Skip to main content
sharethis

5 เม.ย. 2559 เวลา 14.00 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมนำหนังสือข้อเสนอของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่ยินดีจะรับคลื่นความถี่ 900 MHz ในราคาตามที่แจสได้ประมูลไว้ 75,654 ล้านบาท ที่ได้ส่งมายังสำนักงาน กสทช. เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา เสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในวันศุกร์ที่ 8 เม.ย. นี้ เพื่อพิจารณาว่า จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวดำเนินการอย่างใดหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ถึงตน คงมีการพิจารณาขึ้นมา ก็คงต้องส่งไปยังฝ่ายกฎหมายให้พิจารณาดูด้วย ว่าทำได้หรือไม่ โดยต้องพิจารณาหลายประเด็น ทั้งด้านกฎหมาย ด้านผลประโยชน์ที่ได้รับ ต้องระวังว่าถ้าทำได้วันนี้จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเท่ากับที่จะทิ้งช่วงไปถึงเวลานั้นแล้ว รายได้ที่จะเข้ามาจะมากน้อยกว่ากันเท่าไหร่

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า อย่ามองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อใคร มีคนประมูลอยู่ 3-4 บริษัท บริษัทหนึ่งไม่รักษาสัญญาก็ต้องดำเนินคดีฟ้องตามกฎหมาย ส่วนคลื่นที่เหลืออยู่จะมีวิธีการอย่างไร จะประมูลใหม่ จะคุ้มหรือไม่ ถ้ากฎหมายให้เจรจาได้โดยไม่ต้องเสียประโยชน์ มันก็ต้องหาทางออกแบบนี้บ้าง แล้วผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนหรือไม่ ถ้าทำมาแล้วการสื่อสารดีขึ้น ราคายอมรับได้ ราคาการใช้จ่าย ค่าบริการถูกลง ก็จะมีเหตุผลในการพิจารณา

มติ กสทช. ตัดสิทธิทรู ประมูล4G 900 MHz ฐากร ระบุหากใช้ ม.44 ทรูฯมีสิทธิเสนอราคาอีก
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงาน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ กสทช. โดยที่ประชุม มีมติ 5:3 ตัดสิทธิ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล เข้าร่วมประมูล 4G คลื่น 900 MHz ในวันที่ 24 มิ.ย.2559 เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาตามหลักการที่ว่า บริษัท ทรูฯ ชนะประมูลคลื่น 900 MHz ไปแล้ว จึงไม่ควรถือครองใบอนุญาตอีกใบในคลื่นเดียวกัน

ส่วนกำหนดวันเคาะราคาประมูลยังเป็นแผนงานเดิม 24 มิ.ย.2559 โดยการประมูลครั้งนี้ ได้ตัดสิทธิบริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ด้วย เนื่องจากทำผิดเงื่อนไขรับใบอนุญาต ส่วนราคาตั้งต้นการประมูล บอร์ดมีมติ 6:0 ใช้ราคาเริ่มต้น 75,654 ล้านบาท เป็นราคาที่ บริษัท แจส โมบาย เคยชนะประมูลกำหนดการวางเงินหลักประกันที่ 5% ของราคาตั้งต้น หรือ จำนวน 3,783 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มต่อรอบ 152 ล้านบาท กรณีทิ้งใบอนุญาต เกิดความเสียหายต่อ กสทช. จะต้องรับผิดชอบความเสียหาย 20% ของราคาตั้งต้น หรือ จำนวน 15,131 ล้านบาท

ฐากร กล่าวว่า สำหรับการจัดประมูล อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เนื่องจาก บริษัท เอไอเอส ทำหนังสือมาถึง สำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 4 เม.ย.เพื่อขอใช้คลื่น 900MHz โดยเสนอให้ราคาใบอนุญาต ในราคาที่ บริษัท แจสโมบายฯ เคยชนะประมูลที่ 75,654 ล้านบาท และระบุว่า พร้อมจ่ายเงินค่าใบอนุญาตภายใน 2 เดือน หลังจากได้รับการอนุมัติแต่มีข้อเสนอว่าต้องการทราบผลก่อนวันที่ 14 เม.ย.2559 เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดการขยายเวลาเยียวยาผู้ใช้บริการ 2G ของเอไอเอส ซึ่งหากเอไอเอส ได้ใบอนุญาตใช้คลื่น 900MHz จะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เกิดปัญหาซิมดับ

ฐากร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้อยู่เหนือขอบเขตอำนาจการพิจารณาของ กสทช. โดยต้องอาศัย ม.44 ในการพิจารณา ซึ่ง กสทช. จะนำส่งหนังสือแสดงความจำนงของเอไอเอส พร้อมบทวิเคราะห์ ข้อดี-ข้อเสีย และจะเสนอความเห็นทางกฎหมายให้ด้วยเพื่อให้หัวหน้า คสช. พิจารณาภายในวันศุกร์นี้

ฐากร ระบุต่อว่า หาก นายกฯ ใช้ ม.44 ทางบริษัท ทรูฯจะได้สิทธิเข้าร่วมเสนอราคาด้วย แต่จะต้องให้สิทธิเอไอเอสในฐานะผู้เสนอราคารายแรกก่อน และจะพิจารณาตามลำดับการเสนอราคาเมื่อครั้งมีการประมูล หากหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ ม.44 อนุมัติการขอซื้อใบอนุญาต ตามคำขอของเอไอเอส ก็จะทำให้การประมูลในวันที่ 24 มิ.ย.ไม่เกิดขึ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net