Skip to main content
sharethis

จะทำให้ความขัดแย้งที่“ปาตานี/ชายแดนใต้” มีความเป็นอารยะได้อย่างไร? คำถามจาก ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ที่คนในต้องช่วยกันขบคิด ถกเถียงและช่วยกันตอบ

 

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสจากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้บรรยายถึงถึงความเป็นอารยะ หรือ Civilising ขอความขัดแย้ง ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าความขัดแย้งหรือการสู้รบนั้นอารยะด้วยหรือ

ดร.โนเบิร์ต บอกว่า เมื่อพูดถึงความมีอารยะ คนก็มักจะนึกถึงชาติตะวันตกหรือการเอาความเป็นตะวันตกมาใส่ในประเทศอื่นๆ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะพูดถึงในที่นี้

4 องค์กระกอบ 2 ปัจจัยผลักดันความเป็นอารยะ

ดร.โนเบิร์ต อธิบายว่า มี 4 องค์กระกอบที่จะทำให้ความขัดแย้งหรือการเมืองให้มีความเป็นอารยะ ได้แก่  

1.การทำให้คนมีเสรีภาพที่เท่าเทียมกันมากขึ้น 2.ความอดทนต่อความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งสัมพันธ์กับความมีเสรีภาพมากขึ้น เพราะถ้าคนมีความอดทนต่อความหลากหลายมากขึ้นได้ก็จะนำไปสู่การมีเสรีภาพมากขึ้นนั่นเอง

3.การมีรัฐบาลที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อนี้ขอละไว้ไม่อธิบาย และ 4.ความเจ็บปวดของมนุษย์ลดลง คือการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหานั่นเอง

ดร.โนเบิร์ต อธิบายต่อไปว่า ปัจจุบันคนมองว่าโลกมีความเป็นอารยะมากขึ้น แต่ถามว่าอะไรคือปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเป็นอารยะมากขึ้น ซึ่งก็พบว่ามีปัจจัยผลักดันอยู่ 2 ข้อ คือ

1.สังคมที่ใช้ปัญญาหรือเหตุผล เพราะเมื่อสังคมใช้เหตุใช้ผล ก็ทำให้การใช้อำนาจในสังคมนั้นมีความชอบธรรม

2.มีกระบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องยอมรับว่าถ้าสังคมมีการเคลื่อนไหวในด้านนี้ก็จะนำไปสู่ความเป็นอารยะมากขึ้น

“เมื่อมีปัจจัยผลักดันก็ต้องมีปัจจัยต่อต้านที่ไม่ให้มีความเป็นอารยะด้วย” เมื่อบรรยายมาถึงตรงนี้ ดร.นอร์เบิร์ต ก็ให้คนในห้องช่วยกันคิดว่ามีอะไรบ้าง ....? (ลองช่วยกันคิดดู)

1. ....

2. ....

3. ....

ฯลฯ

การแก้ไขความขัดแย้งที่มีเกียรติ

จากนั้น ดร.โนเบิร์ต บรรยายต่อไปว่า ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีตัวอย่างมากมายที่มีการทำให้ความขัดแย้งมีความเป็นอารยะมากขึ้น ซึ่งเมื่อประมวลทั้งหมดพบว่ามี 3 ข้อ คือ

ข้อที่ 1.กีฬา ซึ่งดร.นอร์เบิร์ต อธิบายว่า จุดกำเนิดของกีฬามาจากความรุนแรง ยกตัวอย่างเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว มีการแข่งขันที่เป็นที่นิยมมาก คือ เกลดิเอเตอร์ เกม(Gladiator Game) คือให้คน 2 คนมาสู้กันจนตายไปคนหนึ่งถึงจะจบเกม เป็นการต่อสู้เพื่อความบันเทิงของคนดูเท่านั้น แต่การแข่งขันกีฬาในปัจจุบันมีกฎกติกามารยาทเยอะขึ้น

ข้อที่ 2.ความขัดแย้งที่จะมีอารยะได้ต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่

เกียรติ หมายความว่า คู่ขัดแย้งต้องรู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ทุกคนต้องการให้คนมองตัวเองอย่างมีเกียรติ ซึ่งก็จะมีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความมีอารยะเอง

ดังนั้นคู่ขัดแย้งหากคู่ขัดแย้ง ต้องการที่จะได้รับเกียรติก็ต้องพิทักษ์เกียรติของคนอื่นด้วยจึงจะทำให้ได้รับเกียรติกลับมาด้วย ไม่ว่าทั้งต่อตนเอง ต่อประชาชน หรือแม้แต่ต่อพระผู้เป็นเจ้า

การมีเกียรติในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกัน เช่น ในยุโรปเมื่อ 200-3000 ปีที่แล้ว นักรบที่สวมหมวก ถือหอก ขี้ม้าพุ่งใส่กัน การต่อสู้แบบนี้ในสมัยนั้นถือว่ามีเกียรติ แต่การมีเกียรติในปัจจุบันอาจจะหมายถึงการโจมตีเป้าแข็ง ส่วนการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอถือว่าไม่มีเกียรติ

การใช้การเจรจา

การเจรจาทำให้ความขัดแย้งนั้นมีเกียรติขึ้นมาด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันไปถึงระยะหนึ่งก็มีการสูญเสียจำนวนมาก จากนั้นคู่ขัดแย้งก็เริ่มคิดว่า หากต่อสู้ต่อไปการต่อสู้นี้จะนำไปสู่อะไร สุดท้ายก็ต้องเจรจากันอยู่ดี 

“เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายคิดได้อย่างนี้ ก็น่าจะเจรจากันเสียเลย แทนที่จะปล่อยให้มีการสู่เสียกันไปมากกว่านี้ นี่เป็นการใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาแล้ว”

ตัวอย่างเช่น เมื่อ 110 ปีที่แล้ว กรณีทหารเรือญี่ปุ่นโจมตีทหารเรือรัสเซีย ทำให้รัสเซียแค้นมาก จึงรวบรวมกำลังเพื่อจะโจมตีคืน สหรัฐอเมริกาเห็นโอกาสจึงเข้าเป็นคนกลางในการเจรจาซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ยอมที่จะเจรจา เพราะทั้งสองสองฝ่ายก็ประเมินว่าน่าจะชนะยากเพราะมีกำลังพอๆกัน หากสู้รบกันจริงๆ การสูญเสียจะมีมากแน่นอน จึงเข้าร่วมเจรจาสันติภาพ และเป็นการเจรจาสันติภาพที่ประสบความสำเร็จ

การใช้กฎหมาย

การใช้กฎหมายทำให้ความขัดแย้งมีอารยะมากขึ้น โดยมีจุดกำเนิดมาจากกาชาดสากลที่ต้องการให้สงครามมีกฎเกณฑ์มากขึ้น ซึ่งก็คือที่มาของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เป็นกติกาสงคราม หรือ IHL (International Humanitarian Law) นั่นเอง

ข้อที่ 3.การต่อสู้เพื่อเสรีภาพโดยไม่ใช้ความรุนแรงก็สามารถชนะได้ เช่น กรณี มหาตมะ คานธี ในการปลดปล่อยอินเดียจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ หรือ กรณีของลีโอ ตอลสตอย ที่ต่อสู้ด้วยสันติวิธีในรัสเซีย

มาถึงตรงนี้ ดร.โนเบิร์ต ก็ให้คำถามแก่ “คนใน” ว่า แล้วจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความขัดแย้งที่นี่ หมายถึง “ปาตานี/ชายแดนใต้” มีความเป็นอารยะมากขึ้น คนในก็ต้องช่วยกันขบคิด ถกเถียงและช่วยกันตอบแล้วละครับ.........

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net