกิน และถูกเนื้อต้องตัวอย่างไม่เหมาะสม โดยในการศึกษาสำรวจครั้งนี้มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้หญิงทำงานอายุระหว่าง 25-44 ปีกว่า 9,600 คน ซึ่งมีทั้งผู้หญิงที่ได้รับการว่าจ้างงานแบบเต็มเวลาและผู้หญิงที่ทำงานพาร์ตไทม์ ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2558 และได้เผยแพร่ผลสำรวจเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

จากผลสำรวจพบว่ามีผู้หญิงผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 29 บอกว่า พวกเธอรู้สึกทุกข์ทรมานใจกับการถูกคุกคามทางเพศ แต่ร้อยละ 63 ระบุว่ายังทนนิ่งเงียบอยู่ สำหรับรูปแบบการถูกคุกคามทางเพศ จากผลสำรวจพบว่า รูปร่าง หน้าตา หรืออายุของผู้หญิงเป็นหัวข้อที่ถูกนำมาพูดล้อ และการพูดลวนลามถึงร้อยละ 54 ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย รองลงมาได้แก่การฉวยโอกาสแตะเนื้อต้องตัว ร้อยละ 40 ส่วนการถูกถามด้วยคำถามที่ส่อไปในทางเพศมีร้อยละ 38 นอกจากนั้น ยังมีผู้หญิงถึง 1 ใน 10 ที่บอกว่า พวกเธอถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อาทิ ถูกลดตำแหน่งเมื่อเธอไม่ยอมนิ่งเงียบ และเปิดปากพูดถึงการถูกคุกคามทางเพศที่พวกเธอได้รับ

นอกจากนี้ในตลาดแรงงานปัจจุบันก็ยังพบว่า ผู้หญิงในญี่ปุ่นมักจะได้งานพาร์ตไทม์งานที่จ่ายค่าตอบแทนต่ำ และยังมีผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร โดยจากการสำรวจพบว่ามีบริษัทอยู่ราว 3,600 แห่งเท่านั้นที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหาร

(ที่มา: theguardian.com, 7/3/2559)

บริษัทในอังกฤษให้พนักงานหญิงปวดประจำเดือนลาหยุดได้

บริษัท โคซิสต์ (Coexist) ในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ได้ออกกฎการลางานใหม่ด้วยการอนุญาตให้พนักงานหญิงที่ปวดประจำเดือนสามารถลาหยุดงานได้ โดยบริษัทเชื่อว่าการอนุญาตให้พนักงานหญิงที่ปวดประจำเดือนลาหยุดได้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทใหญ่อย่างใหญ่ไนกี้ (Nike) เคยให้สิทธินี้กับพนักงานหญิงมาแล้วเช่นกันในปี 2550

(ที่มา: independent.co.uk, 2/3/2559)

ทางการจีนเผยไม่จำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานครั้งใหญ่

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เปิดเผยว่า จีนไม่จำเป็นต้องลดการจ้างงานครั้งใหญ่ดังเช่นในช่วงปี 2533 อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากจีนกำลังแสวงหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการลดการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีในการตั้งรับผลกระทบจากการเลิกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางของจีนจะจัดสรรเงิน 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตลอดระยะเวลา 2 ปี เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างงานในการหางานใหม่

(ที่มา: english.cntv.cn, 6/3/2559)

สหประชาชาติระบุสถานการณ์ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเอเชียเพิ่มสูงขึ้น

รายงานสหประชาชาติระบุว่าเมื่อปี 2556 มีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลกกว่า 213 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 59 ล้านคนอาศัยอยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิกซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 โดยในรายงานชี้ว่าในบรรดาผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลกมีอยู่กว่า 95 ล้านคนที่เดินทางไปจากประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึงในกรณีของเอเชียนั้นแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากมีการอพยพจากประเทศแถบทางใต้ไปยังประเทศแถบทางใต้ด้วยกัน โดยผู้อพยพส่วนใหญ่เดินทางไปจาก ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ อินเดีย อิโดนีเซีย และปากีสถาน โดยมีจุดหมายปลายทางที่ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ มัลดีฟส์ และไทย

สหประชาชาติชี้ว่าปัญหาสำคัญของแรงงานอพยพเหล่านี้คือ ข้อจำกัดในบางประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของพวกเขา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมและการคุ้มครองต่าง ๆ ได้ข้อจำกัดเหล่านี้สร้างทั้งความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

(ที่มา: voathai.com, 7/3/2559)

คนฝรั่งเศสนับแสนประท้วงต้านปฏิรูปการจ้างงานงานของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2559 กลุ่มผู้ประท้วงหลายแสนคน ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและสหภาพแรงงานฝรั่งเศส ออกมาชุมนุมในหลายเมืองทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านแผนปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยกระทรวงมหาดไทยประเมินตัวเลขผู้เข้าร่วมไว้ที่ 224,000 คน ในจำนวนนั้นราว 100,000 คนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่โรงเรียนมัธยมราว 90 แห่งจากทั้งหมด 2,500 แห่งทั่วประเทศ ถูกนักเรียนชุมนุมปิดล้อม

โดยแผนการปฏิรูปการจ้างงานของรัฐบาลดังกล่าวครอบคลุมเกือบทุกด้านของรายละเอียดเงื่อนไขในการจ้างงาน ตั้งแต่จำนวนชั่วโมงการทำงานไปจนถึงวันหยุด โดยเปิดช่องให้มีการยืดหยุ่นเป็นไปตามการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการปลดพนักงาน โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าแผนดังกล่าวจะจูงใจกลุ่มธุรกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานแบบสัญญาถาวรมากกว่าสัญญาจ้างชั่วคราว แต่มุมมองจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายของพรรคสังคมนิยมชี้ว่าจะเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงในงาน ในส่วนของรายละเอียดแผนปฏิรูป แม้ตัวเลขอย่างเป็นทางการของชั่วโมงการทำงานจะกำหนดไว้ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่สหภาพแรงงานและนายจ้างก็สามารถเจรจาทำข้อตกลงกันเป็นการภายในได้เพื่อขยายเวลาการทำงานออกไปไม่เกิน 46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลา 16 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน

(ที่มา: france24.com, 9/3/2559)

โฟล์คสวาเกนเตรียมลดตำแหน่งงานธุรการในเยอรมนีหลายพันตำแหน่ง

โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) วางแผนลดตำแหน่งงานธุรการหลายพันตำแหน่งในเยอรมนีลง 3,000 ตำแหน่ง  เพื่อควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยบริษัทฯ ระบุว่าการลดตำแหน่งงานครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างพนักงาน และหากจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนการลดตำแหน่งงานจะมาจากการเกษียณอายุก่อนครบกำหนด สัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวที่หมดอายุ และการโยกย้ายพนักงานไปทำงานตำแหน่งอื่นที่ว่างอยู่

(ที่มา: autonews.com, 11/3/2559)

อิสราเอลผ่านกฎหมายคุมเข้มจ้างแรงงานปาเลสไตน์

รัฐสภาของอิสราเอลมีมติเสียงข้างมากผ่านร่างกฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานปาเลสไตน์ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปราบปรามความรุนแรงที่ดำเนินมากว่า 5 เดือน โดยที่ปรึกษารัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาว่าราวร้อยละ 44 ของการโจมตีที่เกิดขึ้นกระทำการโดยแรงงานปาเลสไตน์ผิดกฎหมาย นอกจากการจับกุมและจำคุกแรงงานที่ลักลอบเข้าไปทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตแล้ว รายละเอียดที่เพิ่มเติมขึ้นมาในกฎหมายฉบับใหม่มุ่งเน้นไปที่บทลงโทษต่อนายจ้างชาวอิสราเอล รวมถึงผู้ที่ให้ความช่วยเหลือและลักลอบขนแรงงาน โดยนายจ้างชาวอิสราเอลของแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ขณะที่ในส่วนของแรงงานรายวันที่อนุญาตให้มีการว่าจ้างได้เพียงครั้งละ 1 คน ต่อ 1 วัน หากพบว่าเกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดทั้งจำนวนและระยะเวลา นายจ้างชาวอิสราเอลมีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี ขณะที่บริษัทที่ว่าจ้างแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับระหว่าง 40,000-452,000 ชาร์คิลล์

(ที่มา: middleeasteye.net, 14/3/2559)

เอวอน เตรียมปลดพนักงานสำนักงานใหญ่ 2,500 คน

เอวอน (Avon) ผู้ผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ระดับโลก ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 2,500 ตำแหน่ง และย้ายสำนักงานใหญ่จากนครนิวยอร์กของสหรัฐไปยังสหราชอาณาจักร หลังก่อนหน้านี้บริษัทขายธุรกิจในอเมริกาเหนือให้แก่บริษัทเซอร์เบอรัส (Cerberus)

(ที่มา: wsj.com, 14/3/2559)

สหภาพแรงงานภาคสาธารณะหยุดงานประท้วงที่ออสเตรเลีย

เจ้าหน้าที่จากสหภาพด้านชุมชนและสาธารณะ (CPSU) จะหยุดการทำงานในสนามบินของเมืองแคร์นส์ ทาวน์สวิล เพิร์ธ ดาร์วิน และอเดไลด์ ในวันที่ 22 มี.ค. นอกจากนี้จะมีการประท้วงเพิ่มเติมที่สนามบินแห่งอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงสนามบินซิดนีย์ในวันพฤหัสบดี โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการประท้วงหยุดงานระยะเวลา 24 ชั่วโมงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางบินต่าง ๆ โดย CPSU เปิดเผยต่อสำนักข่าว ABC ว่าการประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่การเจรจาเกี่ยวกับค่าจ้างและเงื่อนไขกับรัฐบาลไม่ประสบผลสำเร็จ

(ที่มา: abc.net.au, 23/3/2559)

อัลจาซีรา เตรียมปลดพนักงาน 500 คนทั่วโลก

สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al-Jazeera) ออกแถลงการณ์เรื่องการเตรียมปรับลดพนักงานราว 500 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 10 ของพนักงานทั่วโลก โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพนักงานประจำสำนักงานในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ ขณะที่ผู้บริหารให้เหตุผลของการปรับลดพนักงานในครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของบริษัทให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในอุตสาหกรรมสื่อโลก

(ที่มา: theguardian.com, 27/3/2559)

สภาญี่ปุ่นอนุมัติงบ 96.72 ล้านล้านเยน สร้างสวัสดิการรับมือสังคมผู้สูงอายุ

30 มี.ค. 2559 รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณประจำปี 2559 มูลค่า 96.72 ล้านล้านเยน เน้นสร้างสวัสดิการทางสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังอีก 10 ล้านล้านเยน โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2559 นี้ ทั้งนี้งบประมาณมูลค่า 73.11 ล้านล้านเยน ไม่รวมการชำระหนี้จะนำไปใช้ทุนสำหรับโครงการและปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการทางสังคมราว 31.97 ล้านล้านเยน

(ที่มา: channelnewsasia.com, 29/3/2559)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท