Skip to main content
sharethis

พม่าเปิดประชุมสองสภา-ทำพิธีสาบานตนประธานาธิบดีถิ่น จ่อ รอง ปธน.ชาวชิน เฮนรี บันทียู และรอง ปธน. โควตากองทัพ มิตส่วย เปลี่ยนผ่านอำนาจการเมืองจากพรรคกึ่งพลเรือนกึ่งทหาร สู่รัฐบาลพลเรือนจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยนำโดย ออง ซาน ซูจี ขณะที่ ปธน.คนเก่า 'เต็ง เส่ง' ทิ้งทวนลงนามคำสั่งยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินรัฐยะไข่ ที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2555

(จากซ้ายไปขวา) ถิ่นจ่อ แกนนำพรรคเอ็นแอลดีเชือสายมอญ-พม่า ประธานาธิบดีพม่าที่เป็นพลเรือนคนแรกในรอบ 54 ปี มิตส่วย อดีตแม่ทัพภาคย่างกุ้งในยุคสลายการชุมนุมพระสงฆ์หรือ "ปฏิวัติชายจีวร" ปี 2550 เป็นรองประธานาธิบดีพม่าคนที่ 1 และ เฮนรี บันทียู จากพรรคเอ็นแอลดี สมาชิกสภาชนชาติ จากรัฐชิน เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2 (ที่มาของภาพประกอบ: Myanmar Now และ Mizzima)

 

 

พิธีสาบานตนประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า ที่รัฐสภา กรุงเนปิดอว์ (ที่มา: Twitter/Myanmar Time)

ประชาไท/30 มี.ค. 2559 เช้าวันนี้ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า มีการเปิดประชุมร่วมกันสองสภา เพื่อทำพิธีสาบานตนของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีคนใหม่ ได้แก่ ถิ่นจ่อ ประธานาธิบดี ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎรพม่า มิตส่วย รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยสมาชิกรัฐสภาโควตากองทัพพม่า และเฮนรี บัน ทียู รองประธานาธิบดีคนที่ 2 ถูกเสนอชื่อโดยสภาชนชาติ

ทั้งนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งกำลังจะหมดวาระลงในวันนี้ (30 มี.ค.) นั้น เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) ได้ออกคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกันของพม่า หลังจากเกิดจลาจลระหว่างชาวโรฮิงญา และชาวยะไข่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2555

 

ประวัติถิ่นจ่อ - ประธานาธิบดีคนวงในพรรคเอ็นแอลดี

สำหรับถิ่นจ่อ ประธานาธิบดีพม่าจากพลเรือนคนแรกในรอบ 54 ปีนั้น เกิดเมื่อ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ในครอบครัวชาวมอญ-พม่า ที่กุงจังกน ภาคย่างกุ้ง หลังจบสถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2505 ในปี พ.ศ. 2511 ได้เรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สถาบันเดิมและสอนหนังสือด้วย จากนั้นไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอนในปี พ.ศ. 2514 ถึง 2515

ในปี 2523 - 2535 เป็นเจ้าหน้าที่กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศพม่า ในปี พ.ศ. 2530 ได้เรียนด้านการบริหารที่ วิทยาลัยการบริหารศาสตร์ อาร์เธอร์ ดี ลิตเติล ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 ได้ลาออกจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศถิ่นจ่อ ถือเป็นคนวงในของพรรคเอ็นแอลดี โดยบิดาของเขาคือ มิงตุ๊หวุ่น (Min Thu Wun) เป็นนักเขียนและนักกวีเชื้อสายมอญ-พม่าคนสำคัญ ในยุคเรียกร้องเอกราช เขาเข้าร่วมกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ในนาม "Khit-San" หรือ "ทดลองยุคสมัย" และมีผลงานเขียนด้านวรรณกรรมทดลองหลายเรื่อง โดย มิงตุ๊หวุ่น ชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ส่วนตัว ถิ่นจ่อ เองก็มีผลงานด้านวรรณกรรมเช่นกัน โดยเขาใช้นามปากกาว่า "ดะละบั่น" ซึ่งนำมาจากชื่อของนักรบมอญคนสำคัญในอดีต

ขณะที่พ่อภรรยาของถิ่นจ่อ คือ ละวิน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี และเคยมีตำแหน่งเป็นเลขานุการพรรคและเหรัญญิกพรรค โดยทั้งมิงตุ๊หวุ่น และละวิน เสียชีวิตแล้ว ส่วนภรรยาของถิ่นจ่อ คือ ซูซูละวิน เป็น ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี ในการเลือกตั้งเขตตง-ควะ ภาคย่างกุ้ง ในการเลือกตั้งซ่อมเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สำหรับเส้นทางการทำงานการเมืองของถิ่น จ่อ นั้น หลังจากจบการศึกษาได้กลับมารับราชการที่พม่านั้น ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพื่อเข้าร่วมพรรคเอ็นแอลดี

ในส่วนที่มีการนำเสนอข่าวว่าถิ่น จ่อ เป็นคนขับรถของออง ซาน ซูจี นั้น เนื่องจากเขาเคยขับรถให้ออง ซาน ซูจี ในวันที่ออง ซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัวออกจากบ้านพักเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2553 เท่านั้น

ทั้งนี้ถิ่น จ่อมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารของมูลนิธิดอ ขิ่นจี ตั้งชื่อตามชื่อของมารดา ออง ซาน ซูจี เป็นมูลนิธิที่ทำงานด้านสาธารณสุขและการศึกษาในพม่าด้วย

สองรองประธานาธิบดี หนึ่ง จากสายทหาร หนึ่ง จากกลุ่มชาติพันธุ์จากรัฐฉิ่น

สำหรับ มิตส่วย รองประธานาธิบดีคนที่ 1 อายุ 64 ปี มีเชื้อสายมอญ เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคย่างกุ้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงสลายการชุมนุมของพระสงฆ์และประชาชนเมื่อปี 2550 และเคยเป็นมุขมนตรีภาคย่างกุ้งสมัยรัฐบาลเต็ง เส่ง โดยเขาถูกเสนอชื่อโดยสมาชิกสภาโควตากองทัพ

สำหรับ เฮนรี บัน ทียู รองประธานาธิบดีคนที่ 2 อายุ 57 ปี เป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชิน นับถือศาสนาคริสต์ โดยเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาชนชาติ จากรัฐชิน และถูกเสนอชื่อโดยสภาชนชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภาสูงของพม่า

 

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญพม่าปิดทาง "ออง ซาน ซูจี" จึงขออยู่เหนือประธานาธิบดี

ผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี ฟังการปราศรัยหาเสียงที่หน้าสถานีรถไฟย่างกุ้ง เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2558 (ที่มา: ประชาไท)

(ซ้าย) ทหารพม่าระหว่างสวนสนาม เนื่องในวันกองทัพพม่าปีที่ 71 (ขวา) พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.กองทัพพม่า  (ที่มา: The Global New Light of Myanmar, 28 March 2016)

ทั้งนี้แม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2558 ถล่มทลาย แต่เนื่องจากในรัฐธรรมนูญปี 2551 ของพม่า มีบทบัญญัติที่ทำให้ออง ซาน ซูจี ขาดคุณสมบัติไม่สามารถเป็นรองประธานาธิบดี และประธานาธิบดี เนื่องจากสมรสกับชาวต่างชาติ และมีบุตรเป็นชาวต่างชาติ ขณะเดียวกัน แม้ในขณะนี้พรรคเอ็นแอลดีจะมีที่นั่งในสภาเกินร้อยละ 66 หรือ 2 ใน 3 ของทั้ง 2 สภา แต่ก็ยังไม่พอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียงสนับสนุนเกินร้อยละ 75 หรือเกิน 3 ใน 4 ของสภา หรือต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทัพที่มีที่นั่งอยู่ร้อยละ 25 ในสภา

โดยก่อนหน้าวันเลือกตั้งทั่วไป ออง ซาน ซูจี เคยแถลงต่อสื่อมวลชนว่า "จะอยู่เหนือประธานาธิบดี" เมื่อมีผู้ถามว่า "ทำอย่างไร" ออง ซาน ซูจี ตอบว่า "ดิฉันมีแผนก็แล้วกัน" โดยในเวลานั้นออง ซาน ซูจี กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติอะไรเกี่ยวกับเรื่อง "อยู่เหนือประธานาธิบดี" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ผบ.กองทัพพม่าขอเล่นบทผู้พิทักษ์รัฐในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ขณะที่ก่อนหน้าวันสาบานตนของประธาธิบดีนั้น เมื่อวันที่ 2ึ7 มีนาคม 2559 ในวันกองทัพพม่าปีที่ 71 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.กองทัพพม่า ยืนยันว่ากองทัพจะยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ได้กล่าวเตือนว่าเมื่อชาติขาดนิติธรรม-กฎเกณฑ์ และการมีอยู่ของกลุ่มติดอาวุธ จะเกิดภาวะประชาธิปไตยโกลาหล กองทัพพม่าจะร่วมมือกับรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างพม่าที่เป็นประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง เล่นบทค้ำจุนและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้ กองทัพพม่ายังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยร้อยละ 25 ของสมาชิกสภาทุกระดับมาจากการแต่งตั้งของกองทัพพม่า สมาชิกรัฐสภาจากกองทัพสามารถเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ 1 ตำแหน่ง ขณะที่กระทรวงสำคัญได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน จะถูกเสนอชื่อโดย ผบ.กองทัพพม่า นอกจากนี้โครงสร้างอำนาจสำคัญคือสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจแนะนำรัฐบาลหลายด้าน กองทัพยังคงสัดส่วนของที่นั่งมากกว่ารัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net