Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือแห่งหนึ่งได้จัดให้มีการเลือกตั้ง “สโมสรนักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2559” ของมหาวิทยาลัยขึ้น โดยสโมสรนักศึกษาถือเป็นกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคนักศึกษาลงสมัครเลือกตั้ง จำนวน 2 พรรคด้วยกัน ประเด็นน่าสนใจที่ผู้เขียนต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์ในบทความนี้ก็คือ การทำลายความเป็นการเมือง (depoliticalization) ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนได้ไปเห็นรูปภาพในการหาเสียงของพรรคนักศึกษาที่ลงสมัครพรรคหนึ่ง โดยมีข้อความสำคัญบนรูปภาพนั้น ได้แก่ “เราไม่ใช่คนสร้างภาพ เราไม่ใช่นักแสดง เราไม่ใช่นักการเมือง เราไม่ใช่ผู้ขายฝัน แต่เราคือนักกิจกรรม (ชื่อพรรค) และทำงานเป็นทีม เพื่อ(น) นักศึกษา (ตัวย่อมหาวิทยาลัย)” (เน้นโดยผู้เขียน)

โดยปกติแล้ว คำว่า “นักการเมือง” ดูเหมือนกับเป็นสิ่งชั่วร้ายในสายตาของสังคมไทยมาเนิ่นนาน เราจะเห็นวาทกรรมต่าง ๆ มากมายที่พุ่งโจมตีนักการเมือง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการโกงกิน ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต แต่ผู้เขียนจะไม่ขอพูดถึงประเด็นนี้มากนัก สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะกล่าวถึง คือสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นการเมือง (The political) โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักจะพูดถึงการเมือง (politics) แต่ละเลยความเป็นการเมืองออกไป แน่นอนว่าสองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เรามักจะเข้าใจว่าความหมายของมันเหมือนกัน ความเป็นการเมืองนั้นถูกนิยามหลากหลายผ่านนักวิชาการแต่ละคน ในที่นี้ผู้เขียนขอหยิบยืมความหมายของความเป็นการเมืองมาจาก ชองตาล มูฟฟ์ (Chantal Mouffe) นักทฤษฎีการเมืองชาวเบลเยี่ยม ผู้ที่มองว่าการเมือง กับความเป็นการเมืองนั้นเป็นคนละเรื่องกัน สำหรับมูฟฟ์แล้ว การเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรมในชีวิตทางการเมือง (political life) เช่นการดีเบต การล็อบบี้ หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่สำหรับความเป็นการเมืองแล้ว ความหมายของมันคือวิถีทางของการจัดตั้งพันธะทางสังคม ที่ตระหนักถึงช่องโหว่ของสังคมนั้น ๆ ความเป็นการเมืองจึงดำรงอยู่แนบแน่นกับความขัดแย้งไม่ลงรอย ดั่งที่ คาร์ล ชมิทท์ (Carl Schmitt) นักนิติปรัชญาชาวเยอรมันพูดถึงความเป็นการเมืองว่ามันเป็นเรื่องของ “การแบ่งแยกมิตรและศัตรู” แม้ว่าแนวคิดของชมิทท์จะดูรุนแรง เหมือนพวกนิยมสงคราม แต่แนวคิดของเขาก็ถูกมูฟฟ์นำมาพัฒนาจนกลายเป็นมโนทัศน์ประชาธิปไตยแบบปรปักษ์ (Agonistic Democracy) ที่มุ่งรักษาความขัดแย้งในสังคมเอาไว้ กล่าวคือจะไม่เกิดสภาวะที่เรียกว่า “ปรองดอง” ขึ้น ไม่เช่นนั้นความเป็นการเมืองก็จะถูกทำลายไป ภาพสังคมการเมืองแบบอุดมคติของมูฟฟ์จึงเป็นสังคมที่มีแต่ความขัดแย้ง ไม่ลงรอยอยู่เสมอ ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่มูฟฟ์ทำการวิพากษ์ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) ที่เชื่อในฉันทามติ เพราะสุดท้ายมันก็จะทำลายความขัดแย้งแล้วทำให้ความเป็นการเมืองหายไป

การที่ผู้เขียนเห็นถึงความลักลั่นของการหาเสียงจากพรรคนักศึกษาพรรคนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไร้น้ำยา และความ “ขายฝัน” ของการหาเสียงรูปแบบนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงประโยคที่เน้นเอาไว้ข้างบน “พวกเราไม่ใช่นักการเมือง” ประโยคนี้เป็นประโยคที่แสดงให้เห็นถึง “ความกลัวนักการเมือง” อย่างชัดเจน เพราะการปฏิเสธลักษณะนี้จึงเป็นการผลักนักการเมืองให้กลายเป็นสิ่งชั่วร้าย น่ากลัว ไม่น่าเชื่อถือ ตามที่เรามักจะเห็นวาทกรรมดังกล่าวบนสื่อต่าง ๆ นี่เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งต่อสถานะของพวกเขา (ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง) เป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อพวกเขาลงมาต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการเมืองแล้ว จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าพวกเขาไม่ใช่นักการเมือง ในเมื่อพวกเขาต้องต่อรองผลประโยชน์เพื่อนักศึกษา คอยเป็นปากเป็นเสียงแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาให้กับผู้บริหาร เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจ ที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งควรตระหนักอย่างถึงที่สุดในหน้าที่ของตน  ดังนั้นการกล่าวว่าตนเองไม่ใช่นักการเมือง จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ตอนเริ่มต้น พวกเขาก็ก้าวเดินไปผิดทางเสียแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ “ความเป็นการเมือง” ในมหาวิทยาลัยถูกทำลายลงไปอย่างราบคาบ เพราะตัวแทนของนักศึกษาที่ควรจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นการเมือง” มากที่สุด กลับปฏิเสธมันและยกเอาวาทกรรม “เกลียดกลัวนักการเมือง” ขึ้นมาหาเสียง สำหรับผู้เขียน ไม่มีอะไรย้อนแย้งและตลกร้ายได้เท่านี้อีกแล้ว

ประเด็นต่อไปคือ การที่พวกเขาปฏิเสธว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกิจกรรม คำว่านักกิจกรรมของพวกเขานั้นสามารถตีความได้หลากหลาย เพราะกิจกรรมก็มีหลายประเภท แต่ผู้เขียนขอตีความอย่างมั่นใจเลยว่า จากการที่เขาปฏิเสธความเป็นการเมืองออกไปในตอนต้นนั้น การเป็นนักกิจกรรมของพวกเขาจึงไม่มีทางเป็น “นักกิจกรรมทางการเมือง” (Activist) อย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ควรกลับมาทบทวนถึงบทบาทสถานะของนักศึกษากันเสียใหม่ ในยุคหนึ่งนั้น นักศึกษาเป็นหัวใจหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่เรารู้จักกันดี แม้ว่าหลายปีหลังจากนั้น บทบาทของนักศึกษาต่อการเมืองก็ซบเซาลงไป แต่ก็ยังมีนักศึกษาหลาย ๆ กลุ่มที่ยังคงเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขารวมถึงของคนกลุ่มอื่น ๆ ที่เสียงไม่ดังพอ แม้ว่าผู้เขียนจะท้อใจกับสภาพการณ์ของนักศึกษาในปัจจุบัน แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้โทษและเหมารวมว่าพวกเขาไร้น้ำยา บริบทที่เปลี่ยนไปย่อมทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปด้วย นักศึกษาในยุคนี้หันมาทำกิจกรรมรื่นเริงมากขึ้น (จริง ๆ ก็มีมานานแล้ว ดั่งที่สุจิตต์ วงศ์เทศ เคยกล่าวไว้ในบทกลอน  ‘กูเป็นนิสิตนักศึกษา’) รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่พวกเขาสนใจ และนั่นไม่ได้หมายความว่าการทำกิจกรรมของพวกเขาไร้สาระแต่อย่างใด ความสนใจของนักศึกษาในยุคนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว และสิ่งที่มาตอกย้ำทำลายความเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา ก็คือถ้อยคำหาเสียงที่ตีความได้ว่า “พวกเราเป็นนักกิจกรรม แต่ไม่ใช่นักกิจกรรมทางการเมือง” ในเมื่อผู้ที่อาจจะได้ขึ้นไปเป็นผู้นำนักศึกษา เฉกเช่นพรรคนักศึกษาที่ลงเลือกตั้ง ยังปฏิเสธการเมืองและความเป็นการเมือง แล้วจะมีพื้นที่ให้กับนักศึกษาที่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ได้อย่างไร พวกเขาไม่เพียงปฏิเสธความเป็นการเมืองของพวกเขา แต่ยังปฏิเสธความเป็นการเมืองของกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ไม่ยากเลยว่า ถ้าพวกเขาได้ขึ้นไปดำรงตำแหน่งสโมสรนักศึกษา สิ่งที่เขาจะไม่ทำคือการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะพวกเขารังเกียจและทำลายความเป็นการเมืองมาตั้งแต่ต้นแล้ว

ในยุคสมัยที่การเมืองถูกทำให้เป็นความชั่วร้ายเช่นยุคนี้ ความหวังเล็ก ๆ ยังคงมีอยู่ มีคนจำนวนหนึ่งคอยสานต่อความเป็นการเมือง เคลื่อนไหวรักษาผลประโยชน์ของคนที่ไร้ปากเสียง แม้ในสายตาของผู้เขียนแล้วจะไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มนัก แต่อย่างน้อยบรรยากาศที่ความเป็นการเมืองที่ยังคงพอมีอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่าการที่กลุ่มคนบางกลุ่มพยายามปฏิเสธมัน และแสดงความลักลั่นด้วยการก้าวขาไปในอาณาเขตทางการเมือง ปิดกั้นกดทับความขัดแย้ง และ “ขายฝัน” ที่อาจจะเป็นจริง โดยการขจัดความเป็นการเมืองออกไป แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว มันคือฝันร้าย ในเมื่อสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยควรจะเป็นสังคมที่เปิดกว้าง เป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์กันของความขัดแย้งไม่ลงรอย เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นการเมืองสูง (อย่างน้อยก็ในทัศนะของผู้เขียน) มหาวิทยาลัยที่ถูกตอกย้ำจากวาทกรรมเกลียดกลัวการเมือง จึงไม่มีทางที่จะหลงเหลือความเป็นการเมืองอยู่เลย ยิ่งในสภาพการณ์ที่สังคมปัจจุบันถูกทำให้ความเป็นการเมืองถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่พรรคนักศึกษาพรรคนี้เลือกที่จะหาเสียงในลักษณะนี้ เพราะสุดท้ายแล้วเราก็จะหลงลืมความเป็นการเมืองไปเสียหมด และจำยอมอยู่กับความสงบสุขที่เราคิดว่ามัน “ดีอยู่แล้ว” ต่อไป




หมายเหตุผู้เขียน  บทความชิ้นนี้ผู้เขียนต้องขอขอบคุณมิตรสหายหลายท่านที่ช่วยอ่าน และปรับปรุงภาษาให้มีความเป็นกลางวิชาการมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net