Skip to main content
sharethis

หลังรัฐบาลพม่าชุด ปธน.ถิ่นจ่อ ตั้ง ครม.ชุดใหม่ที่ อองซานซูจี เป็นรัฐมนตรี 4 กระทรวงสำคัญนั้น ล่าสุดสภาชนชาติเสนอร่าง กม. ตั้ง อองซานซูจี เป็น "ที่ปรึกษาของรัฐ" ขณะที่สมาชิกสภาจากกองทัพค้านหนัก-ชี้ขัดรัฐธรรมนูญเพราะให้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติอยู่กับบุคคลเดียว ขณะที่ฟากเอ็นแอลดีย้ำให้คำปรึกษาเท่านั้นไม่มีล้วงลูก โดยลงมติวาระแรกผ่าน 137 ต่อ 68 อภิปรายต่อจันทร์นี้ในสภาผู้แทนราษฎร

หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2559 ลงข่าวสภาชนชาติ ซึ่งทำหน้าที่สภาสูงของพม่าเสนอกฎหมายตั้ง 'อองซานซูจี' ดำรงตำแหน่ง 'ที่ปรึกษาของรัฐ' ขณะที่ภาพประกอบข่าวเป็นภาพในพิธีส่งมอบตำแหน่งระธานาธิบดี โดย ออง ซาน ซูจี ที่เพิ่งรับตำแหน่งรัฐมนตรี 4 กระทรวง ถ่ายภาพคู่กับรองประธานาธิบดีพม่าคือ เฮนรี บันทียู (ซ้าย) และมิตส่วย (ขวา) และรัฐมนตรีโควตากองทัพพม่า 3 ราย โดยไม่มีประธานาธิบดี ถิ่นจ่อ อยู่ในเฟรมภาพ (ที่มา: Global New Light of Myanmar, 2 April 2016 p.1)

หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2559 ลงภาพคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของพม่า โดยภาพมุมบนซ้ายคือ อองซานซูจี ที่นั่ง 4 ตำแหน่งได้แก่ รมว.ต่างประเทศ รมว.สำนักงานประธานาธิบดี รมว.กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน และ รมว.ศึกษาธิการ (ที่มา: Global New Light of Myanmar, 31 March 2016 p.2)

 

ภายหลังจากที่รัฐบาลพม่าของอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง ส่งต่อวาระไปสู่รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ที่มี ถิ่นจ่อ เป็นประธานาธิบดีนั้น ล่าสุดในสภาชนชาติ ซึ่งทำหน้าที่สภาสูงของสภาพม่า มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อตั้ง อองซานซูจี เป็น "ที่ปรึกษาของรัฐ" (State Counsellor) โดยที่ปัจจุบันอองซานซูจี ควบ 4 ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีพม่าอยู่แล้ว ได้แก่ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ รมว.ประจำสำนักงานประธานาธิบดี รมว.กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รมว.กระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์เดอะโกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา ของรัฐบาลพม่า รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมี 8 มาตรา ให้อำนาจอองซานซูจี ในการติดต่อกับกระทรวง กรม องค์กร สมาคม และกลุ่มบุคคล เพื่อให้คำปรึกษา และมีหน้าที่ต่อรัฐสภาแห่งสหภาพพม่า โดยผลการลงมติวาระแรก ในสภาชนชาติ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ร่างกฎหมายนี้ได้รับเสียงสนับสนุน 137 เสียง คัดค้าน 68 เสียง

โดยในสภาชนชาติ ซึ่งมีสมาชิกสภา 224 คน มีสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี 135 คน พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ ยูเอสดีพีซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิม 11 คน พรรคแห่งชาติอาระกัน 10 คน พรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย 3 คน และพรรคอื่นๆ รวมทั้งสมาชิกไม่สังกัดพรรคอีก 9 คน ขณะที่มีสมาชิกจากโควตากองทัพ 56 คน

ในการอภิปรายของสภาชนชาติเมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามรายงานของโกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา เมื่อ 2 เม.ย. ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านจากสมาชิกสภาชนชาติ โควตากองทัพ ซึ่งเห็นว่าร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดย พลจัตวา ขิ่นหม่องเอ อภิปรายว่าแม้ว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐจะตั้งขึ้นเพื่อช่วยและสนับสนุนผลประโยชน์ของรัฐและพลเมืองพม่าทุกคน  แต่ดูเหมือนร่างกฎหมายจะให้อำนาจทั้งนิติบัญญัติและบริหารแก่บุคคลคนเดียวซึ่งมาจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งเป็นผลลบต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 11 (a)

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญพม่า มาตรา 11 (a) กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แบ่งแยกจากกัน และตรวจสอบถ่วงดุลกัน โดย พลจัตวา ขิ่นหม่องเอ เสนอให้ปรับแก้ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญก่อนที่จะลงมติผ่านเป็นกฎหมาย

"ท่านอองซานซูจี มีสิทธิให้คำปรึกษาประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีทั้งสอง และรัฐมนตรีคนอื่นๆ อยู่แล้ว เพราะท่านก็มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี และเป็น รมว.ประจำสำนักงานประธานาธิบดีด้วย ดังนี้นี่จึงเป็นการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ การเข้าไปมีส่วนในอำนาจนิติบัญญัติ น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ" พลจัตวา ขิ่นหม่องเอ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม

พ.อ.หล้าวินอ่อง สมาชิกสภาชนชาติโควตากองทัพอีกคนหนึ่งกล่าวว่า "ถ้าจะออกกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องชัดเจนว่าจะส่งเสริมประโยชน์สาธารณะ มากกว่าประโยชน์ส่วนตน แต่ร่างกฎหมายนี้ดูเหมือนจะร่างเพื่อปัจเจกบุคคลมากกว่า เพราะมาตรา 4 ของหมวด 3 มีการระบุชื่อบุคคล (หมายถึง อองซานซูจี)"

ด้าน พ.อ.มิ้นส่วย กล่าวว่า ข้อกำหนดของร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะร่างกฎหมายไปไกลกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ขณะที่สมาชิกสภาชนชาติที่มาจากการเลือกตั้ง ได้เสนอให้มีทางออกร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาชนชาติทั้ง 2 กลุ่ม ด้วยการส่งร่างกฎหมายไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพม่าพิจารณา

อย่างไรก็ตาม เมียต ญันนาซอ เลขานุการของคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายสภาชนชาติได้เสนอให้สภาชนชาติรับรองร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากสมาชิกสภา 13 คน เห็นชอบที่จะร่างกฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน เขาอภิปรายด้วยว่าตามความเข้าใจของเขา ร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจและสิทธิแก่ที่ปรึกษาของรัฐในการให้คำปรึกษาเท่านั้น และไม่มีเนื้อหากำหนดให้มีสิทธิตัดสินใจเรื่องสำคัญ หรือให้คำแนะนำโดยตรง ร่างกฎหมายนี้จะให้สิทธิแก่ที่ปรึกษาของรัฐ ในการให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐบาล องค์กร และเอกชน ตราบเท่าที่คำปรึกษานั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้ตำแหน่งนี้รับผิดชอบต่อรัฐสภาแห่งสหภาพพม่า

ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว มี 5 หมวด 8 มาตรา โดยวาระในการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐ มีวาระเท่ากับวาระของรัฐสภาสมัยปัจจุบันของพม่า ซึ่งเป็นสมัยที่ 2 โดยร่างกฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้าง "ระบบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองในพม่า และสร้างชาติที่มีสันติภาพ ทันสมัย และพัฒนา พร้อมด้วยระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และสร้างสหภาพพม่าที่เป็นเสรีประชาธิปไตย"

โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา ระบุว่า ในวันจันทร์นี้ (4 เม.ย.) สภาผู้แทนราษฎรของพม่า ซึ่งทำหน้าที่สภาล่าง จะอภิปรายร่างกฎหมายนี้ต่อ

ทั้งนี้แม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2558 ถล่มทลาย แต่เนื่องจากในรัฐธรรมนูญปี 2551 ของพม่า มีบทบัญญัติที่ทำให้อองซานซูจี ขาดคุณสมบัติไม่สามารถเป็นรองประธานาธิบดี และประธานาธิบดี เนื่องจากสมรสกับชาวต่างชาติ และมีบุตรเป็นชาวต่างชาติ ขณะเดียวกัน แม้ในขณะนี้พรรคเอ็นแอลดีจะมีที่นั่งในสภาเกินร้อยละ 66 หรือ 2 ใน 3 ของทั้ง 2 สภา แต่ก็ยังไม่พอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียงสนับสนุนเกินร้อยละ 75 หรือเกิน 3 ใน 4 ของสภา หรือต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทัพที่มีที่นั่งอยู่ร้อยละ 25 ในสภา

โดยก่อนหน้าวันเลือกตั้งทั่วไป อองซานซูจี เคยแถลงต่อสื่อมวลชนว่า "จะอยู่เหนือประธานาธิบดี" เมื่อมีผู้ถามว่า "ทำอย่างไร" อองซานซูจี ตอบว่า "ดิฉันมีแผนก็แล้วกัน" โดยในเวลานั้น อองซานซูจี กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติอะไรเกี่ยวกับเรื่อง "อยู่เหนือประธานาธิบดี" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net