Skip to main content
sharethis

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่าการรายงานข่าวของสำนักข่าวกระแสหลักในสหราชอาณาจักรในประเด็นเกี่ยวกับชาวมุสลิมและชุมชนชาวมุสลิมในอังกฤษนั้น ไม่มีการนำเสนอมุมมองจากตัวแทนชุมชนมุสลิมมากพอ เรื่องนี้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการเกลียดหรือกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล (Islamophobia)

แผงหนังสือพิมพ์ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภาพในปี 2548 (ที่มา: Wikipedia/แฟ้มภาพ)

หน้าแรกของบทสรุปรายงาน Media, Faith and Security: Protecting freedom of expression in religious context (ที่มา: free-expression.group.cam.ac.uk)

ประชาไท/31 มี.ค. 2559 งานวิจัยดังกล่าวทำการสำรวจในช่วงปี 2558 จนกระทั่งถูกนำมาถกเถียงในที่ประชุมสภาขุนนางเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาพบว่าในประเทศอังกฤษมี "บรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรเพิ่มมากขึ้น" ต่อกลุ่มประชากรชาวมุสลิมซึ่งมีอยู่ 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของประเทศ

นอกจากนี้ รอกแซนน์ ฟาร์แมนฟาร์ไมแอน อธิการศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของเคมบริดจ์กล่าวอีกว่า ความไม่พอใจต่อสื่อกระแสหลักทำให้ชาวมุสลิมในอังกฤษหันไปรับข่าวจากแหล่งข่าวอื่นๆ ที่มาจากประเทศต้นทางของพวกเขาด้วย อย่างไรก็ตามฟาร์แมนฟาร์ไมแอนยังบอกอีกว่าชุมชนชาวมุสลิมจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy)

รายงานเรื่อง "สื่อ, ความศรัทธา และความมั่นคง : การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกภายในบริบททางศาสนา" (Media, Faith and Security: Protecting freedom of expression in religious context) [อ่านบทสรุปของรายงาน] ระบุว่าการที่ชุมชนชาวมุสลิมในอังกฤษมีการแยกส่วนจากค่านิยมทั่วไปและไม่ได้รับการอบรมเรื่องวิธีการทำงานสื่อทำให้พวกเขามีเครื่องมือไม่เพียงพอในการตอบโต้ลักษณะการเล่าข่าวพวกเขาในแง่ลบเพื่อส่งเสริมให้มีการรายงานข่าวที่มีสมดุลมากขึ้น การขาดเครื่องมือดังกล่าวนี้ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อแนวคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ฟาร์แมนฟาร์ไมแอนผู้ที่เป็นหัวหน้าโครงการสื่อของอัลจาซีราในเคมบริดจ์กล่าวว่าหลังจากที่มีเหตุการณ์โจมตีเกิดขึ้นในยุโรปและตะวันออกกลางรวมถึงเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงคนในสำนักงานนิตยสารชาร์ลีเอ็บโดเมื่อเดือน ม.ค. 2558 ในกรุงปารีส และเหตุการณ์อื่นๆ ในช่วงปี 2558 ถึงต้นปี 2559 ชาวมุสลิมก็รู้สึกว่าพวกเขาถูกตัดสินจากสื่อ มีสื่อจำนวนมากที่โยงความศรัทธาในศาสนามุสลิมว่าเท่ากับ "การก่อการร้าย" ชาวมุสลิมยังรู้สึกถึงมีบรรยากาศของความไม่เป็นมิตรอย่างชัดเจนซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตก่อนที่จะลดลงในเวลาต่อมา นอกจากนี้พวกเขายังรู้สึกตกเป็นเป้าและรู้สึกถูกกล่าวหาด้วย

ในรายงานข่าวของอัลจาซีรามีการยกตัวอย่างกรณีที่หนังสือพิมพ์แทบลอยด์อย่าง 'เดอะซัน' อาศัยช่วงที่เกิดเหตุโจมตีในกรุงปารีสเมื่อเดือน พ.ย. 2558 เผยแพร่ภาพของโมฮัมเหม็ด เอมวาซี เพชฌฆาตกลุ่มไอซิสที่มีสัญชาติอังกฤษที่มีฉายาว่าญิฮาดิ จอห์น พร้อมกับพาดหัวข่าวที่ชวนให้รู้สึกแตกตื่น

รายงานการวิจัยเรื่องนี้มีข้อเสนอ 10 ประการในการตอบโต้การรายงานข่าวของสื่อที่ส่งผลทางลบต่อสังคม หนึ่งในข้อเสนอดังกล่าวคือการให้มีตัวแทนชาวมุสลิมที่มีชื่อเสียงร่วมเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสัมพันธ์ในระดับที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอส่งเสริมให้สื่อจ้างงานนักข่าวเป็นคนที่มีส่วนร่วมกับชุมชน ข้อเสนอให้จำกัดนิยามของคำว่า "การทำให้กลายเป็นพวกหัวรุนแรง" (radicalisation) อย่างชัดเจนทั้งในข้อกฎหมายและสำหรับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงสร้างแนวทางคุ้มครองไม่ให้บุคคลถูกหน่วยงานความมั่นคงสืบประวัติแบบมีอคติทางเชื้อชาติหรือศาสนา (agency profiling)

ตาริค มาห์ฮูด อาห์หมัด หรืออาห์หมัดแห่งวิมเบอร์ดัน หนึ่งในสมาชิกสภาขุนนางฝ่ายกิจการภายในด้านยุทธศาสตร์ต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรงกล่าวว่าเขาจะนำผลการวิจัยนี้เสนอกับรัฐมนตรีด้านการอพยพ วัฒนธรรม สื่อ และกีฬา

มิคแดด แวร์ซี ผู้ช่วยเลขาธิการสภามุสลิมแห่งอังกฤษซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักของมุสลิมในอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดกล่าวว่าสื่อและสังคมในวงกว้างควรจะช่วยกันต่อต้านอคติ และบอกว่าสื่ออังกฤษขาดการมีส่วนร่วมและความหลากหลายในสถานีข่าวจะช่วยให้การทำข่าวมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แวร์ซีบอกอีกว่าสื่ออังกฤษยังขาดความเข้าใจเรื่องศาสนาอยู่มากทำให้เกิดการเกลียดหรือกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลเพิ่มมากขึ้น

จากการสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 โดยซิตี้ยูนิเวอร์ซิตี้ลอนดอนพบว่ามีนักข่าวอังกฤษร้อยละ 0.4 เท่านั้นที่เป็นชาวมุสลิมหรือฮินดู มีร้อยละ 31.6 เป็นชาวคริสต์ และร้อยละ 61.1 ระบุว่าตนไม่มีศาสนา ในแง่เชื้อชาติมีร้อยละ 0.2 ที่เป็นคนดำ ร้อยละ 2.5 เป็นชาวเอเชีย และร้อยละ 94 เป็นคอเคเซียน

เรียบเรียงจาก

UK: Poor reporting, media illiteracy fuel Islamophobia, Aljazeera, 29-03-2016 http://www.aljazeera.com/news/2016/03/uk-poor-reporting-media-illiteracy-fuel-islamophobia-160329161759712.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net