Skip to main content
sharethis

24 มี.ค.2559 ณ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) จัดกิจกรรมเล่าสู่กันฟังเรื่องหนังสือ ครั้งที่ 8 ‘การเมืองทัศนาและศิลปะแห่งการต่อต้าน’ โดย ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และบรรณาธิการนิตยสารวิภาษา ในงานนี้พูดถึงวัฒนธรรมการมองเห็นหรือวัฒนธรรมสายตาผ่านการเมืองทัศนาหรือ visual politic โดยบัณฑิต สรุปว่า visual politic ชวนหรือช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่อยู่เหนือไปจากภาพตัวแทนที่เป็นทางการหรือภาพตัวแทนปกติ ชวนให้เราตั้งคำถามถึงความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องลึก ชวนให้เราคิดถึงบริบทของสังคมร่วมสมัย เพราะเราไม่สามารถใช้วิธีมองศิลปะแบบเดิมกับกลุ่มงานศิลปะ ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในโลกศิลปะหรือในโลกรอบตัวเราที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“การศึกษาหรือการค้นคว้าในเชิงการเมืองทัศนาอาจจะช่วยให้เราเห็นอคติ เห็นอำนาจที่ทับซ้อน เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ในแง่สีผิว ชาติพันธุ์ เพศสภาพ เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางปลดปล่อยการปิดกั้นอัตลักษณ์หรือกระทำความรุนแรงทางสัมพันธภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน คุณูปการคือช่วยเปิดให้เห็นมิติที่ซับซ้อนเหล่านี้ เพราะสังคมของเราต้องการเครื่องมือใหม่ๆ ต้องการความเข้าใจที่เพิ่มความอ่อนไหว เพิ่มสำนึกรู้ต่อความไม่ปกติเบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม มันจะช่วยพัฒนาความรับรู้ที่อ่อนไหวมากขึ้น เพื่อให้เห็นความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม ความไม่ปกติของสังคมให้เข้าใจมากขึ้น” บัณฑิต กล่าว

ตัวอย่างของ มีม (Meme) ที่โด่งดัง มีการแชร์ทาง Facebook และ Line ถือเป็น  Visual Politic

อ้าย เวย เวย นักกิจกรรมคนจีน กับการท้าทายรัฐประหารผ่านงานศิลปะ

 

ตัวอย่างของภาพที่มีนัยยะทางการเมือง บัณฑิต ได้เล่าถึงความต้องการจะท้าทายและตั้งคำถามกับรัฐบาลจีนของนักกิจกรรมในขณะนั้น เช่น ผลงาน อ้าย เหว่ย เหว่ย (Ai Wei Wei) เป็นศิลปิน New York และนักกิจกรรมชาวจีน ซึ่งเป็นลูกของ อ้าย ชิง กวีชื่อดังในจีนที่เคยถูกจำคุก 16 ปี เพราะวิจารณ์พรรคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม อ้าย เวย เวย เห็นพ่อถูกกระทำทั้งจากฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ในวัยหนุ่มเพื่อนนักกิจกรรมถูกคุมขังด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับในโลกตะวันตก นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมืองจีนถูกตัดสินจำคุกถึง 13 ปี เขาคิดว่าประเทศนี้ไร้อนาคต ปี 2524-2536 เขาจึงตัดดสินใจไปใช้ชีวิตใน New York แต่ก็ยังเห็นความโหดเหี้ยมของรัฐบาลที่กระทำกับประชาชน โดยเฉพาะเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 2532 ซึ่งเขาไม่ได้อยู่ในจีนแล้ว

อ้าย เวย เวย ได้ตั้งคำถามว่า “หากศิลปินละเลยจิตสำนึกทางสังคมและหลักการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์แล้ว ศิลปะจะยืนอยู่ที่ใด? หากปราศจากซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกแล้ว ศิลปินจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้งอกงามและยั่งยืนได้อย่างไร” 

ตัวอย่างภาพ นักกิจกรรมนักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่อุ้มจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

บัณฑิต ยกตัวอย่างภาพข่าวสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบจำนวน 8 นาย อุ้มขึ้นรถไปขณะเดินกลับเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศตร์ ศูนย์รังสิต บริเวณประตูเชียงราก โดยในภาพ ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บอกว่า “คงไม่มีอะไรรุนแรงมั้ง” เด็กคนนี้ก็เลยเอาพฤติกรรมที่เขาถูกอุ้ม ใส่หมวกคลุมหน้าไปคุยกับรองอธิการฯ ว่า “ที่เขาทำกับผมแบบนี้ไม่รุนแรงหรือครับ?” ซึ่งการคลุมหัวไปพบรองอธิการฯ ของสิรวิชญ์ถือเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้มองสื่อความหมายของความรุนแรงของการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่

“โลกยุคปัจจุบันการแบ่งเส้นงานศิลปะกับชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่แบ่งได้ยากมากขึ้น แต่เราจะนับว่ามันใช่งานศิลปะหรือไม่ก็แล้วแต่บริบท แล้วแต่พื้นที่ แต่มันมียุทธวิธีบางอย่างซึ่งคนทั่วไปสามารถเอาไปใช้ได้ แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความรุนแรง สิ่งนี้เป็นศิลปะหนึ่งของการตั้งคำถามกับอำนาจ เพราะท้ายที่สุดหน้าที่ของศิลปะมันไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นสิ่งบันเทิงเริงใจเพียงประการเดียว แต่มันยังตั้งคำถามกับระเบียบสังคม และระบบเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องถูกท้าทายเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ปกติ” บัณฑิต

บัณฑิต ตั้งคำถามกับผู้ฟังว่าเป็น Visual Politic หรือไม่

บัณฑิต กล่าวว่า ในฐานะนักรัฐศาสตร์สิ่งที่สนใจก็คือมิติทางอำนาจ แล้วเราจะเข้าใจความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านมิติไหนได้บ้าง ความไม่เท่าเทียมกันมันฟ้องผ่านอะไร ผ่านโครงสร้างกฎหมายรัฐธรรมนูญรึเปล่า? สะท้อนผ่านชีวิตประจำวันของเรารึเปล่า? หรือมันสะท้อนผ่านมิติอื่น

“ผมคิดว่ามิติที่เป็น Visual Culture หรือการทัศนา (มอง) มันถูกสำรวจน้อย และมีหลายเรื่องที่เราไปแตะมันน้อย เช่น ทำไมดาวพระศุกร์ถึงถูกรีเมคได้เรื่อยๆ ผู้กองยอดรักถึงต้องมาผลิตซ้ำหลังรัฐประหารทุกที ถามกันมากๆ มันจะช่วยให้มีความรุ่มรวยขึ้น เห็นความหลากหลายขึ้น ในด้านหนึ่งทำให้เรามีจิตใจละเอียดอ่อนมากขึ้น ได้เห็นคนที่เขาถูกกระทำ เห็นใจคนที่เขาลำบาก” บัณฑิต

สุดท้ายจากการเสวนา บัณฑิต ได้กล่าวถึงประโยชน์ของทัศนาการเมืองหรือ Visual Art ว่า เป้าหมายปลายทางของสังคมนั้นคือความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันในเชิงโอกาส ในการที่จะเลือกใช้ชีวิตอิสระตามสมควรของแต่ละคน ฐานคติของนักรัฐศาสตร์ทำอย่างไรให้สังคมเดินต่อไปได้ ให้พ้นจากความขัดแย้งได้ ให้พ้นจากอคติได้ กรณีที่เล็กน้อยแต่เป็นเรื่องใหญ่ผมขอยกกรณีนักท่องเที่ยวจีน ในท้ายที่สุดเรามีอคติจากคนมากมาย อย่างที่มิวเซียมสยามยังมีเกมที่ยิงปืนใหญ่ใส่พม่าจนถึงทุกวันนี้ แม้กระทั้งล่าสุดมีที่จัดนิทรรศการพม่าระยะประชิดก็ยังมีสิ่งนี้อยู่ในที่เดียวกัน

บัณฑิตตั้งคำถามว่า เราจะอยู่ในโลกของอาเซียนแบบนี้หรือ มีอคติอีกเยอะที่เรายังไม่ได้ไปแตะมัน ถ้าวันไหนไปแตะแน่นอนมันคงไม่สนุกเท่าไร เพราะมันต้องอึดอัดขับข้องใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติ แต่หน้าที่ของนักรัฐศาสตร์คือชี้ให้เห็นความไม่ปกติ ความไม่เท่าเทียมเหล่านั้น แล้วก็ลดทอนผ่อนคลายลงให้สังคมนั้นสามารถอยู่อย่างปกติสุขได้ หรืออย่างน้อยที่สุด อยู่โดยรู้สึกว่าเราควรอยู่ด้วยกันต่อไป                       

“สังคมต้องเดินอยู่บนความไม่เห็นด้วย ความขัดแย้ง ความเห็นต่าง แต่เราคงไม่อยากเห็นสังคมที่เอาอาวุธเข้ามาประหัตประหารกัน หน้าที่ของนักรัฐศาสตร์คือชวนให้เราคิดก่อนจะสายเกินไป ชวนให้เราตระหนักถึงอคติที่เรามี ชวนให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคบางอย่างที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ในมุมของ Visual Culture มันมีอะไรให้เราได้ดูเยอะ” บัณฑิตกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net