สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรากฏการณ์พุทธอิสระภายใต้ ‘รัฐคณะสงฆ์ไทย’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีที่ภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ 12 องค์กร มีมติให้ดำเนินการกับพระพุทธะอิสระทั้งในทางประเพณีสงฆ์และกฎหมาย มี 2 ประเด็น ที่ผมคิดว่ามีปัญหาบางประการที่ควรอภิปราย

1.การประกาศลงอุกเขปนียกรรมพุทธะอิสระ ที่ประชุมมีมติให้คณะสงฆ์ที่ออกประกาศ และแถลงการณ์ ทำพิธีสวดอุกเขปนียกรรมตามพระธรรมวินัย และตามความสะดวกในแต่ละท้องถิ่น

2.การกล่าวโทษดำเนินคดีกับพระพุทธะอิสระ ในข้อหากล่าวจาบจ้วงสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และยุยงให้คณะสงฆ์แตกแยก พระสงฆ์ทั่วประเทศที่มีความประสงฆ์แจ้งดำเนินคดีกับพระพุทธะอิสระ สามารถดำเนินการได้เลย

กรณีแรกเป็นการดำเนินการตามประเพณีทางสงฆ์ หรือที่เรียกกันว่าดำเนินการทาง “พระธรรมวินัย” กรณีหลังเป็นการดำเนินการทางกฎหมาย

กรณีแรก คือการประกาศ “อุกเขปนียกรรม” ซึ่งมีนิยามตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ว่า “กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึงวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้วไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละ ซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตาหรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่ายๆว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว” (หากพระรูปนั้นกลับตัวกลับใจ สงฆ์ก็จะประกาศคืนสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลายดังเดิม)

ปัญหามีว่าสงฆ์คือใคร? คำตอบคือ กลุ่มสงฆ์ที่เป็น “สมานสังวาส” ได้แก่ กลุ่มสงฆ์ที่มีการทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน เรียกง่ายๆ ว่า ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน คือเป็นพวกเดียวกัน อยู่ด้วยกันได้ มีฐานะและสิทธิเสมอกันจึงประกาศอุกเขปนียกรรมได้

ถ้าต่างนิกายหรือต่างสังวาสกันที่เรียกว่า “นานาสังวาส” ก็ต่างคนต่างอยู่ กลุ่มสงฆ์ที่ถือสังวาสหรือธรรมวินัยและประเพณีปฏิบัติต่างกันจะประกาศอุกเขปนียกรรมแก่พระภิกษุที่ต่างสังวาสไม่ได้

หลัก “นานาสังวาส” ดังกล่าว คือเหตุผลที่พระโพธิรักษ์เคยใช้อ้างในการประกาศแยกตัวไม่ขึ้นต่อการปกครองมหาเถรสมาคม เนื่องจากชาวอโศกถือวัตรปฏิบัติที่ต่างจากพระทั่วไปภายใต้ระบบปกครองมหาเถรสมาคม

แต่ถูกพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) โต้แย้งไว้ในหนังสือ “กรณีสันติอโศก” ใจความสำคัญว่า การประกาศลาออกหรือแยกตัวจากการปกครองมหาเถรสมาคมของพระโพธิรักษ์ไม่มีผล หรือไม่สามารถเป็นไปตามที่ประกาศได้ เนื่องจากสถานภาพ “พระภิกษุไทย” ของท่านได้มาจากกฎหมายคณะสงฆ์รับรองไว้ตั้งแต่แรก กล่าวคือ การบวชพระในประเทศไทยไม่ใช่เพียงการบวชตามธรรมวินัยเท่านั้น หากแต่ต้องบวชกับพระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบตามกฎหมายสงฆ์ บวชแล้วต้องมีสังกัดวัดตามกฎหมายสงฆ์ สถานภาพของพระทุกรูปก็ต้องมีเอกสารตามกฎหมายสงฆ์รับรอง (เช่น หนังสือสุทธิของพระ) การพ้นจากสถานภาพของพระภิกษุไทย จึงพ้นได้เมื่อตาย ลาสิกขาบท หรือถูกจับสึกเพราะประพฤติผิดพระธรรมวินัยเท่านั้น

ในข้อโต้แย้งดังกล่าว พระพรหมคุณาภรณ์ได้อ้างเหตุผลเปรียบเทียบทำนองว่า การประกาศว่าลาออกจากคณะสงฆ์ไทย หรือจากการอยู่ใต้ปกครองของมหาเถรสมาคม ก็เหมือนกับการที่นาย ก.เป็นพลเมืองไทยโดยสถานภาพตามกฎหมายของรัฐไทย แล้วประกาศลาออกจากการเป็นพลเมืองไทย ไม่อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลไทย ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ ตราบที่นาย ก.ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย

ตามเหตุผลของพระพรหมคุณาภรณ์ เท่ากับเป็นการยืนยันว่า การที่ใครก็ตามบวชเป็นพระในคณะสงฆ์ไทย เท่ากับเขามีสถานะเป็นพลเมืองใน(อีก)รัฐหนึ่งคือ “รัฐคณะสงฆ์ไทย” ที่มีมหาเถรสมาคมเป็นรัฐบาลของรัฐนี้ คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธสถานะความเป็นพลเมืองรัฐคณะสงฆ์ไทยและอำนาจของรัฐบาลคณะสงฆ์ไทยโดยประกาศลาออก หรือไม่ขึ้นต่อการปกครองของรัฐบาลเช่นนี้ได้ (ยกเว้นตาย, ลาสิกขาบท หรือถูกจับสึก)

ตัวอย่างรูปธรรมที่สอดคล้องกับเหตุผลข้างบนคือ กรณี “ครูบาศรีวิชัย” ที่แม้เจ้าตัวจะเป็นพระอุปัชฌาย์ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและเป็นที่ยอมรับของพระสงฆ์สายครูอาจารย์เดียวกัน แต่เมื่อไม่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายคณะสงฆ์ไทย ก็ไม่สามารถเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ แปลว่า สถานภาพ “พระภิกษุไทย” และสถานภาพตามตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่เจ้าอาวาส พระอุปัชฌาย์ สมณศักดิ์ชั้นยศต่างๆ จนถึงสมเด็จพระสังฆราชเป็น “สถานภาพตามกฎหมาย” (หรือสถานภาพที่อำนาจรัฐกำหนดขึ้นมา) ฉะนั้น ประชาชนชาวไทยจึงไม่มีเสรีภาพที่จะเป็นพระภิกษุไทยได้เพียงลำพังด้วยการบวชถูกต้องตามธรรมวินัยเท่านั้น

เพราะยึดเหตุผลดังกล่าวศาลฎีกาจึงตัดสินว่าสถานภาพของพระโพธิรักษ์และพระภิกษุชาวอโศก “ไม่ใช่พระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย” จะใช้คำว่าพระภิกษุหรือพระสงฆ์ไม่ได้ ทำให้พระโพธิรักษ์และชาวอโศกต้องใช้คำว่า “สมณะ” แทน

กรณีพระโพธิรักษ์สะท้อนว่ารัฐคณะสงฆ์ไทยมีอำนาจผูกขาดการเป็นเจ้าของคำว่า “พระภิกษุ, พระสงฆ์” ในพุทธศาสนาได้ด้วย ซึ่งไม่ว่าจะมองในกรอบพระธรรมวินัยหรือกรอบเสรีภาพทางศาสนาตามหลักสากลก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคณะสงฆ์กลุ่มไหนในโลกมีอำนาจผูกขาดดังกล่าวได้ จึงเกิดคำถามตามมาว่าที่ว่าคณะสงฆ์ไทยยึดถือปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย และสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเสรีภาพทางศาสนานั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

ส่วนกรณีพระพุทธะอิสระ เจ้าตัวไม่ได้ประกาศลาออกจากคณะสงฆ์ไทย หรือประกาศไม่ขึ้นต่อการปกครองมหาเถรสมาคม แต่ในทาง “พฤตินัย” ดูเหมือนพระพุทธอิสระไม่แคร์ กระทั่งท้าทายอำนาจมหาเถรสมาคม หรือไม่ยอมรับอำนาจมหาเถรสมาคมยุคนี้(?)

ถามว่าคณะสงฆ์ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศทำพิธีประกาศอุกเขปนียกรรมพระพุทธะอิสระด้วยเหตุผลตามที่กล่าวอ้างได้หรือไม่? คำตอบก็คือทำได้ในนาม “คณะสงฆ์ไทยตามกฎหมายภายใต้ปกครองมหาเถรสมาคม” แต่นี่จะถือว่าเป็น “สงฆ์สมานสังวาส”ตามธรรมวินัยหรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่ตั้งคำถามได้ เนื่องจากสามารถถามได้ว่าพระทั้งประเทศจะนับว่าเป็นสังวาสเดียวกันกับพระพุทธะอิสระในความหมายว่าเป็นผู้ยึดถือธรรมวินัยและประเพณีปฏิบัติแบบเดียวกันภายใต้การมีปฏิสัมพันธ์แบบรู้จักคุ้นเคยกัน พึ่งพาอาศัยกัน หรือมีความเป็น “กลุ่มเดียวกัน” ในวิถีชีวิตจริงหรือไม่ เพราะสงฆ์สังวาสเดียวกันตามธรรมวินัยคือสงฆ์ที่มีความเป็น “กลุ่มเดียวกันในวิถีชีวิตจริง” ไม่ใช่สงฆ์ที่มีความสัมพันธ์เป็น “กลุ่มเดียวกันแบบทางการ” ตามกฎหมาย

ฉะนั้น การมี “ช่องว่าง” ระหว่างสภาวะของสงฆ์ตามกฎหมายและสงฆ์ตามธรรมวินัยดังกล่าว ในที่สุดกรณีพระพุทธะอิสระอาจจบแบบกรณีพระโพธิรักษ์ คือคณะสงฆ์ไทยภายใต้มหาเถรสมาคมจะประกาศอุกเขปนียกรรม (ตัดสิทธิเสมอกับกับภิกษุทั้งหลาย) ก็ทำไป แต่พระพุทธะอิสระก็ยังมีอิสระจะทำอะไรในแบบของตัวเองต่อไปเช่นเดียวกับพระโพธิรักษ์

ส่วนปัญหาประเด็นทางกฎหมาย การที่ 12 องค์กรพุทธระบุว่า “พระสงฆ์ทั่วประเทศที่มีความประสงฆ์แจ้งดำเนินคดีกับพระพุทธะอิสระ (จาบจ้วงสมเด็จช่วง) สามารถดำเนินการได้เลย” ข้อเสนอเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำให้การหมิ่นประมาทพระที่มีความผิดตาม “กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา” ที่เจ้าตัวผู้เสียหายต้องแจ้งความเองหรือตั้งทนายดำเนินการ กลายเป็นการใช้กฎหมายแบบมาตรา 112 ที่ใครก็สามารถแจ้งความได้

จริงอยู่ พระพุทธะอิสระอาจต่อสู้ทางการเมืองในลักษณะสนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การดำเนินการทางกฎหมายกับพระพุทธะอิสระ (ในกรณีที่เป็นการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง) ก็ควรดำเนินไปตามกฎหมายปกติ ไม่ใช่ไปทำอะไรที่ขัดกับการใช้กฎหมายปกติตามระบบประชาธิปไตย

ปรากฏการณ์พระพุทธะอิสระด้านที่สนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ได้สะท้อนให้เห็น “ด้านเดียวกัน” ของอีกฝ่าย คือฝ่ายตรงข้ามที่ดำเนินการกับพระพุทธะอิสระก็ไม่ได้ดำเนินการบนจุดยืนประชาธิปไตย พูดให้ตรงก็คือฝ่ายต่อต้านพระพุทธะอิสระก็คือฝ่ายปกป้องอำนาจระบบปกครองสงฆ์ที่ขัดกับระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบที่สถาปนาขึ้นในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์

กลายเป็นว่าความขัดแย้งภายในวงการสงฆ์-ชาวพุทธทุกวันนี้ เป็นความขัดแย้งกันเองระหว่างฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยกัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ตัวโครงสร้างหรือระบบสงฆ์ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยกำลังกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งซึ่งส่งผลเป็นการทำลายตัวเอง

การที่ต่างฝ่ายซึ่ง “ไม่ประชาธิปไตย” จะต่อสู้ทำลายกันเองและทำให้โครงสร้างที่ไม่ประชาธิปไตยพังทลายลงเอง คงยากที่ใครจะห้ามได้ แต่ผลเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สังคม และประชาชนโดยรวมคงยากที่จะประเมิน

เวลานี้สถาบันศาสนาก็หมดความน่าเชื่อถือในความเป็นกลางและการเป็นพลังทางศีลธรรมลงโดยลำดับ และไม่มีวี่แววใดๆ ที่แสดงถึงความพยายามปรับตัวเข้ากับความเป็นประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ จึงแทนที่พุทธศาสนาไทยจะมีส่วนช่วยแก้วิกฤตชาติกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตนั้นเสียเองดังที่เห็น 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท