Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เมื่อได้ผลิกอ่าน 'ร่างรัฐธรรมนูญ' ฉบับล่าสุดที่จะนำไปลงประชามติ ก็เศร้ากับอนาคตของ 'ประเทศไทย' ที่คงต้อง 'ขัดแย้ง' กันไปอีกหลายปี

หากไม่พูดซ้ำถึงเรื่องที่มาและกระบวนการ เนื้อหา 'ร่างรัฐธรรมนูญ' ฉบับนี้ก็มีปัญหาตั้งแต่อารัมภบทในหน้าแรกเสียแล้ว

ผู้ร่างบรรจุอารัมภบทโดยกล่าวถึงการทำรัฐประหารในประเทศไทยเพื่อ "จัดระเบียบ" ประชาธิปไตย ประหนึ่งสามารถใช้กำลังจัดเรียงวัตถุสิ่งของให้เข้าที่

ทั้งที่ 'ประชาธิปไตย' เป็นผลจากประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ซึ่งไม่มีใครไป "จัดระเบียบ" ได้

แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศที่เอื้อให้ประชาชนเรียนรู้จากประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดของตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองตนเองที่ต้องเติบโต ผิดพลาด และสำเร็จไปตามกาลเวลา

เมื่อผู้ร่างเข้าใจผิดตั้งแต่อารัมภบทหน้าแรก จึงไม่แปลกใจที่ 'ร่างรัฐธรรมนูญ' ทั้งฉบับจะเต็มไปด้วยความคิดที่ปิดกั้นและตัดตอนการเรียนรู้ของประชาชน ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง

ต้นทาง - 'ร่างรัฐธรรมนูญ' ทำให้การเลือกตั้งไม่มีความแน่นอน เพราะเปิดช่องรองรับเหตุจำเป็นให้เลื่อนเลือกตั้งได้อย่างไม่จำกัดเวลาจนกว่าเหตุจำเป็นจะสิ้นสุด หากประชาชนออกไปเลือกตั้ง ก็ใช่ว่าจะได้นับคะแนน

กลางทาง - ถึงจะได้เลือกตั้ง แต่ 'ร่างรัฐธรรมนูญ' ก็ทำลายความเชื่อมโยงระหว่าง 'ประชาชน' กับ 'ผู้แทน' ทางการเมือง ทั้งการออกแบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน การแต่งตั้ง ส.ว. หรือการเปิดช่องให้ 'นายกรัฐมนตรี' ไม่ต้องมาจากการยอมรับของประชาชน

ปลายทาง - แม้ได้เลือกผู้แทนมาดำรงตำแหน่งแล้ว แต่ 'ร่างรัฐธรรมนูญ' ตัดโอกาสไม่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเรื่องในทางการเมือง โดยสร้างกลไก 'มาตรฐานจริยธรรม' ที่ให้องค์กรอิสระและศาลสามารถนำมาบังคับจัดการกับนักการเมืองให้พ้นตำแหน่งแทนที่จะให้ประชาชนได้มีโอกาสตัดสินใจว่าจะเลือกคนเหล่านี้ให้ดำรงตำแหน่งต่อหรือไม่ แม่เรื่องจริยธรรมเหล่านี้อาจไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนเหมือนประเด็นความถูกผิดในทางกฎหมายก็ตาม

ซ้อนเข้าไปกับปัญหาเหล่านี้ คือ การฝังรากของระบอบอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนที่ครอบกลไกการปกครองอีกชั้น ไม่ว่าจะเป็น คสช. ที่ยังคงมีอำนาจต่อไปไม่ว่าผ่านตนเองก่อนมี ครม. หรือ ผ่านอำนาจและคำส่ังที่สร้างไว้ให้มีผลหลังมี ครม. ได้ หรือ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเขียนกว้างให้ตีความอำนาจองค์กรอื่นได้หมด และอำนาจที่อ้างนาม "ปฏิรูป" ให้ ส.ว. แต่งตั้งกำหนดทิศทางกฎหมายที่พรรคการเมืองและประชาชนอาจไม่ได้เห็นพ้องด้วย

แน่นอนว่าเมื่อ 'ร่างรัฐธรรมนูญ' ออกแบบกลไกมากดประชาชนไว้ ผู้ร่างก็ต้องป้องกันไม่ให้ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ได้โดยง่าย จึงสร้างกลไกประชามติและศาลรัฐธรรมนูญมาเพิ่มความลำบากในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่กดประชาชนไว้อีกชั้น

สิ่งที่ผู้ร่างไม่เข้าใจก็คือ ความพยายามใด ๆ ที่จะจัดการให้นักการเมืองมีคุณภาพ ต้องเกิดจากประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดร่วมกันของประชาชน แต่หากผู้ร่างมุ่งจัดการนักการเมืองโดยสร้างกลไกที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนเสียแล้ว ก็คงไม่น่าแปลกใจหากประชาชนจะยังคงเลือกที่จะทนกับนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพ เพื่อแลกกับการไม่ต้องอยู่ภายใต้กลไกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแคสิ่งที่เขียนให้เห็นไว้ใน 'ร่างรัฐธรรมนูญ' แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะยังมีกลไกกดทับตัดตอนประชาชนอื่นใดอีกที่อาจปรากฏมาในรูปแบบ คำสั่งของ คสช. หรือ กฎหมาย เอกสาร นโยบาย และการต่อสู้กันแย่งชิงอำนาจที่จะปรากฏตามมาในบรรยากาศการปกครองที่ฝืนธรรมชาติและสุมเชื้อความขัดแย้งตลอดอีกหลายปีที่จะมาถึงนี้.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net