Skip to main content
sharethis

<--break- />เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 นิวยอร์กไทม์นำเสนอบทความโดยทอม เฟลิกซ์ โจเอ็กค์ นักเขียนของดิอิโคโนมิสต์ และ อิลยา การ์เกอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัยชื่อแคปิตอล โปรไฟล์ ระบุถึงการที่สหรัฐฯ ควรมีบทบาทในการช่วยให้ผู้นำเผด็จการไทยที่ออกนอกลู่นอกทางมานานกลับสู่ลู่ทางเดิม

ผู้เขียนบทความทั้งสองคนระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยหลังจากการยึดอำนาจของผู้นำทหารซึ่งมีลักษณะกดขี่ประชาชน มีความเอาแน่เอานอนไม่ได้ และไร้ประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจและมีโอกาสที่ความวุ่นวายภายในสังคมจะเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลทหารก็ยังจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้อำนาจยังคงอยู่ในมือพวกตนต่อให้ประเทศกลับสู่การเลือกตั้งแล้ว

บทความระบุถึงการที่สหรัฐฯ เคยมีอิทธิพลสำคัญต่อการเมืองไทยในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นจากการที่พวกเขาหนุนหลังชนชั้นนำไทยรวมถึงกองทัพและระบอบของชนชั้นนำไทยเพราะเห็นว่าเป็นพันธมิตรสำคัญในการต่อต้านการแพร่กระจายของคอมมิวนิสม์แต่ก็กลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้กองทัพโดยที่ในยุคนั้นสหรัฐฯ ก็แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดและทุจริตคอร์รัปชั่นของกองทัพที่อ้างเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ในการกำจัดผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลทั้งการวิสามัญฆาตกรรมและการลอบสังหารทางการเมือง

บทความในนิวยอร์กไทม์ระบุต่อไปว่า การสนับสนุนชนชั้นนำไทยโดยสหรัฐฯ เริ่มลดลงหลังจากสมัยสงครามเวียดนามแต่ผลกระทบก็ยังคงตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งคือวิธีการปฏิบัติการของกองทัพในการปราบปรามคนที่วิพากษ์วิจารณ์มีการดัดแปลงมาวิธีการจากปฏิบัติการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น รวมถึงวิธีการต่อต้านกบฏและการยุทธการทางจิตวิทยาก็เป็นลักษณะแบบช่วงที่ไทย-สหรัฐฯ ร่วมมือกันในยุค 1950s-1960s ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อแบบชาตินิยมและรอยัลลิสต์ การนำคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไป "ปรับทัศนคติ" 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะวิจารณ์การยึดอำนาจในไทยครั้งล่าสุดและระงับการให้เงินสนับสนุนทางการทหาร แต่โจเอ็กค์และการ์เกอร์ก็วิจารณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังทำไม่มากพอในการทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารยอมคืนอำนาจแก่ประชาชน รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงมีฝึกคอบราโกลด์ซึ่งเป็นการซ้อมรบประจำปีร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ  แม้ว่าจะลดระดับการฝึกลงก็ตาม และถึงแม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือนโดยเร็วแต่โอบามาก็ยังคงถ่ายรูปร่วมกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหาร

โจเอ็กค์และการ์เกอร์เสนอว่าสหรัฐฯ ควรทำให้ผู้สนับสนุนดั้งเดิมของกองทัพแยกห่างออกจากกองทัพเพื่อทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารหมดความชอบธรรมและไร้การสนับสนุน อีกทั้งพวกเขายังเรียกร้องให้มีการร่วมมือกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และพันธมิตรอื่นๆ ทำการลงโทษกลุ่มผู้นำทหารที่มีส่วนในการรัฐประหารปี 2557 รวมถึงลงโทษพลเรือนบางส่วนที่รัฐบาลทหารแต่งตั้งขึ้นเพื่อให้อำนาจผ่านพวกเขา ซึ่งทั้งสองคนเชื่อว่าสหรัฐฯ อยู่ในจุดที่มีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องนี้มากเพราะประเทศไทยมีการลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากและมีข้อผูกพันทางการเงินกับชาติตะวันตก โดยเรียกร้องให้มีการจำกัดการเดินทางและธุรกรรมการเงินของกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหารในปี 2557

ถึงแม้ว่ารัฐบาลเผด็จการไทยจะพยายามเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการทหารกับจีนแต่ผู้เขียนบทความในนิวยอร์กไทม์ก็มองว่า "ไพ่จีน" ที่พวกเขาถืออยู่อ่อนกำลังเกินไปในการที่จะชดเชยความสำคัญของสหรัฐฯ ได้ จากการที่สหรัฐฯ มีความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงต่างๆ ของไทยและถ้าหากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในไทยหันกลับมาชอบประชาธิปไตยพวกเขาก็จะชื่นชมการลงทุน การศึกษา และวัฒนธรรมวันหยุดจากชาติตะวันตกมากกว่าจีน

บทความยังอ้างถึงงานวิจัยโดยสถาบันปีเตอร์สันที่ศึกษาพบว่าโครงการคว่ำบาตร 16 โครงการจาก 35 โครงการตั้งแต่ช่วงปี 2513-2557 ที่มุ่ง "การเปลี่ยนแปงนโยบายในระดับปานกลาง" ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยโจเอ็กค์และการ์เกอร์ระบุว่าพวกเขาเสนอให้มีการคว่ำบาตรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเพื่อให้มีการเร่งคืนประชาธิปไตยในไทยไม่ใช่ให้ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเสนอว่าควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นแนวทางในฐานะที่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นพหุนิยมมากที่สุด 

 

เรียบเรียงจาก

How America Can Put Thailand Back on Track, TOM FELIX JOEHNK and ILYA GARGER, New York Times, 23-03-2016

http://mobile.nytimes.com/2016/03/23/opinion/how-america-can-put-thailand-back-on-track.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net