Skip to main content
sharethis
นักกิจกรรมสามจังหวัดชายแดนใต้ จัดงานดนตรี กวี ศิลป์ เพื่อส่งสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่หลากหลาย ส่งเสริมความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหัวใจของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งยังเพื่อลดความตรึงเครียดของผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้ง และมุ่งสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับดนตรี และศิลปะ ซึ่งมักถูกมองว่า ขัดกับหลักศาสนา 
 
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 59 กลุ่มสายบุรีลุคเกอร์และภาคี ร่วมกันจัดงาน เดอะ เครา ไนท์ ดนตรี กวี ศิลป์ ตอน รื้อ ถอน สร้าง ณ ร้านกาแฟ อินตออัฟ ถ.ปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี ในงานมีการแสดงงานศิลปะ โดย เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ การอ่านกวีโดย ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ ชาวนราธิวาส  และการแสดงดนตรีโดยนักดนตรีมือสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ บางส่วนเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ ทั้งนักกิจกรรมชาวมลายู ชาวไทยพุทธ และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น ผู้เข้าชมมีทั้งนักศึกษา ครอบครัว นักกิจกรรม และบุคคลทั่วไป หลากหลายเชื้อชาติ และศาสนา กว่า 300 คน ทำให้ร้านกาแฟอินตออัฟดูเล็กลงไปถนัดตา   
 
จุดเด่นของงาน มิใช่การแสดงที่เลิศเลอ หากเป็นเรื่องเล่าที่สื่อออกมาผ่านการแสดง นักร้องแต่ละคนต่างเล่าถึงความหมายของเพลงที่ตนเลือกมา และจุดมุ่งหมายว่า เขาต้องการสื่ออะไรถึงสังคม เช่น รักชาติ สุวรรณ์ แกนนำกลุ่มชาวไทยพุทธเพื่อสันติภาพ เลือกเพลงเดือนเพ็ญมาขับร้อง เพื่อสื่อถึงนักรบเพื่อเอกราชชาวมลายูที่อาจต้องหลบออกนอกประเทศไทยไป ไม่มีโอกาสกลับบ้าน หากปาตานี หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีสันติภาพ 
 
นอกจากนี้ ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ชาวนราธิวาส ได้อ่านบทกวีชื่อ “ฉันมองเห็นตัวฉัน” ซึ่งพูดถึงการทบทวนความคิด ความเชื่อ ของตนเอง ไม่หลงไปตามกระแสชาตินิยม หรือสิ่งที่ถูกสอนสั่งมาในโรงเรียน และการยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง มิใช่หวังแต่จะสำเร็จในเป้าหมายอย่างเดียว
 
อ่านบทสัมภาษณ์ อานัส พงค์ประเสริญ แกนนำในการจัดงานด้านล่าง
 

ภาพเกือบทั้งหมด โดย D-Sulaiman Waskan ภาพบางส่วนโดย Warakorn Naewbanthat และ ทวีพร คุ้มเมธา

 

บรรยากาศงาน The Crown Night ณ ร้าน In_t_af Cafe & Gallery ภาพโดย D-Sulaiman Waskan

 

ผลงานภาพวาดโดยเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ภาพโดย D-Sulaiman Waskan

งานภาพวาดชุดเรือกอและ โดยเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ภาพถ่ายโดย ภาพโดย D-Sulaiman Waskan

 

ณายิบ อาแวบือซา พูดถึงที่มาของงาน และโชว์เดี่ยวกีตาร์เพลง Donna Donna และ Canon ภาพโดย D-Sulaiman Waskan

 

ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ชาวนราธิวาส อ่านบทกวี 'ฉันมองเห็นตัวฉัน' ภาพโดย Warakorn Naewbanthat

 

ตัวแทนกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ร้องเพลง 'ก่อน' และ 'ที่ว่าง' ภาพโดย D-Sulaiman Waskan

 

รักชาติ สุวรรณ์ (ขวาสุด) แกนนำกลุ่มชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ร้องเพลง เดือนเพ็ญ ภาพโดย D-Sulaiman Waskan

 

อันธิฌา แสงชัย และ ดาราณี ทองศิริ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้ความหลากหลายทางเพศ และเจ้าของร้านหนังสือบูคู ปัตตานี แสดงเพลง บทเพลงของสามัญชน และ Falling Slowly ภาพโดย ทวีพร คุ้มเมธา 

 

วง Kambing ร้องเพลงภาษามลายูที่แต่งให้ปอเนาะญีฮาดวิทยา ภาพโดย D-Sulaiman Waskan

 

อานัส พงค์ประเสริฐ (กลาง) ภาพโดย D-Sulaiman Waskan
 
ประชาไทคุยกับ อานัส พงค์ประเสริฐ แกนนำกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการจัดงาน ถึงที่มาของาน
 
ทำไมต้อง รื้อ ถอน สร้าง ความเข้าใจเกี่ยวกับ ดนตรี กวี ศิลป์ มันมีปัญหาอะไร?
 
สำหรับคนมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดนตรีถือว่าเป็นของแปลก ใครจับเครื่องดนตรี เล่นดนตรี จะถูกมองแง่ลบทันที เพราะถูกมองอย่างเหมาะรวมว่า ผิดหลักศาสนาอิสลาม และเป็นเรื่องไร้สาระ ทั้งๆ ที่จริงแล้วจะผิดหลักศาสนาหรือไม่นั้นขึ้นกับหลายๆ อย่าง เช่น เป็นการตีความของสำนักศาสนาไหน และลักษณะเนื้อหาของดนตรีและศิลปะนั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะยั่วยวน มอมเมา ทำให้เพลิดเพลินจนขาดสติหรือไม่ ถ้าเป็นเพลงที่มีลักษณะยั่วยวน ก็มักชัดเจนว่า ฮารอม หรือผิดหลักศาสนาอิสลาม แต่จริงๆ แล้วดนตรีมีหลากหลายแบบ มีทั้งที่ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจ ทำให้เกิดความรู้สึกแง่บวก หรือใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เราจึงอยากรื้อความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีของคนที่นี่ ให้เห็นว่า ดนตรีและศิลปะก็มีเนื้อหาสาระ สามารถนำมาใช้ถ่ายทอดความคิดต่างๆ ได้ ภายใต้ขอบเขตของศาสนา 
 
นอกจากนี้ หลายครั้ง การแสดงดนตรีก็ถูกมองอย่างตีตราว่า เกี่ยวพันกับโลกีย์ เช่น ผับ บาร์ ดนตรี และของมึนเมา แต่จริงๆ ดนตรี และสุทนรียะมันอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของเราตลอด ขนาดอ่านกุลอ่านยังต้องอ่านให้ไพเราะเลย แล้วแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะแอนตี้ดนตรีในที่สาธารณะ ผมก็เชื่อว่า พวกเขาล้วนเสพดนตรี ละคร ดูรายการ The Voice ในพื้นที่ส่วนตัวทั้งนั้น 
 
งานศิลปะก็เช่นกัน คนที่นี่ค่อนข้างปิดกั้นกับเรื่องศิลปะ ด้วยบางครั้งมีข้อจำกัดทางศาสนาว่า วาดแบบนี้ไม่ได้ วาดแบบนั้นไม่ได้ แต่ก็เช่นเดียวกับดนตรี มันมีศิลปะอีกหลากหลายแบบที่ไม่ผิดหลักศาสนา มีประโยชน์ สร้างสรรค์ และจรรโลงใจ 
 
นอกจากนี้ เราอยากเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับคนในพื้นที่ ที่ตรงนี้คุกรุ่นด้วยความรุนแรงและความขัดแย้งมานาน สุนทรียะจากงานศิลปะก็ช่วยให้ผู้คนผ่อนคลายจากความตรึงเครียด และเรายังอยากสื่อไปถึงคนนอกด้วยว่า คนที่มีเคราแบบเราๆ ที่คนนอกมักรู้สึกกลัว มีอคติว่าพวกเรารุนแรง ก็สามารถสร้างงานศิลปะที่สวยงามได้ 
 
หลังการจัดงาน เจอกระแสต่อต้าน หรือ คำวิจารณ์แง่ลบบ้างหรือไม่ 
 
ก็เจออยู่ เราเตรียมใจไว้แล้ว โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มาร่วมงานก็จะมองงานเราอย่างอคติ เขามีอคติตั้งแต่เห็นเครื่องดนตรีแล้ว หรือไปมองที่ข้อผิดพลาด ข้อที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น คนดูอาจเฮฮา โห่เห้ว ไปหน่อย แต่ก็ควรเข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติ ขนาดเวลาบรรยายธรรมที่ถูกใจ ก็ยังมีการแสดงอาการตามอารมณ์เลย เราก็เข้าใจว่า มันเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ที่คนยังไม่ค่อยคุ้น เขาก็จะปิดกั้นไว้ก่อนโดยการไม่ไปร่วม ไม่ไปยุ่งด้วยเลย เราก็ต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจเรื่องนี้อย่างใจเย็น
 
อย่างไรก็ตาม มีคนมาร่วมงานเกินเป้ามากๆ แสดงให้เห็นว่าคนมาร่วมงานรู้สึกแฮปปี้กับงานของเรา เพราะรูปแบบงานไม่ใช่คอนเสิร์ตเพื่อความบันเทิงรื่นเริง แต่เราใช้ดนตรีเล่าเรื่องราวความคิดของเรามากกว่า 
 
การที่ผู้คนมีความเข้าใจใหม่ ต่อดนตรี กวี ศิลป์ มีประโยชน์อะไรต่อพื้นที่สามจังหวัด
 
ดนตรี เป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ทำร้ายใคร มันเป็นเครื่องมือเอามาสะท้อนบางอย่างในสังคมได้ หรือเพื่อสร้างความสุนทรีย์หรือผ่อนคลายก็ได้ นอกจากนี้ดนตรีเป็นภาษาสากล ทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม สามารถเสพดนตรีได้ ดนตรีจึงเป็นตัวเชื่อมของคนที่หลากหลายในพื้นที่เข้าด้วยกัน 
 
มันเป็นงานสันติภาพหรือเปล่า
 
การที่งานของเรามันทำให้เกิดบรรยากาศดีๆ บรรยากาศที่ผ่อนคลาย และบรรยากาศที่คนหลากหลายกลุ่มมาอยู่ร่วมกัน แสดงดนตรีร่วมกันอย่างนี้ขึ้นมา แม้เราไม่พูดคำว่า “สันติภาพ” เลยสักคำ มันก็คืองานสันติภาพไปโดยปริยายนั่นแหละ การทำงานสันติภาพ โดยไม่พูดคำว่าสันติภาพนั้นมีนัยยะสำคัญในพื้นที่ เพราะสิบปีที่ผ่านมา คำๆ นี้ถูกใช้ทางการเมืองเยอะมาก จนคนจำนวนมากขยาดกับคำนี้ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net