Skip to main content
sharethis

หลังจากเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ประจำปี 2559 ล่าสุด รายงานข่าว 15 อันดับประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก (The 15 Happiest Economies in the World) โดยระบุว่าไทยมีอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อต่ำ คิดเป็นค่า Misery Index เท่ากับ 2.2 ซึ่งหมายถึง มีความทุกข์ยากต่ำ หรือมีความสุขมากที่สุดในโลก เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกัน และต่อมาเมื่อ 19 มี.ค.ที่่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ ยังย้ำประเด็นนี้ หลังจากที่กระทรวงแรงงานออกมาเปิดเผยถูกตัวเลขผู้ว่างงานในระบบบประกันสังคม

โดยตัวเลขการว่างงานที่ต่ำ จากสถิติแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนก.พ.59 มีผู้ว่างงานจํานวน 3.35 แสนคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9)  มีกําลังแรงงานประมาณ 38.42 ล้านคน เป็นผู้มีงานทํา 37.87 ล้านคน และผู้รอฤดูกาล 2.10 แสนคน ซึ่งดูเหมือนว่าไม่สอดคล้องกับอัตราปกติในระบบเศรษฐกิจ ที่ควรมีอัตราคนตกงานและกำลังหางานใหม่อยู่ที่ 2-4% เพื่อรองรับการขยายตัวและการเปิดธุรกิจใหม่ๆ ได้ และตัวเลขการว่างงานที่ต่ำยังอยู่ในความสงสัยกับการรับรู้ของคนในสังคมด้วย

ในระบบประกันสังคมนับตัวหัวผู้ขอสิทธิชัด

จากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 3.35 แสนคน นั้น หากแยกเป็นผู้ว่างงานในระบบที่นับจากตัวเลขผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือน ก.พ. 2559 มีจำนวน 123,087 คน จากผู้ประกันตน 10,348,753 คน และข้าราชการในกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 5 ล้านคน ในจำนวน 2 ส่วนนี้การนับผู้ว่างงานน่าจะมีความชัดเจน แต่กำลังแรงงานที่เหลืออีกกว่า 20 ล้านคนนั้น ยังมีข้อสงสัยในการนับ

วิโรจน์ชี้ว่างงานต่ำเป็นภาพลวงตา สำนักงานสถิติ นิยามมีงานทำแค่ทำงานมากกว่า 1 ชม.ต่อสัปดาห์

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้เมื่อปี 2556 ถึงประเด็นอัตราการว่างงานที่ต่ำ โดย ดร.วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตุว่า ปัจจุบันเรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก ซึ่งตนก็คิดว่าจริง แต่ที่บอกว่าไม่ค่อยไว้ใจสถิติของเมืองไทยก็เพราะว่า ตนเข้าใจว่าในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังคงกำหนดนิยามคนที่มีงานทำ ว่าคือคนทำงานมากกว่า 1 ชม.ต่อสัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งพอใช้นิยามแบบนี้ ก็จะแยกคนมีงานทำกับคนที่ว่างงานได้ไม่ชัดพอ  ดังนั้นการที่เราบอกว่าเรามีอัตราการว่างงานน้อยมาก แค่ 1%ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา

พิชิต ไขว่างงานต่ำเขาทำกันอย่างไร

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมานี้ด้วยเช่นกันถึงประเด็นนนี้ว่า คำถามคือ เขานับยังไงว่า คนนี้มีงานทำ คนโน้นว่างงาน “คนมีงานทำ” เขานิยามว่า มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและในช่วง 7 วันก่อนถูกสัมภาษณ์ทำงานตั้งแต่ 1 ชม.ขึ้นไปโดยได้ค่าจ้าง หรือทำงานอย่างน้อย 1 ชม.ในกิจการของครอบครัวโดยไม่ได้ค่าจ้าง

ทำงานอะไรก็ได้แค่ 1 ชม./สัปดาห์ ก็ถูกนับว่า 'มีงานทำ'

พิชิต ยังระบุต่อว่า ผู้ว่างงาน นิยามไว้สองอย่างคือ อายุ 15 ปีขึ้นไปและในช่วง 7 วันก่อนถูกสัมภาษณ์ ไม่ทำงานและกำลังหางานในระหว่าง 30 วันก่อนสัมภาษณ์หรือไม่ทำงานและไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วัน แต่พร้อมจะทำงานในช่วง 7 วันก่อนสัมภาษณ์ ฉะนั้น ถ้าคนที่กำลังตกงานหรือเป็นบัณฑิตจบการศึกษาแล้ว อยู่ในระหว่างหางานประจำทำ แต่มีลักษณะต่อไปนี้ ถือว่า “มีงานทำ” ทำงานไม่ประจำ รับงานจร เป็นจ๊อบ สัพเพเหระ อย่างน้อย 1 ชม.ในสัปดาห์ ช่วยงานพ่อแม่ญาติพี่น้อง ในไร่นา ร้านค้าของครอบครัว 1 ชม.ในสัปดาห์ เปิดท้ายรถขายของ แผงลอย เดินเร่ขายของริมถนน 1 ชม.ในสัปดาห์ เปิดเว็บไซต์ ขายของทางเน็ต ไลน์ เฟซบุ๊คโดยใช้เวลา 1 ชม.ในสัปดาห์ คนพวกนี้จัดเป็น “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีขนาดใหญ่มากในประเทศไทย ถึง 21.4 ล้านคน ราว 56% ของแรงงานทั้งหมด ทำให้ตัวเลขคนว่างงานในไทยต่ำมาก ทั้งที่คนพวกนี้มีรายได้ต่ำ ไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการมั่นคงใดๆ 
 
โฆษก ธปท.ชี้นิยามไม่ได้ต่าง แต่โครงสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน
 
ขณะที่เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ จิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง จิรเทพ กล่าวว่า "อัตราการว่างงานของเราต่ำมาตลอด ไม่ได้เป็นเพราะว่าเรามีนิยามที่ต่างจากประเทศอื่นๆ แต่เป็นเพราะโครงสร้างของปัญหา" 
 
จิรเทพ กล่าวอีกว่า "แรงงานของภาคการเกษตรนั้น มีบางส่วนที่เมื่อไม่ได้ทำการเกษตร ก็จะหันไปทำงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่น ซึ่งระบุไม่ได้ชัดเจน หรือไม่ก็ทำงานอิสระ ที่เป็นนายจ้างตัวเอง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร"
 
อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการประกันการว่างงานไม่ทั่วถึง จึงเป็นผลให้ไม่มีคนว่างงานนาน และเมื่อไม่มีงานทำ แรงงานเหล่านั้นจะหันไปทำงานในภาคแรงงานนอกระบบ หรือไม่ก็หางานพาร์ทไทม์ทำ ซึ่งนั่นเป็นการนับว่า มีงานทำแล้วในไทย ประชากรมากกว่า 40% ของประเทศไทยอยู่ในแรงงานภาคเกษตร ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะมีงานทำไม่เต็มวัน (underemployment) และยังว่างงานช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกอีกด้วย ซึ่งการจ้างงานไม่เต็มวันนี้ ประเทศไทยนับว่าเป็นการมีงานทำ และเป็นตัวเลขราว 0.5% จากทั้งหมด เป็นต้นว่า หากคุณไม่ได้ถูกว่าจ้างจากการเป็นพนักงานธนาคารอีกต่อไปแล้ว คุณจะกลับบ้านเกิดและไปช่วยงานที่สวนของพ่อ อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่นนี้ถือว่า คุณได้รับการจ้างงานแล้ว
 
โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ยังชี้ด้วยว่า ภาคเศรษฐกิจไทย นับรวมประชากรทุกคนที่ไม่ได้ทำงานในเซ็กเตอร์ใดๆ ชัดเจนเข้าไปด้วย ซึ่งตัวเลขในปี 2556 มีมากกว่า 64% จากแรงงานทั้งหมด ในจำนวนนี้นับรวมคนขายของริมทาง คนขับแท็กซี่ และคนที่ทำงานอิสระ ซึ่งผู้ที่ทำอาชีพเหล่านี้ถือเป็นจำนวนตัวเลขที่คลุมเครือในทางเศรษฐกิจ และไทยก็นับรวมว่าเป็นผู้ที่ถูกจ้างงาน
 
เนื่องจากไทยไม่มีการเปลี่ยนนโยบายหลักๆ ด้านตลาดแรงงาน และตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2558 ที่ตกลงต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 1-4%  นับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552  แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่ารัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบายทางการเงินจะกังวลเกี่ยวกับตัวเลขการว่างงาน ตัวเลขนี้จึงจะยังคงต่ำต่อไปเช่นนี้  
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net