Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ผู้เขียนได้เรียบเรียงข้อเขียนชิ้นนี้ขึ้นเพื่อเป็นเนื้อหาในการเข้าร่วมเวทีการเสวนา “เผชิญหน้าภัยแล้ง หลากมุมมองทางสังคมศาสตร์” ที่จัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา วิทยากรในงานประกอบด้วย อ.ศศิน เฉลิมลาภ จากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และคณาจารย์จากภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.สากล สถิตวิทยานันท์ รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ และผู้เขียนเองตามลำดับ ผู้เขียนขอนำข้อเขียนนี้มาเผยแพร่ต่อในประชาไทเพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจในวงกว้าง

ข้อเขียนชิ้นนี้ประกอบด้วยเนื้อหาหลักสองส่วน ส่วนแรก เป็นการชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยามีแนวทาง มุมมอง หรือเครื่องมือในการทำการเข้าใจต่อ “ภัยพิบัติธรรมชาติ” อย่างไร ซึ่งภัยพิบัติธรรมชาตินี้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความแปรปรวน/เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนที่สองเป็นการชี้ให้เห็นว่าจากมุมมองทางมานุษยวิทยาเหล่านี้ ช่วยให้เรามีข้อควรพิจารณาหรือสามารถมองเห็นอะไรได้บ้างต่อ “ภัยแล้ง” ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ในสังคมไทย


 

มานุษยวิทยากับศึกษาภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change[1]

ในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งต่อชีวิตของผู้คน นักมานุษยวิทยาส่วนหนึ่งจึงมีความสนใจในประเด็นนี้ บางส่วนก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กร/หน่วยงานต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน/แก้ปัญหา จนพัฒนาและสั่งสมความรู้เกิดเป็นสาขาย่อยๆ ที่เรียกว่า  มานุษยวิทยาภัยพิบัติ มานุษยวิทยาว่าด้วย climate change ตลอดจนมานุษยวิทยาว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (ที่สัมพันธ์กับภัยพิบัติธรรมชาติ) อาทิ มานุษยวิทยาว่าด้วยการจัดการน้ำ (ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม น้ำแล้ง และอื่นๆ )

คุณลักษณะและระเบียบวิธีพื้นฐานในทางมานุษยวิทยา

แม้สาขาย่อยเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาใหม่และอยู่บนฐานของความเป็นสหวิทยาการ ต้องอาศัยความรู้จากหลากหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จากรัฐศาสตร์ ที่ว่าด้วยอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ  ตลอดจนภูมิศาสตร์ที่ว่าด้วยพื้นที่กายภาพ และสาขาย่อยของภูมิศาสตร์มนุษย์ อันได้แก่ political ecology ก็ถูกนำมาใช้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี คุณลักษณะและระเบียบวิธีศึกษาทางมานุษยวิทยาก็ยังมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานของสาขาย่อยใหม่ๆเหล่านี้ คุณลักษณะและระเบียบวิธีศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ว่านี้ก็คือ

1) การเน้น ethnographic fieldwork กล่าวโดยย่อๆ ethnography หรือ ethnographic fieldwork ก็คือการที่นักมานุษยวิทยาหรือนักวิจัยเอาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ศึกษา ไปร่วมชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ทางสังคมของคนกลุ่มนั้น และเข้าใจความหมายและปฏิบัติการทางสังคมวัฒนธรรมบนฐานของการมองโลกและประสบการณ์ของพวกเขาเอง ทั้งนี้ ethnographic fieldwork จะช่วยให้เข้าใจประเด็นความเปราะบาง การปรับตัว การจัดการความเสี่ยงต่อภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change บนฐานของความหมายทางวัฒนธรรม และเห็นความเป็นผู้กระทำการ (agency) ของผู้คนในการเผชิญกับความยากลำบากจากภัยพิบัติธรรมชาติ เห็นกระบวนการตัดสินใจและเหตุผลบนฐานของเงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆ
 

2) การเน้นบทบาทหรือมิติของวัฒนธรรมที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change ซึ่งอาจจำแนกได้ 4 ด้าน (ที่ไม่อาจแยกขาดจากกันและอาจมีความเหลื่อมซ้อนกัน) คือ

a. ด้านความรับรู้และอารมณ์/ความรู้สึก (perception): วัฒนธรรมของบุคคล/ชุมชน ซึ่งเกิดจากภูมิหลังประสบการณ์ ความสัมพันธ์กับระบบนิเวศ การประกอบอาชีพ ได้กำหนด perception ที่ผู้คนมีต่อสภาพแวดล้อมและต่อภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ตนต้องเผชิญ  เกิดเป็นความผูกพันต่อถิ่นที่อยู่อาศัยและต่ออาชีพของตนที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม

b. ด้านความรู้ (knowledge) : ความรู้ของผู้คนและท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและภัยพิบัติธรรมชาติ  (เช่น การจำแนกประเภทของเมฆ ลม ฝน การทำนายภูมิอากาศ การคาดการณ์ฤดูกาล) ล้วนมีนัยยะทางวัฒนธรรม แต่ทั้งนี้ความรู้ท้องถิ่นดั้งเดิมมักประสบปัญหาใช้การไม่ได้อีกต่อไปเมื่อระบอบ/อำนาจในการควบคุมจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมตกไปอยู่ในมือของคนอื่นและอยู่เหนือการควบคุม เช่น กรณีการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงที่ตกอยู่ในอำนาจของจีนอย่างสิ้นเชิงจากการสร้างเขื่อนจำนวนมากในลำน้ำโขง ทำให้ฤดูกาลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 กระทบวิถีชีวิตชาวบ้านที่ใช้พื้นที่ริมฝั่งโขงทำการเกษตรและทำมาหากินอื่นๆ พวกเขาไม่สามารถใช้ภูมิความรู้ดั้งเดิมทำมาหากินในพื้นที่ได้ เพราะบางครั้งอยู่ๆ น้ำก็ขึ้นสูงผิดปกติทั้งที่เป็นหน้าแล้ง ขณะที่บางปีก็มีน้ำท่วม 3-4 รอบ เพราะทางการจีนปล่อยน้ำเพื่อการเดินเรือสินค้าและเพื่อพร่องน้ำจากเขื่อน[2]


c.ด้านการให้คุณค่า (value): การรับรู้และความรู้นำมาสู่การให้คุณค่าต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ทำให้ภัยพิบัติธรรมชาติหรือความแปรปรวนของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศมีผลในทางวัฒนธรรม เช่น ส่งผลต่อการสูญเสียอัตลัษณ์และความหมายทางวัฒนธรรม หรือภัยพิบัติธรรมชาติอาจถูกมองว่าเกิดจากการละเมิดอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นก็ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่าสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศถูกให้คุณค่าบนฐานของสิ่งใด เช่น บนฐานของความเชื่อ/จริยธรรมในทางศาสนา หรือบนฐานของความรู้แบบวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการทำความเข้าใจภัยพิบัติธรรมชาติ

d. ด้านการตอบสนอง/โต้ตอบ (response) :  ตัวแปรทางวัฒนธรรม/ความแตกต่างทางวัฒนธรรม รวมทั้ง perception, knowledge, และ value ที่กล่าวมา มีผลต่อการตัดสินใจ การปรับตัว การโต้ตอบต่อภัยพิบัติธรรมชาติและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ  

3) การให้ความสำคัญกับการศึกษาคนชายขอบ คนที่ไร้อำนาจ หรือคนที่ไร้เสียง (แต่ไม่ได้จำกัดว่ามานุษยวิทยาจะต้องศึกษาเฉพาะแต่คนกลุ่มนี้เท่านั้น) ในประเด็นด้านภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change มานุษยวิทยาค่อนข้างให้ความสำคัญผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่ได้รับเดือดร้อนก่อนคนกลุ่มอื่น ได้รับความเดือดร้อนรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น แต่กลับได้รับความช่วยเหลือหรือการใส่ใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ทั้งนี้ นักมานุษยวิทยาใช้ ethnographic fieldwork และ มิติทางวัฒนธรรมในการทำความเข้าใจผลกระทบและการตัดสินใจ การรับมือ การแก้ปัญหา และการปรับตัวของคนกลุ่มนี้

 

ลักษณะเฉพาะของภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change กับประเด็นศึกษาในทางมานุษยวิทยา
 

คุณลักษณะทางมานุษยวิทยาที่กล่าวมานี้ได้ถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change ไม่ว่าจะเป็น

- ความรุนแรงของสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

- การมีระดับของผลกระทบที่หลากหลาย ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ชุมชน ภูมินิเวศ ภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก

- การมีปัจจัยเงื่อนไขที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายส่วนและหลายระดับ และแต่ละส่วนต่างสัมพันธ์/ส่งผลกระทบถึงกัน ในลักษณะที่เป็น global fluctuations and interconnections  ไม่ว่าจะเป็น แหล่งทุนช่วยเหลือหรือองค์กรในการบรรเทาภัยพิบัติในระดับต่างๆ การผลิตความรู้และการศึกษาวิจัย กฎเกณฑ์/ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง การเมืองระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมฯลฯ สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การศึกษาในแบบที่เรียกว่า multisited ethnography ที่จะช่วยให้เข้าใจภัยพิบัติและ climate change ครอบคลุมในทุกระดับ นอกเหนือจากการศึกษาเฉพาะแต่ในระดับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ด้วยลักษณะเฉพาะเหล่านี้เองของภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change นำมาสู่ประเด็นที่งานทางมานุษยวิทยาให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งจะปรากฏในหลายมิติ อาทิ

- ระบอบของการกำกับดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีผลต่อความรุนแรงของภัยพิบัติและต่อความเปราะบางหรือต่อความสามารถในการปรับตัวของผู้ได้รับผลกระทบ เพราะระบอบคือสิ่งที่กำหนดว่าจะจัดสรรทรัพยากรให้คนกลุ่มต่างๆ อย่างไร หากการจัดสรรแจกจ่ายเป็นธรรมก็จะไม่ทำให้เกิดกระบวนการเป็นชายขอบต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อันจะทำให้พวกเขามีความอ่อนแอหรือเปราะบางกว่ากลุ่มอื่นในยามที่เกิดภัยพิบัติ

- เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันอำนาจกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอาจเปลี่ยนแปลงไปได้หลายลักษณะ กล่าวคือ

o ในด้านหนึ่งการเกิดขึ้นของภัยพิบัติกลับยิ่งทำให้โครงสร้างและสถาบันอำนาจเดิมมีความชอบธรรมและเข้มแข็งมากขึ้นจากการเข้ามาทำหน้าที่จัดการบริหารภัยพิบัติและแจกจ่ายความช่วยเหลือ ผู้มีอำนาจสามารถใช้ภัยพิบัติเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจเด็ดขาด นอกจากนั้น บทบาทเหล่านี้มักสอดคล้องกับระบบคุณค่าเดิมของสังคมและผลิตซ้ำระบบคุณค่านั้นไปในตัว อาทิเช่น ระบบคุณค่าแบบพ่อปกครองลูก นำมาสู่การแก้ปัญหาภัยแล้งที่ทหารเข้ามามีบทบาทเป็นคุณพ่อผู้หวังดีมาแจกจ่ายน้ำหรือขุดบ่อน้ำให้ชาวบ้าน รวมทั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน/ท้องถิ่นกับรัฐส่วนกลางกระชับมากขึ้นผ่านทางความช่วยเหลือ หรือการที่ชุมชน/ท้องถิ่นต้องพึ่งพารัฐส่วนกลางมากขึ้น

o ในทางตรงกันข้ามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ทำให้ศูนย์กลาง/โครงสร้างอำนาจเดิมอ่อนแอลงและถูกท้าทาย เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้นำซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง และกลุ่มเหล่านี้ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดสรรความช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ การวางแผนร่วมกับชุมชน และอาจมีบทบาทแซงหน้าภาครัฐ เกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม เปิดพื้นที่และประเด็นการต่อรองใหม่ๆ ปรากฏการณ์นี้เห็นชัดและคึกคักอย่างมากในกรณีมหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ภาคประชาสังคมมีบทบาทอย่างมากในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ในการฟ้องศาลปกครอง และในการคัดค้านแนวทางการจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยพิบัติของรัฐบาลในสมัยนั้น อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าความคึกคักเช่นนี้แทบไม่มีเลยต่อกรณีภัยแล้งและการบริหารจัดการภัยแล้งของรัฐบาลเผด็จการทหารชุดนี้

- การเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจมีความสำคัญภายในกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบเองด้วย กล่าวคือ เพศสภาพ ชาติพันธุ์ วรรณะ/ชนชั้นที่แตกต่างกันในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการกระจายความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทำให้แต่ละคนมีศักยภาพในการรับมือและปรับตัวต่อภัยพิบัติต่างกัน นอกจากนั้นการที่แต่ละคนมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ เทคโนโลยี กำลังแรงงาน เงินทุน ที่แตกต่างกันก็ส่งผลต่อความสามารถในการรับมือและปรับตัวที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ การปรับตัวที่สำเร็จของกลุ่มหนึ่งอาจส่งผลลบต่อกลุ่มที่มีอำนาจหรือทรัพยากรน้อยกว่า อีกทั้งคนกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่าอาจถูกกีดกันหรือถูกมองอย่างเป็นปฏิปักษ์จากสังคมส่วนใหญ่ เนื่องจากภัยพิบัติหรือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทำให้ต้องแย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น (ดังกรณีชาวนาที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดการภัยแล้ง รายละเอียดจะกล่าวถึงข้างหน้า) รวมทั้งสิทธิเหนือทรัพยากรของกลุ่มคนที่อ่อนแอก็มักถูกเพิกถอนภายหลังจากการเกิดภัยพิบัติและนำมาสู่การจัดการพื้นที่แบบใหม่ เนื่องจากคนเหล่านี้มักมีสิทธิที่กำกวมหรือสิทธิแบบไม่เป็นทางการเหนือทรัพยากร  เห็นได้ชัดมากในกรณีเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่หลังเกิดเหตุ การขับไล่ชาวเลออกที่ดินพักพิงโดยนายทุนท้องถิ่นเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาก
 

- การเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับนานาชาติหรือระดับโลกมีผลอย่างมากต่อภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้อตกลงว่าด้วยการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและบรรษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติกับประเทศด้อยพัฒนาหรือระหว่างประเทศเล็กกับประเทศใหญ่ รวมทั้งในกรณีอื่นๆ เช่น กรณีที่อำนาจในการจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ที่ตกอยู่ในมือของประเทศจีนอย่างสิ้นเชิงจากการสร้างเขื่อนจำนวนมาก (ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น)

อีกประเด็นหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาด้านภัยพิบัติธรรมชาติและ climate change ให้ความสนใจก็คือ การเมืองเรื่องความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ในกรณีของทรัพยากรน้ำ  ผู้เชี่ยวชาญก็คือ นักอุทกวิทยา วิศวกรน้ำ ช่างเทคนิคชลประทาน และนักวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบเทคนิคความรู้ในการจัดการน้ำ การสร้างเขื่อน ระบบชลประทาน ประตูน้ำ ฯลฯ ในงานของจักรกริช สังขมณี[3] ชี้ว่า โดยทั่วไปแล้วความรู้ของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักถูกมองว่าเป็น “วิทยาศาสตร์” ปราศจากซึ่งอคติและอุดมการณ์ แต่จากมุมของการเมืองเรื่องความรู้ได้ช่วยชี้ให้เห็นว่าความรู้ของผู้เชี่ยวชาญล้วนแต่วางอยู่บนปทัสถานทางสังคม วิถีปฏิบัติ และกระบวนทัศน์แบบหนึ่ง ไม่ได้แยกขาดจากบริบททางเศรษฐกิจการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง จากการทำ ethnographic fieldwork ชุมชนและวิถีปฏิบัติภายในชุมชนของผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ จักรกริชเสนอว่า “วิทยาศาสตร์การจัดการน้ำ” ก็ถือเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าและความสัมพันธ์ภายในของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นจากมุมมองนี้ ผู้เขียนเสนอว่า เราคงไม่สามารถที่จะไม่ตั้งข้อสังเกตใดๆ กับตัวเลขปริมาตรน้ำสำรองที่บางหน่วยงานประกาศออกมาหรือต่อแนวทางการจัดการภัยแล้งในปัจจุบันของผู้เชี่ยวชาญที่กลายมาเป็นแนวทางการจัดการของรัฐบาลได้


ชาวนาผู้เดือดร้อนที่หายไปจากการรับรู้ของสังคม: มุมมองทางมานุษยวิทยาต่อภัยแล้ง 2558-2559

ในส่วนนี้ผู้เขียนได้นำเอามุมมองทางมานุษยวิทยาข้างต้นมาใช้พิจารณาบางแง่มุมของภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นภัยแล้งที่มีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ  

ประการแรก ภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของภัย/ภาวะความแปรปรวนของธรรมชาติที่เกิดจากเอลนิโญ่เท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นบนเงื่อนของระบอบในการจัดการ จัดสรร แจกจ่ายน้ำ หรือ  water regime ที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นระบอบที่น้ำทั้งหมดถูกจัดการโดยรัฐ/กรมชลประทาน  ผ่านทางการทำงานของความรู้และผู้เชี่ยวชาญ โดยระบอบนี้ได้ทำให้เกษตรกรกลายมามีสถานะเป็นเพียง “ผู้ใช้น้ำ” ที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการน้ำหรือในการตัดสินใจ ดังนั้น  water regime จึงมีส่วนกำหนดระดับความเดือดร้อนจากภัยแล้งที่มีต่อคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

ประการที่สอง ภัยแล้งในครั้งนี้แม้จะรุนแรงแค่ไหนก็ตามก็มีลักษณะเฉพาะตรงที่ว่าไม่ได้เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรวดเร็วอย่างกรณีน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ซึ่งสังคมจะสามารถมองเห็น “เหยื่อ” หรือผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนที่ชัดเจน และมีการระดมความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์และเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนกันอย่างขนานใหญ่ ในขณะที่ภัยแล้งของไทยเกิดขึ้นแบบสั่งสม ซึมลึก กินระยะเวลายาวนานหลายเดือน อีกทั้งภัยแล้งของไทยก็ยังมีลักษณะที่แตกต่างไปจากภัยแล้ง (drought) ในทวีปแอฟริกา ที่เชื่อมโยงกับกระบวนการกลายเป็นทะเลทราย (desertification) ที่นำมาสู่ภาวะความอดอยากขาดอาหาร (famine) ที่มีเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจน ตรงกันข้าม กรณีของไทยกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดจากภัยแล้งตอนนี้ ซึ่งก็คือชาวนา/เกษตรกร (ที่ไม่สามารถทำการผลิตได้อย่างที่เคยเป็นมาเพราะถูกห้ามใช้น้ำ) กลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หรือเป็นผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา (อาจมีการส่งเสริมการปลูกพืชน้ำน้อย แจกเมล็ดพันธุ์ แต่วิธีการนี้ก็มีปัญหาในตัวเองและไม่ใช่การเยียวยา ดังจะได้กล่าวถึงอีกครั้งข้างหน้า)

ด้วยระยะเวลาการเกิดขึ้นของภาวะภัยแล้งที่สั่งสมยาวนาน รวมทั้งการที่สถานการณ์ได้พ้นจุดสูงสุดของความขัดแย้งในการแย่งน้ำมาแล้ว  ประกอบกับการที่ชาวนาเองก็ไม่อยู่เฉย ได้ปรับตัว ทำงาน หารายได้ทางอื่นเพื่อความอยู่รอด ดิ้นรนกันไปตามอัตภาพ ก็เลยยิ่งทำให้ภาพของความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งไม่ชัดเจน ขณะที่ความช่วยเหลือต่างๆ ต่อชาวนาที่ต้องหยุดทำนาก็มีน้อยมาก ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงจุดสูงสุดของความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำ ก็คงต้องถามต่อไปว่าเราผ่านจุดนั้นมาได้ยังไง เป็นความสำเร็จของรัฐบาล คสช.ที่สามารถประชาสัมพันธ์ในการลดพื้นที่นาปรังอย่างนั้นหรือ หรือเกิดจากการเอาทหารไปลงพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ตามคูคลองซอยต่างๆ เพื่อป้องกันชาวนาดึงน้ำเข้านากันแน่  หรือเกิดจากการปล่อยให้ชาวนาต้องเผชิญกับความเสี่ยงแต่เพียงลำพังหากยังดื้อดึงทำนา ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ก็คงไม่เสี่ยงและก็ต้องหยุดทำนาไปโดยปริยาย 

นอกจากนั้น การที่ภัยแล้งในครั้งนี้ถูกนิยามจากรัฐในฐานะที่เป็น “ภัยของชาติ” ดังนั้น ชาวนาที่พยายามดิ้นรนจะทำนาหรือเอาน้ำเข้านาเพื่อให้ต้นข้าวที่ปลูกไปแล้วรอดชีวิต จึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่กำลังทำให้ภัยของชาตินั้นรุนแรงมากขึ้น จะทำให้ “พวกเรา” (โดยเฉพาะคนในเขตเมือง) ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคในหน้าแล้งนี้ อีกทั้งพวกเขายังถูกมองว่าเป็นพวกชาวนาประเภท “โง่-จน-เจ็บ” ที่ไม่รู้จักปรับตัวมาปลูกพืชน้ำน้อย หรือไม่ก็เป็นชาวนาละโมบที่ไม่รู้จักเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเศรษฐกิจพึ่งตนเอง ดันทุรังที่จะปลูกแต่ข้าวนาปรังที่ต้นทุนสูง พึ่งพิงตลาด และใช้น้ำมาก เป็นต้น  
ประการที่สาม ภัยแล้งในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ชี้ให้เราเห็นว่าใครคือกลุ่มคนที่เปราะบางหรือได้รับความยากลำบากมากที่สุดในตอนนี้เท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนที่เปราะบางนี้มีชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างความไม่เป็นธรรมในแทบทุกมิติ ชาวนา/เกษตรไม่ได้เดือดร้อนมากเฉพาะแต่ภัยแล้งครั้งนี้ ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก็เป็นชาวนาอีกเช่นกัน  ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด โดยเฉพาะชาวนาในลุ่มเจ้าพระยา เพราะต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงมีน้ำท่วมขังสูงเป็นระยะนานกว่าในเขตเมืองมาก (เพียงแต่ว่ามหาอุทกภัยปี 2554 มีกลุ่มคนที่เปราะบางกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเข้ามาด้วย นั่นคือ กลุ่มคนจนในเมืองหรือแรงงานรับจ้างระดับล่างในนิคมอุตสาหกรรมตามชานเมืองที่ต้องสูญเสียงาน รายได้ และเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาได้น้อย[4]) สิ่งนี้เชื่อมโยงความไม่เป็นธรรมในมิติอื่นๆ ที่ชาวนา/เกษตรกรต้องเผชิญ เช่น ในโครงสร้างการผลิตและการตลาด การถูกกดทับในทางการเมือง การขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ที่ทำให้พวกเขาถูกผลักไปเป็นคนชายขอบที่ต้องเผชิญกับความลำบากที่สุดมากกว่าคนกลุ่มอื่นทั้งในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาและในช่วงภัยแล้งปัจจุบัน

ประการสุดท้ายที่ผู้เขียนต้องการอภิปรายในที่นี้ก็คือว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมเพิกเฉย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากภัยแล้งในครั้งนี้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทำไมเราถึงปล่อยให้ชาวนาลำบากได้ถึงขนาดนี้ และชาวนาก็กลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่จะต้องถูกปรับตัวอย่างขนานใหญ่ต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่คนกลุ่มอื่นก็ยังมีชีวิตเป็นปกติ เรายังมีน้ำประปาไหลที่บ้าน ยังนั่งเรียน นั่งทำงานในห้องแอร์ได้ ที่สำคัญชาวนายังถูกมองในแง่ลบด้วยซ้ำในกรณีภัยแล้งนี้ ซึ่งการทำความเข้าใจประเด็นนี้คงต้องเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ โดยไม่สามารถจำกัดกรอบการมองไว้แค่เรื่องภัยแล้ง

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตไว้ในที่นี้ก็คือว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องความขัดแย้งทางการเมืองในระดับประเทศ ที่ทำให้สังคมและคนชั้นกลางมีอคติต่อชาวนาส่วนใหญ่ ซึ่งมีภาพว่าเป็นผู้สนับสนุนขั้วการเมืองเดิมที่มีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวนา เช่น นโยบายการรับจำนำข้าว ขณะเดียวกันสังคมและคนชั้นกลางที่มีความศรัทธาในระบอบการเมืองคนดี (เน้นให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง) มากกว่าจะเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตย มักมองพฤติกรรมชาวนาเหล่านี้ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางศีลธรรมที่ตนกำหนด มองชาวนาเหล่านี้ว่าเป็นชาวนาเสื้อแดงบ้าง เป็นชาวนาที่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าจากประชานิยมบ้าง เพราะฉะนั้นความเดือดร้อนของชาวนาจากภัยแล้งจึงไม่อาจเรียกความเห็นอกเห็นใจหรือแม้แต่ความใส่ใจจากชนชั้นกลางได้

ในขณะที่ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ หรือนักอนุรักษ์ก็มีอคติต่อชาวนากลุ่มนี้ ซึ่งเป็นชาวนากลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นอย่างมาก การผลิตแบบกระแสหลักของพวกเขาถูกมองว่าไม่มีความยั่งยืนและทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะใช้สารเคมีมากแล้ว การทำนาแบบนี้ก็ยังผลิตก๊าซมีเทนมาก มี water footprint สูง และข้าวที่ผลิตก็ยังมีอันตรายต่อสุขภาพอีก อีกทั้งยังไม่มีความคุ้มค่าเศรษฐศาสตร์ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการเกษตร ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็มองว่าประเทศไทยควรมีชาวนาให้น้อยลง เพราะเมื่อการทำนามีความเสี่ยงสูง ไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดี ชาวนาก็จะกลายเป็นภาระของประเทศ อนึ่ง ความคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนี้สามารถตั้งคำถามต่อได้อีกมาก เพราะหากการเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่ไม่มีอนาคตจริง เหตุใดบรรษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่จึงมีแต่เติบโตขึ้นทุกขณะ โครงสร้างความไม่เป็นธรรมที่เป็นอยู่ต่างหากที่ไม่เอื้อให้ชาวนาสามารถก่อร่างสร้างตัวได้ นอกจากนั้นการที่ชาวบ้านบางส่วนยังยืนที่จะทำนาอยู่ ก็เป็นเพราะการทำนา (แม้จะเป็นการทำนาปรังแบบแผนใหม่) ได้กลายมาเป็นวิถีชีวิตที่คนบางส่วนไม่สะดวกที่จะละทิ้ง รวมทั้งยังขาดทางเลือกอื่นที่ดีกว่า จึงยังคงทำการผลิตแบบเดิมอยู่

เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านา มีสมาชิกครัวเรือนเกษตรกร/ชาวนาออกนอกภาคเกษตรมากขึ้นทุกที ก็เลยทำให้ดูเสมือนว่าการช่วยเหลือชาวนาไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่ควรทำ ไม่คุ้มค่า (อันนี้ไม่รวมถึงโครงการประเภทศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งหน่วยงานรัฐได้จัดให้มีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้ตอบคำถามความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตจริงของชาวนาส่วนใหญ่ได้) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมในภาวะภัยแล้งตอนนี้จึงไม่มีการเรียกร้องให้ช่วยเหลือชาวนา มากเท่าการเรียกร้องให้ชาวนาเปลี่ยนแปลงตนเอง เช่น  ให้เสียสละงดการทำนาปรัง ให้ไปปลูกพืชน้ำน้อย ซึ่งกรณีพืชน้ำน้อย เงินทุน ทักษะ ประสบการณ์ในการปลูกพืชชนิดใหม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายๆ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในด้านตลาด  หรือไม่ก็บอกให้ชาวนาหาอาชีพอื่น ซึ่งหากชาวนาเข้ามาทำงานในเมือง ก็จะถูกมองจากคนเมืองจากว่าเข้ามาสร้างปัญหาให้เมืองอีก

ทั้งนี้ แนวคิดและอคติที่มีต่อชาวนาเช่นนี้ สอดคล้องกันดีกับแนวทางการจัดการภัยแล้งของรัฐบาล คสช. ปัจจุบัน จึงแทบไม่มีผ่ายใดที่ออกมาตั้งคำถามกับแนวทางดังกล่าว และการไม่ตั้งคำถามนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองของเผด็จการทหารในทุกวันนี้

กล่าวโดยสรุป จากมุมมองทางมานุษยวิทยาช่วยทำให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรม มายาคติ การกดทับ และกระบวนการทำให้เป็นชายขอบต่อชาวนาอย่างไร และสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประเด็นอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับต่างๆ อีกทั้งระเบียบวิธีในทางมานุษยวิทยายังช่วยชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า ชีวิตของชาวนาแต่ละคนหรือแต่ละครัวเรือนนั้นมีความซับซ้อน มีเลือดเนื้อชีวิต มีความยากลำบากที่ต้องเผชิญอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติและclimate change ในปัจจุบัน รวมทั้งช่วยให้เห็นว่าพวกเขามีการดิ้นรน ต่อสู้ ปรับตัวอย่างไร อนึ่ง มุมมองทางมานุษยวิทยามีหน้าที่แก้ไขการลดทอนความจริงที่ผลิตโดยฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา นักสิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ และโดยฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐ เพื่อที่ว่าสังคมไทยจะได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น มีการใส่ใจความทุกข์ยากของกลุ่มคนที่เปราะบางมากขึ้น มีกลไกในการเฉลี่ยทุกข์สุขกันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งมีกลไกที่จะทำให้เสียงของชาวนาสามารถมีส่วนในการตัดสินใจทางนโยบายได้อย่างแท้จริงบนพื้นฐานของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย  

 

เชิงอรรถ

 

 

[1] เนื้อหาในหัวข้อนี้เรียบเรียงจากเอกสารเหล่านี้
      Crate SA (2011). Climate and Culture: anthropology in the era of contemporary climate change. The Annual Review of Anthropology 40: 175-194.

      Komba, Coretha and Edwin Muchapondwa Adaptation to Climate Change by Smallholder Farmers in Tanzania. Environment for Development: Discussion Paper Series. Environment for Development Centers.
     Orlove, Ben and Steven C. Caton (2010). Water Sustainability: Anthropological Approached and Prospect. The Annual Review of Anthropology 39: 401-415.

     Oliver-Smith, Anthony (1996). Anthropological Research on Hazards and Disasters. The Annual Review of Anthropology 25:303-328.

     Roncoli, Carla and Todd Crane and Ben Orlove (2009). Fielding climate change in cultural anthropology. In Craate SA, Nuttall M (eds) Anthropology and climate change: from encounters to actions. Left Coast Press, Walnut Creek, pp 87-115.

[2] ดูรายละเอียดใน รัฐโรจน์ จิตรพนา “แม่น้ำโขง แม่น้ำใคร? คนน้ำโขงตั้งคำถามอำนาจเขื่อนจีน” ใน http://www.citizenthaipbs.net/node/8147  (เผยแพร่เมื่อ 24 มีนาคม 2559)

[3] จักรกริช สังขมณี (2555) ชลกร: ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยความรู้และการจัดการน้ำสมัยใหม่ในประเทศไทย. วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ , 42 (2).

[4] ดูเพิ่มเติมใน สามชาย ศรีสันต์ (2558). คนยากจนในสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม พ.ศ. 2554 ใน วารสารสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 41 (1) มกราคม - มิถุนายน.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net