ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559

 
4 เม.ย.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ การป้องกันและแก้ไข ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 
โดยมีการระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่าคือ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศมีจํานวน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และเศรษฐกิจในภาพรวม และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศมีความซับซ้อนและไม่อาจแก้ไขได้ด้วยอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง ดังนั้น สมควรสร้างกลไกในการกําหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดําเนินการร่วมกันของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน และประชาสังคม เพื่อบูรณาการให้การป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นรูปธรรม มีความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพ.ร.บ.นี
 
สำหรับมาตราที่น่าสนใจเช่น มาตรา 11 ให้มี 'คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น' ซึ่งประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (2) กรรมการโดยตําแหน่ง จํานวนแปดคน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและปลัดกรุงเทพมหานคร (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวนห้าคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญมีผลงาน และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าห้าปีในด้านการสาธารณสุข ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของวัยรุ่น ด้านการศึกษา ด้านจิตวิทยา และด้านการสังคมสงเคราะห์ ด้านละหนึ่งคน (4) ผู้แทนเด็กและเยาวชน จํานวนสองคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งจากผู้แทนสภาเด็ก และเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคน ให้อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนสํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน และผู้แทนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้ช่วยเลขานุการ การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด โดยต้องคํานึงถึงชายและหญิงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
 
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว ระบุไว้ในมาตรา 17 ดังต่อไปนี้ (1) เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา (2) เสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.นี้ (3) เสนอรายงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย ปีละหนึ่งครั้ง (4) กําหนดแนวทางปฏิบัติสําหรับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชนเพื่อป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ไข และเยียวยาปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น การใช้ความรุนแรงทางเพศ และการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ (5) ให้คําปรึกษา แนะนํา และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการดําเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไข ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชน (6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่ คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
 
มาตรา 5 วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตามพ.ร.บ.นี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ
 
มาตรา 6 ให้สถานศึกษาดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้ (1) จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา (2) จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้คําปรึกษาในเรื่องการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา (3) จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับ การศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัย การเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม การกําหนดประเภทของสถานศึกษาและการดําเนินการของสถานศึกษาแต่ละประเภท ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา 7 ให้สถานบริการดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้ (1) ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แก่ผู้รับบริการซึ่งเป็นวัยรุ่นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ (2) จัดให้มีบริการให้คําปรึกษาและบริการอนามยการเจริญพันธุ์ที่ได้มาตรฐานสําหรับผู้รับบริการ ซึ่งเป็นวัยรุ่นและสอดคล้องกับสิทธิตามมาตรา 5 รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม อย่างเหมาะสม การกําหนดประเภทของสถานบริการและการดําเนินการของสถานบริการแต่ละประเภท ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา 8 ให้สถานประกอบกิจการดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้ (1) ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นวัยรุ่นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ (2) จัดหรือสนับสนุนให้ลูกจ้างซึ่งเป็นวัยรุ่นเข้าถึงบริการให้คําปรึกษาและบริการอนามัย การเจริญพันธุ์ รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม การกําหนดประเภทของสถานประกอบกิจการและการดําเนินการของสถานประกอบกิจการ แต่ละประเภท ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา 9 ให้มีการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้ (1) ส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดและระดับอําเภอสร้างเครือข่ายเด็ก และเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนําป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (2) ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทําหน้าที่ประสานงาน เฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว (3) จัดให้มีการฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอด ที่ประสงค์จะเข้ารับฝึกอาชีพ และประสานงานเพื่อจัดหางานให้ได้ประกอบอาชีพตามความเหมาะสม (4) จัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้ (5) การจัดสวัสดิการสังคมในด้านอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น การดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา 10 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการให้วัยรุ่นในเขตราชการส่วนท้องถิ่น ได้รับสิทธิตามมาตรา 5 เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอํานาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท