เมื่อประชาชนเอกวาดอร์รวมกลุ่มต่อต้าน 'เสรีนิยมใหม่' ของรัฐบาลอีกระลอก

<--break- />

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Waging Nonviolence รายงานเรื่องการประท้วงประธานาธิบดี ราฟาเอล คอร์เรีย ของเอกวาดอร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมเอกภาพแรงงาน สมาพันธ์ชนเผ่าพื้นเมืองแห่งเอกวาดอร์หรือ CONAIE รวมถึงกลุ่มสตรีนิยม นักศึกษา นักสิ่งแวดล้อม ออกมาร่วมกันประท้วงในระดับชาติตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาพากันตะโกนขับไล่คอร์เรียและแสดงความโกรธเคืองบนท้องถนนอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามการประท้วงในปีนี้แตกต่างจากการประท้วงใหญ่ในปีที่แล้วซึ่งมีจำนวนผู้คนลดลงและเป็นการประท้วงสั้นๆ อย่างสันติ โดยในปีที่แล้วกลุ่มชนชั้นสูงในเอกวาดอร์ยังมีส่วนร่วมในการประท้วงด้วย เพราะพวกเขาไม่พอใจกฎหมายภาษีมรดกที่จะเป็นการทำให้ความมั่งคั่งของพวกเขาถูกแจกจ่ายออกไปจึงออกมาร่วมแสดงความไม่พอใจรัฐบาลด้วย และในปีที่แล้วประชาชนชาวเอกวาดอร์เองก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

หลังการประท้วงในปีที่แล้วรัฐบาลยอมยกเลิกการปฏิรูปภาษีและคอร์เรียก็ถูกบีบให้ต้องประกาศว่าเขาจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักจากผู้ประท้วงทุกภาคส่วนไม่ว่าจะชนชั้นนักธุรกิจ ชนชั้นแรงงาน หรือกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง

จากการที่กลุ่มชนชั้นนำดังกล่าวไม่เข้าร่วมกับการประท้วงในปีนี้ทำให้มองเห็นได้ว่าคนรวยและคนที่มีอำนาจไม่ได้สนใจเข้าร่วมกับกลุ่มประชาชนทั่วไปเมื่อไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรต่อพวกเขา ในทางตรงกันข้ามกลุ่มสหภาพแรงงานและกลุ่มชนพื้นเมืองต่างก็ต่อต้านการปฏิรูปเสรีนิยมใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มชนชั้นนำ

หนึ่งในการปฏิรูปดังกล่าวคือการออกกฎมายให้อำนาจนายจ้างในการปรับสัญญาจ้างได้ยืดหยุ่นมากขึ้นตามต้องการซึ่งหมายถึงอาจจะมีการเพิ่มหรือลดชั่วโมงการทำงานและจ่ายค่าจ้างได้ตามที่พวกเขาต้องการ

ลูอิซ เมรา คนงานสหภาพกล่าวว่าการปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้นายจ้างทำอะไรก็ได้ตามใจชอบแต่ทำให้คนงานค่าแรงขั้นต่ำอย่างพวกเขาตกที่นั่งลำบาก เมราบอกว่าถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้จะมีพัฒนาการขึ้นบ้างแต่ในตอนนี้กลับใช้อำนาจในทางที่ผิดส่งผลต่อชนชั้นล่างอย่างคนงานต้องมารับเคราะห์ พวกเขาต้องการบอกกับรัฐบาลว่าพวกที่ต้องชดใช้ให้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่แท้จริงคือพวกบรรษัทข้ามชาติที่มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมดีกว่าพวกเขา

Waging Nonviolence ระบุว่าสำหรับคนงานสหภาพแล้วการเดินขบวนประท้วงเป็นหนทางสำคัญในการกดดันรัฐบาลให้ยอมฟังเสียงประชาชนและเป็นการปกป้องสิทธิที่พวกเขาได้มาอย่างยากลำบาก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องการจะขับไล่ประธานาธิบดีคอร์เรียแต่อย่างใด

การที่มีการแบ่งแยกกันในหมู่ผู้ประท้วงต้านคอร์เรียนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะเขาเป็นคนที่มีความนิยมทางการเมืองจากโครงการที่ครอบคลุมคนหลายภาคส่วนในสังคม เช่นการขึ้นเงินค่าแรงขั้นต่ำจาก 170 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 240 ดอลลาร์ต่อเดือน ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อคนที่ยากจนอย่างหนัก และมีการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือในภาคส่วนพลังงานไฟฟ้า แก็สโซลีน และก๊าซธรรมชาติ ทั้งโครงการสวัสดิการสังคมและการเฟื่องฟูด้านน้ำมันทำให้ระดับความยากจนของประเทศลดลงจากร้อยละ 38 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 25 ในปี 2557

ถึงแม้ว่าจะมีการชื่นชมว่าความสำเร็จหลักๆ มาจากเรื่องนโยบายทางสังคมจากรัฐบาลเอกวาดอร์ที่ให้นักวิชาการฝ่ายซ้ายได้รับอำนาจทางการเมือง แต่นักวิจารณ์ก็มองว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเอกวาดอร์จริงๆ แล้วมาจากการค้าน้ำมันในช่วงเฟื่องฟูโดยแลกกับการที่เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน โดยน้ำมันถือเป็นสินค้าส่งออกของเอกวาดอร์ร้อยละ 53 และหลังจากที่ราคาน้ำมันตกลงในช่วงปลายปี 2557 เอกวาดอร์ก็เข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่จะส่งผลร้ายต่อโครงการด้านสังคมด้วย

ความไม่พอใจของผู้ประท้วงยังมาจากเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเอกวาดอร์กับสหภาพยุโรปและกฎหมายว่าด้วยผืนน้ำและผืนดินที่กลุ่มชนพื้นเมืองบอกว่าเป็นกฎหมายที่ห้ามพวกเขาไม่ให้เข้าถึงแหล่งน้ำชุมชนและเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของเกษตรกรตัวเล็กๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ นี่ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่คอร์เรียใช้วิธีการแบบเสรีนิยมใหม่ในการจัดการกับวิกฤต

ไม่เพียงแค่ชนพื้นเมืองกับแรงงานเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากกระแสเสรีนิยมใหม่ที่นำมาใช้โดยอ้าง "การพัฒนา" และการสร้างรัฐชาติ กลุ่มอื่นๆ อย่างนักสตรีนิยมก็ถูกลดทอนอิทธิพลทางการเมืองลงเช่นกัน จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ภายใต้รัฐบาลคอร์เรียมีการสั่งยุบองค์กรต่างๆ อย่างสภาสตรีแห่งชาติ สภาการพัฒนาแห่งชาติและประชาชนเอกวาดอร์ สภาเพื่อการพัฒนาของชาวเอกวาดอร์แอฟริกัน โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติแทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

คาร์ลอส เดอ ลา ทอร์เร นักวิชาการและนักวิจารณ์ชาวเอกวาดอร์ระบุว่าเรื่องนี้ทำให้ราฟาเอล คอร์เรีย ต่างจากผู้นำโบลิวาร์คนอื่นๆ อย่างเอโว โมราเลสในโบลิเวีย และฮูโก ชาเวซ ในเวเนซูเอลลา ในขณะที่รัฐบาลโมราเลสมีพื้นฐานมาจากองค์กรเครือข่ายทางสังคม และรัฐบาลเวเนซุเอลลามีการทดลองกับสถาบันประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม รัฐบาลคอร์เรียมีลักษณะการขับเคลื่อนประชานิยมจากตำแหน่งผู้มีอำนาจที่เน้นการแต่งตั้งและลดความเข้มข้นของขบวนการทางสังคม จากการที่รัฐบาลคอร์เรียมีแนวคิดขยายอำนาจรัฐ ควบคุมประชาชนและลบความแตกต่าง เป็นเหตุให้มีการกดขี่อย่างเป็นระบบโดยเฉพาะกับชนพื้นเมืองและผืนดินของพวกเขา

อันเดรส โดโนโซ ฟาบารา เลขาธิการด้านปิโตรเลียมของเอกวาดอร์เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนเมื่อปี 2556 ในทำนองโจมตีผู้ประท้วงที่เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองต่อต้านบรรษัทน้ำมันและเหมืองแร่จากจีน ฟาบารากล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็นพวกที่มีวาระทางการเมืองและไม่ได้คิดถึงเรื่องการพัฒนาหรือต่อสู้กับความยากจน Waging Nonviolence ระบุว่าการสัมภาษณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลคอร์เรียไม่ใส่ใจและดูถูกเหยียดหยามกลุ่มคนที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับทุนนิยมในรูปแบบของพวกเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ลิดรอนความสามารถในการกำหนดชีวิตตัวเองของผู้คนในนามของการพัฒนาและความสามัคคีในชาติ

โฮเซ อิซิโดร เทนเดตซา อันตุน ผู้นำชนเผ่าชูอาร์ในจังหวัดซาโมรา ชินชิเป ตกเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมของเอกวาดอร์ที่ถูกบังคับอุ้มหายหรือถูกลอบสังหารในปี 2557 จากการที่เขาต่อต้านเหมืองแร่ของบริษัทจีนที่ทำลายผืนป่ากว่า 450,000 เอเคอร์

จอร์จ เฮอเรรา ประธาน CONAIE กล่าวว่าในตอนนี้มีผู้คนมากกว่า 700 คนถูกสังหาร ดำเนินคดี หรือถูกคุมขังด้วยสาเหตุทางการเมือง เฮอเรราวิจารณ์รัฐบาลคอร์เรียว่าเป็นรัฐบาลที่กดขี่ข่มเหง ขาดความสามารถในการสร้างความเห็นพ้องต้องกันได้ในหมู่ประชาชน นี่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับประชาชนภาคส่วนอื่นๆ ด้วยไม่เพียงแค่ปัญหาสำหรับกลุ่มชนพื้นเมืองเท่านั้น

Waging Nonviolence ระบุว่าคอร์เรียพยายาม "ใช้กฎหมายเป็นอาวุธ" ในการปราบปรามผู้ต่อต้านด้วยการดำเนินคดีกับพวกเขา ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ CONAIE ริเริ่มการรณรงค์ที่เรียกว่า "การขัดขืนเป็นสิทธิของพวกเรา" หรือ #ResistirEsMiDerecho เป็นการรณรงค์ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐทำการกดขี่ประชาชนผู้ประท้วงหรือต่อต้านขัดขืนรัฐบาล รวมถึงการประท้วงในปีที่แล้วที่มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 100 ราย

ถึงแม้ว่าพลังของขบวนการต่อสู้ทางสังคมจะลดลงและการปราบปรามของรัฐจะเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้นำชุมชนและนักกิจกรรมก็มีความมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถเรียกร้องอำนาจจากประชาชนกลับคืนมาได้

คาร์ลอส หนึ่งในผู้ประท้วงบอกว่าประเทศเอกวาดอร์แตกต่างจากละตินอเมริกาประเทศอื่นๆ เพราะขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมในเอกวาดอร์มีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอมาโดยไม่ได้ฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งแต่อย่างเดียว แต่การเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นการต่อสู้ระดับประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบ

 

เรียบเรียงจาก

Ecuador’s social movements push back against Correa’s neoliberalism, Waging Nonviolence, 25-03-2016

http://wagingnonviolence.org/feature/ecuadors-social-movements-push-back-against-correas-neoliberalism/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท