Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


การจัดสัมมนา  "องค์ความรู้คนไทในล้านนาในรอบสองทศวรรษ” ในวันที่  24 มีนาคม 2559 ณ หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผ่านมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพือเป็นการสร้างองค์ความรู้เรื่อง “คนไท” กลุ่มต่าง ๆ ในล้านนา ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเสนอประเด็นเรื่องคนไทในมิติต่าง ๆ ที่ตนสนใจ เพื่อแสวงหาประเด็นวิจัยที่ขาด หรือยังเป็นช่องว่างของการเข้าใจคนไทในมิติต่าง ๆ ซึ่งนักวิชาการแต่ละท่านก็มีความสนใจที่หลากหลาย ทั้งเรื่องวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และคติชน ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยยอง ไทลื้อและไทใหญ่

แต่กระนั้นเราพบว่าหลากหลายประเด็นเรายังมีความเข้าใจที่แตกต่างกันพอสมควร ทั้งในแง่ของสาขาวิชา วิธีวิทยา แต่ก็มิได้มีปัญหามากนัก (แม้บางส่วนก็เป็นถือเป็นปัญหา: ดูข้างล่าง) แต่ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นปัญหาต่อการศึกษาและทำความเข้าใจคนไทในมิติต่าง ๆ คือ ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางส่วนกับมีทัศนคติต่อความเป็นไต/ไท/ไทย ที่ตายตัวและออกจะคับแคบ  ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลออกมาดังนี้

1) ปัญหาหนึ่งในการศึกษาความเป็นไต/ไท/ไทย บ้านเรา คือ เราถูกตรอกตรึงอยู่ภายใต้มายาคติเรื่อง "ชาติ" และ "ด้านกลับของความเป็นชาติ" ทำให้มุมมองต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ถูกแช่แข็งปิดทับด้วยคำว่าชาติ แม้แต่ความเป็นชาติพันธุ์เราก็อธิบายภายใต้เงื่อนไขของ "รัฐชาติ" อาทิเช่น ให้ลบความทรงจำของประวัติศาสตร์บาดเเผล เช่น การเทครัว เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรในชาตินี้แล้ว หรือคนที่อพยพมาเป็นคน "ชั้นดี" คนตกค้างในเมืองนั้น ๆ เป็นคนชั้นเลว ซึ่งนอกจากเป็นการหลงชาติอย่างน่าตกใจแล้ว ยังเป็นการเหยียดย่ำ กดปราบชาติพันธุ์ของตนอย่างน่าเศร้า

เราตกอยู่ภายใต้มายาคติเรื่องชาติอย่างโงหัวไม่ขึ้น  ที่น่าทึ่งอย่างใหญ่หลวง คือ ข้าราชการระดับชำนาญการในเรื่องวัฒนธรรมยังอธิบายว่าคน "ไท" มาจากเทือกเขาอัลไต เลยได้ชื่อว่าคนไทย กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั้งที่เรื่องนี้เราได้ข้อสรุปมากว่าโกฏิปีแล้วก็ตาม 

2) เราเชื่อเรื่องสารถะ หรือความจริงแท้ ทุกอย่างหยุดนิ่ง ไม่ไหวเคลื่อน  ประวัติศาสตร์ของเรา วัฒนธรรมของเรา เสื้อผ้าของเรา ภาษาของเรา คนของเรา ฯลฯ ของเรา ซึ่งการมองอะไรในท่วงทำนองนี้ทำให้ไม่เห็นพลวัตของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งไม่อาจทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ เพราะแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่หยุดนิ่งตายตัว

การศึกษาผู้คนในปัจจุบันเรามุ่งไปที่ลีลาชีวิตทางวัฒนธรรม โดยมักจะพบว่า คนงานข้ามชาติจะสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนามาก จนมีข้อสรุปทั่ว ๆ ไปว่า คนไทใหญ่จะเคร่งพุทธศาสนามากกว่าคนไทย ทั้งนี้เพราะพวกเขาต้องการแสดงความเป็นพลเมืองไทยในทางวัฒนธรรม ขณะที่เขาก็ยังรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในด้านอื่น ๆ ของเขาอยู่ด้วย ซึ่งตรงกับแนวความคิด วัฒนธรรมพันธุ์ทาง (Cultural Hybridity) [1]  หมายความว่าพวกเขาเป็นพลเมืองไทยในแง่วัฒนธรรมสังคม แต่เขาก็ยังคงเป็นพลเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขาด้วย  ทั้งที่ในความจริงแล้ววัฒนธรรมพันธุ์แท้เป็นเพียงอุดมการณ์แบบแก่นสารนิยม หรือความคิดเชิงเดี่ยวที่อาจเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง แนวคิดไทยแท้หรือไทยรัฐเดียวก็เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาในสมัยรัฐกาลที่ 5 นี้เอง เพราะในชีวิตจริงคนไทยก็ล้วนมีวัฒนธรรมพันธุ์ทางกันทั้งนั้น เพราะคนเราสามารถใช้ชีวิตเชิงซ้อนอยู่ได้ในสองวัฒนธรรมพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society) [2]

ผมเชื่อว่าวัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ ที่เราเห็นและเป็นอยู่ล้วนถูกประดิษฐ์สร้าง (Invention) ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ การสร้างนิยาม หรือสร้างความหมายเหล่านั้น เพื่อที่จะจัดความสัมพันธ์ทั้งกับกลุ่มคนภายใน และคนภายนอก เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนในบริบทหนึ่ง ๆ แต่เมื่อมันไม่ตอบสนองเสียแล้ว ก็ย่อมมีการสร้างความหมายใหม่ ๆ ตามมา

3) เราอ่าน/ศึกษาน้อยจนน่าจนตกใจ ทำให้พรมแดนความรู้ของเราหดแคบลงอย่างน่าวิตก เราใช้หนังสือไม่กี่เล่มอธิบายเรื่องราวใหญ่โต โดยละเลยการศึกษาอย่างรอบด้าน ซึ่งนั้นนำมาสู่การอธิบายอะไรอย่างง่าย ๆ และขาดความระมัดระวัง (นั้นก็ไม่ได้แปลว่าผมอ่านเยอะนะครับ ผมก็ตกอยู่ในสถานะนั้นเช่นกัน)

เรื่องเล่าในวงที่น่าชวนหัว คือ มีอาจารย์ทางวัฒนธรรมท่านหนึ่งไปสอนในระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อธิบายเรื่อง “คนชายขอบ” แล้วบอกให้คนคนหนึ่งอยู่อยู่ตรงกลาง ให้คนอื่นๆ ล้อมวง แล้วบอกว่าคนที่อยู่รอบนอกนี้แหละ คือ คนชายขอบ เรามาถึงจุดนี้แล้วจริง ๆ หรือ

4) แม้เราจะสร้างชุมชนจินตกรรม (Imagining Communities) [3]  ที่เรียกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นอัตลักษณ์เชิงซ้อนกับอัตลักษณ์ของชาติ หรือวัฒนธรรมอื่น ๆ แต่เรากลับไปตกอยู่ภายใต้ความคิดแบบรัฐชาติ [4] ทำให้ความเป็นชาติพันธุ์ของเราแข็งตัว จนอาจนำไปสู่การกดปราบ เบียดขับความหมายและคนอื่น ๆ แม้ว่าวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ที่เราสร้างเป็นวัฒนธรรมลูกผสม (Hybrid) ที่เกิดขึ้นมาจากหลากหลายทาง แต่เราก็ยังคงเชื่อว่ามันคือความจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว ซึ่งอาจนำมาสู่ “ชาติพันธุ์ชาตินิยมได้”

5) แม้ว่าจะมีข้อติดขัดขวางหูขวางตาอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่น่าขบคิด คือ การสัมมนาครั้งนี้มีผู้ฟังมากกว่าการสัมมนาที่จัดโดยสถาบันทางการศึกษาเสียอีก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัด ความเข้มแข็งของสมาคม และการเกิด Communities อีกแบบ ซึ่งน่าจะพัฒนาให้เกิดพื้นที่ของการเรียนรู้แบ่งปันในสิ่งต่าง ๆ ต่อไป

ท้ายที่สุดเวทีนี้ทำให้เราสะท้อนย้อนคิดถึงเรื่องต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น คำถามง่าย ๆ คือ หลังจากงานของ อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ  เมื่อปี 2543 แทบไม่มีงานดี ๆ ที่ศึกษา “คนเมือง” อีกเลย ทั้งที่การศึกษาไทกลุ่มอื่น ๆ มีอย่างกว้างขวาง น่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร หรือการศึกษาเรื่องอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรมประดิษฐ์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคน ปวศ. สังคม/เศรษฐกิจ/วัฒนธรรม  วรรณกรรม การเมือง ฯลฯ เราก็มีความรู้จำกัดพอสมควร ซึ่งเวทีนี้ได้เปิดให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยน ซึ่งคงมีคนเกิดความคิดไปทำในประเด็นต่าง ๆ อย่างลุ่มลึกต่อไป

 

 

อ้างอิง
 [1] Burke, Peter.  (2009).   Cultural Hybridity.  Cambridge: Polity.

[2] Amporn Jirattikorn.  (2007).  Living on both sides of the borders: Transnational migrants, pop music and nation of the Shan in Thailand. Working paper series No. 7, Regional Center for Social Science and Sustainable Development, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University. และ อานันท์ กาญจนพันธุ์.  (2555).  พหุวัฒนธรรมในสังคมเปลี่ยนผ่าน.  ใน, จินตนาการทางมานุษยวิทยาแล้วย้อนมองสังคมไทย (หน้า 79-134) เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[3] ดูเพิ่มใน, Shigeharu Tanabe. (edited).  2008.  Imagining communities in Thailand : ethnographic approaches.  Chiang Mai, Thailand : Mekong Press.

[4] ชยันต์ วรรธนะภูติ.  (2549). คนเมือง : ตัวตนการผลิตซ้ำสร้างใหม่และพื้นที่ทางสังคมของคนเมือง. ใน  อานันท์ กาญจนพันธุ์. บรรณาธิการ.  อยู่ชายขอบ มองลอดความรู้.  กรุงเทพฯ : มติชน.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net